ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเวลาต่อมาได้เป็นวิทยากรให้กับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และเป็นผู้ร่างนโยบายและ เสนอแนวทางการเมือง นำการทหาร ซึ่งนำมาซึ่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ยุติสงครามกลางเมือง ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 พฤษภาคม พ.ศ. 2456
อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เสียชีวิต25 ธันวาคม พ.ศ. 2537 (81 ปี)
คู่สมรสอรพิน ทรัพย์สุนทร (สัมฤทธิ์)
บุพการี
  • มี ทรัพย์สุนทร (บิดา)
  • เกต ทรัพย์สุนทร (มารดา)
อาชีพนักการเมืองและนักเขียน
ลายมือชื่อ

ประวัติ แก้

นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เกิดที่ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรนายมี-นางเกต ทรัพย์สุนทร สมรสกับนางสาวอรพิน สัมฤทธิ์ มีบุตรด้วยกัน 1 คน นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในหัวใจตีบตัน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2537 อายุ 81 ปี

นายประเสริฐ จบมัธยม 8 จากโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเสริฐเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ 1 และระหว่างศึกษาได้ดำรงตำแหน่งเป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับผิดชอบการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2479 [1]

การทำงาน แก้

เมื่อจบการศึกษา นายประเสริฐเข้ารับราชการเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นจึงลาออกไปสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง จึงย้ายไปเป็นครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร (วังจันทร์เกษม) และลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[2] ในสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก่อนที่จะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีส่วนในการยกเลิกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476

การร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แก้

เกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ประเสริฐสมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และได้รับคัดเลือกไปศึกษาสถาบันมาร์กซ์ เลนิน ที่ประเทศจีน ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางของพรรค ระดับล่าง และได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพสากล 3 ครั้งระหว่าง พ.ศ. 2494-95

พ.ศ. 2494 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปร่วมการประชุมคณะกรรมการสันติภาพแห่งโลก ที่กรุงเบอร์ลิน

พ.ศ. 2495 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสันติภาพแห่งโลกที่กรุงปักกิ่ง และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมสภาสันติภาพแห่งโลกที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

นายประเสริฐ ทราบว่า จะเกิดเหตุการณ์รุกทางการเมืองด้วยกำลังอาวุธ และแนวทางเปลี่ยนแปลงด้วยอาวุธ จากพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ด้วยความห่วงใยบ้านเกิด จึงขอเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อจะได้มาแก้ปัญหาของชาติไม่ให้ถูกพรรคคอมมิวนิสต์รุกราน เมื่อ พ.ศ. 2501 และถูกจับในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 6 ปี ในระหว่างถูกคุมขังได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการปฏิวัติไทยโดยสันติตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นแนวทางที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เห็นด้วย และมีคำสั่งให้ยกฟ้อง จากนั้นนายประเสริฐได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง ได้รับเชิญให้แสดงปาฐกแก่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรหลายครั้ง

ก่อตั้งพรรคแรงงานประชาธิปไตย แก้

นายประเสริฐได้สนับสนุนให้ก่อตั้งศูนย์กรรมกรแห่งประเทศไทยขึ้น ผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายแรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2515 ส่งผลเกิดสหภาพแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นในประเทศไทย พ.ศ. 2517 ได้ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคแรงงาน[3] ซึ่งต่อมาพรรคนี้ถูกยุบไป และได้จัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ในชื่อพรรคแรงงานประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2525 ซึ่งต่อมาเขารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค [4]

คำสั่ง 66/2523 แก้

ในปี พ.ศ. 2521 เกิดสงครามระหว่างกองทัพไทย​กับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย นายประเสริฐได้เขียนบทความเรื่อง "ลัทธิประชาธิปไตย" ลงในนิตยสาร "ตะวันใหม่" ได้ผลักดันแนวคิดในรูปของแถลงการณ์และคำชี้แจงโดยผ่านทาง "ทหารประชาธิปไตย" เพื่อต่อสู้กับแนวคิดสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

