ปลาฉลามพยาบาล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 112–0Ma ยุคอัลเบียนจนถึงปัจจุบัน[1]
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล (IUCN 3.1)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Orectolobiformes
วงศ์: Ginglymostomatidae
สกุล: Ginglymostoma
J. P. Müller & Henle, 1837
สปีชีส์: G.  cirratum
ชื่อทวินาม
Ginglymostoma cirratum
(Bonnaterre, 1788)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีน้ำเงิน)

ปลาฉลามพยาบาล หรือ ปลาฉลามขี้เซา (อังกฤษ: nurse shark, sleepy shark) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ginglymostoma cirratum อยู่ในวงศ์ Ginglymostomatidae เป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Ginglymostoma[3]

โดยที่ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นคำว่า Ginglymostoma หรือ Ginglymostomatidae มาจากภาษากรีกคำว่า γίγγλυμος (ginglymos) หมายถึง "บานพับ" หรือ "สายยู" และ στόμα (stoma) หมายถึง "ปาก" และคำว่า cirratum มาจากภาษากรีก หมายถึง "ขด" หรือ "ว่ายน้ำ"[4]

จัดเป็นปลาฉลามในอันดับ Orectolobiformes หรือปลาฉลามหน้าดินขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล (Nebrius ferrugineus) ที่พบได้ในทวีปเอเชียและแอฟริกา ซึ่งในอดีตได้สร้างความสับสนให้แก่แวดวงวิชาการมาแล้ว[4] โดยปลาฉลามพยาบาลจะพบได้ตามแถบหมู่เกาะแคริบเบียน, แถบชายฝั่งของรัฐฟลอริดาตอนใต้และฟลอริดาคียส์, ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา, ทะเลคอร์เตสไปจนถึงชายฝั่งเปรูในทวีปอเมริกาใต้[5]

มีขากรรไกรที่แข็งแรง ในปากมีฟันที่แบนและงุ้มเข้าภายใน ใช้สำหรับงับอาหารซึ่งได้แก่ ปลาขนาดเล็กกว่าตามหน้าดินและสัตว์มีกระดองและมอลลัสคาต่าง ๆ รวมถึงหอยเม่นให้อยู่และกัดให้แตก โดยใช้อวัยวะที่คล้ายหนวดเป็นเครื่องนำทางและเป็นประสาทสัมผัส จะใช้วิธีการกินด้วยการดูดเข้าปาก มีครีบหางที่ยาวถึงร้อยละ 25 ของความยาวลำตัว ลำตัวเป็นสีเหลืองน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขณะที่ยังเป็นปลาวัยอ่อนจะมีจุดเข้มเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่ว

ขณะกินอาหาร

เป็นปลาที่อาศัยและหากินตามพื้นน้ำในความลึกไม่เกิน 70 เมตร บางครั้งพบได้ใกล้ชายฝั่งหรือป่าชายเลน เนื่องจากเข้ามาหาอาหารกิน ใช้เวลาหากินในเวลากลางคืน และนอนหลับตามโพรงถ้ำหรือกองหินในเวลากลางวัน เป็นปลาที่มักจะอยู่นิ่ง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจพบรวมตัวกันได้นับสิบตัว[6]

มีความยาวได้ถึงเกือบ 4 เมตร น้ำหนักกว่า 300 ปอนด์ (ขนาดโตเต็มที่ที่มีบันทึกไว้ คือ ยาว 4.3 เมตร (14 ฟุต) น้ำหนัก 330 กิโลกรัม (730 ปอนด์)[3]) โดยปกติเป็นปลาที่ไม่ทำอันตรายมนุษย์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำที่จะถ่ายรูปเช่นเดียวกับปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) แต่ก็สามารถทำร้ายมนุษย์ได้ หากไปรบกวนเข้าด้วยการกัดและดูดที่ทรงพลัง[6]

เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันตามสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก มีฤดูกาลผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม เป็นปลาที่ออกเป็นไข่แต่ลูกปลาจะพัฒนาจนฟักเป็นตัวในท้องของแม่ปลาเหมือนปลาฉลามส่วนใหญ่ชนิดอื่น ตั้งท้องนานประมาณ 6 เดือน ออกลูกสูงสุดได้ถึง 21-29 ตัว ใช้เวลานาน 18 เดือนสำหรับรังไข่ที่จะพร้อมให้กำเนิดไข่ชุดใหม่ ลูกปลาเมื่อแรกเกิดม่ีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร โดยจุดสีเข้มนั้นจะค่อย ๆ จางหายไปเมื่ออายุมากขึ้น[5]

อ้างอิง แก้

  1. Sepkoski, Jack (2002). "A compendium of fossil marine animal genera (Chondrichthyes entry)". Bulletins of American Paleontology. 364: 560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-10. สืบค้นเมื่อ 9 January 2008.
  2. "Ginglymostoma cirratum". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2. 2006. สืบค้นเมื่อ 10 May 2006.
  3. 3.0 3.1 Nurse Shark National Geographic
  4. 4.0 4.1 Goto, T. (2001). "Comparative Anatomy, Phylogeny and Cladistic Classification of the Order Orectolobiformes (Chondrichthyes, Elasmobranchii)". Memoirs of the Graduate School of Fisheries Science, Hokkaido University. 48 (1): 1–101.
  5. 5.0 5.1 Leonard J. V. Compagno (1984). Sharks of the World: An annotated and illustrated catalogue of shark species known to date. Food and Agriculture Organization of the United Nations. pp. 205–207, 555–61, 588.
  6. 6.0 6.1 Vacation Nightmares, "Dangerous Encounters". สารคดีทาง new)tv: ศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ginglymostoma cirratum ที่วิกิสปีชีส์