มังกยอชวา

พระมหาอุปราชาพม่า
(เปลี่ยนทางจาก มังกะยอชวา)

มังสามเกียด[1] หรือ มังกยอชวา[2] (พม่า: မင်းကြီးစွာ; อักษรโรมัน: Mingyi Swa; ออกเสียง: [mɪ́ɰ̃.d͡ʑí.zwà]) เป็นพระมหาอุปราชาหงสาวดี พระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามหลายครั้งกับกรุงศรีอยุธยา จนสวรรคตในสงครามยุทธหัตถี

มังกยอชวา
(မင်းကြီးစွာ มีนจีซวา)
พระมหาอุปราชา
ดำรงพระยศ15 ตุลาคม ค.ศ. 1581 – 8 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 29 ธันวาคม ค.ศ. 1592] 1593
ก่อนหน้ามังเอิง
ต่อไปมังรายกะยอชวา
ประสูติ27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1558
วันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนนะดอ จ.ศ. 920
พะโค, อาณาจักรตองอู
สวรรคต8 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 29 ธันวาคม ค.ศ. 1592] ค.ศ.1593 (34 พรรษา)
วันศุกร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนดะโบ่-ดแว 954 ME
จังหวัดสุพรรณบุรี, อาณาจักรอยุธยา
ฝังพระศพกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1593
ดะบ้อง จ.ศ. 954
พระราชวังกัมโพชธานี
คู่อภิเษกพระนางนัตชินเมดอ (หย่าในปี ค.ศ. 1586)
พระนางราชธาตุกัลยา (ค.ศ. 1586–1593)
ราชวงศ์ตองอู
พระราชบิดาพระเจ้านันทบุเรง
พระราชมารดาหงสาวดีมิบะยา
ศาสนาพุทธเถรวาท

พระราชประวัติ แก้

วัยเยาว์ แก้

มังสามเกียด หรือ มังกยอชวา เสด็จพระราชสมภพที่หงสาวดี พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์มีปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า กับ คำให้การขุนหลวงหาวัด ว่าเดิมทรงมีความสนิทสนมกับพระนเรศวรดี ต่อมาได้มีการชนไก่ระหว่างพระนเรศวรและมังกยอชวา ไก่ของพระนเรศวรชนะไก่ของมังกยอชวา มังกยอชวาจึงกล่าววาจาเหยียดหยามพระนเรศวรทำให้พระนเรศวรรู้สึกเจ็บช้ำพระทัย

การเป็นพระมหาอุปราชา แก้

เมื่อ พ.ศ. 2124 ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ มังสามเกียดจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชา

ศึกเมืองคัง แก้

ในปีที่พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าเมืองคังแข็งเมืองต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระนเรศวร พระสังขทัต และพระมหาอุปราชา ไปปราบเมืองคัง หลังจากการตกลงกันมังกยอชวาจึงยกขึ้นไปตีเมืองคังเป็นพระองค์แรกในเดือน 5 ขึ้น 7 ค่ำ ตั้งแต่สี่ทุ่มแต่ไม่สำเร็จ จนรุ่งสางจึงต้องถอยทัพกลับ หลังจากนั้นสองวันพระนเรศวรทรงสามารถตีเมืองคังได้

กบฏพระเจ้าอังวะและการประกาศอิสรภาพของอยุธยา แก้

ใน พ.ศ. 2127 พระเจ้าอังวะตะโดเมงสอเป็นกบฏ กล่าวกันว่าเพราะพระมหาอุปราชาวิวาทกับพระชายาซึ่งเป็นธิดาของตะโดเมงสอถึงขั้นทำร้ายตบตีกันจนเลือดตกยางออก ทำให้นางเอาผ้าซับเลือดแล้วใส่ผอบส่งไปให้พระบิดา ทำให้พระเจ้าอังวะแยกตัวออกจากหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงยกทัพไปปราบด้วยพระองค์เอง ส่วนพระมหาอุปราชาได้อยู่รักษาพระนคร

พระนเรศวรได้ยกทัพตามไปช่วยปราบกบฏอังวะด้วยโดยยกไปช้า ๆ ความตอนนี้ต่างกันในพงศาวดารไทยกับพม่า

  • พงศาวดารไทย กล่าวว่าพระมหาอุปราชาวางแผนประทุษร้ายพระนเรศวร ทำให้พระนเรศวรประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อนผู้คนก่อนจะหนีกลับกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชาจึงจัดทัพตามไป ให้สุรกำมาเป็นกองหน้า เมื่อสุรกำมาถูกพระนเรศวรยิงตายพระมหาอุปราชาจึงยกทัพกลับ
  • พงศาวดารพม่า กล่าวว่าพระนเรศวรยกทัพมาถึงเมืองหงสาวดี พระมหาอุปราชาจึงมีรับสั่งให้พระนเรศวรเสด็จไปอังวะ แต่พระนเรศวรไม่ฟังและยกเข้ามาตีหงสาวดีและตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ พระมหาอุปราชาจึงให้ทหารขึ้นประจำเชิงเทินกำแพงเมือง แต่เมืองรู้ข่าวว่าพระเจ้านันทบุเรงกำลังเสด็จกลับมา พระนเรศวรจึงกวาดต้อนผู้คนหนีกลับกรุงศรีอยุธยา

ศึกนันทบุเรง แก้

พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชาทรงยกทัพมาด้วยแล้วตั้งค่ายที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตะวันออกของพระนคร ได้ทรงให้กองทัพม้าตีทัพพระยากำแพงเพชรที่มาป้องกันผู้คนที่ออกไปเกี่ยวข้าวแตกพ่าย การรบติดพันมาถึง พ.ศ. 2130 พระเจ้านันทบุเรงจึงทรงยกทัพกลับ พระมหาอุปราชาก็ยกทัพกลับด้วย

พระมหาอุปราชาตีกรุงศรีอยุธยา แก้

พ.ศ. 2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระมหาอุปราชายกไปตีกรุงศรีอยุธยา แต่ก็เสียทีจนกองทัพแตกพ่ายจนพระองค์เกือบถูกจับได้ พระมหาอุปราชาเสด็จกลับถึงหงสาวดีเมื่อเดือน 5 พ.ศ. 2134 ทรงถูกพระราชบิดาภาคทัณฑ์ให้ทำการแก้ตัวใหม่

สงครามยุทธหัตถี แก้

 
ตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน แสดงถึงสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา

พระเจ้านันทบุเรงจึงมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชมังกยอชวาไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระองค์เสด็จจากหงสาวดีเมื่อ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2135

เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เรา จะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว" พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

แต่ในมหาราชวงศ์ระบุว่า การยุทธหัตถีครั้งนี้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของพระมหาอุปราชา ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองชามะโรงสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรเพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าเมืองชามะโรงเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์[3]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 116
  2. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา, หน้า 85
  3. "คุณพระช่วย". ช่อง 9. 21 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 22 June 2014.
บรรณานุกรม