พายุเฮอริเคนเออร์มา

(เปลี่ยนทางจาก พายุเฮอร์ริเคนเออร์มา)

พายุเฮอริเคนเออร์มา (อังกฤษ: Hurricane Irma) เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีกำลังแรงซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคแคริบเบียนและรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา เท่าที่มีการบันทึกไว้นั้น เออร์มาเป็นเฮอริเคนที่มีกำลังแรงที่สุดในแอ่งแอตแลนติกนอกทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก และมีความรุนแรงเทียบเท่าพายุเฮอริเคนวันแรงงาน พ.ศ. 2478 ในฐานะพายุหมุนขึ้นฝั่งที่รุนแรงที่สุดในแอ่งแอตแลนติก รวมทั้งเป็นเฮอริเคนแอตแลนติกที่รุนแรงที่สุดในด้านความเร็วลมสูงสุดนับตั้งแต่พายุเฮอริเคนวิลมาในปี พ.ศ. 2548 และรุนแรงที่สุดในด้านความกดอากาศนับตั้งแต่พายุเฮอริเคนดีนในปี พ.ศ. 2550 และเป็นลูกแรกที่มีระดับความรุนแรงเช่นนั้นที่เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ใด ๆ ในภูมิภาคแอตแลนติกนับตั้งแต่พายุเฮอริเคนเฟลิกซ์ในปี พ.ศ. 2550 เออร์มายังเป็นเฮอริเคนระดับ 5 ลูกแรกเท่าที่มีการบันทึกไว้ที่เคลื่อนผ่านและส่งผลกระทบโดยตรงต่อหมู่เกาะลีเวิร์ดตอนเหนือ และเป็นลูกที่สองเท่าที่มีการบันทึกไว้ที่ขึ้นฝั่งคิวบาด้วยระดับความรุนแรงดังกล่าว (อีกลูกเป็นเฮอริเคนในปี พ.ศ. 2467)

พายุเฮอริเคนเออร์มา
พายุเฮอริเคนระดับ 5 (SSHWS)
พายุเฮอริเคนเออร์มาขณะมีกำลังแรงสูงสุดเหนือหมู่เกาะเวอร์จินเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560
พายุเฮอริเคนเออร์มาขณะมีกำลังแรงสูงสุดเหนือหมู่เกาะเวอร์จินเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560
พายุเฮอริเคนเออร์มาขณะมีกำลังแรงสูงสุดเหนือหมู่เกาะเวอร์จินเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560
ก่อตัว 30 สิงหาคม 2560
สลายตัว 15 กันยายน 2560
ความเร็วลม
สูงสุด
เฉลี่ยลมใน 1 นาที:
185 ไมล์/ชม. (295 กม./ชม.)
ความกดอากาศต่ำสุด 914 มิลลิบาร์ (เฮกโตปาสกาล 26.99 นิ้วปรอท)
ผู้เสียชีวิต 84 ราย (ณ วันที่ 18 กันยายน)
ความเสียหาย > 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินปี 2560)
พื้นที่ได้รับ
ผลกระทบ
หมู่เกาะลีเวิร์ด (แอนทีกาและบาร์บิวดา, แซ็ง-บาร์เตเลมี, เซนต์มาร์ติน, แองกวิลลา, หมู่เกาะเวอร์จิน), ปวยร์โตรีโก, ฮิสปันโยลา, หมู่เกาะเติกส์และเคคอส, บาฮามาส, คิวบา, ฟลอริดา
ส่วนหนึ่งของ
ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2560

