ปลาตะพากเหลือง หรือ ปลาตะพากทอง[2] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hypsibarbus wetmorei)[3] เป็นปลาน้ำจืดจำพวกปลาตะพากชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) จัดเป็นปลาตะพากชนิดที่พบได้หลากหลายและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด[3]

ปลาตะพากเหลือง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลาตะเพียน
วงศ์: วงศ์ปลาตะเพียน
สกุล: ปลาตะพาก
(H. M. Smith, 1931)
สปีชีส์: Hypsibarbus wetmorei
ชื่อทวินาม
Hypsibarbus wetmorei
(H. M. Smith, 1931)
ชื่อพ้อง
  • Puntius wetmorei Smith, 1931
  • Poropuntius wetmorei (Smith, 1931)
  • Puntius daruphani Smith, 1934
  • Barbus daruphani (Smith, 1934)
  • Barbus beasleyi Fowler, 1937
  • Puntius beasleyi (Fowler, 1937)

ลักษณะ แก้

ปลาตะพากเหลืองมีลักษณะลำตัวยาวรีและแบนข้าง มีเกล็ดขนาดค่อนข้างใหญ่เป็นมันแวววาว พื้นลำตัวสีขาวเงิน แผ่นหลังสีเขียวอมน้ำตาล มีครีบทั้งหมด 7 ครีบ ครีบอก ครีบท้องและครีบก้นสีเหลืองสด ปลายขอบครีบและหางสีส้ม หางเป็นเว้าแฉกลึก ครีบหลังและครีบหางสีเทาหม่น ปลาขนาดใหญ่เกล็ดใต้ท้องเป็นสีเหลืองอร่าม มีหนวดขนาดเล็ก 2 คู่ อยู่ที่ขากรรไกรบนล่าง ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดยาว 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 8 กิโลกรัม อาหารกินได้หลากหลาย เช่น พืชน้ำ แมลงน้ำ รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กด้วย

อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วและว่ายน้ำเคลื่อนไหวตลอดเวลา ขยายพันธุ์โดยการวางไข่ระหว่างเดือนมีนาคม–ตุลาคม ไข่มีลักษณะกึ่งลอย กึ่งจม การวางไข่ครั้งหนึ่งจะมีปริมาณไข่นับเป็นแสน ๆ ฟอง และมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์หมู่

ถิ่นที่อยู่ แก้

ปลาตะพากเหลืองอาศัยในแม่น้ำสายใหญ่ตั้งแต่แม่น้ำปิง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงแม่น้ำโขง รวมถึงลำธารน้ำตกในป่าดิบ จัดเป็นปลาเศรษฐกิจ นิยมบริโภคโดยการปรุงสด รมควัน และต้มเค็ม เนื้อมีรสชาติอร่อยกว่าปลาตะเพียนและก้างนิ่มกว่า[4] อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ถือเป็นปลาประจำจังหวัดกำแพงเพชร[5] ขณะที่ในภาษาอีสานเรียกว่า "ปลาปากท้องเหลือง"[3]

ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในที่เลี้ยง โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร แต่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เมื่อเพาะได้แล้วจะปล่อยลูกปลาคืนสู่ธรรมชาติที่แม่น้ำปิง อันเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิม เพื่ออนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ เพราะยังผลิตลูกปลาได้จำนวนน้อย เนื่องจากพ่อแม่ปลายังมีความสมบูรณ์เพศไม่เพียงพอ อีกทั้งขี้ตกใจเมื่ออยู่ในที่เลี้ยง[4]

อ้างอิง แก้

  1. Rainboth, W. (2012). "Hypsibarbus wetmorei". IUCN Red List of Threatened Species. 2012: e.T181331A1722850. doi:10.2305/IUCN.UK.2012-1.RLTS.T181331A1722850.en. สืบค้นเมื่อ 11 November 2021.
  2. สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. สารานุกรมปลาไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทเอม ซัพพลาย, 2540. 170 หน้า. หน้า 111. ISBN 9748990028
  3. 3.0 3.1 3.2 สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 93. ISBN 974-00-8701-9
  4. 4.0 4.1 "สารคดีเกษตร : เพาะพันธุ์ปลาตะพาก". ช่อง 7. 17 August 2012. สืบค้นเมื่อ 11 January 2015.[ลิงก์เสีย]
  5. "ปลา'ตะพาก' หวนคืนสู่ชุมชน". ข่าวสด.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้