มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (อังกฤษ: Mae Fah Luang University; อักษรย่อ: มฟล. – MFU; คำเมือง: ) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา "แม่ฟ้าหลวง" เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ตราพระนามาภิไธยย่อ ส.ว (สังวาลย์) พระนามย่อ สมเด็จย่า.
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมวิทยาลัยเชียงราย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อย่อมฟล. / MFU [1]
คติพจน์สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ สร้างคุณธรรม
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
25 กันยายน พ.ศ. 2541 (25 ปี)
งบประมาณ1,904,000,000 บาท [2] (ปีการศึกษา 2565)
อธิการบดีผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร
นายกสภาฯศ.(พิเศษ)ดร.วันชัย ศิริชนะ
อาจารย์742 คน [3] (ปีการศึกษา 2565)
เจ้าหน้าที่2,590 คน [4] (ปีการศึกษา 2565)
ผู้ศึกษา15,388 คน[5] กันยายน พ.ศ. 2565
ที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เลขที่ 333 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57100
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เลขที่ 365 หมู่ 12 ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย 57100
วิทยาเขตศูนย์การศึกษา กรุงเทพมหานคร
127 อาคารปัญจภูมิ 2 ชั้น 7 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
วารสารรอบรั้ว มฟล.
เพลง
ต้นไม้
สายใยแดงทอง
ดอกหอมนวล (ลำดวน)
สี  แดง
  ทอง
มาสคอต
ดิน ดิน (ตัวตุ่น)
เว็บไซต์www.mfu.ac.th

ปัจจุบัน ประกอบด้วยสำนักวิชา 15 สำนักวิชา เป็นมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนระดับอนุปริญญา 2 หลักสูตร ปริญญาตรี 38 สาขา ปริญญาโท 25 สาขา ปริญญาเอก 15 สาขา โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการเรียนการสอน

หนังสือพิมพ์ไทมส์ในส่วนของ Higher Education Supplement ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2548 และยังได้รับการลงคะแนนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในประเทศไทย และสวยที่สุดแห่งเอเชีย[6]

ประวัติ แก้

 
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ปี 2534 – 2536 ประชาชนชาวเชียงรายได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นในจังหวัด มีการระดมความคิดเห็นการจัดการประชุมสัมมนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายปี 2536-2545 ขึ้นเป็นฉบับแรก ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชน โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 3 ทิศทางด้วยกัน หนึ่งในสามทิศทางนั้น คือ “การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งไม่เฉพาะจังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดจนประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย

ปี 2537 มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการหารูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปได้ในขณะนั้นว่าน่าจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกเลิกสถาบันราชภัฏเชียงรายและจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย หรือจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เป็นต้น

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต คณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนเชียงรายที่ทรงใช้เป็นพระตำหนักและ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น นำความเจริญมายังจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงและเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย

4 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวังและสนับสนุนที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ประสานงานนำคณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอเหตุผลและความจำเป็นที่ขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นได้ไปพบนายบุญชู ตรีทอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งปลัดและรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว

5 มีนาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงรายโดยยุบสถาบันราชภัฏเชียงรายและจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของรัฐบาลและประชาชนที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งของจังหวัดเชียงราย

27 เมษายน พ.ศ. 2539 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาที่จะยุบสถาบันราชภัฏเชียงรายเพื่อไปจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้วสรุปว่ามีความเป็นไปได้ พร้อมทั้งได้ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน ระบบบริหาร และระบบวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตามลำดับ ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อยุบสถาบันราชภัฏเชียงรายไปจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงต่อคณะรัฐมนตรี

20 สิงหาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง ต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาลที่มีนายสุขวิช รังสิตพลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานได้มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ตามนโยบายชองนายสุขวิช[7]และจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ2539 โดยไม่เปลี่ยนสถาบันราชภัฏเชียงราย เป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตามแนวทางเดิมของทบวงมหาวิทยาลัย เพราะต้องการให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาปี2538 จึงจำเป็นต้องคงไว้เป็นสถานศึกษาอีกแห่งหนึ่ง

18 กันยายน พ.ศ. 2540 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างและดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการได้ตามความเหมาะสม สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนั้น คณะกรรมการจังหวัดเชียงรายได้จัดเตรียมไว้ 3 แห่งคือ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย บริเวณจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว และบริเวณดอยโตน อำเภอเวียงชัย ซึ่งต่อมานายมนตรี ด่านไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณดอยแง่ม และจอมหมอกแก้ว เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันนักศึกษาและประชาชนจังหวัดเชียงรายก็ได้มีการชุมนุมเรียกร้อง ณ บริเวณโรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นโดยเร็วและได้ขอคำยืนยันจากรัฐบาล ซึ่งนายมนตรี ด่านไพบูลย์ และรองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ได้ให้คำยืนยันว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ภายใน ปี 2542

 
ทางเข้าด้านหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 
แผนผังมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บริเวณเชิงดอยแง่ม

29 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย นายสุขวิช รังสิตพลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้มีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณดอยแง่ม จำนวน 4,997 ไร่ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขณะเดียวกันคณะกรรมการของจังหวัดเชียงรายร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดเชียงราย ได้รณรงค์หาทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าทำถนนเข้ามหาวิทยาลัย และเพื่อชดเชยค่าที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่ในบริเวณนั้นด้วย

26 มีนาคม พ.ศ. 2541 ชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด นับหมื่นคน ได้ร่วมกันนำมีด พร้า จอบ เสียม และเครื่องจักรมาบุกเบิกทางเข้ามหาวิทยาลัยบริเวณดอยแง่มเป็นปฐมฤกษ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณมหาวิทยาลัย ในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ หลายครั้ง การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้คืบหน้าเป็นลำดับ

25 กันยายน พ.ศ. 2541 มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น และรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2539 และในปี 2541 นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณไร่ม่อนดินแดง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 700 ไร่ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกแห่งหนึ่งด้วย การจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่ทำการถาวร ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย ในปีงบประมาณ 2542 เป็นต้นมา

7 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย โดยเปิดรับ 2 สาขา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร

3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พิธีเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนแม่บทกายภาพระยะที่ 1 ตั้งแต่พระราชบัญญัติประกาศใช้ จวบจนปี พ.ศ. 2547 ของการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย แก้

