พรหมชาลสูตร (มหายาน)

พรหมชาลสูตร ในพระไตรปิฎกภาษาจีนของฝ่ายมหายาน ไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับพรหมชาลสูตร ในสีลขันธวรรค ของทีฆนิกาย พระไตรปิฎกภาษาบาลี ของเถรวาท พรหมชาลสูตรของฝ่ายมหายาน เรียกว่า ฟั่นวั่งจิง (梵網經) ในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับไทโช อยู่ในลำดับที่ 1418 หรือ CBETA T24 No. 1484 ส่วนในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับเกาหลี อยู่ในลำดับที่ K 527พระสูตรนี้ได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระกุมารชีพ โดยท่านแปลเมื่อวันที่ 12 เดือน 6 ปีที่ 7 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิฉินเหวินหวน หรือ พ.ศ. 949 มีชื่อเต็มในภาษาจีนว่า 梵網經廬舍那佛說菩薩心地戒品第十 แต่มักเรียกโดยสังเขปว่า 梵網經

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านพุทธศาสนาคาดการณ์ว่าพระสูตรนี้น่าจะมีผู้เรียบเรียงขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ขณะที่เนื้อความในพระสูตรภาษาจีนเองก็ระบุไว้ในตอนท้ายว่า แปลมาจากตันฉบับภาษาสันสกฤตที่มีเนื้อหายาวกว่าฉบับแปลมากมายนัก แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการพบต้นฉบับที่ว่าแต่อย่างใด

ชื่อพระสูตร แก้

ในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท ชื่อพรหมชาล หมายความถึง ข่ายอันครอบคลุมทิฏฐิทั้งปวง (ทิฏฐิ 62 ประการ) ด้วยเหตุนี้ พระสูตรนี้ของฝ่ายเถรวาทจึงมีชื่อสอดคล้องไปในทางเดียวกัน กล่าวคือฝ่ายเถรวาทยังเรียกพรหมชาลสูตรว่า อัตถชาล, ธัมมชาล, ทิฏฐิชาล และอนุตรสังคมวิชัย หรือชัยชนะในสงครามอันมิอาจประมาณได้ คืชัยชนะเหนือทิฏฐิอันสุดโต่ง และไม่นำไปสู่การหลุดพ้นทั้งปวง

ส่วนพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน พรหมชาล หมายถึงข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม หมายถึงสรรพสิ่งทั้งหวงในหมื่นโลกธาตุล้วนสะท้อนสัมพันธ์กัน ประหนึ่งแสงระยิบระยับจากมณีอันร้อยเป็นข่ายงามประดับวิมานพระพรหม เป็นแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ โดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท

เนื้อหา แก้

เริ่มต้นเนื้อหาของพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน เป็นการเอ่ยถึงพระไวโรจนพุทธะ จากนั้นในตอนต่อมาจึงกล่าวถึงพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏพระองค์ที่กุสุมาตลครรภวยุหาลังกรโลกธาตุสมุทร (蓮華蔵世界) หรือปัทมะครรภะโลกธาตุ (華蔵世界) เป็นโลกธาตุอันเป็นที่ประทับของพระไวโรจนพุทธเจ้า โดยพระไวโรจนพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์จำแลงธรรมกายของพระองค์เป็นพระพุทธเจ้านับประมาณมิได้ และพระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ทรงออกจากปัทมครรภโลกธาตุมายังแต่ละจักรวาล แต่ละจักรวาลล้วนมีชมพูทวีปของตน ประทับยังใต้ร่มมหาโพธิ์ จากน้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในโลกธาตุนับมิถ้วน เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนายังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหม

ฝ่ายพระศากยมุนีพุทธเจ้า หลังจากทรงออกจากปัทมะครรภะโลกธาตุแล้วเสด็จไปแสดงพระสูตรยังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหมจึงทรงเสนด็จมายังชมพูทวีป แล้วเสด็จสู่พระครรภ์ของพุทธมารดาในกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วเจริญพระชนม์ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แล้วตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งทรงแสดงพรหมชาลสูตรนี้ โดยทรงมีมนสิการถึงพรหมชาล หรือข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม อันเป็นสถานที่ซึ่งทรงแสดงพระธรรมเทศนา นอกจากนี้ ข่ายอันวิจิตรของพรหม อันแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ ซึ่งโดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท ยังสะท้อนถึงพระธรรมขันธ์ หรือวิถีทางการบรรลุธรรมอันหาประมาณมิได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิทรงตรัสไว้

จากนั้นพระองค์ทรงตรัสโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ อันเป็นต้นเค้าของพระธรรมวินัยทั้ปวงในพระศาสนา และเป็นศีลที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงสาธยายไว้โดยปกติ โดยที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงเป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิพระองค์ พระศากยมุนีพุทธเจ้าจึงดังทรงตรัสว่า โพธิสัตว์ปราติโมกษ์นี้ "เป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งปวง แลเป็นหน่อเนื้อแห่งพุทธะธาตุ"

