พระสุพรรณกัลยา หรือพระนามอื่น สุวรรณกัลยา หรือ สุวรรณเทวี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรีย์ และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เชื่อว่าพระนามเดิม คือ องค์ทอง[1]

พระสุพรรณกัลยา
ศาลพระสุพรรณกัลยาที่วัดจันทร์ตะวันออก
ประสูติพ.ศ. 2095 (ไม่แน่ชัด)
สิ้นพระชนม์ราวปี พ.ศ. 2135
พระสวามีพระเจ้าบุเรงนอง
พระบุตรเจ้าหญิงมินอะทเว
ราชวงศ์สุโขทัย
พระบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระมารดาพระวิสุทธิกษัตรีย์

ชีวิตในกรุงหงสาวดี แก้

พระสุพรรณกัลยา พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระนางปรากฏในพงศาวดารพม่าระบุว่า ในปี พ.ศ. 2112 เจ้าฟ้าสองแคว (พระอิสริยยศของพระมหาธรรมราชาเมื่อครั้งได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าบุเรงนองให้ขึ้นครองพิษณุโลก) ได้ถวายพระสุวรรณกัลยา พระชันษา 17 ปี กับบริวารและนางสนมรวม 15 คนแก่พระเจ้าบุเรงนอง[2] โดยพระองค์ได้สถาปนาเป็นเจ้านาง มีพระตำหนักและฉัตรส่วนพระองค์ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องใช้สิ่งของ ข้าราชบริวารที่เป็นชาวไทยทั้งหมด เมื่อจะเสด็จไปยังที่ใด จะโดยเสลี่ยงหรือพระที่นั่งหรือพระพาหนะใดก็ตาม จะมีเจ้าพนักงานกางฉัตรถวาย และพระองค์ทรงอยู่อย่างเกษมสำราญ[3][4]

พระนางมีพระธิดา 1 พระองค์กับพระเจ้าบุเรงนอง ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า เจ้านางเจ้าภุ้นชิ่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญาและพระบารมี แต่โดยมากจะรู้จักกันในพระนาม เจ้านางเมงอทเว ในพระราชพงศาวดารพม่าได้บันทึกว่าพระสุพรรณกัลยาเป็นเจ้านางที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานมาก[5] โดยทรงจัดให้สร้างตำหนักทรงไทยขึ้นในพระราชวังกรุงหงสาวดี

ด้วยเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จออกราชการสงครามอยู่เสมอ ทำให้พระสุพรรณกัลยารวมทั้งเจ้านางองค์อื่นทรงดำเนินชีวิตในพระราชวังตามปกติ โดยมิได้เสด็จออกงานหรือเห็นโลกภายนอกจนกว่าที่พระเจ้าบุเรงนองจะเสด็จกลับหงสาวดีจึงจะมีการจัดงานสำคัญ โดยในวันเพ็ญเดือนมีนาคม พ.ศ. 2116 มีงานบูชาเจดีย์ชเวดากอง พระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อยได้ประทับเรือพระที่นั่งโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปบำเพ็ญพระราชกุศลนาน 5 วัน นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์ได้เสด็จออกนอกพระราชฐานมานานว่า 3 ปี

หลังจากงานบูชามหาเจดีย์จบสิ้นลง พระเจ้าบุเรงนองได้นิมนต์พระสงฆ์พม่า มอญ เชียงใหม่ และไทใหญ่ 3,500 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เงิน สำริด และปัญจโลหะ อย่างละองค์ ในการนี้พระเจ้าบุเรงนองได้ทำการเฉลิมพระยศพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยในการนี้ เจ้านางเจ้าภุ้นชิ่ พระราชธิดาในพระสุพรรณกัลยาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกเมียวซา เนื่องจากทรงได้รับสิทธิ์ในภาษีประจำปีที่ได้จากพิษณุโลก นับแต่นั้นมาทุกคนจึงขานพระนามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า เจ้านางพิษณุโลก[6][7]

กรณีการสิ้นพระชนม์ แก้

ภายหลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2124 พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์แทน ภายหลังจากที่พระมหาอุปราชามังกะยอชวาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2135 จากการทำสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งการสิ้นพระชนม์นั้นในพงศาวดารรวมถึงคำให้การต่าง ๆ ทั้งของไทยและพม่าต่างก็ให้ข้อมูลต่างกันออกไปเกี่ยวกับการกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยา

หลักฐานของไทย แก้

  • คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่า "พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาตัวนายทัพนายกองที่ไปกับพระมหาอุปราชนั้น ใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น แต่เท่านั้นยังไม่คลายพระพิโรธ จึงเสด็จไปสู่ตำหนักพระสุพรรณกัลยา เอาพระแสงฟันพระนางสุพรรณกัลยากับพระราชธิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์"
  • คำให้การขุนหลวงหาวัด ได้กล่าวใกล้เคียงกัน แต่ต่างที่เป็นพระราชโอรสมิใช่พระราชธิดา ความว่า "ฝ่ายพระเจ้าหงสา ทรงพระพิโรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐานเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศวรนั้นบรรทมให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ในพระที่ พระเจ้าหงสาวดีจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่พิราลัยด้วยกันทั้งสองพระองค์ ด้วยพระเจ้าหงสาวดีทรงโกรธยิ่งนัก มิทันจะผันผ่อนได้"

