เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐปนดิน มีคูเมืองสองชั้น มีลักษณะเป็นท้องน้ำ นอกจากนี้ยังมี พระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดี แต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง มีการขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร 130 แผ่น

ที่ตั้งและภูมิศาสตร์ แก้

พื้นที่ของเมืองตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มลำน้ำปาว ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 120 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ผังเมืองเดิมเป็นรูปไข่แล้วขยายออกมาทางทิศใต้และทิศตะวันออกจนมีรูปร่างค่อนข้างเหลี่ยม กว้าง 1,000 เมตร ยาว 1,800 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น คันดินสูงราว 2-3 เมตร สามารถคาดเดาได้ว่า เมื่อมีการขุดคูล้อมรอบที่ตั้งชุมชน ลำคูคงกลายเป็นที่รับน้ำฝนและน้ำซึ่งไหลจากแหล่งรับน้ำโดยรอบนำมาเก็บไว้เพื่อให้ใช้ได้ตลอดปี

ประวัติและการขุดค้น แก้

ชุมชนโบราณแห่งนี้ พบว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 หรือประมาณ 2,200 ปีมาแล้ว ซึ่งนับอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็กตอนปลาย และมีการอยู่อาศัยเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งเป็นยุคที่ชุมชนแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พบร่องรอยการอยู่อาศัย 5 ระยะดังนี้[1]

สมัยก่อนประวัติศาสตร์-ยุคเหล็กตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 3-7) แก้

พบร่องรอยการอยู่อาศัยในหลุมขุดค้นบริเวณโนนเมืองเก่า คือ ภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นครีม ซึ่งเป็นภาชนะที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในบริเวณแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช กำหนดอายุอยู่ในราว 2,200 – 1,800 ปีมาแล้ว และยังพบภาชนะที่ตกแต่งผิวด้วยการทาน้ำโคลนสีแดงด้วย มีการปลงศพด้วยการฝังยาว โดยวางศีรษะให้หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือทั้งหมด แต่มีทั้งแบบนอนหงายและนอนตะแคง ไม่พบการอุทิศสิ่งของให้ศพ

นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของกิจกรรมการถลุงเหล็กด้วยเทคนิคโบราณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโนนเมืองเก่า และชุมชนในชั้นนี้ยังรู้จักการผลิตเครื่องประดับสำริดประเภทกำไล แหวน ต่างหู ซึ่งจากหลักฐานที่พบ คือ เบ้าดินที่มีคราบโลหะติดอยู่ และอุปกรณ์การหล่อในรูปของแม่พิมพ์ดินเผา ทำให้ทราบว่าเป็นการผลิตสำริดด้วยเทคนิค กระบวนการผลิตขั้นที่ 2 (secondary metallurgical operation) ไม่มีการถลุงเพื่อสกัดโลหะออกจากแร่ดิบ เพียงแต่นำเอาโลหะที่ผ่านการถลุงแล้วมาหลอมแล้วหล่อให้ได้รูปทรงตามต้องการด้วยวิธี lost wax process คือ ใช้ขี้ผึ้งทำแบบขึ้นมาก่อนแล้วเอาดินพอกจากนั้นให้ความร้อนเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายและไหลออก จากนั้นจึงเอาโลหะหลอมละลายในเบ้าดินเผาเทลงแทนที่ เมื่อแข็งตัวแล้วจึงทุบแม่พิมพ์ออก กระบวนการผลิตแบบนี้พบในแหล่งโบราณคดียุคโลหะในแอ่งสกลนครและแอ่งโคราชทั่วไป เช่น บ้านเชียง บ้านนาดี เป็นต้น

สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 7-12) แก้

ระยะนี้รู้จักการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากเหล็ก ผลิตเครื่องประดับสำริดตลอดจนผลิตภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ โดยการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนมีการเผาทั้งแบบกลางแจ้งและเผาในเตาดินที่ควบคุมอุณหภูมิได้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดในช่วงนี้คือประเพณีการปลงศพซึ่งเปลี่ยนจากการฝังยาวมาเป็นการฝังโดยบรรจุกระดุกทั้งโครงหรือโครงกระดูกบางส่วนโดยไม่ผ่านการเผาลงในภาชนะดินเผา การปลงศพแบบนี้ถือว่าเป็นประเพณีที่แพร่หลายอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ชี มูล ในช่วงหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์

สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) แก้

เป็นระยะที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดเมื่อเทียบกับระยะอื่นๆ มีการประมาณกันไว้ว่าเมืองฟ้าแดดสงยางในยุคนี้มีประชากรราว 3,000 คนเลยทีเดียว[2] โดยพบเครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริดประเภทแหวน กำไล ลูกกระพรวน นอกจากนั้นยังพบลูกปัดแก้วสีเขียวอมฟ้า รวมทั้งลูกปัดหินอะเกต และหินคาร์เนเลียน ส่วนภาชนะดินเผาส่วนใหญ่จะเป็นหม้อมีสัน กาน้ำ (หม้อมีพวย) ตะคัน ตลอดจนได้พบแวดินเผา และเบี้ยดินเผาแบบต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าโบราณวัตถุที่พบในชั้นนี้เหมือนกับโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16

