ฟรานซ์ ไคลน์ (อังกฤษ: Franz Jozef Kline) (May 23, 1910 – May 13, 1962) เป็นศิลปินชาวอเมริกันในกระแส แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กช่วงทศวรรษที่ 1940-1950 ไคลน์ เกิดที่วิสเกส-แบร์ รัฐเพนซิลวาเนีย เริ่มศึกษาศิลปะที่มหาวิทยาลัยบอสตันในปี ค.ศ.1949 งานที่นำชื่อเสียงมาให้เป็นงานศิลปะขนาดใหญ่แบบนามธรรมที่สร้างด้วยสีขาวและดำ และนำออกแสดงเป็นส่วนตัวที่อีแกน แกลอรี ในปี ค.ศ.1950 นอกจากเป็นจิตรกรแล้ว ไคลน์ยังเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่แบลคเมาเทน คอลเลจ ในรัฐนอร์ธ คาโรไลนา, แพรค อินสติทิวท์ และคูเปอร์ ยูเนียน ในนิวยอร์ก

ฟรานซ์ ไคลน์
เกิดฟรันซ์ โจเซฟ ไคลน์
23 พฤษภาคม ค.ศ. 1910(1910-05-23)
วิลเกส-แบร์, เพนซิลวาเนีย
เสียชีวิต13 พฤษภาคม ค.ศ. 1962(1962-05-13) (51 ปี)
นิวยอร์ก
สัญชาติAmerican
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรมนามธรรม
ขบวนการแอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์

ฟรานซ์ ไคลน์ แต่งงานกับ เอลิซาเบธ วินเซนต์ นักบัลเล่ต์ชาวอังกฤษ และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจที่นิวยอร์กในปี 1962 ขณะที่มีอายุได้ 51 ปี

ผลงานนามธรรมของไคลน์ แก้

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 จนถึงกลางทศวรรษ 1940 ไคลน์มักจะได้รับแรงบันดาลใจจากการเขียนรูปมาจากบ้านเกิดซึ่งอยู่ในเขตทำเหมืองแถบเพนซิลวาเนีย ในช่วงทศวรรษ 1950 ไคลน์เติมสีสันลงบนผลงานของเขามากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เขาเข้าสังกัดกับซิดนีย์ แจนิส แกลอรี่ ในปี ค.ศ.1956 ในช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากไคลน์แล้ว ศิลปินจากสำนักนิวยอร์กหลายคน โดยเฉพาะ วิลเลม เดอ คูนนิง และ แจ็คสัน พอลล็อก ก็หันมาเขียนภาพด้วยการใช้สีขาวดำด้วย คลีเมนต์ กรีนเบิร์ก นักวิชาการด้านศิลปะได้กล่าวถึงการใช้สีขาวดำของศิลปินเหล่านี้ไว้ว่าเป็นเสมือนพัฒนาการของเทคนิคแรเงา (เคียโรสกูโร) ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลงานของไคลน์มักจะเริ่มต้นมาจากภาพร่างที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเนื่องจากเหตุผลด้านรายได้ ไคลน์มักจะร่างภาพลงบนกระดาษสมุดโทรศัพท์หรือไม่ก็กระดาษหนังสือพิมพ์ ช่วงปี ค.ศ.1948 ไคลน์ได้รู้จักอุปกรณ์ขยายภาพที่เรียกว่า เบลล์-ออฟติคอน ในห้องทำงานของเดอ คูนนิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถฉายภาพวาดขาวดำของเขาให้ปรากฏบนผนังห้อง ทำให้ไคลน์สามารถพัฒนาเทคนิคการเขียนภาพอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาได้ นั่นคือการนำภาพร่างที่เขียนไว้มาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่

