พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก[2] (ภาษานอร์สเก่า: Sveinn Ástríðarson, เดนมาร์ก: Svend Estridsen) (ราว ค.ศ. 1019 - 28 เมษายน ค.ศ. 1076[3][4]) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กตั้งแต่ค.ศ. 1047 จนกระทั่งพระองค์สวรรคตในค.ศ. 1076 พระองค์เป็นบุตรชายในอูล์ฟ ทอร์กิลส์สันและเจ้าหญิงแอสตริด สเวนสแด็ทเทอร์ ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดผ่านทางสายพระราชชนนี พระองค์อภิเษกสมรสสามครั้ง และเป็นพระราชบิดาของพระราชบุตร 20 พระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุตรนอกสมรส พระโอรสนอกสมรส 5 พระองค์ได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ได้แก่ พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3, พระเจ้าคนุตที่ 4, พระเจ้าโอลาฟที่ 1, พระเจ้าอีริคที่ 1 และพระเจ้านีลส์

พระเจ้าสเวนที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์1046 – 1076[1]
ก่อนหน้ามักนุส คนดี
ถัดไปฮารัลด์ที่ 3
ประสูติราว ค.ศ. 1019
อังกฤษ
สวรรคต28 เมษายน ค.ศ. 1076(1076-04-28) (57 ปี)
ซือเดอรัป, ตำบลฮยอร์ดเคอร์
ฝังพระศพมหาวิหารรอสคิลก์
คู่อภิเษกกูดาแห่งสวีเดน
กุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์
ทอรา ทอร์เบรกสแด็ทเทอร์ (อาจจะเป็นเพียงพระสนม ไม่ได้เป็นพระราชินี)
พระราชบุตร
  • เจ้าชายสเวน สเวนเซน (ประสูติแต่พระราชินีกุนน์ฮิลด์)

ต่อจากนี้คือ(บุตรนอกสมรส)

พระนามเต็ม
สเวน แอสตริดเซน อูล์ฟเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาอูล์ฟ ทอร์กิลส์สัน
พระราชมารดาแอสตริด สเวนสแด็ทเทอร์
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความกล้าหาญในการสู้รบ แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จมากนักในฐานะผู้บัญชาการทหาร[5] โครงกระดูกของพระองค์เผยให้เห็นว่าทรงเป็นบุรุษร่างสูงที่มีร่างใหญ่แข็งแรงแต่ทรงเดินกะเผลก

พระราชประวัติ แก้

สืบราชบัลลังก์ แก้

สเวนประสูติในอังกฤษ[5] เป็นบุตรชายในอูล์ฟ ทอร์กิลส์สันและเจ้าหญิงแอสตริด สเวนสแด็ทเทอร์ ซึ่งเจ้าหญิงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด และเป็นพระภคินีในพระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กและพระเจ้าคนุตมหาราช สเวนเติบโตเป็นผู้นำกองทัพและรับใช้พระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดนในชั่วระยะหนึ่ง[5] สเวนปล้นสะดมพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเอ็ลเบอ-เวเซอร์ในปีค.ศ. 1040 แต่ถูกจับกุมโดยอาร์กบิชอปแห่งฮัมบูร์ก-เบรเมิน ซึ่งปล่อยตัวเขาหลังจากนั้นไม่นาน[6]

สเวนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ยาร์ล ในรัชกาลของพระเจ้าฮาร์ธาคนุต (ซึ่งสเวนเป็นพระญาติของพระองค์)[5] และทรงให้สเวนระดมกองทัพต่อต้านนอร์เวย์เพื่อพระองค์ แต่สุดท้ายกองทัพก็ถูกโจมตีอย่างย่อยยับโดยพระเจ้ามักนุสที่ 1 แห่งนอร์เวย์[6] เมื่อกษัตริย์ฮาร์ธาคนุตสวรรคตใน ค.ศ. 1042 กษัตริย์มักนุสได้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์ก และทรงแต่งตั้งให้สเวนเป็น "ยาร์ล" แห่งจัตแลนด์[7] ในค.ศ. 1043 สเวนได้ก่อกบฏและสู้รบกับกษัตริย์มักนุสที่ยุทธการลีร์สคอฟฮีธในเฮอเดอบี ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้ชายแดนเดนมาร์กและเยอรมนี[6] สเวนได้รับชื่อเสียงอย่างมากในชัยชนะที่ลีร์สคอฟฮีธ และทรงให้ขุนนางเดนมาร์กประกอบพิธีราชาภิเษกให้พระองค์ที่วีบอร์กในจัตแลนด์[7] แต่กษัตริย์สเวนทรงพ่ายแพ้กษัตริย์มักนุสหลายครั้ง พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยไปยังสวีเดน พระองค์เสด็จกลับมาในที่สุดและตั้งฐานทัพที่แคว้นสคาเนีย[6]

