พัวร์เลอเมรีท

เครื่องอิสริยาภรณ์ปรัสเซีย-เยอรมัน

พัวร์เลอเมรีท (เยอรมัน: Pour le Mérite,[1] ออกเสียง: [puːɐ̯ lə meˈʀiːt]) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปรัสเซีย สถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1740 โดยพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย[2] เพื่อมอบเป็นบำเหน็จความชอบแก่พลเรือนและทหาร ถือเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงสุดของราชอาณาจักรปรัสเซีย ต่อมาเมื่อรัฐชาติเยอรมันรวมตัวกันเป็นจักรวรรดิเยอรมันใน ค.ศ. 1871 พัวร์เลอเมรีทก็กลายเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิเยอรมันซึ่งมีการพระราชทานกันในแว่นแคว้นต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิ

พัวร์เลอเมรีท (ค.ศ. 1740–1918)
พัวร์เลอเมรีทสำหรับวิทยาศาสตร์และศิลปะ (ค.ศ. 1842–ปัจจุบัน)

พัวร์เลอเมรีทถือเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีกฎระเบียบในการพระราชทานเคร่งครัดมาก ผู้ควรได้รับจำต้องมีผลงานเฉพาะตัวที่โดดเด่นเป็นพิเศษสมควรแก่การจดจำ ไม่ใช่ว่าทหารยศสูงทุกคนจะได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้

ประวัติ แก้

พัวร์เลอเมรีทสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1740 เหตุที่ตั้งชื่อตามภาษาฝรั่งเศสก็เนื่องจากในยุคนั้น ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาสากลที่นิยมใช้กันในราชสำนักของพระเจ้าฟรีดริชที่ 2[3] แรกเริ่มมีเพียงชั้นตราเดียวสำหรับทั้งทหารและพลเรือน[4] ในช่วงนี้มีพลเรือนเพียงสามคนที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น (หนึ่งในนั้นคือวอลแตร์) ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1810 ระหว่างสงครามนโปเลียน พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 3 แห่งปรัสเซีย ทรงออกกฎระเบียบให้มอบแก่นายทหารเท่านั้น

สำหรับนายทหาร แก้

ใน ค.ศ. 1866 มีการสถาปนาพัวร์เลอเมรีทชั้นพิเศษ มหากางเขน (Großkreuz) เพื่อพระราชทานแก่นายทหารผู้ที่การกระทำของเขาผู้นั้นเป็นผลให้กองทัพข้าศึกถอนทัพ หรือส่งผลให้กองทัพข้าศึกถูกทำลายราบคาบ ซึ่งมีเพียงบุคคลห้าท่านเท่านั้นที่ได้รับพระราชทาน ได้แก่ พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 (ค.ศ. 1866), มกุฎราชกุมารฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม (ค.ศ. 1873), เจ้าชายฟรีดริช คาร์ล แห่งปรัสเซีย (ค.ศ. 1873), ซาร์อะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (ค.ศ. 1878) และเฮ็ลมูท กราฟ ฟ็อน ม็อลท์เคอ (ค.ศ. 1879)[5]

พัวร์เลอเมรีทของทหารเป็นที่รู้จักในระดับสากลระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้ได้รับพระราชทานที่มีชื่อเสียงต่างเป็นนักบินของกองบินโจมตีอากาศ (Luftstreitkräfte) นักบินที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกได้มากกว่าแปดลำถือว่ามีคุณสมบัติได้รับพัวร์เลอเมรีท)[6] มัคส์ อิมเมิลมัน และอ็อสวัลท์ เบิลเคอ เป็นเสืออากาศสองรายแรกที่ได้รับมอบ พัวร์เลอเมรีทยังถูกมอบแก่มันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน เสืออากาศเยอรมันที่มีสถิติสอยเครื่องบินข้าศึกมากที่สุดของโลกในตอนนั้น[6]

สมัยพระราชทานพัวร์เลอเมรีทชั้นทหารสิ้นสุดลงพร้อมกับการสละราชสมบัติของจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

สำหรับพลเรือน แก้

ใน ค.ศ. 1842 พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย ได้รับคำแนะนำจากอเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบ็อลท์ ให้สถาปนาพัวร์เลอเมรีทสำหรับพลเรือนที่เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์พัวร์เลอเมรีทสำหรับวิทยาศาสตร์และศิลปะ (Orden Pour le Mérite für Wissenschaften und Künste) แบ่งเป็นสามสาขาได้แก่ มนุษยศาสตร์, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิจิตรศิลป์ แต่ละสาขาครอบครองได้ทีละคน การจะมอบแก่คนใหม่ต้องรอให้คนเก่าเสียชีวิตก่อน

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. มาจากวลีภาษาฝรั่งเศส ปูร์เลอเมริต (pour le mérite) แปลว่า "สำหรับความดีความชอบ"
  2. "Pour le Merite | Prussian honor" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-08-14. {{cite news}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |encyclopedia= ถูกละเว้น (help)
  3. Gilbert, Martin (1983). La grande storia della prima guerra mondiale [First world war] (ภาษาอิตาลี). Milan: Oscar Mondadori. p. 69. ISBN 978-88-04-48470-7.
  4. Burke, Bernard, บ.ก. (1858). The Book of Orders of Knighthood and Decorations of Honor. London: Hurst and Blackett. p. 202.
  5. "Der Orden "Pour le Mérite"". Lebendiges Museum Online. 8 September 2016. สืบค้นเมื่อ 2017-06-30.
  6. 6.0 6.1 van Wyngarden, Greg (2006). Early German Aces of World War I. Osprey Publishing Ltd. ISBN 978-1-84176-997-4.