พ.ศ. 2523 ขณะที่การต่อสู้รุนแรงมากขึ้น รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 66/2523 เรื่องนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยพลตรีชวลิต ยงใจยุทธ เจ้ากรมยุทธการทหารบก เป็นผู้ร่าง โดยมีแนวคิดหลักมาจากแนวคิดของนายประเสริฐ มีการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างกว้างขวาง กองอาวุธพากันวางอาวุธและหันมาร่วมพัฒนาชาติไทย ส่งผลให้สงครามกลางเมืองซึ่งดำเนินติดต่อกันมา 17 ปี ยุติลง และนายทหารอีกหลายท่าน เช่น พลตรีระวี วันเพ็ญ พลเอกหาญ ลีลานนท์ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก พันเอกพิเศษชวัติ พิสุทธิพันธ์ พลโทประสิทธิ์ นวาวัฒน์ พันเอกมานะ เกษรศิริ

สภาปฏิวัติแห่งชาติ แก้

วันที่ 28-29 เมษายน พ.ศ. 2530 มีการประชุมผู้แทนประชาชนทั่วประเทศ จัดตั้งสภาปฏิวัติแห่งชาติ ขึ้นเป็นการสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตยของนายประเสริฐ และออกคำสั่ง สภาปฏิวัติแห่งชาติที่ 1/2532 เรื่องการโอนอำนาจจากรัฐสภามาสู่สภาปฏิวัติแห่งชาติ และแถลงการณ์สภาปฏิวัติแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ถูกจับกุมด้วยข้อหาทำลายความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมกับพวกรวม 14 คน

11 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องคดีสภาปฏิวัติตามศาลชั้นต้น

ได้รับการยกย่องเป็นครู แก้

นายประเสริฐ หรือ "ครูเสิด" มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมาย อาทิเช่น นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน นายวันชัย พรหมภา นายไพฑูรย์ เสนียวงศ์ ณ อยุธยา นายสัญชัย คงมงคล นายกฤษณะ พิมพกร นายสมพร มูสิกะ นายสมาน ศรีงาม นายวัลลภ เชยพร นายประเดิม บุตรดี เป็นต้น ศิษย์เอกครูเสริฐ คือ นายวันชัย พรหมภา ท่านได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ แนวความคิดและหลักวิชา ทางการเมืองได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ได้บรรยายวิชาการเมือง บันทึกลงในยูทูปของ นายไพบูลย์ สถาปนาวิสุทธิ์ ( เจ้าของธุรกิจกุนแชียงปลากรายระดับโลก ที่ได้การยอมรับในมิติที่ 8 เส้นเวลาที่ 1254 ) ซึ่งเป็นศิษย์ของ นายวันชัย พรหมภา ท่านพยายามสืบทอดหลักวิชา ที่ได้ร่ำเรียนมาจาก ครูเสริฐ และได้รับความเคารพนับถือและยกย่องในแนวความคิดประชาธิปไตย โดยได้ถ่ายทอดแนวความคิด และหลักวิชา ต่าง ๆ ของครูเสริฐ ในการทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของประชาชน หรือเรียกทางวิชาการ ในหลักทฤษฎีทางการเมือง คือ การสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จให้ได้ในประเทศไทย เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา และ สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างยั่งยืน สถาพร สืบไป [5] ครูประเสริฐ ได้รับการยกย่องจากบรรดาลูกศิษย์ และนักวิชาการ ว่าเป็นผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

อ้างอิง แก้

  1. "รายนามนายกสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-19. สืบค้นเมื่อ 2012-06-12.
  2. รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนพิเศษที่ 193ง หน้า 290 วันที่ 18 กันยายน 2518
  4. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของพรรคแรงงานประชาธิปไตย ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 (ให้นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นหัวหน้าพรรค แทนนายเสรี สุชาตะประคัลภ์)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-03-21.
  5. พรรคอธิปไตยฯ ทำบุญ-ยกย่อง "ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร" เป็นนักคิดแนวทาง ปชต. พร้อมจัดตั้งสภาประชาชน แก้ปัญหาวิกฤติประเทศ

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • อาจิณ จันทรัมพร. นักเขียนไทย ใน "วงวรรณกรรม". กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550. 644 หน้า. ISBN 978-974-7352-77-1