สงครามระหว่างกษัตริย์สเวนและกษัตริย์มักนุสกินเวลาถึงค.ศ. 1045 เมื่อสมเด็จน้าของกษัตริย์มักนุสคือ ฮารัลด์ ฮาร์ดราดากลับมายังนอร์เวย์หลังจากลี้ภัย ฮารัลด์ร่วมกองทัพกับกษัตริย์สเวน ดังนั้นกษัตริย์มักนุสต้องทรงยอมแบ่งปันพระราชบัลลังก์ให้สมเด็จน้าฮารัลด์[5] ในปีค.ศ. 1047 กษัตริย์มักนุสเสด็จสวรรคต ทรงกล่าวบนพระะแท่นบรรทมก่อนสวรรคตว่า ให้แบ่งอาณาจักรของพระองค์ โดยฮารัลด์จะได้ราชบัลลังก์นอร์เวย์ ส่วนสเวนจะได้ราชบัลลังก์เดนมาร์ก[7] เมื่อทราบข่าวการสวรรคตของกษัตริย์มักนุส กษัตริย์สเวนทรงตรัสว่า "ตอนนี้ขอพระเจ้าช่วยข้าฯ ด้วย ข้าฯ จะไม่ยอมโรยราต่อแผ่นดินเดนมาร์ก"[8]

