มารีอา ลุยซาแห่งปาร์มา

มารีอา ลุยซาแห่งปาร์มา สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน (ลุยซา มารีอา เตเรซา อันนา; 9 ธันวาคม 1751 – 2 มกราคม 1819) เป็น สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน พระอัครมเหสีในพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน ตั้งแต่ ค.ศ. 1788 ถึง 1808 ทรงเป็นต้นเหตุให้เกิด สงครามคาบสมุทร ความสัมพันธ์ของพระองค์กับ มานูเอล โกดอย และการที่ทรงมีอิทธิพลเหนือพระมหากษัตริย์ ทำให้ทรงไม่เป็นที่นิยมของประชาชนและชนชั้นสูงในสมัยนั้น พระองค์ทรงไม่ถูกกับ ดัชเชสแห่งอัลบา และ ดัชเชสแห่งออซูนา ทรงได้รับความสนใจจากประชาชนอีกครั้งจากการการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงมารีอา อันโตนีอาแห่งเนเปิลส์และซิซิลี พระสุณิสาซึ่งพระองค์ไม่ทรงโปรด โดยการสิ้นพระชนม์ถูกกล่าวขานว่าทรงถูกวางยาพิษโดยพระราชินีมารีอา ลุยซา

มารีอา ลุยซา
พระสาทิสลักษณ์ วาดโดยอันท็อน ราฟาเอล แม็งส์ เมื่อปี 1765
สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน
ดำรงพระยศ4 ธันวาคม 1788 – 19 มีนาคม 1808
ก่อนหน้ามาเรีย อมาเลีย
ถัดไปจูลี คลารี
พระราชสมภพ9 ธันวาคม ค.ศ. 1751(1751-12-09)
ปาร์มา ดัชชีปาร์มา
สวรรคต2 มกราคม ค.ศ. 1819(1819-01-02) (67 ปี)
ปาลาซโซ บาร์เบรินี โรม รัฐสันตะปาปา
ฝังพระศพเอลเอสโกเรียล
คู่อภิเษกพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน (สมรส 1765)
พระราชบุตร
รายละเอียด
พระนามเต็ม
สเปน: ลุยซา มารีอา เตเรซา อันนา
ฝรั่งเศส: หลุยส์ มารี เทเรซ อานน์
ราชวงศ์บูร์บง-ปามาร์
พระราชบิดาเฟลิเป ดยุกแห่งปาร์มา
พระราชมารดาหลุยส์ เอลิซาเบธแห่งฝรั่งเศส
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระราชประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

มารีอา ลุยซา ทรงเป็นพระธิดาพระองค์เล็กในอินฟันเตเฟลิเป ดยุกแห่งปาร์มา (พระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน) กับ เจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธ แห่งฝรั่งเศส (พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส) เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองปาร์มา ทรงได้รับการตั้งพระนามหลังจากพิธีล้างบาปว่า ลุยซา มารีอา เตเรซา อันนา (Luisa María Teresa Ana) ตามพระนามพระมาตุจฉาฝาแฝด คือ เจ้าหญิงแอนน์-อ็องเรียตต์แห่งฝรั่งเศส แต่ทรงเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ตามพระนามในภาษาสเปนว่า มารีอา ลุยซา (María Luisa)[1][ไม่อยู่ในแหล่งอ้างอิง] ในขณะที่ ลุยซา เป็นพระนามที่ทรงใช้ส่วนพระองค์[2]

พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงได้ดำรงพระอิสริยยศ ดยุกและดัชเชสแห่งปาร์มา ตั้งแต่ปี 1749 เมื่อเกิดสนธิสัญญาเอกซ์ลาชาเปล(ค.ศ.1748) สนธิสัญญามอบดัชชีปาร์มาให้แก่ พระราชวงศ์บูร์บง

เจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียส แก้

พระมารดาของพระองค์ทรงพยายามที่จะหมั้นหมายพระองค์กับเจ้าชายหลุยส์ โฌแซ็ฟ ซาวิเยร์ ดยุกแห่งบูร์กอญ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์แห่งฝรั่งเศส แต่ดยุกแห่งบูร์กอญสิ้นพระชนม์ในปี 1761 ในปี 1762 ทรงถูกหมั้นหมายกับลูกพี่ลูกน้อง เจ้าชายการ์โลส เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส ต่อมาคือ พระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นในวันที่ 4 กันยายน 1765 ณ พระราชวังลากรังฆา

พระราชสวามีของพระองค์เป็นพระราชโอรสและรัชทายาทของพระเจ้าการ์โลสที่ 3 แห่งสเปนผู้เป็นม่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ทรงเป็นดยุคแห่งปาร์มาและพระมหากษัตริย์แห่งเนเปิลส์และซิซิลี  ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียสหรือมกุฎราชกุมารีอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน แก้

 
พระสาทิสลักษณ์ โดย ฟรันซิสโก โกยา ค.ศ. 1789

ในปี 1788 พระราชสวามีของพระองค์ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเป็น พระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน ที่ให้มารีอา ลุยซาทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน ในการที่พระเจ้าการ์โลสที่ 4 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้รัฐมนตรีเข้าเฝ้า สมเด็จพระราชินีมารีอา ลุยซาทรงเข้าร่วมด้วย ซึ่งกลายเป็นกฎของพระราชสำนัก[3] เนื่องจากทรงมีอิทธิพลเหนือกว่าในชีวิตการแต่งงาน มาเรีย ลุยซาจึงครอบงำพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แต่กลับขึ้นชื่อว่าทรงถูกนายกรัฐมนตรีมานูเอล เด โกดอยครอบงำ

พระราชินีมารีอา ลุยซา ทรงขึ้นชื่อว่ามีความรักมากมาย  หนึ่งในนั้นที่น่าอับอายที่สุดก็คือนายกรัฐมนตรีมานูเอล เด โกดอย ผู้ซึ่งถูกเจาะจงว่าเป็นคูนที่คบกับพระราชินีมานาน  ในปี ค.ศ. 1784 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งหลายตำแหน่งเมื่อพระเจ้าการ์โลสที่ 4 ขึ้นครองบัลลังก์และมารีอา ลุยซา เป็นพระราชินี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1792 มีข่าวลือว่าโกดอยเป็นพระบิดาแท้ๆของพระราชบุตรหลายพระองค์  ในปี ค.ศ. 1791 รัฐมนตรีฟลอริดาบลังกา กล่าวหาว่า โกดอย เป็นชู้รักของพระราชินี ส่งผลทำให้ ฟลอริดาบลังกา สูญเสียตำแหน่งของเขา และมีข่าวลือว่าผู้ชายอีกหลายคนที่อยู่รอบข้าง โกดอย ก็ถูกมองว่าเป็นชู้รักของพระองค์

 
พระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปนกับพระบรมวงศานุวงศ์

ผู้ร่วมสมัยหลายคน เช่น เอกอัครราชทูตต่างประเทศ รวมทั้งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส อัลเควียร์ ได้รายงานเกี่ยวกับข่าวลือเหล่านี้ ซึ่งมีปรากฏในจดหมายโต้ตอบทางการฑูตในสมัยนั้นด้วย[4] อย่างไรก็ตาม ความจริงของเรื่องนี้ถูกตั้งคำถาม และบางประเด็นอาจถูกปลอมแปลงหรือพูดเกินจริงด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยราชสำนักและโดยมหาอำนาจจากต่างประเทศ  ไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าพระราชินีมีชู้รัก  เฟรย์ ฆวน อัลมาราซ ผู้สารภาพรักต่อสมเด็จพระราชินีเขียนในพินัยกรรมของเขาว่า พระองค์ทรงยอมรับด้วยพระราชดำรัสสั้นๆว่า "ไม่มี ไม่มีพระราชบุตรพระองค์ใดเลยที่มาจากการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย"  อย่างไรก็ตาม ความจริงของคำให้การนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[5] พระเจ้าการ์โลซที่ 4 ไม่เคยทรงแสดงความสงสัยเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของพระราชินี  ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระราชินี และ โกดอย มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดหรือไม่ เนื่องจากการติดต่อระหว่างพระองค์กับโกดอยแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงพูดคุยกับเขาในเรื่องที่เป็นส่วนตัว เช่น การไม่ทรงมีพระอุหลบ และภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการไม่ทรงมีพระอุหลบ และได้รับปลอบพระทัย[6] นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ชู้สาวของพระองค์แล้ว ยังมีข่าวลืออื่นๆ ที่แพร่หลายเกี่ยวกับพระองค์อีกหลายแห่ง เช่น ความขัดแย้งของพระราชินีกับดัชเชสแห่งออซูนาและดัชเชสแห่งอัลบา เมื่อดัชเชสแห่งอัลบาสิ้นพระชนม์ในปี 1802 มีข่าวลือว่าพระนางถูกวางยาพิษโดยพระราชินี  ในปี 1802 พระราชโอรสของพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมารีอา อันโตนีอาแห่งเนเปิลส์และซิซิลี  เมื่อเจ้าหญิงมารีอา อันโตนีอาสิ้นพระชนม์ในปี 1806 ก็มีข่าวลือว่าพระนางก็ถูกพระราชินีวางยาพิษเช่นกัน

