พืดน้ำแข็ง (อังกฤษ: Ice sheet) หรือเรียกอีกอย่างว่าธารน้ำแข็งภาคพื้นทวีป (อังกฤษ: continental glacier)[1] เป็นมวลของธารน้ำแข็งที่ปกคลุมภูมิประเทศโดยรอบและมีขนาดมากกว่า 50,000 ตารางกิโลเมตร[2] ปัจจุบันพืดน้ำแข็งสามารถพบได้เพียงในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกา ช่วงยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายในยุคน้ำแข็งใหญ่สุดครั้งสุดท้ายพืดน้ำแข็งลอเรนไทด์ได้ปกคลุมพื้นที่จำนวนมากของทวีปอเมริกาเหนือ พืดน้ำแข็งไวช์เซเลียนปกคลุมทางเหนือของทวีปยุโรปและพืดน้ำแข็งปาตาโกเนียปกคลุมทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้

ภาพถ่ายทางอากาศของพืดน้ำแข็งบนชายฝั่งตะวันออกของเกาะกรีนแลนด์

พืดน้ำแข็งนั้นมีขนาดใหญ่กว่าหิ้งน้ำแข็งและธารน้ำแข็งแบบแอลป์ มวลของน้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นที่น้อยกว่า 50,000 ตารางกิโลเมตรเรียกว่าครอบน้ำแข็ง

ถึงแม้ว่าผิวหน้าของพืดน้ำแข็งจะหนาวและเย็นแต่บริเวณฐานจะอุ่นเนื่องจากความร้อนใต้พิภพ ในสถานที่ ๆ ทำให้น้ำแข็งด้านล่างละลายจากนั้นก็จะค่อย ๆ พาน้ำแข็งไหลไปเร็วกว่าบริเวณอื่นจะเรียกว่าภูมิภาคน้ำแข็งไหล (Ice stream)

ปัจจุบันพืดน้ำแข็งบริเวณขั่วโลกนั้นยังถือว่ามีอายุน้อยมาก พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกก่อตัวขึ้นครั้งแรกจากทุ่งน้ำแข็งขนาดเล็กในช่วงต้นสมันโอลิโกซีนจากนั้นก็เพิ่มขนาดและลดลงหลายครั้งจนถึงสมัยพลิโอซีนพืดน้ำแข็งก็คลอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของแอนตาร์กติกา พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์นั้นไม่ได้ขยายตัวเลยจนถึงปลายสมัยพลิโอซีนแต่หลังจากนั้นก็พัฒนาตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ธารน้ำแข็งปกคลุมทวีป ทำให้พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่เกิดแบบรวดเร็วและเฉียบผลันสามารถเก็บรักษาซากดึกดำบรรพ์ของพืชที่งอกบนเกาะได้ดีกว่าพืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกที่ค่อย ๆ ก่อตัวอย่างช้า ๆ

พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติก แก้

 
ภาพถ่ายจากดาวเทียมของแอนตาร์กติก
 
แผนที่ของกรีนแลนด์[3]

พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกเป็นพืดน้ำแข็งมวลเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 14 ล้านตารางกิโลเมตรและมีน้ำแข็งประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร มวลน้ำแข็ง 90% ของโลกอยู่ในแอนตาร์กติกา[4]ซึ่งหากน้ำแข็งละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 58 เมตร[5]แนวโน้มค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวทวีปแอนตาร์กติกาเป็นค่าบวกและมีนัยสำคัญที่ > 0.05 ° C ในรอบทศวรรษตั้งแต่ พ.ศ. 2500[6]

พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยเทือกเขาทรานส์แอนตาร์กติก 2 ส่วนนี้มีขนาดไม่เท่ากันฝั่งตะวันออกจะมีขนาดใหญ่กว่าฝั่งตะวันตก พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกนั้นอยู่บนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่แต่ฐานของพืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกบางส่วนนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2,500 เมตรซึ่งหากไม่มีน้ำแข็งบริเวณนี้แล้วมันจะกลายเป็นก้นทะเลแทน ด้วยลักษณะนี้ทำให้ฝั่งตะวันตกถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพืดน้ำแข็งที่มีฐานใต้ทะเลหรือก็คือมีฐานอยู่ใต้น้ำและมีขอบเป็นหิ้งน้ำแข็งที่ลอยอยู่บนน้ำ พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกนั้นมีชายแดนคือหิ้งน้ำแข็งรอสส์ หิ้งน้ำแข็งฟิวช์เนอร์-โรนและธารน้ำแข็งต่าง ๆ ที่ไหลลงทะเลอามุนเซน

พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ แก้

พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ครอบคลุมพื้นประมาณ 82% ของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งหากน้ำแข็งละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 7.2 เมตร[5]มีการประเมินว่ามีอัตราการละลายมากสุดประมาณ 239 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี[7]ค่าการประเมินนี้มาจากจีอาร์เอซีอีของนาซาที่ปล่อยใน พ.ศ. 2545 ตามรายงานของบีบีซีเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549[8]

อ้างอิง แก้

  1. American Meteorological Society, Glossary of Meteorology เก็บถาวร 2012-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. "Glossary of Important Terms in Glacial Geology". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-29. สืบค้นเมื่อ 2006-08-22.
  3. The map of Greenland is not on the same scale as the map of Antarctica; Greenland's area is approximately 15% of Antarctica's.
  4. "Ice and Glaciers -The Water Cycle-USGS Water-Science School". water.usgs.gov.
  5. 5.0 5.1 "Some physical characteristics of ice on Earth, Climate Change 2001: Working Group I: The Scientific Basis. Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-16. สืบค้นเมื่อ 2018-05-27.
  6. Steig, E. J.; Schneider, D. P.; Rutherford, S. D.; Mann, M. E.; Comiso, J. C.; Shindell, D. T. (2009). "Warming of the Antarctic ice-sheet surface since the 1957 International Geophysical Year". Nature. 457 (7228): 459–462. doi:10.1038/nature07669. PMID 19158794.
  7. Rasmus Benestad et al.: The Greenland Ice. Realclimate.org 2006
  8. "Greenland melt 'speeding up'". 11 August 2006 – โดยทาง news.bbc.co.uk.