ความแตกร้าวกับกษัตริย์ฮารัลด์ ฮาร์ดราดา แก้

กษัตริย์ฮารัลด์ไม่ทรงพอพระทัยที่ต้องสละสิทธิในเดนมาร์ก พระองค์เข้าโจมตีกษัตริย์สเวนและทำสงครามอย่างยาวนาน กษัตริย์ฮารัลด์ปล้นสะดมเฮอเดอบีใน ค.ศ. 1050 และยังเข้าปล้นออร์ฮูส[6] กษัตริย์สเวนเกือบจับตัวกษัตริย์ฮารัลด์ได้ใน ค.ศ. 1050 ในตอนที่กษัตริย์ฮารัลด์เข้าโจมตีชายฝั่งจัตแลนด์และบรรทุกสิ่งของและเชลยขึ้นเรือ กองเรือรบของกษัตริย์สเวนตามทันกองเรือของนอร์เวย์ และกษัตริย์ฮารัลด์ทรงสั่งให้ทหารทิ้งสินค้าที่ยึดมา โดยทรงคาดการณ์ว่าชาวเดนส์จะทำการหยุดไล่เก็บสินค้า กษัตริย์สเวนทรงสั่งให้ทหารของพระองค์ไม่ต้องสนใจสินค้าและตามไล่ล่ากษัตริย์ฮารัลด์ จากนั้นกษัตริย์ฮารัลด์ทรงสั่งให้ทหารโยนเชลยลงน้ำ แต่สำหรับประชาชน กษัตริย์สเวนยินดีช่วยพวกเขาและปล่อยให้กษัตริย์ฮารัลด์หลบหนีไปได้[8] กษัตริย์สเวนเกือบสวรรคตในการต่อสู้ทางเรือที่ยุทธนาวีที่นีซือ บริเวณชายฝั่งฮัลลันด์ใน ค.ศ. 1062[5] ตามพงศาวดารระบุว่า กษัตริย์ฮารัลด์ทรงยั่วยุให้กษัตริย์สเวนไปเผชิญหน้าเพื่อทำการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในสมรภูมิที่เอลฟ์ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1062[9] แต่เมื่อกษัตริย์สเวนและกองทัพเดนมาร์กไม่ปรากฏตัว กษัตริย์ฮารัลด์จึงส่งกองทัพส่วนใหญ่กลับนอร์เวย์ โดยเหลือเพียงนักรบมืออาชีพในกองเรือของพระองค์เท่านั้น เมื่อกษัตริย์สเวนมาเผชิญหน้ากับกษัตริย์ฮารัลด์ในที่สุด กองเรือของพระองค์มี 300 ลำ ส่วนกษัตริย์ฮารัลด์มี 150 ลำ[10] กองเรือเผชิญหน้ากันในเวลากลางคืนและการสู้รบดำเนินไปจนถึงเช้า เมื่อชาวเดนส์เสียเปรียบและจะหลบหนี ตามพงศาวดารชัยชนะของนอร์เวย์ครั้งนี้ถูกมองว่าผลงานส่วนใหญ่เป็นของเอิร์ลโฮกุน อีวาร์สัน ผู้ปลดเรือของเขาออกจากปีกเรือของนอร์เวย์และเข้าโจมตีปีกเรือส่วนที่อ่อนแอของเดนมาร์ก[11] สิ่งนี้อาจเป็นตัวช่วยฝ่ายนอร์เวย์ โดยแซ็กโซ แกรมมาติคัสกล่าวถึงว่าเป็นการพลิกกระแสให้นอร์เวย์ได้ชัย[12] กษัตริย์สเวนทรงพยายามหลบหนีออกจากสมรภูมิ พระองค์ลงเทียบท่าที่ชายฝั่งและเสด็จดำเนินไปหยุดที่บ้านของชาวนาหลังหนึ่งเพื่อขออาหารกินจากชาวบ้าน หญิงชาวนาถามพระองค์ว่า "เมื่อคืนมีเสียงดังน่าสยดสยองอะไรขนาดนั้น?" หนึ่งในทหารของกษัตริย์สเวนถามว่า "เจ้าไม่รู้หรือว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่อสู้กันทั้งคืน?" เธอถามต่อว่า "แล้วใครชนะล่ะ?" ทหารคนนั้นตอบว่า "พวกชาวนอร์เวย์" เธอพูดต่อว่า "ช่างน่าละอายเหลือเกินสำหรับกษัตริย์ของเรา พระองค์เดินกะโผลกกะเผลกแถมยังขี้ขลาดตาขาวเสียอีก" กษัตริย์สเวนสดับดังนั้นทรงตอบว่า "ไม่" "กษัตริย์แห่งเดนมาร์กไม่ขี้ขลาดตาขาวแน่นอน" ทหารนายหนึ่งได้พูดปกป้องพระองค์ว่า "แต่พระองค์โชคไม่ดี และนั่นทำให้พระองค์ไม่ได้ชัยชนะ" ราชองครักษ์ได้นำน้ำและผ้าเช็ดตัวมาให้เหล่าทหารชำระร่างกาย ขณะที่กษัตริย์ทรงเช็ดพระหัตถ์ หญิงชาวนาฉีกทึ้งผ้าที่พระองค์กำลังใช้อยู่และดุพระองค์ว่า "เจ้าควรละอายใจตัวเอง ที่เจ้าใช้ผ้าเช็ดตัวนั้นทั้งผืนคนเดียว" กษัตริย์ทรงตรัสตอบว่า "วันนั้นจะมาถึง วันที่ข้าได้รับอนุญาตจากเจ้าให้ใช้ผ้านี้ได้ทั้งผืน" สามีของหญิงชาวนามอบม้าให้กษัตริย์ และคณะของกษัตริย์สเวนเดินทางตอไปยังเชลลันด์

ต่อมาไม่นาน ชาวนาคนนั้นถูกเรียกตัวไปยังเชลลันด์ และทรงประทานที่ดินให้สำหรับการรับใช้กษัตริย์ แต่ภรรยาของเขายังอยู่ในฮัลลันด์ไม่ได้เดินทางตามมา[8] กษัตริย์สเวนทรงมีชื่อเสียงในด้านความโอบอ้อมอารีและความเมตตาอันเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตพระองค์ได้หลายครั้ง ทำให้พระองค์สามารถชนะใจประชาชนได้ กษัตริย์ฮารัลด์ทรงสละการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์กในค.ศ. 1064[5] เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่กษัตริย์สเวนทรงยอมรับพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์นอร์เวย์[7] จากนั้นกษัตริย์ฮารัลด์ทรงระดมกองทัพเรือเพื่ออ้างสิทธิในตำแหน่งพระมหากษัตริย์อังกฤษและพระองค์ถูกปลงพระชนม์ในยุทธการที่สแตมฟอร์ดบริดจ์