ตราประจำมหาวิทยาลัย แก้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ ส.ว. ประกอบเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีเลข ๘ และเลข ๙ ประกอบอยู่ด้วย โดยมีความหมายถึง เป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 และได้อัญเชิญฉัตร 7 ชั้นมาเป็นเครื่องหมายประกอบพระเกียรติยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีดอกลำดวนและใบไม้ประดับอันแสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะสนองพระราชปณิธานปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่หยุดยั้ง

ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย แก้

  • ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกหอมนวล (ลำดวน)
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melodorum fruticosum Lour[8]

สีประจำมหาวิทยาลัย แก้

เพลงประจำมหาวิทยาลัย แก้

ลายตุงประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แก้

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้นำแถบประดับดอยตุง อันเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ และความเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งมาประดับไว้ที่แถบครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยในแถบตุงประกอบด้วยลายปราสาท หมายถึง สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

  • ลายหนู หมายถึง ปีประสูติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2443
  • ลายพญานาค หมายถึง สัตว์ที่ปรากฏในศิลปวัฒนธรรมล้านนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามตำนานกล่าวถึงว่าเป็นสัตว์ที่พิทักษ์พระพุทธศาสนา
  • ลายเสือ หมายถึง ปีก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงกับปีขาล พ.ศ. 2541

การบริหารงาน แก้

นายกสภา แก้

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีนายกสภามหาวิทยาลัย ดังรายนามต่อไปนี้

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง

1. นายประจวบ ไชยสาส์น
11 พฤศจิกายน 2541 - 21 มิถุนายน 2543
2. พลตำรวจเอก เภา สารสิน
22 มิถุนายน 2543 - 21 มิถุนายน 2545
22 มิถุนายน 2545 - 21 มิถุนายน 2547
22 มิถุนายน 2547 - 21 มิถุนายน 2549
22 มิถุนายน 2549 – 27 พฤศจิกายน 2551
28 พฤศจิกายน 2551 – 27 พฤศจิกายน 2553
28 พฤศจิกายน 2553 – 6 มีนาคม 2556
3. พลเอก สำเภา ชูศรี
26 มิถุนายน 2556 - 7 ตุลาคม 2558
8 ตุลาคม 2558 - 26 กุมภาพันธ์ 2561
27 กุมภาพันธ์ 2561 - 5 มีนาคม 2563
4. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ
15 มิถุนายน 2563 – ปัจจุบัน[9]

อธิการบดี แก้

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีอธิการบดี ดังรายนามต่อไปนี้

ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง

1. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ
2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552
2. รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เทอด เทศประทีป
2 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2554
1. (ครั้งที่ 2) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ
1 เมษายน พ.ศ. 2554 - 28 เมษายน พ.ศ. 2562
3. รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ
29 เมษายน พ.ศ. 2562 - 28 เมษายน พ.ศ. 2566[10]
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566[11] - ปัจจุบัน

การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย แก้

มหาวิทยาลัยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ดังนั้นผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาควรมีความรู้พื้นฐานทางด้านภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 15 สำนักวิชา สามารถอำนวยการสอนได้ 38 หลักสูตร 77 สาขาวิชาดังนี้

  • ระดับปริญญาตรี 38 สาขา
  • ระดับปริญญาโท 25 สาขา
  • ระดับปริญญาเอก 15 สาขา

ปัจจุบันประกอบด้วยส่วนงานทางวิชาการ ที่จัดการเรียนการสอนดังนี้

การก่อตั้งสำนักวิชา แก้

หลักสูตรในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละสำนักวิชาทั้งหมด 75 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละสำนักวิชาจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอน

พ.ศ. สำนักวิชา

2542
2544
2546
2548
2549
2551
2555
2556
2557
2562

สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สำนักวิชาศิลปศาสตร์สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร
สำนักวิชาการจัดการ
สำนักวิชานิติศาสตร์
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์
สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
สำนักวิชาแพทยศาสตร์
สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์
สำนักวิชานวัตกรรมสังคมสำนักวิชาจีนวิทยา
สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย แก้

อันดับมหาวิทยาลัย
อันดับในประเทศ(อันดับนานาชาติ)
สถาบันที่จัด อันดับ
URAP (2021-2022) 13(1,881)
UI Green Metric (2021) 7(113)
U.S. News (2022) 12(-)
CWUR (2021-2022) 10(1,749)
QS (Asia) (2022) 12(451-500)
Webometrics (2022) 19(2,193)
SIR (2022) 10(685)
THE (Asia) (2022) 2(134)
THE (World) (2022) 2(601-800)
THE (Young) (2022) 1(151-200)

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย แก้

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จากการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยตาม "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" พ.ศ. 2549 โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการเรียนการสอน และกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม ดีมาก ทั้งการเรียนการสอน และการวิจัย[12]

อันดับมหาวิทยาลัย แก้

นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่

การจัดอันดับโดย University Ranking by Academic Performance แก้

อันดับที่จัดโดย University Ranking by Academic Performance หรือ URAP ประจำปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 13 ของประเทศไทย และอันดับ 1,881 ของโลก โดยมีพื้นฐานทางด้านวิชาการตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณภาพและปริมาณของบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ บทความวิจัย การเผยแพร่ และการอ้างอิง[13]

การจัดอันดับโดย UI Green Metric World University Ranking แก้

เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่จัดโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ประจำปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 7 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 113 ของโลก[14]

การจัดอันดับโดย U.S. News & World Report แก้

U.S. News & World Report นิตยสารการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกล่าสุด “Best Global Universities Rankings 2022” จากการสำรวจมหาวิทยาลัย 60 ประเทศทั่วโลก และมีเกณฑ์จัดอันดับหลายด้าน เช่น ชื่อเสียงการวิจัยในระดับโลก และระดับภูมิภาค สื่อสิ่งพิมพ์ การถูกนำไปอ้างอิง ความร่วมมือระหว่างประเทศ จำนวนบุคลากรระดับปริญญาเอก เป็นต้น โดยในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถูกจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 12 ของประเทศไทย และอันดับที่ - ของโลก[15]

การจัดอันดับโดย Center for World University Rankings แก้

การจัดอันดับโดย Center for World University Rankings หรือ CWUR ที่มีเกณฑ์การจัดอันดับคือ คุณภาพงานวิจัย ศิษย์เก่าที่จบไป คุณภาพการศึกษา คุณภาพของอาจารย์ และสาขาวิชาต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 10 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 1,749 ของโลก[16]

