ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง

ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Haemulidae
สกุล: Diagramma
สปีชีส์: D.  pictum
ชื่อทวินาม
Diagramma pictum
(Thunberg, 1792)
ชื่อพ้อง[1]
  • Plectorhynchus pictus (Thunberg, 1792)
  • Diagramma pictum pictum (Thunberg, 1792)
  • Diagramma pictum cinerascens Valenciennes, 1830
  • Perca picta Thunberg, 1792

ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง (อังกฤษ: Painted sweetlips; ชื่อวิทยาศาสตร์: Diagramma pictum) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลากะพงแสม (Haemulidae)

มีลำตัวค่อนข้างยาว ด้านบนแบนข้าง สันหลังโค้งนูน ท้องแบนเรียบ ปากเล็กมีริมปากหนา มีฟันขนาดเล็กบนขากรรไกรทั้งสองข้าง ใต้คางมีรูพรุน 6 รู เกล็ดมีขนาดเล็กปกคลุมตลอดลำตัวและหัว สีลำตัวจะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดอายุของปลา คือ ปลาขนาดเล็กจะมีสัสันสวยงาม โดยลำตัวเป็นสีขาว ส่วนหัวด้านบนสีเหลือง และมีแถบสีน้ำตาลปนดำ 5 แถบพาดไปตามความยาวลำตัว เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นแถบสีจะจางหายไป และมีจุดสีน้ำตาลปนดำปรากฏขึ้นมาแทน และจุดสีจะจางหายไปเมื่อปลาอายุมากขึ้น

กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามหน้าดินหรือแนวปะการัง พบทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยหากินปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ตามบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นอาหาร มีความยาวประมาณ 35-45 เซนติเมตร แต่เคยพบว่าบางตัวมีความยาวถึง 60 เซนติเมตร

เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยนิยมบริโภค ตกเป็นเกมกีฬา และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะในลูกปลาขนาดเล็กที่ยังมีลายแถบ

ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้สำเร็จในที่เลี้ยงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดย สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา โดยรวบรวมพ่อแม่ปลา 4-5 ตัวจากธรรมชาติ หลังจากที่เลี้ยงมาประมาณ 1 ปี ปลาก็วางไข่โดยธรรมชาติ ประมาณ 10,000-20,000 ฟอง จากนั้นได้รวบรวมไข่ขึ้นมาฟักและอนุบาลได้จำนวน 3,000 ตัว เมื่อลูกปลาอายุ 40 วัน มีขนาดความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เหลือจำนวน 400 ตัว ให้อาหารเป็นโรติเฟอร์และไรทะเล[2] [3]

อ้างอิง แก้

  1. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. [ลิงก์เสีย] สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา ขยายพันธุ์ “ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง” ได้ครั้งแรกในไทย จากผู้จัดการออนไลน์
  3. Diagramma pictum จากสนุกดอตคอม

แหล่งข้อมูลอื่น แก้