พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน

พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เป็นพฤกษศาสตร์และมานุษยวิทยาแขนงหนึ่งที่ศึกษาพืชในภูมิภาคและการใช้ประโยชน์เชิงปฏิบัติผ่านภูมิปัญญาดั้งเดิมของวัฒนธรรมและผู้คนท้องถิ่น[1] นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านพยายามรวบรวมองค์ความรู้ของการใช้พืชโดยคนพื้นเมืองในหลายด้าน เช่น อาหาร ยารักษาโรค สารออกฤทธิ์ และเครื่องนุ่งห่ม[2] ริชาร์ด อีแวนส์ ชูลทีส นักชีววิทยาชาวอเมริกันผู้ได้รับการขนานนามว่า "บิดาแห่งพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน"[3] บรรยายสาขาวิชานี้ว่า

ริชาร์ด อีแวนส์ ชูลทีส นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านทำการศึกษาในป่าดิบชื้นแอมะซอน ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940

พฤกษศาสตร์พื้นบ้านหมายถึง การสำรวจพืชที่สังคมใช้ในส่วนต่าง ๆ ของโลก[4]

นับตั้งแต่ชูลทีส พฤกษศาสตร์พื้นบ้านได้พัฒนาจากการแสวงหาภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การประยุกต์ใช้ในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในทางเภสัชศาสตร์[5] คำว่าพฤกษศาสตร์พื้นบ้านตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ ethnobotany ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณสองคำคือ ἔθνος (éthnos, “กลุ่มชน”) และ βοτάνη (botánē, “พืช”)[6]

ประวัติ แก้

แนวคิดของพฤกษศาสตร์พื้นบ้านริเริ่มโดยจอห์น วิลเลียม ฮาร์ชเบอร์เกอร์ นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกันผู้คิดค้นคำว่า "ethnobotany" ในค.ศ. 1895[7] แม้ฮาร์ชเบอร์เกอร์จะทำการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านอย่างกว้างขวางในแอฟริกาเหนือ เม็กซิโก สแกนดิเนเวีย และเพนซิลเวเนีย[8] แต่พฤกษศาสตร์พื้นบ้านกลายเป็นสาขาวิชาที่เป็นที่รู้จักเมื่อริชาร์ด อีแวนส์ ชูลทีสเริ่มเดินทางไปยังป่าดิบชื้นแอมะซอนช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940[9] กระนั้นเชื่อว่าการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 เมื่อพีดาเนียส ไดออสคอริดีส แพทย์ชาวกรีกแต่งตำรา De Materia Medica ("ว่าด้วยเภสัชวัตถุ") ที่บรรยายถึงสรรพคุณทางยาและอาหารของพืชเมดิเตอร์เรเนียนกว่า 600 ชนิด[2] การค้นพบโลกใหม่มีส่วนในการเพิ่มพูนความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ของยุโรปเนื่องจากมีการนำเข้าพืชชนิดใหม่จากทวีปอเมริกา เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่วลิสง และอาโวคาโด[10]

พัฒนาการ แก้

เลออปอล กลุค แพทย์ชาวเยอรมันเป็นบุคคลแรกที่ศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านด้วยมุมมองแบบคนใน (emic) การศึกษาของเขาเกี่ยวกับการใช้พืชทางการแพทย์พื้นบ้านของคนชนบทในบอสเนียที่ตีพิมพ์ในค.ศ. 1896 ถือเป็นผลงานด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้านสมัยใหม่ชิ้นแรก[11] หลังจากนั้นมีการศึกษาการใช้พืชในมุมมองคนพื้นเมืองจำนวนมาก เช่น มาทิลดา ค็อกซ์ สตีเวนสันศึกษาพืชที่ใช้โดยชาวซูนี (ค.ศ. 1915), คณะนำโดยวิลเฟรด ร็อบบินส์ศึกษาพืชที่ใช้โดยชาวเตวาปูเอโบ (ค.ศ. 1916) และแฟรงก์ แฮมิลตัน คุชิงศึกษาอาหารของชาวซูนี (ค.ศ. 1920)