การกระชับพระราชอำนาจ แก้

 
เหรียญกษัตริย์สเวนที่ 2

กษัตริย์สเวนทรงเชื่อมโยงกับสายสืบราชสันตติวงศ์เดนมาร์กผ่านทางพระราชชนนีของพระองค์ คือ เจ้าหญิงแอสตริด สเวนสแด็ทเทอร์ พระองค์จึงใช้พระสกุลทางพระชนนีว่า "แอสตริดเซน" เพื่อให้ทรงเชื่อมโยงกับพระราชวงศ์เดนมาร์ก[6] พระองค์ยังทรงโปรดให้มีการทำเหรียญกษาปณ์ของพระองค์เอง

กษัตริย์สเวนที่ 2 ทรงพยายามกระชับพระราชอำนาจของพระองค์ผ่านทางคริสตจักรและอำนาจจากต่างชาติ และทรงแสวงหาความเป็นมิตรไมตรีกับสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างแข็งขัน[5] พระองค์มีพระราชประสงค์ให้เจ้าชายคนุต มักนุส พระราชโอรสองค์ใหญ่ได้รับการสวมมงกุฎจากพระสันตะปาปา แต่เจ้าชายคนุตกลับสิ้นพระชนม์ในช่วงการเสด็จไปยังโรม พระองค์ประสบความล้มเหลวในการรณรงค์ให้พระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท กษัตริย์ที่นับถือคริสต์พระองค์แรกของเดนมาร์กให้ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ กษัตริย์สเวนที่ 2 ทรงเป็นพันธมิตรกับจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในการสู้รบกับบาลด์วินที่ 5 เคานต์แห่งฟลานเดอส์ใน ค.ศ. 1049 และกษัตริย์สเวนทรงช่วยเหลือพระราชบุตรเขย คือ ก็อตส์ชอล์คแห่งโอบอทริเทสในสงครามกลางเมืองลูทีซี ค.ศ. 1057[6]

หลังจากกษัตริย์ฮารัลด์ ฮาร์ดราดาถูกปลงพระชนม์ในสนามรบ และวิลเลียม ผู้พิชิตได้ยึดครองอังกฤษ กษัตริย์สเวนทรงหันไปสนพระทัยอังกฤษ ที่ครั้งหนึ่งกษัตริย์คนุตมหาราช สมเด็จลุงของพระองค์เคยปกครอง พระองค์จึงทรงร่วมกองทัพกับเอ็ดการ์ เอเธลลิง รัชทายาทองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาวแองโกล-แซกซัน และทรงส่งกองทัพไปโจมตีกษัตริย์วิลเลียมในค.ศ. 1069 แต่หลังจากทรงยึดครองยอร์กได้ กษัตริย์สเวนกลับทรงตกลงรับเงินจากกษัตริย์วิลเลียมเพื่อให้ละทิ้งเอ็ดการ์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสกอตแลนด์ กษัตริย์สเวนทรงพยายามโจมตีอังกฤษอีกครั้งใน ค.ศ. 1074/1075 แต่ล้มเหลว[6]

ความสัมพันธ์กับศาสนจักร แก้

 
จี้เหรียญสเวน แอสตริดสัน ค้นพบในมิลเดนฮอล, ซัฟฟอล์ก ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช

กษัตริย์สเวนที่ 2 ทรงกลัวว่าอาร์กบิชอปอาดัลแบร์ทแห่งฮัมบูร์กจะเป็นชาวเยอรมันที่เข้ามาปกครองคริสตจักรเดนมาร์ก ดังนั้นพระองค์จึงนำชาวแองโกล-เดนส์ออกจากอังกฤษเพื่อให้คริสตจักรเดนมาร์กมีสถานะอิสระ ด้วยอิทธิพลของกษัตริย์สเวน[13] ทำให้เดนมาร์กมีการแบ่งเขตออกเป็นแปดสังฆมณฑลในช่วง ค.ศ. 1060[14] พระองค์ทรงตั้งสังฆมณฑลด้วยการบริจาคที่ดินผืนใหญ่ให้ โดยสังฆมณฑลรอสคิลด์เป็นแห่งที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด เนื่องจากทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับบิชอปวิลเฮล์มแห่งรอสคิลด์[6] เมื่ออาร์กบิชอปอาดัลแบร์ทมรณภาพใน ค.ศ. 1072 กษัตริย์สเวนจึงทรงสามารถติดต่อกับสันตะสำนักได้โดยตรง

