พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

กษัตริย์กัมพูชา
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าชัยวรรมันที่ 6)

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី៦; สวรรคต ค.ศ. 1107) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1080–1107 และเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์มหิธรปุระ แห่งเมืองพิมาย พระองค์เสด็จลงไปปราบกบฎและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเขมรในกรุงยโศธรปุระ ซึ่งต่อมาคือเมืองพระนครธม

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
พระมหากษัตริย์พระนคร
ครองราชย์ค.ศ. 1080 – 1107
พระองค์ก่อนพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3
พระองค์ถัดไปพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1
สวรรคตค.ศ. 1107
ราชวงศ์ราชวงศ์มหิธรปุระ

พระราชประวัติ แก้

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ต้นกำเนิดของพระองค์เป็นขุนนางชาวเมืองพิมายแห่งที่ราบสูงโคราช ปัจจุบันคือ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 กษัตริย์กรุงยโศธรปุระจากราชวงศ์ก่อน เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.1080 ได้เกิดการแย่งอำนาจกันภายในราชสำนัก พระองค์ทรงลงไปจัดการและปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองอยู่หลายปี เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้ทำการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาโบราณแห่งกรุงยโสธรปุระ ซึ่งในขณะนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบาปวน ในยุคของพระองค์จึงถูกนับเป็นศิลปะเขมรแบบบาปวนด้วย แต่นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์บางส่วนได้แยกศิลปะในยุคของพระองค์ออกเป็นศิลปะเขมรแบบพิมาย ซึ่งมีความต่างจากศิลปะเขมรแบบบาปวนเล็กน้อย

พระองค์ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่และจารึกนามว่า "มหิธรปุระ" ลูกหลานของพระองค์ได้ปกครองกรุงยโศธรปุระหรือเมืองพระนคร มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงได้สร้างปราสาทนครวัดและปราสาทบายนในรัชกาลถัดมา หลานของพระองค์คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้นำแบบจากปราสาทหินพิมาย อันเป็นเมืองของราชตระกูลลงไปเป็นต้นแบบการสร้างปราสาทนครวัดถวายพระวิษณุ และในช่วงหลังของราชวงศ์มหิธรปุระ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ย้ายศูนย์กลางเมืองจากปราสาทบาปวนลงไปสร้างปราสาทบายนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 300 เมตร และเรียกรวมเขตในกำแพงเมืองและคูน้ำว่า "นครธม" เอกสารในยุคหลังจึงกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ว่าเป็นกษัตริย์แห่งเมืองนครธมด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามในฝั่งประเทศไทย จารึกสุโขทัยยังเรียกเมืองนี้ว่า ศรียโศธรปุระ

พระเจ้าชัยวรรมันที่ 6 เสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ.1107 หลังจากครองสิริราชสมบัติได้ 27 ปี โดยมีพระเชษฐาของพระองค์ขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็น พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 ราชวงศ์มหิธรปุระของพระองค์ได้ปกครองอาณาจักรเขมรพระนครราว 256 ปี (เรื่องพระเจ้าแตงหวานไม่เคยปรากฏในศิลาจารึกเขมรร่วมสมัยแต่ประการใด แต่มาปรากฏในพระราชพงศาวดารกัมพูชาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่1โดยนักองค์เอง และเนื้อเรื่องคล้ายนิทานในพม่า ปัจจุบันนักวิชาการสากลไม่เชื่อถือ) ส่วนการหายไปของ”วรมัน” ที่เป็นคำสันสกฤต นักวิชาการเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาเพราะหลังจากพุทธศตวรรษที่18 กัมพูชาเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท พระนามกษัตริย์จากสันสกฤตจึงกลายเป็นบาลี ส่วนการเสื่อมของกรุงศรียโศธรก็เกิดจากการย้ายศูนย์กลางอำนาจด้วยหลายสาเหตุหลังจากนั้นเมืองพระนครหลวงก็กลายตัวเองเป็นเมืองทางศาสนาในที่สุด บางส่วนก็ถูกป่ากลืนกิน