ในฐานะเฮอริเคนประเภทกาบูเวร์ดีลูกหนึ่ง[1][2][3] เออร์มาก่อตัวขึ้นใกล้กับกาบูเวร์ดีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จากคลื่นกระแสลมเขตร้อนซึ่งได้เคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกไปเมื่อสองวันก่อนหน้า มันเป็นพายุหมุนลูกที่เก้า เฮอริเคนลูกที่สี่ และเฮอริเคนขนาดใหญ่ลูกที่สองที่ได้รับการตั้งชื่อในฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2560[4][5][6] ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เออร์มาได้ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วหลังจากการก่อตัว กลายเป็นเฮอริเคนระดับ 2 ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง มันเริ่มเป็นเฮอริเคนระดับ 3 (และเฮอริเคนขนาดใหญ่) หลังจากนั้นไม่นาน อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงได้ผันผวนขึ้นลงอยู่หลายวันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแทนกำแพงตาพายุหลายครั้ง จนกระทั่งในวันที่ 5 กันยายน เออร์มาได้กลายเป็นเฮอริเคนระดับ 5 และเมื่อถึงเช้าวันต่อมา ก็ได้เพิ่มความรุนแรงสู่ระดับสูงสุดด้วยความเร็วลม 185 ไมล์ต่อชั่วโมง (295 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และความกดอากาศต่ำสุด 914 มิลลิบาร์ (914 เฮกโตปาสกาล; 27.0 นิ้วปรอท) ทำให้พายุลูกนี้เป็นเฮอริเคนที่มีกำลังแรงที่สุดเป็นอันดับสองในด้านความเร็วลมสูงสุด เป็นรองเพียงพายุเฮอริเคนแอลลินในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งมีความเร็วลมสูงสุดที่ 190 ไมล์ต่อชั่วโมง (305 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เออร์มาสรักษาความเร็วลมที่ 185 ไมล์ต่อชั่วโมงได้นานถึง 37 ชั่วโมง ทำลายสถิติของเฮอริเคนแอลลินซึ่งรักษาความเร็วลมที่ 180 ไมล์ต่อชั่วโมง (285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ได้นาน 18 ชั่วโมง[7] นอกจากนี้ เออร์มายังเป็นหนึ่งในบรรดาเฮอริเคนที่รักษาความเร็วลมในระดับ 5 ไว้ได้นานที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ด้วย[8]

ในช่วงที่มีความเร็วลมอยู่ในระดับ 5 เออร์มาได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงในบาร์บิวดา, แซ็ง-บาร์เตเลมี, เซนต์มาร์ติน, แองกวิลลา และหมู่เกาะเวอร์จิน และเป็นเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มหมู่เกาะลีเวิร์ดตอนเหนือและหนึ่งในพายุหมุนที่ร้ายแรงที่สุดที่พัดถล่มหมู่เกาะดังกล่าว (ร่วมกับพายุเฮอริเคนดอนนาในปี พ.ศ. 2503 และพายุเฮอริเคนลูอิสในปี พ.ศ. 2538) ณ. วันที่ 9 กันยายน พายุลูกนี้ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย[9]

อ้างอิง แก้

  1. Angela Chen (September 1, 2017). "Harvey's not over, but Hurricane Irma is now headed toward the East Coast". The Verge. สืบค้นเมื่อ September 4, 2017.
  2. Brandon Miller (September 2, 2017). "Powerful Hurricane Irma could be next weather disaster". CNN. สืบค้นเมื่อ September 2, 2017.
  3. Rob Gutro (August 30, 2017). "GPM satellite sees Tropical Storm Irma forming near Cape Verde Islands". Phys.org. สืบค้นเมื่อ September 4, 2017.
  4. Brian McNoldy, Brian (August 30, 2017). "Tropical Storm Irma forms in Atlantic, and we're still watching Gulf of Mexico early next week". The Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ September 6, 2017.
  5. "Hurricane Irma intensifies over the Atlantic". CNBC. Reuters. September 1, 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-06. สืบค้นเมื่อ September 6, 2017.
  6. Marina Koren (August 31, 2017). "Hurricane Irma Just Hit Category 3". The Atlantic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ September 6, 2017.
  7. "Hurricane Irma Meteorological Records/Notable Facts Recap (through September 8 at 11pm EDT)" (PDF). Colorado State University.
  8. "Hurricane Irma has just broken another terrifying record". The Independent (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). September 6, 2017. สืบค้นเมื่อ September 6, 2017.
  9. Claire Phipps; Alan Yuhas; Matthew Weaver. "Hurricane Irma: Florida braces for epic storm as Caribbean death toll hits 23 – latest updates". The Guardian. สืบค้นเมื่อ September 8, 2017.