การจัดอันดับโดย Quacquarelli Symonds แก้

แควกเควเรลลี ไซมอนด์ส หรือ QS จัดอันดับมหาวิทยาลัยในสองส่วน คือ การจัดอันดับเป็นระดับโลก (QS World University Rankings) และระดับทวีปเอเชีย(QS University Rankings: Asia) มีระเบียบวิธีจัดอันดับ ดังนี้

QS Asia

  1. ชื่อเสียงทางวิชาการ (30 เปอร์เซนต์) เป้าหมายของตัวชี้วัดนี้เพื่อจะบอกว่ามหาวิทยาลัยใดมีชื่อเสียงในในระดับนานาชาติ
  2. การสำรวจผู้จ้างงาน (20 เปอร์เซนต์)
  3. อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา (15 เปอร์เซนต์) วัดจากอัตราส่วนของบุคลากรทางการศึกษาต่อจำนวนนักศึกษา และการติดต่อและให้การสนับสนุนของบุคลากรที่มีต่อนักศึกษา
  4. การอ้างอิงในรายงาน (10 เปอร์เซนต์) และผลงานของสำนักวิชา (10 เปอร์เซนต์) เป็นการรวมทั้งงานที่อ้างอิงใน scopus และการตีพิมพ์ผลงานโดยสำนักวิชานั้น ๆ เอง
  5. บุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต (5 เปอร์เซนต์)
  6. สัดส่วนคณะที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ (2.5 เปอร์เซนต์) และนักศึกษาต่างชาติ (2.5 เปอร์เซนต์)
  7. สัดส่วนของรับนักศึกษาและเปลี่ยนที่เข้ามาศึกษา (2.5 เปอร์เซนต์) และการส่งนักศึกษาออกไปแลกเปลี่ยน (2.5 เปอร์เซนต์)

ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 451-500 ของเอเชีย[17]

การจัดอันดับโดย Webometrics แก้

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเว็บโอเมตริกซ์ จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้น ๆ จากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วยSearch Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยการจัดอันดับในปี2022 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 19 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 2,193 ของโลก[18]

การจัดอันดับโดย SCImago Institutions Ranking แก้

อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Ranking หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งจะไม่ใด้นับเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่จะนับสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 685 ของโลก และเป็นอันดับ 10 ของประเทศไทย[19]

การจัดอันดับโดย The Times Higher Education แก้

การจัดอันดับโดย The Times Higher Education 2023 หรือ THE ที่จัดอันดับ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มีเกณฑ์การจัดอันดับในด้าน คุณภาพการสอน สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย การอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้อ้างอิง ความเป็นนานาชาติ และ รายได้ทางอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ช่วงอันดับที่ 801-1,000 และเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย[20]

การจัดอันดับ Young University Rankings 2022 โดย The Times Higher Education หรือ THE ที่จัดอันดับ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณามหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีทั่วโลกจากตัวชี้วัดผลการดำเนินงานใน 5 ด้านได้แก่ การเรียนการสอน (Teaching 30%) การวิจัย (Research 30%) การอ้างอิงผลงานวิชาการ (Citation 30%) รายได้จากอุตสาหกรรม (Industry Income 2.5%) และความเป็นนานาชาติ (International Outlook 7.5%) ใน พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ช่วงอันดับที่ 201-250 และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย[21]

สถาบันวิจัย แก้

สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มุ่งหวังที่จะพัฒนางานวิจัยให้มีความเข็มแข็ง มีทิศทางที่ชัดเจน และเป็นการผลักดันมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่การแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติต่อไป จึงให้มีการสนับสนุนการรวมกลุ่มของนักวิจัย โดยมีนักวิจัยอาวุโสทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือหัวหน้าทีม เพื่อการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพหรืองานนวัตกรรมที่มีผลกระทบเชิงสังคมหรือการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การรวมกลุ่มวิจัยนี้จัดแบ่งเป็นระดับ คือ ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ กลุ่มวิจัย หน่วยวิจัย ดังนี้ [22]

  • ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา
  • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
  • ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร
  • ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยด้านโลจิสติกส์และเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
  • ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยสุขภาพชนชาติพันธุ์
  • กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีเครื่องสำอางสีเขียว
  • กลุ่มวิจัยเครื่องสำอางสมุนไพรและเวชสำอาง
  • กลุ่มวิจัยวัสดุเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม
  • หน่วยวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
  • หน่วยวิจัยจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารมนุษย์เพื่อสุขภาพ
  • ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่
  • สำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์
  • สถาบันชาและกาแฟ

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ แก้

ระดับประกาศนียบัตร แก้

หลักสูตรระดับประกาศนียบัตร เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนางานในสาขาวิชาชีพ นั้น ๆ การศึกษาระดับประกาศนียบัตรจะต้องศึกษากระบวนวิชาระดับประกาศนียบัตร มีหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต

ระดับปริญญาตรี แก้

หลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละสำนักวิชาทั้งหมดประมาณ 38 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ และหลักสูตรภาคพิเศษ โดยแต่ละสำนักวิชาจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาที่เปิดสอนเอง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • โครงการพิเศษ

โครงการรับตรงสำนักวิชา โครงการเครือข่ายครูแนะแนว โครงการส่งเสริมเด็กดีมีที่เรียน โครงการรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษเน้นภาษาอังกฤษ โครงการทุนการศึกษาสิงห์ปาร์คเชียงราย โครงการรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยและจบจากต่างประเทศหรือเทียบเท่า โครงการรับนักเรียนผู้พิการเข้าศึกษา โครงการพิเศษเพื่อนักเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้

  • การสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ

โดยจะรับคัดเลือกแต่นักเรียนที่เรียนอยู่ในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นเวลา 3 ปี

  • ระบบ Admission กลาง

โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.)