ความสัมพันธ์ที่ถูกกล่าวอ้างว่าระหว่างพระราชินีกับนายกรัฐมนตรีโกดอย ร่วมกับอิทธิพลทางการเมืองที่พระองค์ เผยให้เห็นถึงความไม่พอใจของสาธารณชนต่อสนธิสัญญาระหว่างโกดอยกับฝรั่งเศส ซึ่งกองทหารฝรั่งเศสประจำการอยู่ในสเปน และในครั้งหนึ่ง สมเด็จพระราชินีถูกคุกคามโดยกลุ่มคนร้าย ในปี ค.ศ. 1808 ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายจึงเกิดต่อต้านฝรั่งเศสส่งผลให้เกิดการจลาจลในอารางฮเวธ

บั้นปลายพระชนม์ แก้

 
พระสาทิสลักษณ์ โดย Vicente López Portaña ค.ศ.1819

19 มีนาคม 1808 พระเจ้าการ์โลสที่ 4 สละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปน เนื่องจากแรงกดดันจาก จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ในเดือนเมษายนปี 1808 มารีอา ลุยซา เสด็จพร้อมด้วย พระเจ้าการ์โลสที่ 4 และ มานูเอล โกดอย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจักรพรรดินโปเลียน ที่เมืองบายอน ในฝรั่งเศส เพื่อทรงเกลี้ยกล่อมจักรพรรดิให้ทรงช่วยเหลือพระราชสวามีของพระองค์ในการทวงบัลลังก์สเปนจากพระราชโอรสของพระองค์  ซึ่งพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 พระราชโอรสทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในครั้งนี้ด้วย  อย่างไรก็ตามในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ จักรพรรดินโปเลียนทรงบังคับให้ทั้งพระเจ้าการ์โลสที่ 4 และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ทรงละทิ้งการอ้างสิทธิ์ในพระราชบัลลังก์ และสถาปนาให้ โฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต พระเชษฐาของนโปเลียนขึ้นเสวยราชสมบัติสเปน และถอดถอนสิทธิของราชวงศ์บูร์บงออกจากการราชบัลลังก์สเปน เอกสารหลายฉบับกล่าวโทษพระราชินีมารีอา ลุยซาสำหรับการสละราชสมบัติและการถอดถอนสิทธิของราชวงศ์บูร์บงในสเปน

หลังจากถูกบังคับให้สละราชสมบัติ มารีอา ลุยซา ประทับอยู่กับพระเจ้าการ์โลสที่ 4 และมานูเอล โกดอย ในฐานะนักโทษแห่งรัฐของนโปเลียนในฝรั่งเศส ที่แรกในเมืองกงเปียญ และ เอ็ก-ซอง-โพรวองซ์ ทั้งสาม ได้รับอนุญาตให้ย้ายไปประทับ ณ เมืองมาร์แซย์ เป็นเวลาถึง 4 ปี ในปี 1812 ทั้งสามได้รับการอนุญาตให้อยู่อาศัยได้ภายใต้พระสมณานุเคราะห์จากสมเด็จพระสันตะปาปาในพระราชวังบาราเบรินี กรุงโรม