พระองค์ทรงนำเหล่านักวิชาการมาที่เดนมาร์กเพื่อสอนพระองค์และคนของพระองค์เกี่ยวกับภาษาละติน เพื่อให้พระองค์สามารถสนทนากับกลุ่มชาติยุโรปได้อย่างทัดเทียม อดัมแห่งเบรเมินเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ผู้รอบรู้พระองค์นี้และเขาเคารพพระองค์อย่างมากในด้านของอดทนและสติปัญญกาของกษัตริย์ กษัตริย์สเวนทรงสนับสนุนให้สร้างโบสถ์ทั่วเดนมาร์ก และอดัมแห่งเบรเมินรู้สึกประหลาดใจที่มีโบสถ์ 300 แห่งในแคว้นสคาเนียที่เดียว ซึ่งมากกว่าประเทศทางตอนเหนืออื่นๆ รวมกันเสียอีก

สวรรคต แก้

กษัตริย์สเวนที่ 2 เสด็จสวรรคตในพระตำหนักที่ซือเดอรัป อยู่ทางตะวันตกของโอเบินโรราว 10 กิโลเมตรที่ช่องแคบลิตเติลเบลท์ พงศาวดารเดนมาร์กระบุปีที่สวรรคตของพระองค์คือ ค.ศ. 1074 ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นที่ทราบว่าพระองค์ทรงได้รับและตอบจดหมายอยู่เลยใน ค.ศ. 1075 และพระองค์สวรรคต ค.ศ. 1076[4][3] พระบรมศพได้รับการฝังในมหาวิหารรอสคิลด์ โดยถูกฝังที่เสาฝ่ายคณะร้องประสานเสียงถัดจากศพของบิชอปวิลเฮล์ม (ซึ่งมรณภาพใน ค.ศ. 1074) ต่อมาพระองค์ได้รับสมัญญานามว่า "พระบิดาของเหล่ากษัตริย์" เนื่องจากพระโอรส 5 พระองค์ จาก 15 พระองค์ ได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก[8]

พระองค์เป็นผู้ปกครองชาวไวกิงคนสุดท้ายของเดนมาร์กและเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์เดนมาร์กทั้งมวล[15] พระบรมศพของกษัตริย์เดนมาร์กองค์อื่นๆ ก็ถูกฝังในวิหารรอสคิลด์ด้วย ตามพงศาวดารระบุว่า พระศพพระชนนีของกษัตริย์สเวนได้ถูกฝังตรงเสาที่อยู่ตรงข้ามแท่นบูชา แต่การวิเคราะห์ของดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียพิสูจน์ว่าร่างนี้ไม่ใช่พระชนนีของกษัตริย์ เนื่องจากดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียบ่งชี้ว่าเป็นกลุ่ม Haplogroup H ที่ HVR1 7028C[15]

พระราชมรดก แก้

 
เหรียญของสเวน แอสตริดสัน ที่พิพิธภัณฑ์บริติช

หนึงในพระราชมรดกของกษัตริย์สเวน คือ การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของสังคมเดนมาร์ก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นเป็นอิสระหรือเป็นทาส กษัตริย์สเวนมักจะทรงถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ยุคไวกิงพระองค์สุดท้ายและเป็นกษัตริย์ยุคกลางพระองค์แรก คริสตจักรที่มีความเข้มแข็งขึ้นกอปรกับตระกูลขุนนางผู้ครองที่ดินเริ่มเข้มแข็งได้เริ่มบ่อนทำลายอำนาจของราชวงศ์ เหล่าชาวนาถูกละทิ้งให้ดูแลตนเอง[16]

กษัตริย์สเวนทรงสร้างรากฐานอำนาจที่แข็งแกร่งสำหรับอำนาจของราชวงศ์ผ่านความร่วมมือกับคริสตจักร พระองค์ประสบความสำเร็จในการแบ่งพื้นที่เดนมาร์กเป็นสังฆมณฑล โดยทรงร่วมมือกับสมเด็จพระสันตะปาปาโดยตรง และข้ามอำนาจของอาร์คบิชอปแห่งฮัมบูร์ก-เบรเมิน ในช่วงรัชสมัยของพระองค์ โบสถ์ไม้เล็กๆ หลายร้อยแห่งถูกสร้างขึ้นทั่วราชอาณาจักร หลายแห่งถูกสร้างด้วยหินในศตวรรษที่ 12[6] กษัตริย์สเวนทรงพยายามสถาปนาตำแหน่งอาร์คบิชอปของเขตนอร์ดิกให้อยู่ภายใต้ชาวเดนมาร์ก และสุดท้ายพระโอรสของพระองค์คือ กษัตริย์อีริคที่ 1 ทรงสามารถบรรลุงานนี้อย่างสำเร็จ[13]