ระดับปริญญาโท แก้

หลักสูตรระดับปริญญาโท แบ่งเป็น 2 แผน คือ แผน ก และแผน ข ดังนี้

- แผน ก แบบ ก 1 หมายถึง การเรียนที่มีเพียงการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว มีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และจะต้องทำกิจกรรมทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ อาจมีการเรียนกระบวนวิชาเพิ่มเติมได้โดยไม่นับหน่วยกิตสะสม

- แผน ก แบบ ก 2 หมายถึง การเรียนที่เป็นลักษณะของการศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต หน่วยกิตสะสมเป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรของสาขาวิชา

- แผน ข หมายถึง การศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา และทำการค้นคว้าแบบอิสระไม่น้อยกว่า 3-6 หน่วยกิต

มีการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง

ระดับปริญญาเอก แก้

หลักสูตรระดับปริญญาเอก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ

แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ แยกเป็น แบบ 1.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบบ 1.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต

แบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ และศึกษากระบวนวิชาเพิ่มเติม แยกเป็น แบบ 2.1 สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต แบบ 2.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต

พื้นที่ของมหาวิทยาลัย แก้

 
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แก้

วัตถุประสงค์ของการจัดสร้างเนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระราชปณิธาณอันแน่วแน่ที่จะ " ปลูกป่า สร้างคน[23] " เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาสรวมทั้งการธำรง ไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชิติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน รัฐบาลจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นในจังหวัดเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป

ศูนย์บริการวิชาการ แก้

หน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีสถานะเทียบเท่าสำนักวิชา มีพันธกิจเพื่อนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไปเผยแพร่ ถ่ายทอดเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สังคม ชุมชน ผ่านกระบวนการฝึกอบรม สัมมนา ประชุม การบริการต่างๆ โดยศูนย์บริการวิชาการมีผลงานการให้บริการวิชาการทั้งโครงการบริการวิชาการจากสำนักวิชาต่าง ๆ อาทิ โครงการอบรมแปรรูปอาหารเพื่อเสริมอาชีพ โครงการตรวจรักษาโรคเคลื่อนที่ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการทำขนมเบอเกอรี่แก่ผู้ต้องหาหญิงใกล้พ้นโทษ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้แก่เยาวชน โครงการศิลปะการพูด เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์บริการวิชาการยังดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมชุมชนอีกมากมาย อาทิ โครงการพัฒนาครูชนบทในพื้นที่ห่างไกล โครงการพัฒนาห้องสมุดตำรวจตระเวนชายแดน โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ศูนย์บริการวิชาการยังเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานด้านการจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและภายนอกจังหวัดเชียงราย อาทิ โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการชายแดนใต้ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โครงการพัฒนาศักยภาพของข้าราชการ หลักสูตร ยุทธศาสตร์การทำงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ปัจจุบัน ศูนย์บริการวิชาการบริหารดำเนินงานภายใต้การนำของอาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มีการแบ่งฝ่ายงานออกเป็น 5 ฝ่าย คือ ฝ่ายเลขานุการและธุรการ ฝ่ายบริการวิชาการ ฝ่ายพัฒนาโครงการและการตลาด ฝ่ายส่งเสริมกิจกรรมพิเศษ และฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์

สอบถามรายละเอียดหรือต้องการการบริการวิชาการที่มีคุณภาพ ติดต่อที่ ศูนย์บริการวิชาการ โทรศัพท์ 05391 7897 ต่อ 8030 โทรสาร 05391 6384

 
ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร

ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และสถาบันขงจื่อ แก้

เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2542 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เดินทางไปเยี่ยมเยือนและแสวงหาความร่วมมือด้านการศึกษากับรัฐบาลประเทศจีน และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน

ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ คณะรัฐบาลประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลประเทศจีนจัดตั้ง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบรอบ 100 ปี ในปี พุทธศักราช 2543

รัฐบาลจีนได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยินดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และยังสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนการสอนพร้อมหนังสือตำรา เอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้ในการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างมีประสิทธิภาพ

ระหว่างวันที่ 7 ถึง 27 สิงหาคม พุทธศักราช 2543 รัฐบาลจีนได้ส่งคณะศึกษา และสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนจากสถาบัน China Southwest Architectural Design and Research Institute เพื่อให้มาทำการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งหัวหน้าคณะที่มาดำเนินการเรื่องนี้ คือนายเฉิน ไค เม่ย (Mr. Chen Kai Mei) และคณะ ได้มาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง ประมาณ 20 วัน เพื่อสำรวจพื้นที่และออกแบบอาคาร

การก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ได้ยึดเอาศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบ ซูโจว เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยมีกำแพงล้อมรอบตัวอาคารทั้งหมดสี่ด้าน ภายในประกอบด้วยสวนหิน และสระบัว ศาลาดูปลา ที่สร้างตามแบบดั้งเดิมของจีน การก่อสร้างศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนแห่งนี้ ได้นำเอาวัสดุการก่อสร้างที่สำคัญบางส่วนมาจากประเทศจีน เช่น ปูนปั้นมังกร หลังคา ครอบเชิงชาย สิงโตคู่ บัวเสา ตลอดจนรูปแบบศิลปะแบบจีน ประตูวงพระจันทร์ หน้าต่างหกเหลี่ยม ประตูและหน้าต่างลวดลายจีน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2543

พิธีเปิดการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2544 โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย พิธีมอบอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้รับมอบจากเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พุทธศักราช 2546 เพื่อทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และทอดพระเนตรความก้าวหน้าของศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน

พระราชทานลายพระหัตถ์พระนามาภิไธยภาษาจีน พระราชทานไว้ให้แก่ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน นับเป็นสิ่งพระราชทานที่ทรงคุณค่ายิ่ง ในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนว่า “ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร ” ตามหนังสือที่ รล 008/2300 ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2546 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และประชาชนทั่วไปเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและให้บริการวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน มีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคำสอน และคุณงามความดีของขงจื่อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน รวมถึงการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์มิตรภาพอันดีงามระหว่างไทยกับจีน มากไปกว่านั้นทางสถาบันได้มีพันธกิจร่วมกับศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องให้กับนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ตลอดจนจัดการแข่งขันเกี่ยวกับความรู้ภาษาจีน

ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แก้

เป็นสถานที่จำหน่ายหนังสือและเครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีสินค้าให้เลือกมากมาย อาทิ ของชำร่วยที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ โปสการ์ดที่เป็นรูปอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

พื้นที่การศึกษา แก้

กลุ่มอาคารของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แบ่งได้ดังต่อไปนี้[24]

