พืชอวบน้ำ หรือ ไม้อวบน้ำ (Succulent plants หรือ succulents) เป็นพืชที่กักเก็บน้ำไว้ในราก ใบ หรือลำต้น ที่อวบ และนุ่ม ความอวบหรือความใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อเยื่อพาเรงไคมา (parenchyma) เช่น ในว่านหางจระเข้ (Aloe vera) การเก็บน้ำในลักษณะดังกล่าว ทำให้มันสามารถมีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ ในตอนกลางวัน สภาพที่อยู่ของมันมักจะร้อนจัด แต่ในตอนกลางคืนอากาศจะเย็นลง ทำให้พืชอวบน้ำเปิดปากใบ และคายคาร์บอนไดออกไซด์ และมีบ่อยครั้งที่น้ำค้างในตอนเช้ามืดช่วยให้พืชเหล่านี้มีชีวิตรอดได้ และด้วยการใช้ขนที่ยาว ซึ่งขึ้นคลุมทั่วพื้นผิวส่วนใหญ่ของมัน ทำให้พืชอวบน้ำบางชนิดสามารถดูดซับน้ำค้างเหล่านี้ได้

ว่านหางจระเข้ ตัวอย่างหนึ่งของพืชอวบน้ำ จะเก็บกักน้ำไว้ในใบ จนมีลักษณะอวบ เต่งตึงเสมอ

พืชอวบน้ำจำนวนมากมีไขเคลือบอยู่บนลำต้น และใบ ช่วยให้สามารถกักความชื้นเอาไว้ได้ นอกจากนี้การมีปริมาตรภายในสำหรับกักเก็บน้ำได้มาก แต่ทีพื้นที่ผิวน้อยที่สุด ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยป้อนกันมาสูญเสียน้ำได้ การสังเคราะห์ด้วยแสงแบบ CAM (Crassulacean acid metabolism) ยังเป็นวิธีการสงวนน้ำเอาไว้ ที่พบได้ทั่วไปในพืชอวบน้ำหลายชนิด

ความอวบน้ำของพืชเหล่านี้ยังมีผลมาจากวิวัฒนาการเบนเข้า (convergent evolution : วิวัฒนาการของพืชที่นำไปสู่ผลลัพธ์ท้ายสุดที่เหมือนกัน โดยไม่ได้มีจุดเริ่มต้นอย่างเดียวกัน) โดยไม่จำเป็นต้องบอกถึงความสัมพันธ์ในเชิงพันธุกรรมระหว่างกัน

ชนิดของพืชอวบน้ำพบได้ให้พืชหลายวงศ์ (มากกว่า 25 วงศ์พืช)[1] ในบางวงศ์เช่น วงศ์ผักเบี้ยทะเล วงศ์กระบองเพชร และ วงศ์กุหลาบหิน พืชส่วนใหญ่ในวงศ์เป็นพืชอวบน้ำ แหล่งที่อยู่ของพืชจำพวกนี้คือในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงและปริมาณฝนน้อยอย่างเช่นทะเลทราย พืชอวบน้ำจึงปรับตัวให้มีความสามารถในการเจริญเติมโตได้ในสภาวะที่น้ำมีอย่างจำกัด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

 
Center of a succulent (Aloe polyphylla)

ตามคำนิยามพืชอวบน้ำคึอ "พืชทนแล้ง โดยที่ใบ ลำต้น หรือรากมีเนื้อมากกว่าปกติ จากการพัฒนาเนื้อเยื่อเพื่อกักเก็บน้ำ"[2] และมีคำอธิบายอื่นที่ไม่รวมถึงส่วนของรากพืชตามคำนิยาม คือ "พืชที่มีลำต้นและ/หรือใบหนาอวบ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้"[3] ความแตกต่างกันในการอธิบายนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพืชอวบน้ำกับ "geophytes" ซึ่งเป็นพืชที่ปรับตัวให้อยู่รอดในฤดูที่ไม่เอื้ออำนวย โดยการพักตัวอยู่ในหัวหรือเหง้าใต้ดิน ซึ่งมักมีเนื้อมีเนื้อเยื่อกักเก็บน้ำ ดังนั้นหากคำนิยามรวมในส่วนของรากแล้วนั้น geophytes จำนวนมากจะถูกจัดประเภทเป็นพืชอวบน้ำ พืชที่ปรับตัวเข้ากับสภาวะแห้งแล้งอย่างพืชอวบน้ำเรียกว่า xerophytes แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ xerophytes ทุกชนิดจะเป็นพืชอวบน้ำ

  1. Dimmitt, Mark. "The Tucson Cactus and Succulent Society". www.tucsoncactus.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 August 2017. สืบค้นเมื่อ 5 February 2017.
  2. Rowley 1980, p. 1
  3. Beentje 2010, p. 116