ดูเหมือนกษัตริย์สเวนที่ 2 จะทรงสามารถอ่านออกและเขียนได้ และทรงได้รับการบรรยายว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีการศึกษา เป็นคำบรรยายจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 พระสหายของพระองค์[13] พระองค์เป็นต้นกำเนิดองค์ความรู้ที่ทำให้ให้ผู้คนในปัจจุบันรับรู้ประวัติศาสตร์เดนมาร์กและสวีเดนในศตวรรษที่ 9 และ 10 โดยเป็นเรื่องราวบรรพบุรุษของพระองค์ที่มีการบอกเล่าผ่านอดัมแห่งเบรเมินในช่วงค.ศ. 1070

พระราชวงศ์ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าสเวนที่ 2
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

กษัตริย์สเวนอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าหญิงกูดาแห่งสวีเดน พระราชธิดาในพระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดน ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สองกับสมเด็จพระพันปีหลวงกุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์แห่งสวีเดน พระมารดาเลี้ยงของพระราชินีกูดา หรือบางหลักฐานกล่าวว่าทรงเป็นพระมารดาแท้ๆ แต่การอภิเษกสมรสครั้งที่สองนี้ อาร์กบิชอปแห่งฮัมบูร์ก-เบรเมินมีคำสั่งให้การเสกสมรสเป็นโมฆะ[6] ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 9[13] หลังจากกษัตริย์ฮารัลด์ ฮาร์ดราดาแห่งนอร์เวย์สวรรคต พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับทอรา ทอร์เบรกสแด็ทเทอร์ พระสนมม่ายในกษัตริย์นอร์เวย์ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่ามีการสถาปนาพระนางขึ้นเป็นพระราชินีหรือไม่ พระองค์ทรงมีพระสนมคนหนึ่งที่ให้กำเนิดโอรสธิดาอย่างน้อย 20 คน และมีพระโอรส 1 พระองค์ประสูติแต่พระราชินีกุนน์ฮิลด์

ประสูติแต่พระราชินีกุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์

  1. เจ้าชายสเวน สเวนเซน ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์[5]

ประสูติแต่พระสนมหลายพระองค์[5]

  1. เจ้าชายคนุต มักนุส
  2. พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก (สวรรคต ค.ศ. 1080)
  3. พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก (สวรรคต ค.ศ. 1086)
  4. เจ้าชายสเวน นักรบครูเสด (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1094)
  5. พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก (สวรรคต ค.ศ. 1095)
  6. พระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก (สวรรคต ค.ศ. 1103)
  7. เจ้าชายสเวน โทรนเครเวอร์ (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1104)
  8. เจ้าชายอูล์ฟ สเวนเซน (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1104)
  9. เจ้าชายเบเนดิกต์ สเวนเซน (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1086)
  10. เจ้าชายบียอร์น สเวนเซน ดยุกแห่งนอร์ดัลบิงเกียน ตั้งแต่ค.ศ. 1099 (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1100)[17]
  11. พระเจ้านีลส์แห่งเดนมาร์ก (สวรรคต ค.ศ. 1134)
  12. เจ้าหญิงซิกริด สเวนสแด็ทเทอร์ (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1066) เสกสมรสกับเจ้าชายก็อตส์ชอล์คแห่งโอบอทริเทส
  13. เจ้าหญิงอิงเงอริด สเวนสแด็ทเทอร์ อภิเษกสมรสกับพระเจ้าโอลาฟที่ 3 แห่งนอร์เวย์
  14. เจ้าชายทอร์กิลส์ สเวนเซน
  15. เจ้าชายซิเกิร์ด สเวนเซน สิ้นพระชนม์ในสงครามกับชาวเวนด์[5]
  16. เจ้าชายกุททอร์ม สเวนเซน
  17. เจ้าชายอือมุนด์ สเวนเซน
  18. เจ้าหญิงกุนน์ฮิลด์ สเวนสแด็ทเทอร์ (เฮเลนา)
  19. เจ้าหญิงรังน์ฮิลด์ สเวนสแด็ทเทอร์ เสกสมรสกับสเวน อัสลัคสัน