  • อาคารเรียนรวม C1 - ห้องเรียน, สำนักงานบัณฑิตศึกษา, หน่วยจัดการสารสนเทศ
  • อาคารเรียนรวม C2 - ห้องเรียน
  • อาคารเรียนรวม C3 - ห้องเรียน
  • อาคาร C4 - (หอประชุมสมเด็จย่า)
  • อาคารเรียนรวม C5 - (อาคารพลตำรวจเอกเภา สารสิน) - ห้องเรียน, โรงอาหาร, ร้านกาแฟ
  • อาคารปฏิบัติการ S1 - ห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, ห้องปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์
  • อาคารปฏิบัติการ S2 - ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์, ห้องปฏิบัติการด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช, ห้องเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูง, สถาบันชาและกาแฟ, โรงอาหาร
  • อาคารปฏิบัติการ S3 - ห้องปฏิบัติการด้านฟิสิกส์, ห้องปฏิบัติการด้านวิชาวิทยาศาสตร์, ห้องปฏิบัติการด้านชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ, ห้องปฏิบัติการด้านจุลชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการด้านอนูชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการด้านพันธุศาสตร์, ห้องปฏิบัติการด้านวิชาเคมีต่าง ๆ, ห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
  • อาคารปฏิบัติการ S4 - ห้องปฏิบัติการด้านวิศวกรรมวัสดุ, ห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร, ห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและการบรรจุภัณฑ์, โรงน้ำดื่มลานดาว
  • อาคารปฏิบัติการ S5 - ส่วนอาคารสถานที่
  • อาคารปฏิบัติการ S6 - ห้องปฏิบัติการด้านเภสัชกรรมแผนไทย, ห้องปฏิบัติการด้านกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา
  • อาคารปฏิบัติการ S7A - ห้องเรียน, ห้องปฏิบัติการด้านมัลติมิเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว, ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา
  • อาคารปฏิบัติการ S7B - ศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง (SALLC), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีก่อกำเนิด (AIE)
  • อาคารสำนักวิชา E1 - สำนักวิชาจีนวิทยา ชั้น1, สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ชั้น2, สำนักวิชาการจัดการ ชั้น3, สำนักวิชานวัตกรรมสังคม ชั้น4, โรงอาหาร, ตู้เอทีเอ็ม (ธนาคารออมสิน)
  • อาคารสำนักวิชา E2 - สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ชั้น1, สำนักวิชานิติศาสตร์ ชั้น2, สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ชั้น3, โครงการจัดตั้งความร่วมมือทางวิชาการฝรั่งเศส-อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ชั้น 4, ห้องเรียน ชั้น G สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์และนักศึกษาผู้ช่วยพยาบาล, โรงอาหาร, ร้านจำหน่ายเครื่องเขียนและถ่ายเอกสาร, ร้านสะดวกซื้อ 7-11, ตู้เอทีเอ็ม (ธนาคารกรุงไทย)
  • อาคารสำนักวิชา E3A - โรงจอดรถชั้น 1, สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ชั้น 2, สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้น 3, สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ ชั้น 4, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้น 5
  • อาคารสำนักวิชา E3A - ห้องเรียนชั้น 1, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชั้น 2-3, ห้องประชุมชั้น 4
  • อาคาร E4 (อาคารพลตำรวจสำเภา ชูศรี) - ห้องเรียน, ศูนย์บริการวิชาการ, สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ (Aedo), ร้านนมไทยเดนมาร์ค, อาคารจอดรถ
  • อาคาร M3 (อาคารปรีคลินิก) - สำนักวิชาแพทยศาสตร์, ห้องปฏิบัติการสำหรับนักศึกษาแพทยศาสตร์, ห้องปฏิบัติการสำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์, ห้องปฏิบัติการด้านวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ, ห้องเรียน
  • กลุ่มอาคาร M-Square ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
  • อาคาร E-Park - ชั้น 1 โรงอาหาร, ชั้น 2 ศูนย์หนังสือ M-Store, ร้านกาแฟอเมซอน, ร้านกาแฟคอฟฟี่ปริ้น, ร้านสะดวกซื้อ 7-11, ห้องเรียน, ชั้น 3 ธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, U-Store สาขามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, เชียงรายเทคโนคอม, บริษัทต่อประกันภัยและพรบ.รถ, สมาคมศิษย์เก่านักศึกษา มฟล., ห้องปฏิบัติการทางด้านสาขาวิชาเทคโนโลยีความงาม, ชั้น 4 Mock Up Room สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน และสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ (เน้นการบริหารการโรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม, ชั้น 5 ส่วนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และห้องประชุมและสัมมนา
  • อาคาร I- Park - ชั้น 1 ไปรษณีย์ไทย และไปรษณีย์มหาวิทยาลัย, ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม
  • อาคาร L - Park - ตู้เอทีเอ็ม (ธนาคาร กรุงเทพ,กรุงไทย,ไทยพาณิชย์,กสิกรไทย,กรุงศรีอยุธยา), ร้านถ่ายเอกสารและจำหน่ายเครื่องเขียน, ร้าน Singha Park Cafe MFU, ร้านเครื่องสำอาง, ร้านไอศกรีม อาหาร และเครื่องดื่ม, ร้านแว่นตาและตรวจวัดสายตา, ลานประดู่แดง (ลานชั้นบนสุด)
  • อาคารกิจกรรมและโรงอาหาร D1 - ชั้น 1 ส่วนพัฒนานักศึกษา, หน่วยให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ MFU DSS, ฝ่ายทุนการศึกษา กยศ. กรอ., ฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา, สำนักงานให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษา,ธนาคารกรุงเทพ สาขามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ร้านถ่ายเอกสาร/ ร้าน Print รูปภาพ, ร้านมินิมาร์ท, ร้านกาแฟมวลชน, ชั้น 2 โรงอาหาร, ตู้เอทีเอ็ม (ธนาคารกรุงเทพ และกรุงศรีอยุธยา), ชั้น 3 ห้องเรียน
  • ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา (ห้องสมุด) - ห้องสมุด, ห้องบริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต, ห้องบริการห้องค้นคว้ากลุ่ม, ห้องอบรมคอมพิวเตอร์, ห้องคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรมฝึกทักษะภาษาอังกฤษ (Ellis), Edutainment Zone บริการเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับชมภาพยนตร์แบบเดี่ยว (ไอแพด), ห้องบริการห้องมัลติมีเดียกลุ่ม
  • กลุ่มหอพักหญิงโซน F1-F12, หอพักหญิงสักทอง, หอพักหญิงนานาชาติ, ร้านรับซักอบรีด, ร้านอาหาร, ร้านมินิมาร์ท
  • กลุ่มหอพักชายโซน ลำดวน1-ลำดวน7, หอพักมะขามป้อม, โรงแรมวนาเวศน์, เรือนริมน้ำ(จำหน่ายอาหาร), โรงอาหารครัวลำดวน, ร้านกาแฟใต้ต้นไม้, ร้านสะดวกซื้อ 7-11, ร้านรับซักอบรีด, ศูนย์บริการรถไฟฟ้า เจมคาร์ (ต้นทาง)
  • อาคารวันชัย ศิริชนะ (AD1) - สำนักงานอธิการบดี, ส่วนประชาสัมพันธ์, ส่วนสารบรรณ อำนวยการและนิติการ, ส่วนนโยบายและแผน, สำนักงานสภามหาวิทยาลัย, หน่วยตรวจสอบภายใน
  • อาคารบริการวิชาการ (AS) - ชั้น 1 ส่วนทะเบียนและประมวลผล, ฝ่ายรับนักศึกษา, ส่วนจัดหางานและฝึกงานของนักศึกษา, ชั้น 2 ส่วนบริหารงานวิจัย, ห้องประชุม, ชั้น 3 ศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ, ชั้น 4 ส่วนประกันคุณภาพการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร, ศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • อาคารบริหารกลาง (AD2) - ส่วนอาคารและสถานที่, ส่วนการเงินและบัญชี, ส่วนพัสดุ, ส่วนการเจ้าหน้าที่
  • ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร - ห้องเรียน, สถาบันขงจื่อ
  • อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ (Stadium) Indoor - สนามบาสเกตบอล (Indoor), สนามเปตอง (ด้านหน้า), สนามบาสเกตบอล (ด้านหน้า), สถานที่ซ้อมมวยไทย (ชั้น 2), สถานที่ซ้อมเต้น (ผนังกระจก)
  • อาคารศูนย์กีฬาอเนกประสงค์ - ฟิตเนส, สนามวอลเล่ย์บอล, สนามแบดมินตัน (Outdoor และ Indoor), สนามเทนนิส, ห้องเต้น, ห้องเรียนสำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ
  • สนามกีฬา (Outdoor) - สนามฟุตบอล, สนามลู่วิ่ง
  • สระว่ายน้ำ
  • พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง
  • สำนักงานโครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา - สวนสมุนไพร
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง การแพทย์บูรณาการ (ภายในมหาวิทยาลัย)
  • สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ (ภายนอกมหาวิทยาลัย) - คลินิกทันตกรรม, ห้องเรียนสำหรับนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์, ห้องปฏิบัติการสำหรับนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์, ห้องประชุม, ห้องสมุดสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์
  • โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาแพทยศาสตร์ (ภายนอกมหาวิทยาลัย) -โรงพยาบาลขนาด 400 เตียง (ซึ่งจะขยายเป็น 800 เตียงในอนาคต), ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ในการจัดระบบบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยและญาติ (Smart Hospital), ห้องผ่าตัดมาตรฐาน 20 ห้อง, ศูนย์วินิจฉัยและรักษาทางรังสีวิทยา, ห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยา และเทคนิคการแพทย์ครบถ้วน, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ

สถานที่สำคัญ แก้

ลานดาว
เป็นลานอเนกประสงค์กลางแจ้ง แนวคิดจากการวางผังแกนหลัก ซึ่งเป็นแกนเฉลิมพระเกียรติอันเป็นที่ตั้งของส่วนการบริหารและส่วนวิชาการ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับกึ่งกลางของมหาวิทยาลัย โดยมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประดิษฐานอยู่ด้านหน้า รายล้อมด้วยกลุ่มอาคารวิชาการบริหารและวิชาการ ลานดาวมีความสวยงามของภูมิสถาปัตย์และไม้ดอกนานาพันธุ์ที่ปลูกประดับรายล้อมรอบ ๆ ทำให้เป็นจุดพักผ่อนออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมต่าง ๆ
วิหารพระเจ้าล้านทอง
วิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่อยู่บนเนินเขาด้านข้างมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ในโอกาสสำคัญ รวมทั้งเป็นสถานที่พักใจ ชำระจิตใจให้เข้าถึงธรรม พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการก่อสร้างวิหารโล่งแบบล้านนาแล้วยังเป็นสถานที่สวยงามและมีจุดชมวิวทิวทัศน์ของเทือกเขาซึ่งอยู่รอบ ๆ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาว มฟล ด้วยเช่นกัน
 