ในสมัยนี้ชุมชนเริ่มได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ซึ่งแพร่เข้ามาจากอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-14 (สมัยคุปตะและปาละ) ดังปรากฏศาสนสถานที่มีลักษณะร่วมกันคือ เจดีย์ วิหารและอุโบสถ ซึ่งส่วนใหญ่จะก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ (มีความยาว 2 เท่าของความกว้าง) และไม่สอปูน แผนผังเจดีย์ที่นิยมในสมัยทวารวดีทั้งภาคกลางและอีสาน คือมีแปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นด้านเดียวหรือ 4 ด้าน มีการตกแต่งผนังอิฐด้วยการฉาบปูนแล้วประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นและดินเผา นอกจากนี้วัฒนธรรมการสร้างปริมากรรมรูปธรรมจักรลอยตัวยังพบที่เมืองฟ้าแดดสงยางแห่งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมที่ถือว่าโดดเด่นที่สุดที่พบในชุมชนสมัยทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งไม่ใช่พระพุทธรูปหรือธรรมจักรที่นิยมในภาคกลาง คือ ใบเสมา ทั้งแบบที่มีภาพเล่าเรื่องและแบบที่ไม่มี ใบเสามาเหล่านี้อาจใช้ในการปักเขตแดนศาสนสถาน ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากกว่า 14 แห่ง ( จำนวนที่ขุดแต่งครั้งแรกในปี 2510-2511)

ประติมากรรมในทางพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจอีกประเภทคือ พระพิมพ์ดินเผา ซึ่งขุดพบที่เมืองโบราณแห่งนี้จำนวน 7 พิมพ์ด้วยกัน พิมพ์ที่พบมากที่สุด (83 องค์) ซึ่งอาจจะเป็นพิมพ์พื้นเมือง และแพร่หลายในเขตลุ่มน้ำชี เพราะพบที่เมืองโบราณคันธาระ อำเภอกันทรวิชัยด้วย คือ ปรางค์สมาธิบนฐานดอกบัว ส่วนพิมพ์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษของพระพิมพ์ลุ่มน้ำชี คือ ปางธรรมจักร ซึ่งพบเฉพาะที่เมืองโบราณฟ้าแดดสงยางและเมืองโบราณคันธาระเท่านั้น ไม่ปรากฏในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการจารึกบนพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสงยางด้วย ซึ่งอักษรที่ใช้จารึกเป็นอักษรสมัยหลังปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 14) ภาษามอญโบราณ ด้านบนมีเนื้อหากล่าวถึง พระเจ้าอาทิตย์ ส่วนด้านหลัง เป็นข้อความสั้นๆ กล่าวแต่เพียงสังเขปว่า "พระพิมพ์องค์นี้ ปิณญะอุปัชฌายาจารย์ ผู้มีคุณเลื่องลือไกล" ซึ่งก็อาจแปลความได้ว่า พระพิมพ์องค์นี้ ท่านปิณญะอุปัชฌาจารย์ เกจิผู้มีชื่อเสียงได้สร้างขึ้นไว้สำหรับให้สาธุชนได้รับไปบูชา[3]

สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 17-18) แก้

ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นไปดูเหมือนว่าชุมชนโบราณแห่งนี้จะเริ่มเปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับการปลงศพโดยนิยมการเผาแล้วเก็บอัฐิใส่โกศดินเผาไปฝังไว้ใต้ศาสนสถาน (บริเวณโนนฟ้าแดด) ดังที่พบผอบดินเผาเคลือบสีน้ำตาลอมเขียวที่ภายในบรรจุอัฐิ

สมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 19-23) แก้

ช่วงนี้เองที่ชุมชนแห่งนี้มีการติดต่อกับชุมชนในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งภาคเหนือของไทยด้วย เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ย หยวน หมิง ที่เป็นสินค้าสำคัญในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี และลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ปรากฏในเมืองโบราณแห่งนี้ด้วย สมัยนี้ยังพบว่ามีการอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น มีการสร้างศาสนสถานแบบอยุธยาซ้อนทับฐานศาสนสถานแบบทวารวดีเกือบทุกแห่ง ที่เห็นร่องรอยเด่นชัดที่สุดในปัจจุบัน คือ ฐานล่างของพระธาตุยาคู ซึ่งเป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่มีเจดีย์เป็นแบบศิลปะสมัยอยุธยาสร้างซ้อนทับและมีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

อ้างอิง แก้

  1. ผาสุก อินทราวุทและคณะ. (2544). รายงานการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. สำนักพิมพ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์[1][ลิงก์เสีย]หน้า 42-46.
  3. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)[2][ลิงก์เสีย]สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

16°19′08″N 103°31′15″E / 16.318779°N 103.520867°E / 16.318779; 103.520867