หลังจากนโปเลียนถูกถอดถอนจากราชสมบัติในปี 1814 พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 พระราชโอรส ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสเปนเป็นครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ทรงสั่งห้ามพระราชบิดา พระราชมารดาและโกดอย ไม่ให้เสด็จและเดินทางกลับสเปน ในระหว่างการกลับสู่อำนาจชั่วคราวของนโปเลียนในฝรั่งเศสในช่วงร้อยวันในปี 1815 พระราชินีมารีอา ลุยซา พระเจ้าการ์โลสได้เสด็จไปฝรั่งเศส พร้อมด้วยโกดอย แต่หลังจากการถอดถอนครั้งที่ 2 ของนโปเลียน พระเจ้าการ์โลสและพระราชินีก็เสด็จกลับไปยังกรุงโรม พร้อมด้วยโกดอย เพื่อประทับเป็นการถาวร

ระหว่างประทับในกรุงโรม พระราชินีมารีอา ลุยซา และ พระเจ้าการ์โลส ทรงสะสมงานศิลปะ ภาพวาดโดยจิตรกร ทิเชียน, กอเรจโจ, เลโอนาร์โด, ลูคัส ครานัค, อันเดรอา เดล ซาร์โต, ปาร์มิกิอานิโน, บรอนซิโน, ปาลมา เวคชิโอ, ตินโตเรตโต, ปาโอโล เวโรเนเซ, ปูแซ็ง, แกสปาร์ด ดูเก็ต และ อเลสซานโดร ตูร์ชิ ซึ่งงานสะสมนี้ถูกย้ายมายังมาดริดในเวลาต่อมา

ทั้ง สมเด็จพระราชินีมารีอา ลุยซา และพระราชสวามี เสด็จสวรรคตในช่วงต้นปี 1819 ที่ประเทศอิตาลี มีรายงานว่าพระราชินีมารีอา ลุยซา เสด็จสวรรคตเนื่องจากวัณโรค

มานูเอล โกดอย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวตามพระราชพินัยกรรมของพระองค์ โดยระบุว่าเขาได้ร่วมลี้ภัยกับพระองค์และได้เสียสละทรัพย์สินของเขาในการลี้ภัยครั้งนี้

พระราชบุตร แก้

สมเด็จพระราชินีมารีอา ลุยซา ทรงครรภ์ทั้งหมด 24 ครั้ง กับพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน ตกพระโลหิตไป 10 ครั้ง มีพระราชบุตรที่เจริญพระชนม์เติบใหญ่ 7 พระองค์ จากพระประสูติกาล 14 ครั้ง มีพระนามดังนี้

