เชื่อว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยอยู่ถาวรในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันมาแล้วประมาณ 40,000 ปี เดิมชาวมอญ เขมรและมลายูปกครองพื้นที่ดังกล่าว โดยมีอาณาจักรใหญ่ เช่น ฟูนาน ทวารวดี หริภุญชัย จักรวรรดิเขมร และตามพรลิงก์ ส่วนบรรพบุรุษไทยสยามปัจจุบันซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มชาวไท-ไตเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบเดียนเบียนฟูในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8 และเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันในคริสต์ศตวรรษที่ 11 รัฐของชาวไทเกิดขึ้นจำนวนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ประมาณปี 1780 พ่อขุนบางกลางหาวรวบรวมกำลังกบฏต่อเขมร และตั้งอาณาจักรสุโขทัย เหนือขึ้นไป พญามังรายทรงตั้งอาณาจักรล้านนาในปี 1839 มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ทรงรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำปิง ส่วนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีการตั้งสหพันธรัฐในบริเวณเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 นักประวัติศาสตร์กระแสหลักมักเลือกนับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย

อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1893 ต่อมาเป็นใหญ่แทนจักรวรรดิเขมร และแทรกแซงอาณาจักรสุโขทัยอย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงจัดการปกครองโดยแบ่งพลเรือนกับทหารและจตุสดมภ์ซึ่งบางส่วนใช้สืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงริเริ่มระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ประชากรส่วนใหญ่เป็นไพร่ใช้แรงงานปีละ 6 เดือน กรุงศรีอยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2054 หลังจากนั้นในปี 2112 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีให้หลัง กรุงศรีอยุธยายังติดต่อกับชาติตะวันตก จนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความขัดแย้งภายในติด ๆ กันหลายรัชกาลในราชวงศ์บ้านพลูหลวง และการสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) จนส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2310 หลังจากนั้นบ้านเมืองแตกออกเป็นชุมนุมต่าง ๆ เจ้าตากทรงรวบรวมแผ่นดินและขยายอาณาเขต หลังเกิดความขัดแย้งช่วงปลายรัชกาล พระองค์และพระราชโอรสทั้งหลายทรงถูกสำเร็จโทษโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี 2325

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาอำนาจปกครองเหนือประเทศลาวและกัมพูชาปัจจุบันและยุติสงครามกับพม่า ต่อมากรุงรัตนโกสินทร์ถูกครอบงำด้วยปัญหาความพยายามแผ่อิทธิพลของชาติตะวันตกโดยมีการบรรลุสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาเบาว์ริง ตามด้วยสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ เป็นการเริ่มต้นการทำให้ประเทศทันสมัยและกลายเป็นตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการรวมศูนย์อำนาจแทนให้เจ้าท้องถิ่นปกครองแบบเดิม เลิกทาสและไพร่ และจัดระเบียบการปกครองแบบกระทรวง มีการยอมแลกดินแดนหลายครั้งเพื่อแลกกับการแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศสยามถือฝ่ายสัมพันธมิตร

ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่เป็นผล มีส่วนให้เกิดการปฏิวัติในปี 2475 อันนำมาซึ่งการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและทำให้คณะราษฎรมีบทบาททางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยถูกญี่ปุ่นบุกครองและลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น หลังสงครามยุติในปี 2488 ประเทศไทยสามารถบอกเลิกสถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำให้ไม่ตกอยู่ในสภาพผู้แพ้สงคราม ระหว่างสงครามเย็น ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเต็มตัว และรัฐประหารในปี 2500 ทำให้คณะราษฎรหมดอำนาจและมีการรื้อฟื้นพระราชอำนาจ สงครามเวียดนามเร่งให้เกิดการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำในประเทศ ทำให้เกิดการสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกลาง "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ปี 2516 นำมาซึ่ง "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" ช่วงสั้น ๆ ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารในปี 2519 การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ยุติในปี 2523

