ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง

ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง
ปลาขนาดตัวโตเต็มที่ถูกเลี้ยงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเซี่ยงไฮ้
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Pristiformes
วงศ์: Pristidae
สกุล: Pristis
สปีชีส์: P.  pristis]
ชื่อทวินาม
Pristis pristis
Latham, 1794
ชื่อพ้อง[2]
  • Pristis microdon Latham, 1794
  • Pristis perotteti J. P. Müller & Henle, 1841

ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง หรือ ปลาฉนากน้ำจืด (อังกฤษ: Largetooth sawfish, Freshwater sawfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pristis pristis; ชื่อพ้อง P. microdon และ P. perotteti) เป็นปลากระดูกอ่อน ในวงศ์ปลาฉนาก (Pristidae)

ลักษณะ แก้

 
เปรียบเทียบลักษณะความกว้างของจะงอยปาก ฟัน ลักษณะและขนาดของหางและครีบอก และตำแหน่งของครีบหลังเทียบกับครีบเอว ในปลาฉนากจะงอยปากกว้าง (P. pristis - บน) ปลาฉนากเขียว (P. zijsron - กลาง) และ ปลาฉนากจะงอยปากแคบ (Anoxypristis cuspidata - ล่าง)

เป็นปลากระดูกอ่อน รูปร่างคล้ายปลาฉลาม มีลักษณะเด่นคือ จะงอยปากที่แหลมยาว มีกระดูกแข็งรอบ ๆ จะงอยแลดูคล้ายฟันเลื่อย มีความยาวได้ถึง 2 นิ้ว มีความคม มีจำนวนประมาณ 14–24 แถว[2] ขนาดเมื่อโตเต็มที่ราว 6 เมตร หนักได้ถึง 600 กิโลกรัม

มีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้าง โดยพบได้ตั้งแต่แอฟริกาตะวันออก, อินเดียทางตอนเหนือ, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อิเรียนจายา, ปาปัวนิวกินี ไปจนถึงออสเตรเลียทางตอนเหนือบริเวณรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง เป็นปลาทะเลที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ สามารถพบในเขตน้ำจืดได้ เช่นที่ ปากแม่น้ำคงคา, ปากแม่น้ำโขง, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำฟริซต์รอย สำหรับในประเทศไทยเคยมีผู้พบไกลถึงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ในปี ค.ศ. 1957[3]

การเข้ามาในน้ำจืดของปลาฉนากจะงอยปากกว้าง นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยด้วยการติดแทคที่ตัวปลาเชื่อว่า ปลาเข้ามาเพื่อขยายพันธุ์ เพราะในน้ำจืดมีสัตว์นักล่าและอันตรายน้อยกว่าในทะเล จนกระทั่งปลามีความยาวได้ 8–9 ฟุต หรืออายุราว 5 ปี[4] จึงจะค่อยว่ายออกทะเลไป ในออสเตรเลียทางตอนเหนือ ปลาฉนากจะงอยปากกว้างจะว่ายน้ำเข้ามาในแม่น้ำที่เป็นน้ำจืดไกลถึง 200 ไมล์ ในถิ่นที่เป็นแดนทุรกันดาร และถึงแม้จะเป็นช่วงฤดูแล้งที่ระดับน้ำลดลงอย่างมากก็ตาม [5]

พฤติกรรมของปลาชนิดนี้ คือ มักหากินบริเวณหน้าดินที่มีดินเลนค่อนข้างขุ่นในเวลากลางคืน โดยอาหารได้แก่สัตว์น้ำมีกระดอง เช่น กุ้ง, ปู และหอย เป็นต้น โดยใช้จะงอยปากที่เหมือนใบเลื่อยนั้นไล่ตามและตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ และถึงแม้จะมีจะงอยปากยาวเหมือนเลื่อย แต่ปลาฉนากจะงอยปากกว้างก็ยังมีศัตรูตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในออสเตรเลียทางตอนเหนือ ปลาฉนากที่นั่นพบว่ามีบาดแผลจากการถูกโจมตีโดยสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลามหัวบาตร หรือจระเข้น้ำจืดออสเตรเลีย โดยปลาที่พบในแม่น้ำฟริซต์รอยจำนวนร้อยละ 60 ที่มีบาดแผลเช่นนี้[4]

จำนวนประชากรไม่มีข้อมูลที่ทราบแน่นอน เนื่องจากเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ ประชากรในธรรมชาติมีน้อยมาก ปลาชนิดนี้ใช้เวลาในการเพิ่มจำนวนประชากรเป็น 2 เท่า นานกว่า 14 ปี ปัจจุบันมีชื่ออยู่ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES[6]

ในปัจจุบัน จากการศึกษาด้านพันธุกรรม พบว่ามีความเป็นไปได้ว่า ปลาฉนากจะงอยปากกว้างอาจจะเป็นชนิดเดียวกับปลาฉนากธรรมดา (P. pristis)[7]

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Pristis microdon (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2539. 972 หน้า. หน้า 244. ISBN 974-8122-79-4
  3. บันไดปลาโจน
  4. 4.0 4.1 หน้า 10 ต่างประเทศ, ภาพสะท้อน 'ปลาฉนาก' อยู่ยากเจอจระเข้. คมชัดลึกปีที่ 16 ฉบับที่ 5655: วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560
  5. Chainsaw Predator, "River Monsters". สารคดีทางดิสคัฟเวอรีแชนแนล ทางทรูวิชันส์: วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
  6. ["Largetooth sawfish (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-03. สืบค้นเมื่อ 2011-12-21. Largetooth sawfish (อังกฤษ)]
  7. Faria, V. V.; McDavitt, M. T.; Charvet, P.; Wiley, T. R.; Simpfendorfer, C. A.; Naylor, G. J. P. (2013). Species delineation and global population structure of Critically Endangered sawfishes (Pristidae). Zoological Journal of the Linnean Society 167: 136–164. doi:10.1111/j.1096-3642.2012.00872.x Retrieved 26 August 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้