ภาวะสมองตาย (อังกฤษ: brain death) เป็นบทนิยามที่ทางนิติศาสตร์และทางแพทยศาสตร์ใช้หมายเอาการตายของบุคคล ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นในช่วง พ.ศ. 2503 ทั้งนี้ โดยทั่วไปมักหมายเอาภาวะที่ไม่สามารถฟื้นฟูระบบการทำงานของสมองของบุคคลได้อีกแล้ว อันเป็นผลมาจากการตายหมดแล้วทุกส่วนของเซลล์ประสาทในสมอง (อังกฤษ: total necrosis of cerebral neurons) เพราะเหตุที่ได้ขาดเลือดและออกซิเจนหล่อเลี้ยง

สมองของมนุษย์

ทั้งนี้ พึงไม่สับสนภาวะสมองตายกับสภาพร่างกายทำงานนอกบังคับจิตใจเป็นการเรื้อรัง หรือสภาพผักเรื้อรังของผู้ป่วย (อังกฤษ: persistent vegetative state)

ประวัติ แก้

 
รายงานนิยามความตาย : ประเด็นทางแพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ และจริยศาสตร์ในการกำหนดนิยามของความตาย

แต่เดิมทั้งทางนิติศาสตร์และทางแพทยศาสตร์หมายเอาการตายของบุคคลว่าได้แก่การสิ้นสุดลงของการทำงานของอวัยวะสำคัญบางส่วน โดยเฉพาะการหายใจและการเต้นของหัวใจ ต่อเมื่อโลกทางแพทยศาสตร์พัฒนาตามลำดับ ความสามารถในการกู้ชีพ (resuscitation) บุคคลซึ่งหัวใจหยุดทำงานแล้ว ไม่หายใจแล้ว หรือไร้ซึ่งสัญญาณว่ามีชีวิตอยู่ก็พัฒนาไปด้วย จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงบทนิยามของการตายเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความจำเป็นเช่นว่านี้เกิดต้องกระทำรีบด่วนขึ้นเมื่ออุปกรณ์การพยุงชีวิต เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation) ได้แพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นผลให้อวัยวะของมนุษย์หลายชิ้นทำงานต่อไปได้อีก

ในสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511 คณะกรรมการเฉพาะกิจ (ad hoc committee) ที่วิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) แต่งตั้งขึ้นได้จัดพิมพ์รายงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการให้นิยามของอาการโคม่าเหลือจะเยียวยา (irreversible coma) ซึ่งได้กลายมาเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองตายของผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้

ใน พ.ศ. 2519 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งสหรัฐอเมริกาได้มีมติเห็นชอบด้วยที่จะกำหนดให้ภาวะสมองตายเป็นการส่อว่าบุคคลได้ถึงแก่ความตายแล้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2524 คณะกรรมาธิการในประธานาธิบดีเพื่อการศึกษาปัญหาทางจริยธรรมในการวิจัยทางแพทยศาสตร์ และทางชีววิทยา และทางพฤติกรรมศาสตร์ (President's Commission for the Study of Ethnical Problem in Medicine and Biomedical and Behavioral Reseach) ได้จัดเผยแพร่รายงานสำคัญชื่อ "นิยามความตาย : ประเด็นทางแพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ และจริยศาสตร์ในการกำหนดนิยามของความตาย" (Defin­ing Death: Medical, Legal, and Ethical Issues in the Determination of Death)[1] ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปฏิเสธว่า สมองส่วนบน (higher brain หรือ upper brain) ตาย สมองทั้งมวลก็ตายไปด้วย ซึ่งรายงานฉบับได้กลายเป็นมูลฐานในการกำหนดบทอธิบายศัพท์ว่า "ความตาย" ในรัฐบัญญัติจัดระเบียบการกำหนดนิยามของความตาย (Uniform Determination of Death Act) อันยังใช้บังคับอยู่ในรัฐกว่าห้าสิบรัฐ

ปัจจุบัน ทั้งทางนิติศาสตร์และทางแพทยศาสตร์กำหนดให้ภาวะสมองตายเป็นการตายในทางกฎหมายของบุคคล ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าระบบร่างกายทั้งปวงจะค่อย ๆ สิ้นสุดลงซึ่งการทำงานตามลำดับภายหลังจากที่สมองสิ้นสุดการทำงานลง

