มหาศึกชิงบัลลังก์ (บันเทิงคดี)

มหาศึกชิงบัลลังก์ (อังกฤษ: A Song of Ice and Fire) เป็นชุดนวนิยายแฟนตาซีระดับสูง เขียนโดย จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ผู้ประพันธ์นวนิยายและผู้เขียนบทภาพยนตร์ชาวอเมริกัน เริ่มชุดในปี 2534 และจัดพิมพ์เกมล่าบัลลังก์ซึ่งเป็นเล่มแรก ในปี 2539 มาร์ตินค่อย ๆ ขยายไตรภาคที่วางโครงไว้เดิมเป็นเจ็ดเล่ม เล่มห้า มังกรร่อนระบำ (A Dance with Dragons) ใช้เวลาเขียนห้าปีกระทั่งจัดพิมพ์ในปี 2554 ขณะนี้ เล่มหก ชื่อ The Winds of Winter อยู่ระหว่างการเขียน

มหาศึกชิงบัลลังก์
ผู้ประพันธ์จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน
ชื่อต้นฉบับA Song of Ice and Fire
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ประเภทแฟนตาซีระดับสูง[1]
สำนักพิมพ์
จัดพิมพ์เมื่อสิงหาคม 2539 – ปัจจุบัน
ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ (ปกแข็งและปกอ่อน)
หนังสือเสียง

เรื่องราวของมหาศึกชิงบัลลังก์เกิดขึ้นในทวีปสมมติ เวสเทอรอสและเอ็สซอส โดยมีประวัติศาสตร์หลายพันปี บันเทิงคดีชุดนี้บอกเล่าในตัวละครมุมมองบุคคลที่สาม ซึ่งมีจำนวนมากถึง 31 ตัวละครจนถึงเล่มห้า เกี่ยวข้องกับสามเรื่องราว ได้แก่ บันทึกเหตุการณ์สงครามระหว่างราชวงศ์หลายตระกูลเพื่อชิงการควบคุมเวสเทอรอส ภัยคุกคามจากอมนุษย์เหนือธรรมชาติที่จำศีลอยู่ซึ่งอาศัยอยู่พ้นกำแพงน้ำแข็งมหึมาทางพรมแดนทิศเหนือของเวสเทอรอส และความทะเยอทะยานของเดเนอริส ทาร์แกร์เรียน พระราชธิดาที่ทรงถูกเนรเทศของพระมหากษัตริย์ที่ถูกปลงพระชนม์ในสงครามกลางเมืองไม่นานก่อนพระนางประสูติ ที่จะเสด็จกลับเวสเทอรอสพร้อมด้วยมังกรและอ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์อันชอบธรรม

มาร์ตินได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างยุคสงครามดอกกุหลาบของอังกฤษ เขาแต่งขัดสัญนิยมของประเภทแฟนตาซีระดับสูง บันเทิงคดีชุดนี้ได้รับการยกย่องสำหรับความสมจริง โดยให้การยุทธ์และเล่ห์การเมืองอยู่เหนือเวทมนตร์ เล่มแรกไม่มีเวทมนตร์ในทางปฏิบัติเลย แต่เวทมนตร์เริ่มมีอยู่มากขึ้นในแต่ละเล่ม ความรุนแรง เพศสภาพและความกำกวมทางจริยธรรมมักถูกแสดงโดยตัวละครที่ออกชื่อกว่าหนึ่งพันตัวละคร ตัวละครหลักมักถูกฆ่าเพื่อที่ผู้อ่านไม่สามารถวางใจว่าผู้ที่สมเป็นวีรบุรุษอยู่รอดปลอดภัย โครงสร้างหลายมุมมองทำให้สามารถสำรวจตัวละครได้จากหลายด้าน เพื่อที่ผู้ที่สมเป็นตัวโกงจะได้ให้มุมมองของตนบ้าง ตรงกันข้ามกับการเล่าเรื่องคนเดียว โครงสร้างนี้สามารถเสนอสารสนเทศที่ชวนให้ไขว้เขวเพราะถูกการตีความเหตุการณ์ของตัวละครแต่ละตัวบิดเบือนไป แทนที่จะเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างแท้จริง มหาศึกชิงบัลลังก์ยังได้รับการวิจารณ์เชิงวิพากษ์จากการพรรณนาถึงหญิงและศาสนาที่หลากหลาย

แม้ทีแรกจะจัดพิมพ์โดยไม่มีการโฆษณายิ่งใหญ่ ปัจจุบันหนังสือในชุดขายได้กว่า 15 ล้านเล่มทั่วโลก[2] และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 20 ภาษา เล่มสี่และเล่มห้าขึ้นอันดับหนังสือขายดีเดอะนิวยอร์กไทมส์ทันทีที่วางจำหน่าย[3] ในบรรดางานดัดแปลงจำนวนมากมีนวนิยายขนาดสั้น ซีรีส์ทางโทรทัศน์ มหาศึกชิงบัลลังก์ ทางเอชบีโอ การดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูน ตลอดจนเกมไพ่ เกมกระดานและวิดีโอเกมต่าง ๆ

อ้างอิง แก้

  1. Flood, Alison (April 13, 2011). "George RR Martin: Barbarians at the gate". guardian.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-04. สืบค้นเมื่อ January 21, 2012.
  2. Barber, John (July 11, 2011). "George R.R. Martin: At the top of his Game (of Thrones)". theglobeandmail.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-13. สืบค้นเมื่อ August 18, 2011.
  3. Smith, Dinitia (December 12, 2005). "A Fantasy Realm Too Vile For Hobbits". nytimes.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-04. สืบค้นเมื่อ January 21, 2012.