พระมหาชนก (บาลี: Mahājanaka) เป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก อันเป็นชาดก 10 ชาติสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาดกเรื่องนี้เป็นการบำเพ็ญความเพียรเป็นบารมี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังทรงแปลเป็นภาษาสันสกฤตประกอบอีกภาษา รวมทั้งแผนที่ฝีพระหัตถ์ แสดงสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณบางแห่งและข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับทิศทางลม กับกำหนดวันเดินทะเลตลอดจนจุดอัปปางของเรืออับโชค ทรงคาดคะเนโดยอาศัยข้อมูลทางโหราศาสตร์ แสดงถึงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์และโหราศาสตร์ไทย

พระมหาชนก  
จิตรกรรมฝาผนังตอนมณีเมขลาช่วยพระมหาชนก ที่วัดชมภูเวก
ผู้ประพันธ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ชื่อเรื่องต้นฉบับพระมหาชนกชาดก
ผู้วาดภาพประกอบชัย ราชวัตร (ฉบับการ์ตูน)
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ประเภทนวนิยายแนวศาสนาและปรัชญา
สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง
วันที่พิมพ์มิถุนายน พ.ศ. 2539

เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ พระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนกก็ออกจำหน่าย และเป็นที่ชื่นชมโดยทั่วไป แต่หนังสือพระราชนิพนธ์นี้ก็ยังอ่านค่อนข้างยาก ด้วยความซับซ้อนของข้อความและของภาพ ทำให้มีการวิจารณ์และตีความกันในทางต่างๆ นานา ในปี พ.ศ. 2542 ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนกอีกครั้ง ในรูปแบบของการ์ตูนโดยมี ชัย ราชวัตร เป็นผู้วาดภาพการ์ตูนประกอบ

ในปี 2557 ได้มีการนำเสนอในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่น ทางโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ และออกอากาศทางโทรทัศน์ทุกสถานี มีทั้งหมด 3 องก์ คือ องก์ที่ 1 กำเนิด องก์ที่ 2 ความเพียร และองก์ที่ 3 ปัญญา รวมทั้งมีการแสดง แสง สี เสียงในชุด มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระมหาชนก ปี 2549 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสการจัดงานงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ณ อิมแพค เมืองทองธานี และ“พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์โชว์” ณ สวนเบญจกิติ

เรื่องย่อ แก้

 
ภาพแกะสลักเรื่องพระมหาชนก ในระเบียงโบโรบูดูร์ เกาะชวา อินโดนีเซีย

พระเจ้ามหาชนก กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่า "อริฏฐชนก" และ "โปลชนก" เมื่อสวรรคตแล้ว พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช พระโปลชนกทรงรับใช้พระอริฏฐชนกด้วยความภักดีมาโดยตลอด แต่อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดได้กราบทูลพระอริฏฐชนก คอยใส่ร้ายว่าพระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่ออยู่บ่อยครั้ง พระอริฏฐชนกจึงมีพระราชบัญชาให้จองจำพระโปลชนก พระโปลชนกได้ตั้งจิตอธิษฐานให้เครื่องจองจำหักทำลายลงและสามารถหลบหนีไปยังชายแดนกรุงมิถิลาได้ มีผู้คนเห็นใจในความไม่เป็นธรรมที่พระโปลชนกได้รับและได้เข้ามาสวามิภักดิ์กับพระโปลชนกจำนวนมาก พระองค์จึงตัดสินพระทัยนำทัพกลับมายังกรุงมิถิลาพร้อมส่งสารขอให้พระอริฏฐชนกมอบราชสมบัติหรือออกมารบกับตน พระอริฏฐชนกเลือกที่จะยกทัพออกมาสู้รบและสวรรคตในที่รบ ราชสมบัติตกเป็นของพระโปลชนก "พระเทวี" มเหสีของพระอริฏฐชนกซึ่งกำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีออกนอกเมืองท่ามกลางความโกลาหล แล้วเสด็จไปจนถึงเมืองกาลจัมปากะ ได้พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ "อุทิจจพราหมณ์มหาศาล" อุปการะไว้ในฐานะน้องสาว

ต่อมาพระเทวีมีพระประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยกาว่า "มหาชนก" เมื่อพระมหาชนกเจริญวัยขึ้นและได้ทราบความจริง ก็คิดจะไปค้าขายตั้งตัว แล้วเอาเงินทุนที่ได้จากการค้าขายมาใช้ในการชิงราชสมบัติคืน จึงนำเอาสมบัติกึ่งหนึ่งของพระมารดาไปขาย แลกเป็นสินค้าออกเรือไปยังสุวรรณภูมิ ระหว่างทางในมหาสมุทร เรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือตายหมดยังแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน จนได้พบนางมณีเมขลา เมื่อนางมณีเมขลาได้โต้ตอบข้อธรรมะกับพระมหาชนกจนเป็นที่พอใจแล้ว นางจึงอุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร

ฝ่ายมิถิลานคร พระโปลชนกได้ประชวรและเสด็จสวรรคต เหลือเพียงพระราชธิดานาม "สีวลีเทวี" ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้งสิบหกไว้ทดสอบผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอำมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังพระแท่นที่พระมหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอำมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชสมบัติโดยธรรม หลังจากนั้นพระองค์จึงให้อำมาตย์ทั้งหลายรับพระเทวีผู้เป็นพระราชมารดาและอุทิจจพราหมณ์มหาศาลให้ลงมาอยู่ที่กรุงมิถิลาด้วยกัน

อยู่มาวันหนึ่งพระมหาชนกได้เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ที่พระราชอุทยานนั้นมีต้นมะม่วงต้นใหญ่อยู่สองต้น ต้นหนึ่งมีผลรสชาติวิเศษยิ่งนัก อีกต้นหนึ่งไม่มีผล พระองค์เสวยผลของต้นมะม่วงที่มีผลเพียงเล็กน้อยแล้วเสด็จประพาสในพระราชอุทยานต่อ ทรงดำริว่าเมื่อเสด็จกลับมาที่ต้นมะม่วงอีกครั้งจะเสวยผลมะม่วงนั้นอีก ฝ่ายมหาชนทั้งหลายทุกชนชั้นครั้นเห็นพระมหาชนกเสวยผลมะม่วงแล้วก็กรูเข้าแย่งกันเก็บผลมะม่วงนั้นไปกินบ้าง ที่เก็บเอาผลมะม่วงไม่ได้ก็พากันทำลายต้นมะม่วงเสียด้วยหวังว่าจะไม่ให้คนอื่นได้กินเช่นเดียวกับตน เมื่อพระมหาชนกเสด็จกลับมาอีกครั้ง ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลโค่นล้มหักทำลายลง ส่วนต้นมะม่วงที่ไม่มีผลยังคงตั้งตระหง่านอยู่ ก็ทรงสลดพระราชหฤทัย ทรงปรารภในข้อธรรมะและคิดหาหนทางแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเสด็จกลับไปถึงพระราชวัง พระองค์จึงเชิญอุทิจจพราหมณ์มหาศาลมาเพื่อทรงแนะอุบายในการฟื้นฟูต้นมะม่วงที่เสียหายให้กลับมามีผลได้ และทรงปรึกษาเรื่องการตั้งสถานที่อบรมวิชาความรู้ต่างๆ เพื่อขจัดความไม่รู้ของมหาชน อุทิจจพราหมณ์มหาศาลเห็นด้วยกับแนวพระราชดำริดังกล่าวและรับรองว่าจะนำพระราชดำริเหล่านั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผลต่อไป

พระมหาชนก (ภาพยนตร์) แก้

พระมหาชนก
กำกับนพ ธรรมวานิช
เกรียงไกร ศุภรสหัสรังสี
ธนัญชนก สุบรรณ ณ อยุธยา
บทภาพยนตร์คฑาหัสต์ บุษปะเกศ
อำนวยการสร้างสำนักพระราชวัง
นักแสดงนำอรรถพร ธีมากร
ณมญชุ์ พงษ์วิไล
ฉัตรชัย เปล่งพานิช
สินจัย เปล่งพานิช
นนทรีย์ นิมิบุตร
มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล
ปริทัศน์ กองเพียร
สุเชาว์ พงษ์วิไล
คมสัน นันทจิต
นิวัติ กองเพียร
ตัดต่อธนัญชนก สุบรรณ ณ อยุธยา
พิษณุ วราภรณ์
ดนตรีประกอบชาติชาย พงษ์ประพันธ์
บริษัทผู้สร้าง
แอนิเมชั่นการประณาม
วันฉาย5 ธันวาคม พ.ศ. 2557
ความยาว100 นาที
ประเทศ  ไทย
ภาษาภาษาไทย

พระมหาชนก The Story of MAHAJANAKA เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติของไทยที่ออกฉายใน 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ผลิตโดย แอนิเมชั่นการประณาม กำกับโดย นพ ธรรมวานิช, เกรียงไกร ศุภรสหัสรังสี, ธนัญชนก สุบรรณ ณ อยุธยา

นักพากย์ แก้

ภาพยนตร์ พระมหาชนก The Story of MAHAJANAKA
ตัวละคร พากย์เสียงไทย
พระมหาชนก อรรถพร ธีมากร
พระนางสีวลีเทวี ณมญชุ์ พงษ์วิไล
พระโปลชนก ฉัตรชัย เปล่งพานิช
พระอริฏฐชนก นนทรีย์ นิมิบุตร
พระเทวี (มเหสี) สินจัย เปล่งพานิช
นางมณีเมขลา มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล
อุจจทิจพราหมณ์มหาศาล ปริทัศน์ กองเพียร
พระเจ้ามหาชนก (องค์ปู่) สุเชาว์ พงษ์วิไล
รโหปฐกะ คมสัน นันทจิต
ท้าวสักกเทวราช นิวัติ กองเพียร
มหาชนก (วัยเด็ก) ชินพรรธน์ กิตติชัยวรางค์กูร
ชีวากะ
เสียงบรรยาย นิรุตติ์ ศิริจรรยา

อ้างอิง แก้

  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. พระมหาชนก-The story of Mahajanaka. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539. ISBN 974-8363-90-2

แหล่งข้อมูลอื่น แก้