ด้วยเหตุนี้ แม้บุคคลที่สมองตายแล้วจะดำรงอยู่ได้ด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น การให้ออกซิเจน การใช้เครื่องเปลี่ยนถ่ายโลหิต แต่แพทย์ก็สามารถประกาศได้ว่าบุคคลนี้ถึงแก่ความตายแล้ว

ชาติแรกที่กำหนดให้ภาวะสมองตายเป็นการตายทางกฎหมายของบุคคลคือประเทศฟินแลนด์ ใน พ.ศ. 2514 ซึ่งต่อมาอีกไม่นาน รัฐแคนซัสแห่งสหรัฐอเมริกาก็ประกาศใช้กฎหมายในทำนองเดียวกัน[2] สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเช่นนี้

ข้อเท็จจริงทางแพทยศาสตร์ แก้

หลังจากที่สมองของบุคคลตาย กล่าวคือ หยุดการทำงานลงโดยสิ้นเชิง ร่างกายของบุคคลจะไม่ตอบสนองต่อการกระทบกระทั่งภายนอกอีก โดยระบบการทำงานอื่น ๆ ในร่างกายและชีวิตของบุคคลนั้นจะค่อย ๆ สิ้นสุดลงตามกาลและตามลำดับ เว้นแต่จะมีการประทังชีวิตด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้นว่า เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยฟอกเลือด เครื่องช่วยสูบฉีดโลหิตแทนหัวใจ[3]

หลังจากที่หัวใจหยุดเต้น เซลล์ในสมองบางส่วนจะหยุดทำงานภายในสามถึงห้านาที แต่บางส่วนอาจทำงานได้อีกประมาณสิบห้านาที ไตจะอยู่ได้อีกหนึ่งชั่วโมง กล้ามเนื้อมีชีวิตอยู่ได้อีกสี่ถึงห้าชั่วโมง นอกจากนี้ ผมและเล็บก็ออกได้อีกหลายวัน[4]

การรู้ว่าสมองของบุคคลตายแล้วอาจกระทำได้โดยดูจากการตรวจวิเคราะห์ทางกายภาพ เช่น บุคคลที่สมองตายแล้วไม่มีอาการตอบสนองต่อความเจ็บปวด และไม่มีรีเฟล็กซ์ของประสาทที่โพรงกะโหลก (cranial nerve reflexes) ทั้งนี้ ยังสามารถตรวจได้โดยเครื่องฉายภาพคลื่นไฟฟ้าสมอง หรืออีอีจี (electroencephalogramme หรือ EEG) โดยหากกราฟในจอเครื่องปรากฏราบเรียบแสดงว่าสมองของผู้รับการฉายภาพสิ้นสุดการทำงานลงแล้ว[5]

พึงสังวรว่าควรแยกความต่างระหว่างภาวะสมองตายกับภาวะอื่นที่อาจดูคล้ายสมองตายให้ได้ ภาวะอื่นดังกล่าว เช่น ภาวะเป็นพิษเหตุยากดประสาท (barbiturate intoxication) ภาวะเป็นพิษเหตุสุรา (alcohol intoxication) การได้รับยาระงับประสาทเกินขนาด (sedative overdose) ภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) ภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด (hypoglycaemia) และสภาพผักเรื้อรังของผู้ป่วย (chronic vegetative states)

มีกรณีที่ผู้ป่วยบางรายแม้อยู่ในขั้นตรีทูตก็อาจประทังความเจ็บไข้ถึงขั้นรักษาหายได้ และบางรายแม้บรรดาประสาทจะเสียการทำงานถึงขั้นตรีทูตแล้วก็อาจประทังความเจ็บไข้ได้เช่นกัน หากไม่ได้สูญเสียเปลือกสมอง (cortex cerebri) และระบบการทำงานของก้านสมอง (brainstem) ด้วยเหตุเช่นว่านี้ ถึงแม้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพไร้สมองใหญ่ (anencephaly) หากไม่ได้สูญเสียสิ่งทั้งสอง ก็ยังไม่ถือว่าประสบภาวะสมองตาย แต่ผู้มีสภาพไร้สมองใหญ่ก็อาจถูกกระทำแพทยานุเคราะหฆาตได้ตามเหมาะสม