วิวทิวทัศน์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
อุโมงค์ต้นไม้
อุโมงค์ต้นไม้ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คือบริเวณทางเข้าด้านหน้าของมหาวิทยาลัย เป็นบริเวณที่มีถนนรถวิ่งเข้าออกมหาวิทยาลัยโดยมีเลนจักรยานและเลนวิ่งให้คนมาออกกำลังกายได้ด้วย บรรยากาศสองข้างทางเรียกได้ว่าดีมาก เพราะเขียวไปด้วยต้นไม้สองข้างทางตลอดเส้นทาง แล้วต้นไม้ทั้งสองข้างทางยังโน้มเข้าหากันเป็นเหมือนอุโมงค์เป็นที่มาของชื่ออุโมงค์ต้นไม้ เส้นทางอุโมงค์ต้นไม้นี้ยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร
อ่างเก็บน้ำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
อ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัย ซึ่งอ่างเก็บน้ำนอกจากจะใช้กักเก็บน้ำเพื่อใช้ภายในมหาวิทยาลัยแล้วยังเป็นสถาที่สวยงามและที่พักผ่อนหย่อนใจของชาว มฟล ด้วยเช่นกัน
หอพักนักศึกษา
เมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษาในรั้วของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับการอยู่หอพักนักศึกษา เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่ส่งเสริมให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน ได้เข้าพักในหอพักนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาต่างสำนักวิชารู้จักกัน และเป็นการฝึกให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข จำนวนหอพักในมหาวิทยาลัยมีทั้งหมด 18 อาคาร สามารถรองรับนักศึกษาได้กว่า 5,800 คน แบ่งออกเป็นหอพักนักศึกษาชาย 6 อาคารและหอพักนักศึกษาหญิง 12 อาคาร การจัดหอพักให้นักศึกษาโดยมีนโยบายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนต้องอยู่ภายในหอพักของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้พักอาศัย มีความปลอดภัย ได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางไกล อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาดเรียบร้อยและสวยงามเป็นธรรมชาติ มีความอบอุ่นเหมือนบ้าน เพื่อเปิดโอกาสนักศึกษาได้เรียนรู้และปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น สามารถปกครองและตัดสินใจด้วยตนเอง รวมถึงทำให้นักศึกษามีโอกาสร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย โดยแต่ละหอพักจะมีผู้ปกครองหอพักเพื่อให้การดูแลและให้คำปรึกษาหอพักละ 1 คน มีพนักงานรักษาความปลอดภัย มีกล้องวงจรปิดทุกชั้นของอาคาร มีแม่บ้านทำความสะอาดภายในหอพัก และกรณีเจ็บป่วยจะมีเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแล และมีบริการรับ-ส่งไปโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นทางหอพักก็ได้ให้บริการและสวัสดิการต่าง ๆ ที่จัดให้ เช่น หนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ โทรทัศน์ติด UBC ร้านซัก อบ รีด ร้านค้าสะดวกซื้อ เพื่อบริการแก่นักศึกษาทุกคน ทั้งนี้ นักศึกษาที่มีความประสงค์จะพักในหอพักมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ปี ก็สามารถทำได้ โดยยื่นความจำนงที่สำนักงานหอพักนักศึกษาโดยตรง
M Square
M-Square อุทยานแห่งการเรียนรู้ โดยประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง คือ Education Park หรือ E-Park , Innovation Park หรือ I-Park และ Lifestyle Park หรือ L-Park นอกจากนี้ยังใช้เป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ ในการต้อนรับผู้ที่เข้ามาติดต่อกับมหาวิทยาลัย ทั้งคณะศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยว ทั้งนี้การจัดสร้าง M-Square มีเป้าประสงค์ 3 ด้าน คือจัดให้เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุทยานบริการวิชาการ และอุทยานแห่งการใช้ชีวิต
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : I-Park ตอบโจทย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งกับหน่วยงานภายในและภายนอก มุ่งหวังให้เป็น Coworking Space เปิดพื้นที่ให้บริการกับผู้ที่ต้องการแรงบันดาลใจ คำปรึกษา เทคโนโลยี ตลอดจนความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการบ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัย โดยเป็นที่ทำการของ “สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและพัฒนานวัตกรรม” (MFii) ที่เป็นทั้งแหล่งฝึกอบรมผู้ประกอบการ ศูนย์บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ห้องปฏิบัติการนักศึกษาเอ็มบีเอ ศูนย์เรียนรู้ของนักศึกษาไอที และพร้อมเป็นพันธมิตรกับ Startup ที่ต้องการเติบโตอย่างมืออาชีพ
อุทยานบริการวิชาการ : E-Park เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วยห้องเรียน-ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย เช่น MOCK-UP TRAINER หรือห้องโดยสารเครื่องบินจำลอง สำหรับฝึกปฏิบัติการนักศึกษาในสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน การจัดการอุตสาหกรรมการบริการ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์บริการวิชาการ” ที่เปรียบเป็นสื่อกลางในการสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย ออกไปยังทุกภาคส่วนของสังคม โดยร่วมมือกับคณาจารย์ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งห้องประชุม-อบรม-สัมมนา เพื่อเปิดให้บริการแก่บุคคล-หน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งในภาควิชาการและภาคปฏิบัติในแขนงวิชาต่างๆ โดยมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดปี ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
อุทยานแห่งการใช้ชีวิต : L-Park ถือเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตแห่งใหม่ ที่พร้อมตอบสนองไลฟสไตล์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งดื่ม-กิน ช้อปปิง และพักผ่อนหย่อนใจ โดยรวบรวมร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการของธนาคารต่างๆ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเสื้อผ้า ร้านสะดวกซื้อ สินค้าแฟชั่น สินค้าไอที และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งยังเป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือ มฟล. โดยเปิดให้บริการทั้งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนโดยรอบ นับเป็นจุดนัดหมายแห่งใหม่ของชาวมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
กาดในมอ
กาดในมอ หรือ ถนนคนเดินมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นตลาดขายอาหาร เสื้อผ้าและสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาว มฟล เป็นอย่างมากซึ่งอยู่คู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มายาวนานหลายยุคสมัย และกาดในมอจะเปิดเฉพาะในพุธเท่านั้น ตั้งแต่ 16.30 - 21.00 น.
ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ศูนย์กีฬากลางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัย ซึ่งศูนย์กีฬาแห่งนี้ใช้สนับสนุนให้ชาว มฟล ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
 
สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


กิจกรรมและประเพณี แก้

กิจกรรม How to live and learn

จัดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี เป็นกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และบางส่วนต้องเข้าเรียนภาษาอังกฤษในหลักสูตรเร่งรัด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษต่อไป และยังมีกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายที่นักศึกษารุ่นพี่ได้เตรียมไว้ เพื่อต้อนรับน้องใหม่ อย่างเช่น กิจกรรมน้องใหม่ปลูกป่า น้องใหม่ใส่บาตร กิจกรรมจุดเทียนส่องใจ และกิจกรรมน้องใหม่ขึ้นดอย เป็นต้น ก่อนที่จะเข้าสู่การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ และเริ่มต้นเข้าเรียนชั้นปี 1 พร้อมกันในวันเปิดภาคการศึกษา

พิธีติดเข็มตราสัญลักษณ์และถวายสัตย์ปฏิญาณ

พิธีติดเข็มตราสัญลักษณ์และถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจัดในช่วงต้นเดือนกันยายน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

กิจกรรมพี่น้องร่วมใจชิงธงสำนักวิชา

กิจกรรมพี่น้องร่วมใจชิงธงสำนักวิชา ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ มฟล. ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมายาวนาน โดยมุ่งหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับนักศึกษาใหม่อย่างสร้างสรรค์ และใช้เพลงมหาวิทยาลัยถ่ายทอดความภาคภูมิใจในการเป็นลูกแม่ฟ้าหลวงจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในแต่ละสำนักวิชาต้องร้องเพลงมหาวิทยาลัยให้ไพเราะพร้อมเพรียงจนสามารถพิชิตใจคณะกรรมการได้ จึงจะได้รับธงประจำสำนักวิชา ถือเป็นบททดสอบความรักและสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่เพียงแต่รุ่นน้อง แต่หมายรวมถึงนักศึกษารุ่นพี่ทั้ง 14 สำนักวิชา ในทุกกิจกรรมของมหาวิทยาลัยล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงออกถึงความจงรักและภักดี ที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า โดยน้อมนำแนวพระราชปณิธานมาปรับใช้ และมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักศึกษารุ่นพี่ อันจะนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกันในรั้วมหาวิทยาลัย