จากนั้นทรงตรัสและแจกแจงรายละเอียดของโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ โดยสังเขปแบ่งออกเป็นมหาโพธิสัตว์ศีล ๑๐ และจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘ โดยทรงบรรยายข้อศีล และแนวทางการปฏิบัติอย่างละเอียด ทั้งนี้ มหาโพธิสัตว์ศีล ๑๐ เรียกว่า ปราติโมกษ์ ในภาษาสันสกฤต หรือปาติโมกข์ในภาษาบาลี

ความแตกต่างกับพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท แก้

ในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน มีพระสูตรชื่อ "พรหมชาลสูตร" เช่นกัน แต่มีเนื้อหาต่างกัน แทบจะโดยสิ้นเชิง พรหมชาลสูตรในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศีล ๓ ระดับคือจุลศีล มัชฌมิศีล และมหาศีล สำหรับพระภิกษุ เป็นศีลที่สอดคล้องกับศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ หรือพระปาติโมกข์ นอกจากนี้พระผู้มีพระภาคตรัสยังถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ ซึ่งทรงรวบรวมมาจากความคิดเห็นของคนในสังคมสมัยนั้นอย่างเป็นระบบระเบียบ วางเป็นหลักศึกษา เพื่อจะทรงชี้ว่า เป็นลัทธิที่ไม่ยังให้เกิดการหลุดพ้น เป็นหนทางที่สุดโต่ง มิใช่มัชฌิมาปฏิปทา

อย่างไรก็ตาม พรหมชาลสูตรในพระไตรปิฎกฝ่ายมหายาน ระบุถึงมหาโพธิสัตว์ศีล ๑๐ และจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘ นอกจากนี้ ไม่มีการเอ่ยถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ แต่เอ่ยถึงพระไวโรจนพุทธเจ้า อันเป็นพระธยานิพุทธะ ๑ ใน ๕ องค์ โดยระบุว่า พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมกายของพุทธทั้งปวง โดยเหตุนี้ พรหมชาลสูตรของนิกายมหายาน จึงเป็นการประกาศแนวคิดตรีกายของฝ่ายมหายานนั่นเอง

พระโพธิสัตว์ศีลมีความแตกต่างในด้านรารยละเอียดจากจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล ในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท กระนั้นก็ตามก็ยังมีบางส่วนสอดคล้องกับศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ หรือพระปาติโมกข์ อันเป็นพื้นฐานของพระศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยสารัตถะแล้วมีความเหมือนกันตรงที่เป็นการระงับ เป็นการยังให้เกิดความปกติกายวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ

ทั้งนี้ ศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาทมุ่งเน้นเป็นหลักปฏิบัติสำหรับบรรพชิต และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบรรพชิตคือการรักษาพรหมจรรย์ ซึ่งข้อกำหนดนี้ปรากฏอยู่ในหมวดจุลศีลอย่างชัดเจน ซึ่งในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายานมีข้อกำหนดที่ว่านี้เช่นกันในหมวดมหาศีล ๑๐ ซึ่งบรรพชิตในจีน เกาหลี และเวียดนาม ยังรักษาศีลข้อนี้อย่างเคร่งครัด ประกอบกับการรักษาพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์เป็นรากฐานอยู่แล้ว โดยพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์นี้มีส่วนคล้ายคลึงกับพระวินัยของฝ่ายเถรวาทอย่างมาก ขณะที่ข้อกำหนดศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน จะรับกันในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหายานโดยสมบูรณ์ เพื่อย้ำให้ครองตนบนมรรคาแห่งพระโพธิสัตว์ หรือเป็นยกระดับปาติโมกข์ศีลให้ถือเป็นอธิศีลนั่นเอง เพราะมีการเน้นหนักในการรักษามโนกรรมอย่างมากในส่วนของจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘

อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่นได้มีการลดความสำคัญของพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ลง จนเหลือแต่การรับโพธิสัตว์ศีลเท่านั้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ยุคของพระไซโจ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ กระทั่งถึงยุคเมจิ รัฐบาลได้มีความพยายามลดความสำคัญของศาสนาพุทธ จึงสั่งให้บรรพชิตสมรสกับสตรี และตั้งครอบครัว โดยอ้างว่าพระวินัยมิได้มีบัญญัติห้ามบรรพชิตในเรื่องนี้ โดยอ้างโพธิสัตว์ศีลเป็นใหญ่ว่าปาติโมกข์

บรรณานุกรม แก้

  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา พระทรวงวัฒนธรรม.
  • พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเจี่ยว). (2513). สารัตถธรรมมหายาน. กรุงเทพฯ. วัดมังกรกมลาวาส.
  • พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.
  • Cho, Eunsu. Fanwang jing in Macmillan Encyclopedia of Buddhism, 2004, Volume One
  • The Soka Gakkai Dictionary of Buddhism. Soka Gakkai International,
  • Bhikkhu Bodhi. (2010). Brahmajāla Sutta: The All-embracing Net of Views.
  • The Brahma Net Sutra. Translated into English by the Buddhist Text Translation Society in USA