ภาษาอัสตูเรียส-เลออน

ภาษาอัสตูเรียส-เลออน (สเปน: asturleonés; อัสตูเรียส: asturlleonés) เป็นภาษาโรมานซ์ที่พูดกันเป็นหลักในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปน กล่าวคือ แคว้นอัสตูเรียส แคว้นกัสติยาและเลออนทางตะวันตกเฉียงเหนือ และแคว้นกันตาเบรีย ชื่อภาษา อัสตูเรียส-เลออน ไม่เป็นที่นิยมเรียกในหมู่เจ้าของภาษาเนื่องจากภาษานี้ประกอบขึ้นจากแนวต่อเนื่องของภาษาถิ่นหรือวิธภาษาต่าง ๆ ที่เข้าใจซึ่งกันและกันได้ ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กันตาเบรีย, เลออน, อัสตูเรียส หรือ มีรังดา (ในประเทศโปรตุเกส) บางครั้งก็มีผู้นับว่าภาษาเอซเตรมาดูราอยู่ในแนวต่อเนื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ภาษาอัสตูเรียส-เลออน
asturlleonés
ภูมิภาค:สเปน
 • แคว้นอัสตูเรียส
 • ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
ของแคว้นกัสติยาและเลออน
 • นักวิชาการบางคนรวมแคว้นกันตาเบรีย
และบางส่วนของแคว้นเอซเตรมาดูรา
โปรตุเกส
 • พื้นที่ชายแดนบางแห่ง
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การจําแนก
ทางภาษาศาสตร์
:
อินโด-ยูโรเปียน
กลุ่มย่อย:
กลอตโตลอก:astu1244  (อัสตูเรียส-เลออน)[1]
extr1243  (เอซเตรมาดูรา)[2]
{{{mapalt}}}
พื้นที่ที่มีการพูดภาษาอัสตูเรียส-เลออน

ภาษาอัสตูเรียส-เลออนเป็นภาษาหนึ่งในสาขาไอบีเรียตะวันตกที่ค่อย ๆ พัฒนามาจากภาษาละตินสามัญที่ใช้กันในราชอาณาจักรเลออน กลุ่มภาษาอัสตูเรียส-เลออนแบ่งออกเป็นวิธภาษาหลักสามวิธภาษา (ตะวันตก กลาง และตะวันออก) ซึ่งรวมกันเป็นภูมิภาคทางภาษาอัสตูเรียส-เลออนในแนวตั้งจากแคว้นอัสตูเรียส ผ่านภูมิภาคเลออน ไปจนถึงภาคเหนือของประเทศโปรตุเกสและแคว้นเอซเตรมาดูรา ภาษาถิ่นกันตาเบรียทางทิศตะวันออกและภาษาเอซเตรมาดูราทางทิศใต้เป็นรูปแปรของภาษาอัสตูเรียส-เลออนที่มีร่องรอยการเปลี่ยนผ่านทางภาษาไปสู่แวดวงภาษากัสติยา

ภาษาเลออน (มักใช้ชื่อนี้ปนกันกับชื่อ อัสตูเรียส-เลออน) เคยถูกมองว่าเป็นภาษาถิ่นไม่ทางการ (มูลภาษณ์) ที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษากัสติยา แต่ใน ค.ศ. 1906 รามอน เมเนนเดซ ปิดัล นักนิรุกติศาสตร์สเปน ได้แสดงให้เห็นว่าภาษานี้มีวิวัฒนาการมาจากภาษาละตินอย่างเป็นเอกเทศโดยมีรูปแบบเด่นจำแนกแรกเริ่มสุดในสมัยราชอาณาจักรเลออน[3][4][5] อิเนส เฟร์นันเดซ-ออร์ดอญเญซ นักวิชาการชาวสเปนให้ข้อสังเกตว่า เมเนนเดซ ปิดัล ยืนหยัดอยู่เสมอว่าภาษาสเปน (หรือ ภาษาสเปนร่วม ตามที่เขาเรียกในบางครั้ง) มีวิวัฒนาการมาจากฐานภาษากัสติยาซึ่งต่อมาจะซึมซับหรือผสานเข้ากับภาษาเลออนและภาษาอารากอน[6] ในผลงาน อิสโตเรียเดลาเลงกัวเอสปัญโญลา ("ประวัติศาสตร์ภาษาสเปน") และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอลเอสปัญโญลเอนซุสปริเมโรสติเอมโปส ("ภาษาสเปนในยุคแรก") เมเนนเดซ ปิดัล อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการนี้โดยคำนึงถึงอิทธิพลที่ภาษาเลออนและภาษาอารากอนมีต่อการเริ่มต้นของภาษาสเปนถิ่นกัสติยาสมัยใหม่

ภาษาอัสตูเรียส-เลออนได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากแคว้นกัสติยาและเลออนใน พ.ศ. 2549 ส่วนในแคว้นอัสตูเรียส ภาษานี้ได้รับการคุ้มครองภายใต้ธรรมนูญการปกครองตนเองของแคว้น ภาษานี้ยังเป็นวิชาเลือกวิชาหนึ่งในโรงเรียนที่ซึ่งมีการเรียนการสอนกันอย่างแพร่หลาย[7]

ในโปรตุเกส ภาษามีรังดาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาษาอัสตูเรียส-เลออนได้รับการรับรองจากรัฐสภาโปรตุเกสให้เป็นภาษาทางการร่วมกับภาษาโปรตุเกสสำหรับกิจการท้องถิ่น[8] และมีการเรียนการสอนในโรงเรียนรัฐบาลในพื้นที่ที่ใช้ภาษามีรังดาเป็นภาษาแม่ แต่เดิมเชื่อกันว่าภาษามีรังดาเป็นภาษาถิ่นไม่ทางการภาษาหนึ่งของภาษาโปรตุเกส แต่ฌูแซ ไลตึ ดึ วัชกงแซลุช นักชาติพันธุ์วรรณนาชาวโปรตุเกส ได้ศึกษาภาษานี้และสรุปว่าเป็นคนละภาษากัน

อ้างอิง แก้

  1. Nordhoff, Sebastian; Hammarström, Harald; Forkel, Robert; Haspelmath, Martin, บ.ก. (2013). "อัสตูเรียส-เลออน". Glottolog 2.2. Leipzig: Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology.
  2. Nordhoff, Sebastian; Hammarström, Harald; Forkel, Robert; Haspelmath, Martin, บ.ก. (2013). "เอซเตรมาดูรา". Glottolog 2.2. Leipzig: Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology.
  3. Menéndez Pidal, R (1906): "El dialecto Leonés", Revista de Archivos, Bibliotecas y Museos 2–3: 128–141.
  4. UNESCO Interactive Atlas of the World's Languages in Danger. เก็บถาวร สิงหาคม 28, 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. Ethnologue report for Spain เก็บถาวร สิงหาคม 30, 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. Fernández Ordóñez, "Menéndez Pidal and the beginnings of Ibero-Romance dialectology: a critical survey one century later". In: Ramón Menéndez Pidal after Forty Years: A Reassessment / ed. Juan Carlos Conde, 2010, pp. 113–145, 11–41.
  7. Euromosaic report, Lexikon der romanitischen Linguistik 6.I:652-708
  8. "Lei 7/99, 1999-01-29". Diário da República Eletrónico (ภาษาโปรตุเกส). สืบค้นเมื่อ 2020-01-24.