พระเจ้าสเวนที่ 3 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าสเวนที่ 3 กราเธอแห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Svend III Grathe) (ราวค.ศ. 1125 - 23 ตุลาคม ค.ศ. 1157) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กระหว่างปีค.ศ. 1146 ถึงค.ศ. 1157 มีการสู้รบสลับกับเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าคนุตที่ 5 แห่งเดนมาร์กและพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นพระญาติ ในปีค.ศ. 1157 ทั้งสามพระองค์ตกลงที่จะแบ่งเดนมาร์กออกเป็นสามแผ่นดิน กษัตริย์สเวนที่ 3 ทรงพยายามปลงพระชนม์กษัตริย์อีกสองพระองค์ในงานเลี้ยงสันติภาพ และผลสุดท้ายคือพระองค์พ่ายแพ้และถูกปลงพระชนม์ในยุทธการกราเธอฮีธโดยกองทัพของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 1

พระเจ้าสเวนที่ 3
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าสเวนที่ 3 ในศตวรรษที่ 13 ที่ปรากฏในซัคซิสเชอ เวลท์โครนิก
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์1146 – 1157[1]
ก่อนหน้าอีริคที่ 3
ถัดไปวัลเดมาร์ที่ 1
ประสูติราว ค.ศ. 1125[2]
สวรรคต23 ตุลาคม ค.ศ. 1157(1157-10-23) (32 ปี)
กราเธอฮีธ, เดนมาร์ก
ฝังพระศพกราเดอเฮเดอ, ต่อมาย้ายไปที่ มหาวิหารวีบอร์ก
คู่อภิเษกอเดลาแห่งไมเซิน
พระราชบุตร
  • พระโอรสไม่ปรากฏพระนาม
  • เจ้าหญิงลุยท์การ์ด มาร์เกรฟวีนแห่งอิสเตรีย
พระนามเต็ม
สเวน อีริคเซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาทุนนา
ศาสนาโรมันคาทอลิก

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ แก้

สเวนเป็นพระโอรสนอกสมรสของพระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์กกับพระสนมทุนนา สเวนติดตามอีริค พระราชบิดาไปยังนอร์เวย์ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1130 เมื่อพระราชบิดาทรงสู้รบกับพระเจ้านีลส์แห่งเดนมาร์กและได้ชิงราชบัลลังก์มาได้ กษัตริย์อีริคที่ 2 สวรรคตในปีค.ศ. 1137 ผู้ครองบัลลังก์พระองค์ต่อมาคือ พระเจ้าอีริคที่ 3 แห่งเดนมาร์ก สเวนถูกส่งไปอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าค็อนราทที่ 3 แห่งเยอรมนี และได้เป็นสหายสนิมของฟรีดริชแห่งชวาเบีย พระนัดดาของกษัตริย์ค็อนราท[2]

สเวนเดินทางกลับไปเดนมาร์ก ที่ซึ่งพระองค์และดยุกวัลเดมาร์ ผู้เป็นญาติร่วมกันพยายามเสนอให้เจ้าชายคนุต ลาวาร์ด พระบิดาของดยุกวัลเดมาร์และเป็นสมเด็จอาของสเวนให้ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปีค.ศ. 1146 ซึ่งผู้ประท้วงการทำเช่นนี้คืออาร์กบิชอปเอสคิลแห่งลุนด์ในสคาเนีย[2] หลังจากการสละราชบัลลังก์ของพระเจ้าอีริคที่ 3 แห่งเดนมาร์กในปีค.ศ. 1146 สเวนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นพระมหากษัตริย์โดยขุนนางจากเกาะเชลลันด์ ส่วนพระเจ้าคนุตที่ 5 แห่งเดนมาร์กได้รับการเลือกตั้งจากคู่แข่งคือขุนนางจากคาบสมุทรจัตแลนด์[3]

สงครามกลางเมือง แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าสเวนที่ 3
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

ในปีถัดมา กษัตริย์สเวนที่ 3 ทรงสู้รบในสงครามกลางเมืองเดนมาร์กต่อสู้กับกษัตริย์คนุตที่ 5 เพื่อครอบครองราชบัลลังก์เดนมาร์กแต่เพียงผู้เดียว กษัตริย์สเวนได้รับการสนับสนุนจากดยุกวัลเดมาร์ กษัตริย์คนุตได้รับการสนับสนุนจากอาร์กบิชอปเอสคิล แต่กษัตริย์สเวนพยายามซื้อใจอาร์กบิชอปเอสคิล ด้วยทรงพระราชทานที่ดินในสคาเนียและเกาะบอร์นโฮล์มแก่อาร์กบิชอปแห่งลุนด์ ต่อมากษัตริย์สเวนทรงสามารถเอาชัยชนะเหนือกษัตริย์คนุตและจำกัดพระองค์แต่ในจัตแลนด์ ในปีค.ศ. 1147 กษัตริย์สเวนและกษัตริย์คนุตทรงร่วมมือกันต่อสู้ในสงครามครูเสดชาวเวนด์ กษัตริย์สเวนทรงสู้รบกับชาวเวนด์ทางเรือ พระองค์ได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากกษัตริย์คนุต ทำให้ต้องทรงสูญเสียเรือธงไป สงครามกลางเมืองจึงถูกจุดชนวนขึ้นอีกครั้ง[2]

