พระเจ้าพินทุสาร

พระเจ้าพินทุสาร (สันสกฤต: बिन्दुसार อังกฤษ: Bindusara) เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ของราชวงศ์เมารยะ เป็นราชโอรสในพระเจ้าจันทรคุปต์ และเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช

Bindusara's sketch picture (cr: annoyzview)

ภูมิหลัง แก้

ในข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์มากนัก การรวบรวมข้อมูลโดยส่วนใหญ่จึงมาจากจดหมายเหตุในศาสนาเชนที่มีการบันทึกไว้หลังจากพระองค์สวรรคตแล้วประมาณ 100 ปี[1] และการกล่าวถึงจากข้อมูลที่มีการบันทึกในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์และสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช[2][3] ในทางพระพุทธศาสนา มีตำราบางเล่มที่มีการกล่าวถึงพระเจ้าพินทุสาร เช่น อโศกวัฒนา มหายันศติกะ เป็นต้น[4][5][6] นอกจากนี้ ในข้อมูลบันทึกของชาวกรีกมีการกล่าวนามอื่นของพระองค์ไว้ว่า “อมิโตรเชต” (Amitrochates)[7]

พระราชประวัติ แก้

เนื่องจากข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์กล่าวว่าธิดาของเซลลูคัส I นิเคเตอร์ ผู้เป็นชายาองค์แรกนั้นไม่มีทายาท หากแต่เมื่ออภิเษกกับพระนางทุรฮารา พระองค์ได้ประสูติพระโอรส พระเจ้าพินทุสาร จึงเป็นราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระเจ้าจันทรคุปต์[8]

จากบันทึกทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาเชนเขียนไว้ว่า พระนามของพระองค์มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ทรงครองราชสมบัติ พราหมณาจารย์จาณักยะจะมีการผสมยาพิษเล็กน้อยในอาหารให้พระองค์เสวย เพื่อสร้างความทนทานต่อพิษต่างๆ แก่พระวรกายของพระองค์ โดยที่พระเจ้าจันทรคุปต์มิทรงทราบว่าอาหารนั้นเจือยาพิษ จึงป้อนอาหารพระราชทานพระนางทุรฮาราที่ทรงพระครรภ์อยู่ ครั้นพระนางได้รับพิษ พราหมณาจารย์จาณักยะเกรงว่าจะกระทบกับทารกในพระครรภ์ จึงสังหารพระนางและผ่าพระครรภ์ช่วยทารกผู้นั้นออกมา เป็นพระโอรส เนื่องจากได้รับพิษทำให้มีจุดแผลเป็น (พินทุ) บริเวณหน้าผาก พราหมณาจารย์จาณักยะ จึงตั้งพระนามให้พระองค์ว่า “พินทุสาร”[9][10]

เครือญาติและพระบรมวงศานุวงศ์ แก้

จากตำราอโศกวัฒนาและมหาวรรศะ กล่าวว่า พระองค์มีทายาท 101 คน โดยปรากฏชื่อชัดเจน 3 พระองค์คือ สุศิม (Sushima) เป็นราชโอรสองค์โต ถัดมาคือ พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka) และ วิทอโศก (Vigatashoka)

ในส่วนของชายา กล่าวว่าพระองค์มีชายามากถึง 16 คน แต่ที่ปรากฏชื่อชัดเจน คือ “พระนางศุภัทรางคี” หรือ “พระนางธรรมา” ชายาองค์ที่ 2 ผู้เป็นพระราชมารดาของพระเจ้าอโศกมหาราช และ วิทอโศก เดิมเป็นบุตรีของพราหมณ์ผู้หนึ่งในนครจำปา เมื่อครั้งนางกำเนิด หมอดูทำนายดวงชะตาของนางว่า นางจะให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน โดยผู้หนึ่งจะเป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ และอีกผู้หนึ่งจะเป็นนักบวช เมื่อนางเติบโตขึ้น บิดาของนางจึงถวายนางให้เป็นนางกำนัลในพระราชวัง เพื่อรับใช้ราชธิดาและชายาองค์อื่นๆ ของพระเจ้าพินทุสาร ด้วยความงามของนางทำให้ราชธิดาต่างๆ ล้วนอิจฉา หากแต่เมื่อพระเจ้าพินทุสารทรงทราบถึงฐานะของนาง จึงอภิเษกให้นางเป็นชายาในที่สุด[11][12]

