พระนางสัตยวดี เป็นตัวละครในมหาภารตะ เป็นลูกของกษัตริย์พระองค์หนึ่งกับนางอัปสรซึ่งถูกสาปให้เป็นปลากับ วันหนึ่งชาวประมงได้จับนางปลาออกมาผ่าท้อง เนื่องจากท้องโตผิดปกติ เมื่อผ่าออกมาดูปรากฏว่าเป็นเด็กผู้หญิง ซึ่งก็คือ พระนางสัตยวดี คนนี้นี่เอง ชาวประมงจึงเลี้ยงไว้ด้วยความสงสาร

ท้าวศานตนุและนางสัตยวดี, ผลงานภาพวาดของ ราชา รวิ วรรมา

ในวัยเด็ก สัตยวดี มีกลิ่นตัวเป็นกลิ่นคาวปลาแรงมาก เพราะอาศัยอยู่ในท้องปลาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่มีชายใดหมายปอง แต่เมื่อฤๅษีตนหนึ่งผ่านมาชื่อว่า ฤๅษีปราศร ก็ถูกใจนางสัตยวดีมากเพราะเป็นคนสวยและจริง ๆ แล้วเป็นคนวรรณะกษัตริย์ ก็ให้พรโดยให้กลิ่นตัวของนางหายไป และกลายเป็นกลิ่นหอมของดอกไม้มาแทน จากนั้นฤๅษีปราศรกับนางสัตยวดีก็มีความสัมพันธ์กันและมีลูกชายคนหนึ่งชื่อ ฤๅษีวยาส ซึ่งเป็นคนสำคัญในเรื่องมหาภารตะ เพราะเป็นปู่โดยตรงของทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพ และจะออกมาคลี่คลายปัญหาเป็นพัก ๆ ให้กับฝ่ายต่าง ๆ

เมื่อนางสัตยวดีโตขึ้น พระราชาศานตนุก็มาเจอกับนางเข้าและถูกใจมาก แต่พ่อของนางขอไว้ว่าลูกที่เกิดจากนางสัตยวดีต้องเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ ท้าวศานตนุไม่ตกลงในทันทีเพราะเห็นแก่ภีษมะ ลูกของพระองค์กับพระแม่คงคา แต่ผู้ให้สัญญานี้คือ ภีษมะ นั่นเอง

พระนางสัตยวดีเมื่อแต่งงานกับพระราชาศานตนุก็มีพระโอรสด้วยกัน ๒ พระองค์ คือ จิตรางคทะ และ วิจิตรวีรยะ ซึ่งถือเป็นน้อยชายต่างมารดาของท้าวภีษมะ ๒ คน กล่าวได้ว่าท้าวศานตนุมีผู้สืบเชื้อสายโดยตรง ๑๐ พระองค์ แต่ ๗ คนแรก พระแม่คงคาได้นำไปทิ้งลงสู่แม่น้ำ ท้าวภีษมะก็สาบานต่อฟ้าดินอย่างเคร่งครัดไว้ว่าจะไม่แต่งงานมีลูกกับผู้หญิงคนใด จิตรางคทะก็ถูกคนธรรพ์ชื่อเหมือนกันท้ารบและถูกฆ่าตายในวัยเยาว์ ส่วนวิจิตรวีรยะแม้จะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงอัมพิกาและเจ้าหญิงอัมพาลิกาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีพระโอรสสืบต่อพระราชบัลลังก์แม้แต่คนเดียว พระนางสัตยวดีเกรงว่าตนจะเป็นคนบาปที่ทำให้ราชวงศ์กุรุต้องสิ้นสุด จึงให้ฤๅษีวยาส ลูกนอกสมรสมาทำพิธีนิโยค (รับภรรยาของญาติที่เป็นหม้ายมาเป็นภรรยาเพื่อสืบเชื้อสายของวงศ์ตระกูลต่อไป) ทำให้ลูกของฤๅษีวยาสกับเจ้าหญิงอัมพิกาชื่อ ธฤตราษฎร์ (ตาบอดตั้งแต่เกิด แต่มีสุขภาพแข็งแรงและเป็นพระบิดาของฝ่ายเการพ) , เจ้าหญิงอัมพาลิกากับฤๅษีวยาสชื่อ ปาณฑุ (มีสีผิวซีด สุขภาพไม่แข็งแรง แต่เป็นพระราชาที่ยิ่งใหญ่และเป็นพระบิดาของปาณฑพทั้งห้าด้วย) , นางกำนัลกับฤๅษีวยาสชื่อ วิทูร (ครบถ้วนสมบูรณ์ดี เป็นผู้ที่มีความเที่ยงธรรม)

หลังจากที่พระราชาปาณฑุสิ้นพระชนม์ ฤๅษีวยาสก็แนะนำให้พระนางสัตยวดีไปบำเพ็ญเพียรช่วงสุดท้ายของชีวิตในป่า จะได้ไม่ต้องมารับรู้เรื่องที่หลาน ๆ เหลน ๆ จะมาฆ่าฟันกัน พระนางสัตยวดีเห็นดีด้วยจึงทำตามคำแนะนำของฤๅษีวยาส และออกป่าไปพร้อมกับพระนางอัมพิกาและพระนางอัมพาลิกาและในเรื่องก็ไม่ได้พูดถึงอีก