พิธีบายศรีสู่ขวัญและงานเลี้ยงขันโตก

พิธีบายศรีสู่ขวัญและงานเลี้ยงขันโตก ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมแบบล้านนาในการให้เกียรติแก่แขกผู้มาเยือนหรือบุคคลสำคัญ โดยเป็นพิธีรับขวัญและผูกข้อมือน้องใหม่ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนที่มาร่วมงานบายศรีสู่ขวัญจะใส่ชุดผ้าฝ้ายทั้งชายหญิงอันเป็นเอกลักษณ์ของ มฟล. ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มฟล. จะได้ใส่ชุดพื้นเมืองนี้มามหาวิทยาลัยในทุกวันศุกร์หรือในกิจกรรมพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ภายในงานก็จะมีการแสดงดนตรีโฟล์คซองคำเมือง จากวงดนตรีมหาวิทยาลัย MFU Band จากนั้นเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญและพิธีเรียกขวัญ ตามความเชื่อของคนภาคเหนือที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยเฉพาะในช่วงยามที่เริ่มต้นในสิ่งใหม่ ๆ เช่นเดียวกับนักศึกษาใหม่ที่เพิ่งก้าวมาสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทั้งนี้อธิการบดี ผู้บริหาร และคณาจารย์ได้ผูกข้อไม้ข้อมืออวยชัยให้พรแก่ดาวเดือนจากสำนักวิชาต่า งๆ ที่เป็นตัวแทนนักศึกษาให้โชคดีมีชัยในการเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในรั้วแดงทองแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีการแสดงนาฏศิลป์แบบล้านนาเชียงรายให้นักศึกษาที่มาจากทั่วทุกภูมิภาคได้รับชม ซึ่งล้วนเป็นการแสดงที่อ้อนช้อยงดงาม เข้ากันบรรยากาศงานเลี้ยงขันโตกที่ได้ชิมอาหารเหนือขึ้นชื่อ ล้วนทำให้นักศึกษาใหม่ได้สัมผัสสนต์เสน่ห์เมืองเหนือและร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นล้านนา อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

กิจกรรมการแข่งขันกีฬาลำดวนเกมส์

กีฬาภายในของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาสำนักวิชาต่าง ๆ ซึ่งนอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีจุดที่น่าสนใจที่สุดของงานก็คือ การแสดงสแตนเชียร์และผู้นำเชียร์ของสำนักวิชาต่าง ๆ โดยแต่ละสำนักวิชาจะทำการซักซ้อมมาเป็นอย่างดีในการเชียร์

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก้

Main Auditorium แก้

หอประชุมสมเด็จย่า หรืออาคารC4 เป็นห้องประชุมขนาด 2500 ที่นั่ง ใช้เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตร[25] แก่ผู้สำเร็จการศึกษา การแสดงนิทรรศการต่างๆ และยังใช้เป็นสถานที่ในการจัด In Honor of 175 years US-Thai Friendship[26] อีกด้วย

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตเป็นประจำทุกปี โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะเป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยในแต่ละปีการศึกษา โดยใช้หอประชุมสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร

บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัย แก้

อ้างอิง แก้

  1. การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
  2. งบประมาณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปีการศึกษา 2565. [1]
  3. จำนวนอาจารย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปีการศึกษา 2565. [2] เก็บถาวร 2022-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. จำนวนบุคลากร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปีการศึกษา 2565. [3]
  5. จำนวนนักศึกษาที่มีสถานภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564. [4] เก็บถาวร 2022-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2565
  6. "มฟล.กระหึ่มคว้า ม.สวยที่สุดในประเทศ พร้อมกวาดคะแนนอีก2โหวต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-21. สืบค้นเมื่อ 2008-04-27.
  7. http://archives.mfu.ac.th/database/files/original/78e430169eaffd721904e8a8d48538a3.pdf
  8. Melodorum fruticosum Lour.[ลิงก์เสีย]
  9. https://www.mfu.ac.th/news/news-detail/detail/News/6931.html
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/107/T_0003.PDF
  11. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (นางสาวมัชฌิมา นราดิศร)
  12. "เปิด 50 อันดับมหาวิทยาลัยไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-18. สืบค้นเมื่อ 2021-08-21.
  13. URAP 2020-2021 URAP (2020-2021) สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2565
  14. http://greenmetric.ui.ac.id/detailranking2019/?univ=mfu.ac.th สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2565
  15. https://www.usnews.com/education/best-global-universities/thailand?page=2สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2565
  16. CWUR - World University Rankings 2020-21 CWUR - World University Rankings 2020-21 สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2565
  17. asian university rankings 2021 rankings asian university rankings 2021 สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2565
  18. http://www.webometrics.info/en/Asia/thailand สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2564
  19. Scimago Institutions Rankings 2021 Scimago Institutions Rankings 2020 สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2565
  20. World University Rankings 2023 | Times Higher Education (THE) สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2566
  21. https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2022/young-university-rankings#!/page/0/length/25/sort_by/rank/sort_order/asc/cols/stats สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2565
  22. สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มฟล.
  23. "พระราชกรณียกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-09. สืบค้นเมื่อ 2008-07-05.
  24. "ส่วนงานอาคารและสถาที่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-05. สืบค้นเมื่อ 2008-07-05.
  25. "ข่าวประชาสัมพันธ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-14. สืบค้นเมื่อ 2008-07-05.
  26. "June 23 English and Thai language Ask America webchat transcript". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-02. สืบค้นเมื่อ 2008-07-05.
  27. "เปิ้ล จารุณี"เข้ารับปริญญาป.โท วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-02. สืบค้นเมื่อ 2008-03-01.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

20°02′42″N 99°53′30″E / 20.044889°N 99.891537°E / 20.044889; 99.891537