หลักฐานของพม่า แก้

ไม่ปรากฏการสิ้นพระชนม์ในหลักฐานพม่า

อย่างไรก็ตามจากหลักฐานของไทยและพม่าก็ต่างแสดงความมีตัวตนของพระสุพรรณกัลยา และประทับอยู่ในหงสาวดีตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2112 ขณะมีพระชันษาได้ 17 ปี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2135 ที่เกิดยุทธหัตถี พระองค์จึงน่าจะมีพระชันษา 40 ปี และหากมีพระโอรส-ธิดากับพระเจ้าบุเรงนอง พระโอรสธิดาก็ควรมีพระชันษาราว 8 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งดูจะขัดแย้งกับคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่กล่าวถึงการ ให้พระโอรสเสวยนมอยู่ในที่..[8] ส่วนกรณีที่ถูกพระแสงดาบของพระเจ้านันทบุเรงเช่นเดียวกัน เนื่องจากหากพระเจ้าแผ่นดินจะประหารชีวิตใครก็จะบันทึกเรื่องราวไว้โดยละเอียด แต่ในเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยากลับไม่ปรากฏไว้เลย[8] [9]

หลักฐานที่ขัดแย้งกัน แก้

แม้การสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยานั้นจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเกิดจากแรงโทสะของพระเจ้านันทบุเรง ตามหลักฐานประเภทคำให้การของไทย แต่มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าได้นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป โดยกล่าวถึงเจ้าภุ้นชิ่หรือเจ้าหญิงพิษณุโลกได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี โดยเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ได้เสกสมรสกับ เจ้าเกาลัด พระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ามังรายกะยอชวา โอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง และมีพระธิดาด้วยกันคือ เจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งหมายความว่า ในช่วงสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 พระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในหงสาวดีแต่ทรงประทับอยู่ในอังวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าตองอู พระเจ้านยองยัน และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดี พระเจ้านยองยันได้เข้าครองกรุงอังวะที่เจ้าหญิงพิษณุโลก และพระมารดาอาศัยอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ด้วย เนื่องจากพระเจ้านยองยันนั้นเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งยังมีความคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยาบิดาของเจ้าเกาลัด จึงคาดได้ว่า ภายใต้การปกครองของพระเจ้านยองยันพระสุพรรณกัลยารวมถึงเจ้าหญิงพิษณุโลกก็ยังทรงประทับในนครอังวะอย่างปกติสุขจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ โดยมิได้ถูกปลงพระชนม์แต่อย่างใด[10]

พระนามต่าง ๆ แก้

  1. สุวรรณกัลยา จากคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง)
  2. สุวรรณกัลยา จันทรกัลยา จากคำให้การชาวกรุงเก่า
  3. พระสุวรรณ จากมหาราชวงศ์
  4. อะเมี้ยวโยง แปลว่าผู้จงรักภักดีในเผ่าพันธุ์ตน จากมหาราชวงศ์ ฉบับใหม่ ของมหาสีหตู (Twinthin Taikwun Maha Sithu)
  5. พระสุพรรณกัลยา จากพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สถานที่เกี่ยวกับพระองค์ แก้

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

มีนักแสดงผู้รับบท พระสุพรรณกัลยา ได้แก่

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. Pasuk Phongpaichit; Chris Baker (2000), Thailand's Crisis, Silkworm Books, pp. 175–176
  2. อยุธยาศึกษา:ตลาดวิชาสำหรับครู-อาจารย์, หน้า 183
  3. ตำนานนางกษัตริย์. หน้า 271
  4. Taylor (2001), History, Simulacrum and the real, p. 6
  5. ตำนานนางกษัตริย์. หน้า 273
  6. ตำนานนางกษัตริย์. หน้า 275
  7. Maung Aung Myoe (2002), Neither Friend Nor Foe: Myanmar's Relations with Thailand Since 1988, Institute of Defence and Strategic Studies, Nanyang Technological University, p. 146
  8. 8.0 8.1 อยุธยาศึกษา:ตลาดวิชาสำหรับครู-อาจารย์, หน้า 184
  9. Chris Baker; Pasuk Phongpaichit (2000), A History of Thailand (Second ed.), Cambridge University Press, p. 262
  10. ตำนานนางกษัตริย์. หน้า 293-295
  • ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2550
  • สุเจน กรรพฤทธิ์. สารคดีพิเศษ:จากพิษณุโลกสู่เวียงแหง ตามรอยนเรศวรมหาราชนอกกรอบประวัติศาสตร์ "ชาตินิยม". อยุธยาศึกษา:ตลาดวิชาสำหรับครู-อาจารย์. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. สมุทรปราการ:มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2553 ISBN 978-616-7202-06-8
  • มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart). โยเดียกับราชวงศ์พม่า:เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, พ.ศ. 2550
  • กิตติ วัฒนะมหาตม์. ตำนานนางกษัตริย์. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553. หน้า 259-307 ISBN 978-974-341-666-8