ปอล วิกตอร์ ฌูล ซีญัก (ฝรั่งเศส: Paul Victor Jules Signac; 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1863 – 15 สิงหาคม ค.ศ. 1935) เป็นจิตรกรชาวฝรั่งเศส ซีญักและฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอราร่วมกันพัฒนาลัทธิผสานจุดสี ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างภาพที่เป็นรากฐานของลัทธิประทับใจใหม่[1]

ปอล ซีญัก
ภาพเหมือนของปอล ซีญัก
โดยฌอร์ฌ เซอรา ค.ศ. 1890
เกิดปอล วิกตอร์ ฌูล ซีญัก
11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1863(1863-11-11)
ปารีส, ฝรั่งเศส
เสียชีวิต15 สิงหาคม ค.ศ. 1935(1935-08-15) (71 ปี)
ปารีส, ฝรั่งเศส
สัญชาติฝรั่งเศส
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม
ขบวนการลัทธิประทับใจยุคหลัง, ลัทธิประทับใจใหม่, ลัทธิผสานจุดสี, วิภาคนิยม

ประวัติ แก้

ปอล ซีญักเกิดที่กรุงปารีสใน ค.ศ. 1863 เป็นบุตรของฌูล ฌ็อง-บาติสต์ ซีญักกับเอลออีซ อานาอิส-เออเฌนี ซีญัก (นามสกุลเดิม เดอดง)[2] เมื่ออายุได้ 18 ปี ซีญักหันเหความสนใจจากสถาปัตยกรรมมาเป็นจิตรกรรมหลังได้ชมภาพของโกลด มอแน[3] หลังจากนั้นเขาเดินทางไปตามเมืองชายฝั่งของยุโรปเพื่อวาดภาพทิวทัศน์ ใน ค.ศ. 1884 ซีญักพบกับมอแนและเซอรา และรู้สึกประทับใจในวิธีการวาดด้วยจุดสีของเซอรา จนละทิ้งการวาดด้วยฝีแปรงหยาบแบบลัทธิประทับใจและหันมาทดลองวาดด้วยจุดสี[4] ในปีเดียวกัน ซีญัก, เซอรา, อาลแบร์ ดูว์บัว-ปีแย และออดีลง เรอดงก่อตั้งสมาคมศิลปินอิสระ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินแสดงผลงานได้โดยไม่มีคณะกรรมการตัดสินและรางวัล[5] ใน ค.ศ. 1886 เฟลิกซ์ เฟเนอง นักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศสคิดค้นคำว่าลัทธิประทับใจใหม่ เพื่อนิยามกลุ่มจิตรกรผู้ใช้เทคนิคผสานจุดสี หลังได้ชมภาพ บ่ายวันอาทิตย์บนเกาะลากร็องด์ฌัต ของเซอราที่จัดแสดงในงานนิทรรศการของสมาคมศิลปินอิสระ[6]

หลังเซอราเสียชีวิตใน ค.ศ. 1891 ซีญักเริ่มห่างหายจากการวาดภาพและหันไปเขียนบทความเกี่ยวกับอนาธิปไตยและวิจารณ์เหตุการณ์แดรฟุส ถึงแม้ในช่วงบั้นปลายจะผลิตผลงานไม่มากนัก แต่ซีญักยังคงส่งผลงานเข้าร่วมนิทรรศการศิลปะอยู่เสมอ ๆ[7] ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมศิลปินอิสระใน ค.ศ. 1908 จนถึงเสียชีวิต ซีญักให้การสนับสนุนผลงานแนวบาศกนิยมและคติโฟวิสต์ และยังส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ เช่น อ็องรี มาติส ผู้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากซีญักในช่วงแรกของการวาดภาพ[8]

ด้านชีวิตส่วนตัว ซีญักแต่งงานกับแบร์ต รอแบล็ส ผู้เป็นญาติห่าง ๆ ของกามีย์ ปีซาโรใน ค.ศ. 1892 ก่อนที่ใน ค.ศ. 1913 เขาจะแยกไปอยู่กินกับฌาน แซลแมร์แซม-เดกร็องฌ์และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ซีญักเสียชีวิตจากภาวะพิษเหตุติดเชื้อที่กรุงปารีสใน ค.ศ. 1935[9]

ผลงานบางส่วน แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Paul Signac". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ August 12, 2019.
  2. "Paul Signac - Biography". The Famous People. สืบค้นเมื่อ August 12, 2019.
  3. "Paul Signac". Sotheby's. สืบค้นเมื่อ August 12, 2019.
  4. Ruhberg Kark, Art of the 20th Century Benedikt Taschen Verlag GMBH 1998 ISBN 3-8228-4089-0
  5. "Société des Artistes Indépendants". www.artistes-independants.fr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2019-08-11.
  6. Hutton, John G. (2004). Neo-Impressionism and the Search for Solid Ground: Art, Science, and Anarchism in Fin-de-siecle France. Baton Rouge, Louisiana: Louisiana State University Press. ISBN 0-8071-1823-0.
  7. "Paul Signac". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ August 12, 2019.
  8. Oxford Art Online, "Henri Matisse"
  9. "Paul Signac". New World Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ August 12, 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้