หลังจากการสู้รบหลายครั้ง กษัตริย์สเวนทรงยึดครองเกาะฟึนและจัตแลนด์บางส่วน และทรงตั้งวัลเดมาร์เป็นดยุกแห่งชเลสวิช กษัตริย์สเวนทรงร่วมมือกับเอเธอเลอร์ ฟ็อน ดิทมาร์สเชน ต่อต้านอดอล์ฟที่ 2 แห่งฮ็อลชไตน์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกษัตริย์คนุต กษัตริย์สเวนสามารถเนรเทศกษัตริย์คนุตได้สำเร็จในปีค.ศ. 1150 กษัตริย์คนุตทรงพยายามกลับเข้ามาในเดนมาร์กด้วยกองทัพเยอรมันในปีค.ศ. 1151 แต่ก็ถูกขับไล่ออกไป ทั้งกษัตริย์คนุตและกษัตริย์สเวนต่างพยายามขอรับการสนับสนุนจากกษัตริย์ค็อนราทที่ 3 แห่งเยอรมนี ในปีค.ศ. 1152 ฟรีดริชแห่งชวาเบียได้ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเยอรมนี และพระองค์ทรงทำข้อตกลงที่เมอเซบูร์กในปีนั้น[2] ข้อตกลงนั้นกำหนดให้กษัตริย์สเวนเป็น "กษัตริย์พระองค์ใหญ่" โดยกษัตริย์คนุตทรงมีสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนของเดนมาร์ก และวัลเดมาร์ได้รับดัชชีชเลสวิช[3] แต่กษัตริย์สเวนทรงพระราชทานที่ดินเพียงเล็กน้อยแก่กษัตริย์คนุตเท่านั้น ซึ่งพระองค์ไม่ทรงทำตามข้อตกลง และชื่อเสียงของกษัตริย์สเวนในเดนมาร์กได้ถูกทำลายโดยทรงประพฤติการเป็นทรราชและทรงมีพฤติกรรมนิยมเยอรมัน[2]

อาณาจักรสามส่วน แก้

ในปีค.ศ. 1154 กษัตริย์สเวนถูกโค่นอำนาจโดยพันธมิตรระหว่างกษัตริย์คนุตและดยุกวัลเดมาร์ วัลเดมาร์จึงได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์กในฐานะพระประมุขร่วมของกษัตริย์คนุต[3] เอสคิลและผู้สนับสนุนกษัตริย์สเวนส่วนใหญ่ได้ละทิ้งพระองค์ พระองค์จึงลี้ภัยไปอยู่เยอรมนี พระองค์ใช้เวลาหากำลังสนับสนุนถึงสามปีเพื่อยึดอาณาจักรคืน และกลับมาเดนมาร์กในปีค.ศ. 1157 ด้วยการสนับสนุนจากไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย[2] สิ่งนี้ทำให้ขุนนางเดนมาร์กต้องถูกบังคับให้มีการแบ่งอาณาจักรเป็นสามส่วนคือ จัตแลนด์ เชลลันด์ และสคาเนีย[3] กษัตริย์สเวนทรงได้เลือกก่อนและได้เป็นประมุขของสคาเนีย มีการจัดงานเลี้ยงสันติภาพที่รอสกิลด์ ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1157 พระองค์วางแผนปลงพระชนม์กษัตริย์อีกสองพระองค์ และประสบความสำเร็จในการปลงพระชนม์กษัตริย์คนุต เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า "งานเลี้ยงเลือดที่รอสกิลด์"[2]

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหลบหนีไปยังจัตแลนด์ และในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1157 กษัตริย์สเวนและกองทัพเผชิญหน้ากับกองทัพของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ยุทธการกราเธอฮีธ ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับพระสมัญญานามว่า กราเธอ กองทัพของกษัตริย์สเวนพ่ายแพ้ พระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยเหล่าชาวนาราษฎรของกษัตริย์วัลเดมาร์ ที่จับกุมพระองค์และสังหารเสียขณะที่ทรงหลบหนีออกจากสมรภูมิและม้าของพระองค์ติดอยู่ในพรุ[2]

อภิเษกสมรสและพระโอรสธิดา แก้

ในปีค.ศ. 1152 กษัตริย์สเวนอภิเษกสมรสกับอเดลาแห่งไมเซิน ธิดาของค็อนราท มาร์เกรฟแห่งไมเซินกับลุยท์การ์ดแห่งราเวนสไตน์ ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสหนึ่งพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งอาจมีพระนามว่า เจ้าชายอีริค และทรงมีพระธิดาหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงลุยท์การ์ดแห่งเดนมาร์กซึ่งเสกสมรสกับเบอร์โธลด์ที่ 1 แห่งอิสเตรีย[2]

อ้างอิง แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Sweyn III of Denmark

  1. Monarkiet i Danmark – Kongerækken เก็บถาวร 2009-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในราชาธิปไตยเดนมาร์ก
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 Bricka, Carl Frederik (ed.), Dansk Biografisk Lexikon, vol. XVII [Svend Tveskjæg – Tøxen], 1903. "Svend Grade", Hans Olrik, pp. 5–7.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Svend 3. Grathe at Gyldendals Åbne Encyklopædi
ก่อนหน้า พระเจ้าสเวนที่ 3 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าอีริคที่ 3    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ร่วมกับ
พระเจ้าคนุตที่ 5
(1146-1157)
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1
(1146-1157)

(ค.ศ. 1146 - ค.ศ. 1157)
  พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1