มุทรา (สันสกฤต: मुद्रा mudrā) เป็นท่าทางแสดงสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ[1] ส่วนมากเน้นที่ลักษณะมือและนิ้ว[2] มุทราแต่ละท่าจะแฝงนัยความหมายทางจิตวิญญาณแตกต่างกันไปตามประติมานวิทยาและการฝึกจิตที่พบในศาสนาแบบอินเดีย

ในพิธีกรรมของลัทธิตันตระมีมุทรากำหนดไว้ถึง 108 ท่า[3] ทางฝ่ายโยคะ การใช้มุทราจะควบคู่ไปกับการฝึกปราณายาม (การควบคุมลมหายใจ) มุทราที่สำคัญได้แก่ ปัทมาสนะ สุขาสนะ และวัชราสนะ ซึ่งแสดงท่านั่งแตกต่างกันไปเพื่อเสริมพลังปราณในร่างกาย

ศาสนาพุทธ แก้

มุทราในศาสนาพุทธมักปรากฏเป็นปางต่าง ๆ ของพระพุทธรูป โดยแต่ละปางจะมีอิริยาบถและท่ามือแตกต่างกันไป ทั้งประวัติความเป็นมาของแต่ละปางก็มีที่มาจากพุทธประวัติ

ลัทธิอนุตตรธรรม แก้

ลัทธิอนุตตรธรรมเรียกมุทราว่าลัญจกร (จีน: 合同 เหอถง) ถือว่าเป็นเครื่องหมายของผู้ได้รับเต๋าแล้ว และเป็นหลักฐานที่จะนำวิญญาณกลับสู่สวรรค์เบื้องบน[4] โดยลัญจกรจะมีอยู่ 3 แบบ แบ่งตามยุคสามกัปสุดท้าย คือ ยุคเขียวของพระทีปังกรพุทธเจ้า ยุคแดงของพระศากยมุนีพุทธเจ้า และยุคขาวของพระเมตไตรยพุทธเจ้า

ลัญจกรของยุคเขียวเป็นการตั้งฝ่ามือข้างเดียวคล้ายใบบัว ยุคแดงเป็นการประนมมือสองข้างเข้าด้วยกันเป็นรูปดอกบัว สำหรับยุคขาวของพระศรีอริยเมตไตรย ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าลัญจกรจะเป็นรูปรากบัว โดยเอาปลายนิ้วโป้งขวาจรดโคนนิ้วนางขวาค้างไว้ แล้วนำปลายนิ้วโป้งซ้ายมากดที่โคนนิ้วก้อยขวา จากนั้นโอบมือเข้าหากันโดยให้มือซ้ายทับขวา เป็นท่าห่อประสานมือให้มีลักษณะเหมือนรากบัว เชื่อว่าการประสานมือแบบนี้เป็นสัญลักษณ์การไหว้ยุคพระศรีอริยเมตไตรยหรือธรรมกาลยุคขาว

อ้างอิง แก้

  1. Encyclopædia Britannica. (2010). "mudra (symbolic gestures)". Retrieved October 11, 2010.
  2. "Word mudrā on Monier-William Sanskrit-English on-line dictionary: "N. of partic. positions or intertwinings of the fingers (24 in number, commonly practised in religious worship, and supposed to possess an occult meaning and magical efficacy Daś (Daśakumāra-carita). Sarvad. Kāraṇḍ. RTL. 204 ; 406)"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-03. สืบค้นเมื่อ 2013-08-06.
  3. Woodroffe, Sir John, Shakti and Shakta: Essays and Addresses on the Shakta Tantrashastra
  4. ไตรรัตน์: แก้ววิเศษ 3 ประการ, เอกอนันต์เผยแพร่ธรรม, ม.ป.ป., หน้า 44-49.