อ้างอิง แก้

  1. Monarkiet i Danmark – Kongerækken เก็บถาวร 2009-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ใน ราชาธิปไตยเดนมาร์ก
  2. พระนามสะกดว่า สเว็น (Swen), สเวน (Svein) หรือ สเวน (Sven) และพระสกุลคือ แอสตริดสัน (Estridson), แอสตริดซอน (Estridsson) หรือ แอสตริดเซิน/เซน (Estridsøn)
  3. 3.0 3.1 Steenstrup, Johannes C. H. R. (1903). "Svend Estridsen". ใน Bricka, Carl Frederik (บ.ก.). Dansk Biografisk Leksikon (ภาษาเดนมาร์ก). Vol. 17. Kjøbenhavn: Gyldendalske Boghandels Forlag (F. Hegel & Søn). p. 4. สืบค้นเมื่อ 2007-02-22. กษัตริย์สเวนเสด็จสวรรคตในตำหนักซือเดอรัปในดัชชีชเลสวิช วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1076 (ค.ศ. 1074 ซึ่งเป็นปีสวรรคตตามพงศาวดารเดนมาร์กนั้นไม่ถูกต้อง) และพระบรมศพถูกฝังที่มหาวิหารรอสคิลด์ [S. døde paa Kongsgaarden i Søderup i Slesvig 28. April 1076 (de danske Aarbøger have, sikkert urigtig, 1074) og blev begravet i Roskilde Domkirke.]
  4. 4.0 4.1 Ræder, J. G. F. (1871). "Danmark under Svend Estridsen og hans Sønner (Copenhagen, pp. 202–203)". archive.org. สืบค้นเมื่อ 2017-02-22. At Vilhelm er død før Kongen, meddeles af de ikke meget senere Skribenter Anonymus Roskild. (Lgb.I. S. 378) og Ætnothus (Lgb.III. S. 338). At fremdeles Svend Estridsen døde 1076 og ikke allerede 1074, er ligeledes hævet over enhver Tvivl; naar nu ikke destomindre en hel Række Kildeskrifter lader ham dø allerede 1074, saa synes dette at hænge sammen med det allerede tidlig opstaaede og hos Saxo opbevarede Sagn om, at Vilhelm døde faa Dage efter Kongen og af Sorg over hans Død. Det kan da tænkes , at man har draget Kongens Død tilbage til Bispens Dødsaar 1074, ligesom Nyere (t. Ex. Molbech, hist. Aarb. III S. 19) drage Bispens Dødsaar frem til 1076 for at faa Begges Dødsaar til at falde sammen." ... & ... "men derimod giver en ny Skrivelse, som Paven afsendte til Svend d. 17. April s. A. [1075], En det bestemte Indtryk, at der i Mellemtiden er foregaaet Noget, hvorved Svend har gjort sig Paven forbunden
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 Bricka, Carl Frederik, Dansk Biografisk Lexikon, vol. XVII [Svend Tveskjæg – Tøxen], 1903, pp.3–5.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 Stefan Pajung, Artikel: Svend Estridsen ca. 1019-1074/76, danmarkshistorien.dk, Aarhus University, January 19, 2010
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Louise Kæmpe Henriksen, Historiske Personer – Svend Estridsen – konge af Danmark 1047–74. เก็บถาวร 2012-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, vikingeskibsmuseet.dk
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Huitfeldt, Arild. Danmarks Riges Krønike
  9. http://mcllibrary.org/Heimskringla/hardrade2.html เก็บถาวร 2011-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, p.61
  10. http://mcllibrary.org/Heimskringla/hardrade2.html เก็บถาวร 2011-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, p.63
  11. http://mcllibrary.org/Heimskringla/hardrade2.html เก็บถาวร 2011-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, p.65
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-08-30.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 Svend 2. Estridsen at Gyldendal Åbne Encyklopædi
  14. สังฆมณฑลลุนด์, สังฆมณฑลโอเดนเซ, สังฆมณฑลรีเบ, สังฆมณฑลรอสคิลด์, สังฆมณฑลชเลสวิช, สังฆมณฑลวีบอร์ก, สังฆมณฑลเวสเตอวิค, และสังฆมณฑลออร์ฮูส
  15. 15.0 15.1 iGenea – DNA profiles and haplogroups of famous persons: Sven II Estridsen – the last Viking King, accessed July 2018.
  16. Danmarks Historie II perbenny.dk
  17. Kings and Queens of Denmark at JMarcussen.dk


ก่อนหน้า พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้ามักนุส คนดี    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1046 - ค.ศ. 1076)
  พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3