  1. เจ้าฟ้าชายการ์โลส คลีเมนเต อินฟันเตแห่งสเปน (Carlos Clemente, Infante of Spain) ประสูติ 19 กันยายน 1771 และ สิ้นพระชนม์ 7 มีนาคม 1774 ที่เอลเอสโกเรียล
  2. การ์โลตา โฆอากีนา สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกสและแอลการ์ฟ (Carlota Joaquina,Queen of Portugal and the Algarves) พระราชสมภพ 25 เมษายน 1775 และ สวรรคต 7 มกราคม 1830 ที่พระราชวังเกลูซ อภิเษกสมรสกับพระเจ้าฌูเอาที่ 6 แห่งโปรตุเกส
  3. เจ้าฟ้าหญิงมารีอา ลุยซา อินฟันตาแห่งสเปน (Maria Luisa ,Infanta of Spain) ประสูติ 11 กันยายน 1777 และ สิ้นพระชนม์ 2 กรกฎาคม 1782 ที่พระราชวังลากรังฆาเดอิลเดฟ็อนโซ
  4. เจ้าฟ้าหญิงมารีอา อมาเลีย อินฟันตาแห่งสเปน (María Amalia, Infanta of Spain) ประสูติ 9 มกราคม 1779 และ สิ้นพระชนม์ 22 กรกฎาคม 1798 ที่พระราชวังเอลปาร์โด อภิเษกสมรสกับพระปิตุลา อินฟันเต อันโตนิโอ ปาสกุอาลแห่งสเปน
  5. เจ้าฟ้าชายการ์โลส โดมิงโก อินฟันเตแห่งสเปน (Carlos Domingo, Infante of Spain) ประสูติ 5 มีนาคม 1780 และ สิ้นพระชนม์ 11 มิถุนายน 1783 ที่พระราชวังเอลปาร์โด
  6. มารีอา ลุยซา สมเด็จพระราชินีแห่งอิตรูรีอา ดัชเชสแห่งลุกกา (Maria Luisa, Queen of Etruria and Duchess of Lucca) พระราชสมภพ 6 กรกฎาคม 1782 ที่พระราชวังลากรังฆาเดอิลเดฟ็อนโซ และ สวรรคต 13 มีนาคม 1824 ที่กรุงโรม อภิเษกสมรสกับพระเจ้าลุโดวิโกที่ 1 แห่งอิตรูรีอา
  7. เจ้าฟ้าชายการ์โลส ฟรันซิสโก เด เปาลา อินฟันเตแห่งสเปน (Carlos Francisco de Paula, Infante of Spain) พระราชโอรสฝาแฝดกับเจ้าฟ้าชายเฟลิเป ฟรันซิสโก ทรงเป็นพระเชษฐา ประสูติ 5 กันยายน 1783 และ สิ้นพระชนม์ 11 พฤศจิกายน 1784 ที่พระราชวังลากรังฆาเดอิลเดฟ็อนโซ
  8. เจ้าฟ้าชายเฟลิเป ฟรันซิสโก เด เปาลา อินฟันเตแห่งสเปน (Felipe Francisco de Paula, Infante of Spain) พระราชโอรสฝาแฝดกับเจ้าฟ้าชายการ์โลส ฟรันซิสโก ทรงเป็นพระอนุชา ประสูติ 5 กันยายน 1783 และ สิ้นพระชนม์ 18 ตุลาคม 1784 ที่พระราชวังลากรังฆาเดอิลเดฟ็อนโซ
  9. พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปน (King Fernando VII of Spain) พระราชสมภพ 14 ตุลาคม 1784 และ สวรรคต 29 กันยายน 1833 ที่เอลเอสโกเรียล สืบราชสมบัติในปี 1808 อภิเษกสมรสทั้งหมด 4 ครั้ง กับเจ้าหญิงดังนี้
    1. เจ้าหญิงมารีอา อันโตนีอาแห่งเนเปิลส์และซิซิลี (ปี 1802-1806)
    2. เจ้าหญิงมารีอา อิซาเบลแห่งโปรตุเกส (ปี 1816-1818)
    3. เจ้าหญิงมาเรีย โจเซฟา อเมเลียแห่งแซ็กโซนี (ปี 1819-1829)
    4. เจ้าหญิงมาเรีย คริสตินาแห่งซิชิลีทั้งสอง (ปี 1829-1833)
  10. เจ้าฟ้าชายการ์โลส มารีอา อิซิโดร เบนิโต เคานต์แห่งโมลินา (Carlos María Isidro Benito, Count of Molina) ประสูติ 29 มีนาคม 1788 ที่พระราชวังอารางฮเวธ และ สิ้นพระชนม์ 10 มีนาคม 1855 อภิเษกสมรส 2 ครั้ง กับเจ้าหญิงดังนี้
    1. อิงฟังตามารีอา ฟรังซิซกาแห่งโปรตุเกส (ปี 1816-1834)
    2. อิงฟังตามารีอา ตีเรซาแห่งบรากังซา (ปี 1838 -1855)
  11. มารีอา อิซาเบล สมเด็จพระราชินีแห่งซิซิลีทั้งสอง (María Isabel, Queen of the Two Sicilies) พระราชสมภพ 6 กรกฎาคม 1789 ที่พระราชวังมาดริด และ สวรรคต 13 กันยายน 1848 ที่พระราชวังปอร์ติชี อภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟรานเชสโกที่ 1 แห่งซิซิลีทั้งสอง
  12. เจ้าฟ้าหญิงมารีอา เตเรซา อินฟันตาแห่งสเปน (Maria Teresa, Infanta of Spain) ประสูติ 16 กุมภาพันธ์ 1791 ที่พระราชวังอารางฮเวธ และ สิ้นพระชนม์ 2 พฤศจิกายน 1794 ที่เอลเอสกอเรียล ด้วยพระโรคฝีดาษ
  13. เจ้าฟ้าชายเฟลิเป มารีอา อินฟันเตแห่งสเปน (Felipe Maria, Infante of Spain) ประสูติ 28 มีนาคม 1792 ที่พระราชวังอารางฮเวธ และ สิ้นพระชนม์ 1 มีนาคม 1794 ที่พระราชวังมาดริด
  14. เจ้าฟ้าชายฟรันซิสโก เด เปาลา ดยุกแห่งการ์ดิซ (Francisco de Paula, Duke of Cadiz) ประสูติ 10 มีนาคม 1794 ที่พระราชวังอารางอเวธ และ สิ้นพระชนม์ 13 สิงหาคม 1865 ที่กรุงมาดริด อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงลุยซา คาร์ลอตตาแห่งซิซิลีทั้งสอง


