ปอล ฟร็องซัว ฌ็อง นีกอลา ไวเคานต์แห่งบารัส (ฝรั่งเศส: Paul François Jean Nicolas, Vicomte de Barras) หรือรู้จักกันในชื่อ ปอล บารัส เป็นนักการเมืองในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในสมาชิกในคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสในช่วงค.ศ. 1795 ถึง 1799

ไวเคานต์แห่งบารัส
ปอล ฟร็องซัว ฌ็อง นีกอลา
สมาชิกคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส
ดำรงตำแหน่ง
2 พฤศจิกายน 1795 – 10 พฤศจิกายน 1799
ประธานที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
4 กุมภาพันธ์ 1795 – 19 กุมภาพันธ์ 1795
ก่อนหน้าฟร็องซัว รอแวร์
ถัดไปฟร็องซัว หลุยส์ บูร์ดง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด30 มิถุนายน ค.ศ. 1755(1755-06-30)
ฟ็อกซ็องฟู, ฝรั่งเศส
เสียชีวิต29 มกราคม ค.ศ. 1829(1829-01-29) (73 ปี)
ปารีส, ฝรั่งเศส
ศาสนาโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองลามงตาญ (1792–1794)
Thermidorian (1794–1799)
วิชาชีพทหาร
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ฝรั่งเศส
ประจำการ1771–1783
ยศกัปตัน (เทียบเท่าร้อยเอก)

ปอล บารัส เกิดในตระกูลขุนนางในพรอว็องส์ เมื่อมีอายุได้ 16 ก็เข้าเรียนวิทยาลัยนายร้อย และต่อมาเข้ารับราชการทหารในกองทัพหลวงฝรั่งเศส โดยไปประจำการที่นิคมไมซอร์ทางตอนใต้ของอินเดีย[1][2] ต่อมาเมื่อไมซอร์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่ออังกฤษในสงครามอังกฤษ-ไมซอร์ครั้งที่สองในปี 1784 บารัสก็เดินทางกลับฝรั่งเศส[2] เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้นในปี 1789 เขาก็เลือกอยู่กับฝ่ายฌากอแบ็ง หลังระบอบกษัตริย์ถูกโค่นล้มแล้ว ในปี 1792 เขาก็ได้เป็นผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ เมื่อสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น เขาก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาให้เป็นผู้ตรวจการประจำกองทหารฝรั่งเศสซึ่งเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้านจากซาร์ดิเนียในคาบสมุทรอิตาลี ต่อมาเขาได้เป็นผู้แทนจากจังหวัดวาร์ในสภา

ในเดือนมกราคม 1793 เขาเป็นหนึ่งในผู้ลงมติให้ประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะเป็นสมาชิกที่ประชุมใหญ่แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมบ่อยนักเนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจการกองทัพในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ในช่วงนี้เองที่ทำให้เขาได้รู้จักกับนายพลนโปเลียนระหว่างการปิดล้อมที่ตูลง

ในเดือนกรกฎาคม 1794 บารัสเข้าร่วมกับฝ่ายโค่นล้มอำนาจของมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ และในปีต่อมา เมื่อที่ประชุมใหญ่แห่งชาติไม่ค่อยไว้ใจกองคุ้มกันแห่งชาติ (National Guard) ประจำกรุงปารีส ที่ประชุมใหญ่จึงมอบกองทหารให้เขาดูแลเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองที่ประชุมใหญ่ เขาได้แต่งตั้งให้นโปเลียนกุมกองกำลังนี้ ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงปราบปรามการชุมนุมของฝ่ายเรียกร้องระบอบกษัตริย์ที่ถนนหน้าพระราชวังตุยเลอรีอันเป็นสถานที่ประชุมใหญ่แห่งชาติในวันที่ 5 ตุลาคม 1705

ในเดือนพฤศจิกายน 1795 บารัสได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะดีแร็กตัวร์ และเนื่องด้วยบารัสมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน เขาคอยเป็นพ่อสื่อให้กับโฌเซฟีนและนโปเลียนจนแต่งงานกันในปี 1796 หลังจากนั้น เขาแต่งตั้งให้นโปเลียนเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารประจำอิตาลี[3] เมื่อนโปเลียนก่อรัฐประหารเดือนบรูว์แมร์ในปี 1799 บารัสเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะดีแร็กตัวร์ที่ยอมลาออก และดูเหมือนว่าเขาจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม้บารัสจะหมดอำนาจแต่ด้วยการที่เขามีทรัพย์สมบัติมหาศาลได้ทำให้บารัสสามารถใช้ชีวิตอย่างหรูหราไปได้หลายปีภายใต้การถูกสั่งกักบริเวณไว้ในปราสาทกรอบัวซึ่งเป็นทรัพย์สินของเขา ก่อนที่ต่อมาจะถูกเนรเทศไปยังบรัสเซลส์, โรม และมงเปอลีเย เขาเป็นอิสระเมื่อนโปเลียนสิ้นอำนาจในปี 1814

อ้างอิง แก้

  1. Richardson, p. 30.
  2. 2.0 2.1 Encyclopædia Britannica (1911)
  3. Haine, Scott. The History of France (1st ed.). Greenwood Press. p. 88. ISBN 0-313-30328-2. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)