วิธีการอัตโนมัติในการสร้างงาน แก้

วิธีการอัตโนมัติ (Automatism) เป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของศิลปินในกลุ่ม แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์ ซึ่งไคลน์ก็เป็นศิลปินอยู่ในกระแสดังกล่าว วิธีการอัตโนมัติได้ปลดปล่อยจินตนาการของศิลปิน ทำให้เขาสามารถค้นหาสภาวะความเป็นสากลจักรวาลภายในตัวเขาซึ่งซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึกได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังทำให้ศิลปินสามารถแสดงออกได้ด้วยความกล้าเสี่ยงกล้าทดลอง ด้วยวิธีการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดรูปทรงที่มีพลังเคลื่อนไหวและไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งทำให้เกิดการค้นพบภาษาใหม่ในการแสดงออกที่เป็นต้นแบบไม่ซ้ำใคร การปลดปล่อยจิตใต้สำนึกออกมาสำหรับศิลปินในกระแสนี้ได้แก่การเขียนภาพสดๆ แบบ Improvisation และการปาดป้ายอย่างฉับพลันทันที (Spontaneous Gesture) ซึ่งสำหรับไคลน์(รวมถึงพอลล็อก)ความสดฉับพลันเป็นหัวใจของแนวคิดอนาธิปไตย แรงผลักดันอิสระจากจิตของมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่จะปลดปล่อยพลังแห่งธรรมชาติ ความกลมกลืนที่แท้จริงก็คือการแสดงออกของพลังดังกล่าว ซึ่งเป็นพลังตามธรรมชาติของมนุษย์

ลักษณะที่คล้ายศิลปะตะวันออก แก้

ผลงานของไคลน์เป็นการแสดงออกถึงลีลาท่าทางบางประการคล้ายคลึงกับวิธีการเขียนตัวหนังสือของตะวันออก เช่น จีนและญี่ปุ่น ผิดกันตรงที่ไคลน์ใช้แปรงขนาดใหญ่วาดบนแผ่นผืนผ้าใบขนาดมหึมา เขานิยมใช้สีขาว ดำ และเทา ด้วยเหตุที่ว่าต้องการจะขจัดความวุ่นวายของสีต่างๆ ออกไป รอยที่แปรงของเขาจะดูใหญ่โตมโหฬารด้วยวิธีการเหมือนดังการเขียนตัวหนังสือจีน ฉะนั้นจึงก่อให้เกิดความรู้สึกห้าวหาญ เด็ดขาด รุนแรง และเต็มไปด้วยสมาธิ การใช้สีขาวของไคลน์นั้น มิใช่เป็นเพียงพื้นของภาพหรือไม่ได้ต้องการให้เป็นความว่างเปล่า แต่ต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพ และแสดงความขัดแย้งโดยตรงกับสีดำ ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1958 จึงเริ่มนำสีต่างๆ มาใช้เพื่อให้ได้บรรยากาศ แต่ไม่ได้ผลสำเร็จเท่ากับยุคที่ใช้สีดำ-ขาว ซึ่งมีความจริงอันเปลือยเปล่า เต็มไปด้วยลีลาและแสดงอารมณ์ของความขัดแย้งที่แสดงออกมาอย่างรุนแรง

แม้งานของไคลน์จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับศิลปะตะวันออก แต่ตัวศิลปินเองกลับปฏิเสธที่จะนำผลงานไปเปรียบเทียบกับงานของญี่ปุ่น เพราะเขาไม่ได้เขียนสีดำลงบนพื้นหลังสีขาวเท่านั้น หากแต่ไคลน์เขียนทั้งสีดำลงบนพื้นหลังสีขาวและเขียนสีขาวลงบนพื้นหลังสีดำ ภาพของเขาค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนไป ไคลน์ใช้เวลาเขียนรูปเป็นสัปดาห์หรือไม่ก็เป็นเดือน ดังนั้นในช่วงเวลาหนึ่งเขาจึงผลิตผลงานออกมาได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น กระบวนการในการทำงานของไคลน์จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับศิลปะการเขียนอักษรด้วยหมึกสีดำลงบนกระดาษซึ่งสามารถเขียนเสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไคลน์ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 1962 ว่า การเขียนอักษรเป็นการเขียนหนังสือ แต่เขาไม่ได้เขียนหนังสือ และเขาไม่ใช่แค่เขียนสีดำลงบนผ้าใบสีขาว แต่เขาวาดทั้งสีขาวและสีดำ ซึ่งสีขาวก็มีความสำคัญเช่นกัน

ตัวอย่างผลงานของฟรานซ์ ไคลน์ แก้

อ้างอิง แก้

  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย),2554,หน้า 436-437
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ),2545, หน้า 230-231
  • บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. อนิมา ทัศจันทร์ แปลจาก Abstract Expressionism (เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท), 2552, หน้า 84
  • ed. Carolyn Christov-Bakargiev, et al. Franz Kline (1910–1962) (Skira) (ISBN 88-7624-141-8)
  • Harry F. Gaugh Franz Kline (Abbeville Press)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้