พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 - 10 เมษายน พ.ศ. 2546) เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสภากาชาดไทย อดีตอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย[1] อดีตเลขาธิการกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติ15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466
สิ้นพระชนม์10 เมษายน พ.ศ. 2546 (79 ปี)
พระราชทานเพลิง28 ธันวาคม พ.ศ. 2546
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
หม่อมหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา
พระบุตรหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร
หม่อมราชวงศ์วโรรส บริพัตร
ราชสกุลบริพัตร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พระมารดาหม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยา
ศาสนาพุทธ
สภากาชาดไทย

พระประวัติ แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประสูติแต่หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา; ธิดาพระยาวทัญญูวินิจฉัย (หม่อมหลวงชุ่ม ปาลกะวงศ์) กับคุณหญิงเลี่ยน วทัญญูวินิจฉัย (สกุลเดิม บุนนาค)) ประสูติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อประสูติดำรงพระยศที่ "หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต" มีโสทรเชษฐภคินีหนึ่งองค์ คือ หม่อมเจ้าอินทุรัตนา มีโสทรานุชาหนึ่งองค์ คือ หม่อมเจ้าชายไม่มีพระนาม (ถึงชีพิตักษัยหลังประสูติได้ 3-4 วัน ในปลายรัชกาลที่ 6)[2] มีเชษฐาและเชษฐภคินีต่างหม่อมมารดาอีกแปดพระองค์

 
หม่อมสมพันธุ์และพระโอรสธิดา

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกหม่อมเจ้าอันเป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งพระชนนีทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จ ซึ่งมารดามิได้เป็นเจ้าขึ้นดำรงพระยศเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"[3] หม่อมเจ้าอินทุรัตนาและหม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จึงมีพระยศขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" พร้อมกัน[4]

ระหว่างที่กำลังศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้เกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จึงได้ตามเสด็จพระบิดาไปประทับที่เมืองบันดุง เกาะชวา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมของชาวดัตช์ ทรงมีโอกาสรู้จักกับชาวดัตช์ และชาวตะวันตก ทำให้พระองค์มีความรู้และทักษะด้านภาษา ทรงสามารถใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาดัทช์ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาซุนดาของชาวชวาตะวันตกได้เป็นอย่างดี

เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. 2487 แต่ยังไม่สามารถนำพระศพกลับประเทศไทยได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงคราม จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2491 รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งเครื่องบินเพื่อรับพระศพพระบิดากลับสู่ประเทศไทย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ จึงตามพระศพกลับมายังประเทศไทยด้วย

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ได้เสด็จไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ยังมหาวิทยาลัยเทมเพิล สหรัฐอเมริกา ทรงเลือกเรียนสาขาบริหารธุรกิจ เพราะทรงเห็นว่าการเรียนไม่ยากมากนักและสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในระยะเวลาอันจำกัด เนื่องจากพระองค์ทรงสูญเสียเวลาไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ จนสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทย ใน พ.ศ. 2495

หลังจากเสด็จกลับประเทศไทย ทรงเริ่มเข้ารับราชการที่กระทรวงการคลัง และต่อมาทรงงานที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง โดยทรงเรียนรู้งานจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งเป็นประธานกรรมการ ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการทั่วไป ระหว่าง พ.ศ. 2503-2505[5] หลังจากนั้นทรงดำรงตำแหน่งเลขาธิการกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นคนที่สอง ในระหว่าง พ.ศ. 2511-2514

ทั้งนี้พระองค์เป็นเจ้านายฝ่ายหน้าชั้น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ที่ดำรงพระชนม์ชีพอยู่เป็นพระองค์สุดท้าย ก่อนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2546 สิริพระชันษา 79 ปี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในวันที่ 28 ธันวาคม ปีเดียวกัน

พระทายาท แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์เสกสมรสกับหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม ณ ถลาง) ธิดาของหลวงอิศเรศรักษา (ปลื้ม ณ ถลาง) กับดรุณ อิศเรศรักษา มีพระโอรสสองคน ได้แก่

  • หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมรสกับนุชวดี บำรุงตระกูล ต่อมาได้หย่ากันและสมรสใหม่กับสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม ภมรบุตร) มีบุตรสองคน ได้แก่
    • หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร สมรสกับมิยา บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม รีวงษ์)
    • หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร
  • พลโท หม่อมราชวงศ์วโรรส บริพัตร สมรสกับพัฒนาพร นิยมศิริ ต่อมาได้หย่ากันและสมรสใหม่กับวรภาทิพย์ บริพัตร ณ อยุธยา (เดิม ละอองดาว โตเจริญ) มีบุตรธิดาสามคน ได้แก่
    • หม่อมหลวงวรพินิต บริพัตร
    • หม่อมหลวงวรภานัน บริพัตร (ชื่อเดิม สุภานัน)
    • หม่อมหลวงภูมิอาชว์ บริพัตร (ชื่อเดิม วรทย์)

พระเกียรติยศ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ

พระอิสริยยศ แก้

  • 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 : หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์
    • 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 : หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
    • 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2469 : หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
    • 21 มีนาคม พ.ศ. 2469 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 : หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 – 10 เมษายน พ.ศ. 2546 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา 12 มีนาคม 2512 ประกาศแต่งตั้งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทยhttp://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/A/021/4.PDF
  2. เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเขษม, พ.ศ. 2517. 43 หน้า.
  3. "ประกาศตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44 (0ก): 253. 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  5. อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 2545.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๔๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ เก็บถาวร 2017-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๗๓, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๐

แหล่งข้อมูลอื่น แก้