ประเด็นการรับรู้ของร่างกายในเมื่อสมองตาย แก้

เป็นที่เข้าใจกันว่า การสิ้นสุดลงของกิจกรรมของสมอง หรือที่เรียก "กิจกรรมทางศักย์" (electrical activity) ก็หมายถึงการรับรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์สิ้นสุดลงด้วย

สำหรับผู้เห็นว่า เปลือกสมอง (cortex cerebri) เป็นเพียงส่วนเดียวในร่างกายที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์ มักเห็นว่าการสิ้นสุดลงของกิจกรรมทางศักย์ดังกล่าวควรใช้เป็นที่ตัดสินว่าบุคคลตายแล้วเพียงประการเดียว อย่างไรก็ดี มีหลายกรณีที่เลือดไม่ไปหล่อเลี้ยงสมองเพราะความกดดันในกะโหลกศีรษะ อันเป็นผลให้สมองทั้งส่วนไม่ทำงาน และร่างกายขาดการรับรู้ในที่สุด ซึ่งหมายความว่าไม่ได้มีแค่เปลือกสมองเท่านั้นที่อาจส่งผลต่อการรับรู้ของร่างกาย

มีกรณีตัวอย่าง คือ กรณีของนายซัค ดันแลป (Zach Dunlap) ชายวัยยี่สิบเอ็ดปี (พ.ศ. 2550) ผู้ซึ่งแพทย์แถลงว่าสมองตายแล้ว[ต้องการอ้างอิง]เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 แต่สี่ชั่วโมงต่อมากลับฟื้นคืนสติและไม่ได้สูญเสียความทรงจำใด ๆ โดยยังให้สัมภาษณ์ในภายหลังอีกว่ายังได้ยินเสียงแพทย์ประกาศว่าสมองของตนตายแล้วอย่างแม่นชัด ซึ่งในระหว่างที่นายซัคหมดสติไปนั้น นางแดน คอฟฟิน (Dan Coffin) ญาติของนายซัคและเป็นนางพยาบาลด้วย พบว่าร่างกายของนายซัคยังตอบสนองต่ออาการเจ็บปวดซึ่งน่าจะหมายความว่าเขายังมีชีวิตอยู่แม้สมองจะตายแล้วตามที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ เป็นเหตุให้เกิดข้อกังขาในขณะนี้เกี่ยวกับความเข้าใจว่ามนุษย์สิ้นสุดการรับรู้เมื่อสมองหยุดทำงานดังข้างต้น[6] [7]

อ้างอิง แก้

  1. President's Commission for the Study of Ethnical Problem in Medicine and Biomedical and Behavioral Reseach. (1981). Defin­ing Death: Medical, Legal, and Ethical Issues in the Determination of Death. [Online]. Available: http://www.bioethics.gov/reports/past_commissions/defining_death.pdf เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (Accessed: 25 June 2008).
  2. Randell T. (2004). Medical and legal considerations of brain death. ACTA ANAESTHESIOLOGICA SCANDINAVICA, 48 (2). pp. 139–144.
  3. ประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์. (2529). การยกเว้นความรับผิดในการทำให้ผู้ป่วยตายด้วยความสงสาร. วิทยานิพนธ์ในการศึกษาตามหลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 51.
  4. สันต์ หัตถีรีตน์. (2521). การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์. หน้า 18.
  5. ประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์. (2529). การยกเว้นความรับผิดในการทำให้ผู้ป่วยตายด้วยความสงสาร. วิทยานิพนธ์ในการศึกษาตามหลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 52.
  6. Heraldsun.com.au. (2008, 25 March). Dead man says he feels pretty good. [Online]. Available: http://www.news.com.au/heraldsun/story/0,21985,23427539-23109,00.html เก็บถาวร 2008-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (Accessed: 25 June 2008).
  7. Mike Celizic. (2008, 24 March). Pronounced dead, man takes ‘miraculous’ turn. [Online]. Available: http://today.msnbc.msn.com/id/23775873/ เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (25 June 2008).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

การจำแนกโรค