สมเด็จพระราชินีมารีอา ลุยซา ทรงตกพระโลหิตถึง 10 ครั้ง ดังนี้[7][8][9]

  1. ตกพระโลหิต พระราชธิดา ขณะอายุพระครรโภทร 4 เดือน (19 ธันวาคม 1775)
  2. ตกพระโลหิต พระราชธิดา ขณะอายุพระครรโภทร 6 เดือน (16 สิงหาคม 1776)
  3. ตกพระโลหิต พระราชบุตรไม่เป็นพระองค์ ขณะอายุพระครรโภทร 1 เดือน (22 มกราคม 1778)
  4. ตกพระโลหิต พระราชโอรส ขณะอายุพระครรโภทร 4 เดือน (17 มกราคม 1781)
  5. ตกพระโลหิต พระราชบุตรไม่เป็นพระองค์ ขณะอายุพระครรโภทร 1 เดือน (4 ธันวาคม 1789)
  6. ตกพระโลหิต พระราชบุตรไม่เป็นพระองค์ ขณะอายุพระครรโภทร 1 เดือน (30 มกราคม 1790)
  7. ตกพระโลหิต พระราชบุตรไม่เป็นพระองค์ ขณะอายุพระครรโภทร 1 เดือน (30 มีนาคม 1790)
  8. ตกพระโลหิต พระราชโอรส ขณะอายุพระครรโภทร 5 เดือนครึ่ง (11 มกราคม 1793)
  9. ตกพระโลหิต พระราชโอรส ขณะอายุพระครรโภทร 4 เดือนครึ่ง (20 มีนาคม 1796)
  10. ตกพระโลหิตในปี 1799

อ้างอิง แก้

  1. A Chronological Abridgement of the History of Spain. [Thirty-two cards.]. E. Harding. 1809. p. xxxi. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018.
  2. Diccionario Biográfico. Real Academia de la Historia María Luisa de Parma
  3. Rose-Marie Hagen, Rainer Hagen, What Great Paintings Say, Volym 2, 2003
  4. Diccionario Biográfico. Real Academia de la Historia María Luisa de Parma
  5. Zavala, José María (2011). Bastardos y Borbones. Barcelona: Plaza & Janés Editores. ISBN 978-84-0138-992-4. สืบค้นเมื่อ 20 May 2014.
  6. Diccionario Biográfico. Real Academia de la Historia María Luisa de Parma
  7. Fernando González-Doria: Las Reinas de España
  8. Los abortos de las «Borbonas» in: elmundo.es (in Spanish) [retrieved 27 May 2015].
  9. Ignacio Martín Escribano: La plaga de los Borbones, p. 158. (in Spanish) [retrieved 27 May 2015].