ในช่วงแรกการศึกษาและการเก็บตัวอย่างทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านยังไม่มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากนักพฤกษศาสตร์และนักมานุษยวิทยาไม่มีเป้าหมายเดียวกัน นักพฤกษศาสตร์นั้นมุ่งเน้นการระบุชนิดพืชและการใช้งาน แต่ไม่ได้สนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับชีวิตผู้คน ขณะที่นักมานุษยวิทยาสนใจบทบาททางวัฒนธรรมของพืช แต่ศึกษาแง่มุมทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เพียงผิวเผิน ต่อมาช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักพฤกษศาสตร์และนักมานุษยวิทยาร่วมมือกันมากขึ้น จึงมีข้อมูลข้ามสาขาวิชาที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านเริ่มเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มข้อมูลดิบสู่การปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีให้เป็นวิชาการมากขึ้น ปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านต้องการทักษะที่หลากหลาย เช่น ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ในการระบุจำแนกและเก็บตัวอย่างพืช ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อเข้าใจแนวคิดทางวัฒนธรรมที่มีต่อพืช และความรู้ทางภาษาศาสตร์ในการถอดความศัพท์ท้องถิ่น และเข้าใจองค์ประกอบของภาษาท้องถิ่น

อ้างอิง แก้

  1. "Ethnobotany". www.fs.fed.us. สืบค้นเมื่อ 2 May 2018.
  2. 2.0 2.1 "Ethnobotany". www.eplantscience.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2018. สืบค้นเมื่อ 2 May 2018.
  3. Kandell, Jonathan (13 April 2001). "Richard E. Schultes, 86, Dies; Trailblazing Authority on Hallucinogenic Plants". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2 May 2018.
  4. Kochhar, S. L. (2016). Economic Botany: A Comprehensive Study (5 ed.). Cambridge University. p. 644. ISBN 9781316675397.
  5. Soejarto, D.D.; Fong, H.H.S.; Tan, G.T.; Zhang, H.J.; Ma, C.Y.; Franzblau, S.G.; Gyllenhaal, C.; Riley, M.C.; Kadushin, M.R.; Pezzuto, J.M.; Xuan, L.T.; Hiep, N.T.; Hung, N.V.; Vu, B.M.; Loc, P.K.; Dac, L.X.; Binh, L.T.; Chien, N.Q.; Hai, N.V.; Bich, T.Q.; Cuong, N.M.; Southavong, B.; Sydara, K.; Bouamanivong, S.; Ly, H.M.; Thuy, Tran Van; Rose, W.C.; Dietzman, G.R. (2005). "Ethnobotany/Ethnopharmacology and mass bioprospecting: Issues on intellectual property and benefit-sharing" (PDF). Journal of Ethnopharmacology. 100 (1–2): 15–22. doi:10.1016/j.jep.2005.05.031. PMID 15993554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-01-07. สืบค้นเมื่อ 2013-06-01.
  6. "ethnobotany - definition". Collins English Dictionary. สืบค้นเมื่อ August 2, 2021.
  7. Merlin, Mark D. (July 2000). "A History of Ethnobotany in Remote Oceania" (PDF). Pacific Science. 54 (3): 275–287. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-01. สืบค้นเมื่อ August 1, 2021.
  8. White, James T. (1931). The National cyclopædia of American biography ... v.21. University of Michigan.
  9. Ponman, Bussmann, Bruce E, Rainer W. (2012). Medicinal Plants and the Legacy of Richard E. Schultes (PDF). Missouri Botanical Garden. ISBN 978-0984841523.
  10. Crosby, Alfred W. "The Columbian Exchange: Plants, Animals, and Disease between the Old and New Worlds". nationalhumanitiescenter.org. National Humanities Center.
  11. Andrea Pieroni, Cassandra L. Quave, บ.ก. (2014). Ethnobotany and Biocultural Diversities in the Balkans: Perspectives on Sustainable Rural Development and Reconciliation (illustrated ed.). Springer. p. 1. ISBN 9781493914920.