การปกครอง แก้

พระเจ้าพินทุสารทรงครองราชย์สมบัติช่วง 297 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยแผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์นั้นคือแผ่นดินจักรวรรดิเมารยะเดิมที่พระเจ้าจันทรคุปต์รวบรวมไว้ได้[13] และมาขยายอาณาเขตเพิ่มโดยพระเจ้าโศกมหาราชเมื่อครั้งเป็นราชกุมาร โดยมีเมืองสำคัญ เช่น ตักศิลา อุชเชนี เป็นต้น[14] จากตำรามหาวรรศะ สันนิษฐานว่าพระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติรวม 28 ปี[15]

ศาสนา แก้

ไม่มีข้อยืนยันว่าพระองค์นับถือศาสนาใด แต่จากข้อมูลของ Sanchi สันนิษฐานว่าพระองค์มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา[16][17]

บั้นปลายพระชนม์ชีพ แก้

ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ยังไม่ชัดเจนมากนัก บ้างสันนิษฐานว่าพระเจ้าพินทุสารเสด็จสวรรคตช่วง 270 – 273 ปีก่อนคริสต์ศักราช[18] บ้างสันนิษฐานว่าพระองค์เสด็จสวรรคตหลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติ[19]

การกล่าวถึงในยุคร่วมสมัย แก้

บทบาทของ “พระเจ้าพินทุสาร” ปรากฏในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เช่น

ภาพยนตร์ อโศกมหาราช (2001) รับบทโดย เกอร์ซัน ดา จันฮา[20]

ละครโทรทัศน์ อโศกมหาราช (2015) รับบทโดย ซาเมียร์ ธรรมธิการี[21]

ละครโทรทัศน์ จันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์ (2016) รับบทโดย ซิด-ดาร์ธ นิกัม

อ้างอิง แก้

  1. Singh 2008, p. 331-332.
  2. Srinivasachariar 1974, p. lxxxvii.
  3. Srinivasachariar 1974, pp. lxxxvii-lxxxviii.
  4. Srinivasachariar 1974, p. lxxxviii.
  5. Singh 2008, p. 331.
  6. S. M. Haldhar (2001). Buddhism in India and Sri Lanka (c. 300 BC to C. 600 AD). Om. p. 38.
  7. Kosmin 2014, p. 35.
  8. Motilal Banarsidass (1993). "The Minister Cāṇakya, from the Pariśiṣtaparvan of Hemacandra". In Phyllis Granoff. The Clever Adulteress and Other Stories: A Treasury of Jaina Literature. Translated by Rosalind Lefeber. pp. 204–206.
  9. Trautmann, Thomas R. (1971). Kauṭilya and the Arthaśāstra: a statistical investigation of the authorship and evolution of the text. Brill. p. 15.
  10. Motilal Banarsidass (1993). "The Minister Cāṇakya, from the Pariśiṣtaparvan of Hemacandra". In Phyllis Granoff. The Clever Adulteress and Other Stories: A Treasury of Jaina Literature. Translated by Rosalind Lefeber. pp. 204–206.
  11. ugène Burnouf (1911). Legends of Indian Buddhism. New York: E. P. Dutton. pp. 20–29.
  12. Sastri 1988, p. 167.
  13. Singh 2008, p. 331.
  14. Srinivasachariar 1974, p. lxxxvii.
  15. Kashi Nath Upadhyaya (1997). Early Buddhism and the Bhagavadgita. Motilal Banarsidass. p. 33. ISBN 9788120808805.
  16. Kanai Lal Hazra (1984). Royal patronage of Buddhism in ancient India. D.K. p. 58.
  17. Singh 2008, p. 331.
  18. Singh 2008, p. 331.
  19. B. Lewis Rice (1889). Epigraphia Carnatica, Volume II: Inscriptions and Sravana Belgola. Bangalore: Mysore Government Central Press. p. 9.
  20. Sukanya Verma (24 October 2001). "Asoka". rediff.com.
  21. "Happy Birthday Sameer Dharamadhikari", The Times of India, 25 September 2015