ขณะเดียวกันระบอบการปกครองของไทยสลับกันระหว่างเผด็จการทหารและประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอยู่เรื่อย ๆ เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเฉียบพลัน ในพุทธทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤตการณ์การเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านทักษิณ ชินวัตรเป็นหลัก โดยมีรัฐประหารล่าสุดในปี 2557

การศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

การแบ่งยุคสมัย

การจัดแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระทัศนะไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2457 ถึงการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ว่า "เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค 1"[1] ซึ่งการลำดับสมัยทางประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง (Linear) โดยวางโครงเรื่องผูกกับกำเนิดและการล่มสลายของรัฐ กล่าวคือใช้รัฐหรือราชธานีเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน

นักวิชาการให้เหตุผลในการเลือกเอาอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยไว้ 2 เหตุผล ได้แก่ 1) วิชาประวัติศาสตร์มักยึดการเริ่มมีภาษาเขียนเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ เมื่อประกอบกับการประดิษฐ์อักษรไทยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงเหมาะสมเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย และ 2) สะดวกในการนับเวลาและเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เพราะนักประวัติศาสตร์มีหลักฐานความสืบเนื่องกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ทว่า เหตุผลทั้งสองประการก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกฉันท์นัก[2]

ในปัจจุบัน มีข้อเสนอใหม่ ๆ เกี่ยวกับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญคือ ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เสนอถึงหัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยไว้ 8 หัวข้อ[a]

ปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของราชสำนัก ตัดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่าง ๆ ออกไปหมด[4]

การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยัดเยียดให้นักเรียนเกิดความรักชาติ และมีเวลาเรียนถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปีซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[5] รวมทั้งมีการปลูกฝังอคติเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน[6]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์และรัฐโบราณในประเทศไทย

หลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์

 
เครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียง 1200-800 ปีก่อน ค.ศ.

นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ดร. เอช. อาร์. แวน ฮิงเกอเรน ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินเทาะซึ่งทำขึ้นโดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณใกล้สถานีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์เหล่านี้อาจเป็น มนุษย์ชวาและมนุษย์ปักกิ่ง[7] ซึ่งอยู่อาศัยเมื่อประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว อันเป็นหลักฐานในยุคหินเก่า

เดวิด วัยอาจ (David Wyatt) เขียนว่า มีมนุษย์อยู่อาศัยในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันตั้งแต่ 40,000 ปีมาแล้ว โดยเริ่มจากการเก็บของป่าล่าสัตว์[8]: 5  จนเริ่มมีการกสิกรรมเมื่อ 10,000–20,000 ปีก่อน พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวอยู่กันกระจัดกระจายตั้งแต่ที่ราบจีนตอนกลางลงไปถึงคาบสมุทรอินโดนีเซีย มีเทคโนโลยีการปลูกข้าวและประดิษฐ์เรือมีกราบกันโคลงทำให้แล่นไปได้ถึงญี่ปุ่นและแอฟริกาตะวันออก มีการหล่อขวานสำริดอายุ 5,000 ปี เหล็กหล่ออายุ 3,000 ปีรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผา[8]: 5–6  ทั้งนี้ เชื่อว่าแหล่งโบราณคดีในบ้านเชียงและที่ราบสูงโคราชเป็นหลักฐานการปลูกข้าวและหล่อสำริดที่อาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย[9]: 5 

รัฐโบราณ

อาณาจักรฟูนานเป็นอาณาจักรแรกสุดและทรงอำนาจที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจริญขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยมีอาณาเขตครอบคลุมภาคกลางของประเทศไทยและทั้งประเทศกัมพูชาปัจจุบัน โดยมีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าทางทะเลและเกษตรกรรม มีการติดต่อการค้าอย่างใกล้ชิดกับอินเดียและเป็นฐานสำหรับนักเผยแผ่ศาสนาฮินดู[9]: 5 

 
แผนที่อินโดจีนใน ค.ศ. 900 แสดงจักรวรรดิเขมร (สีแดง) ที่ครอบคลุมดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศไทยปัจจุบัน; สีเขียวแก่คือหริภุญไชย และสีเขียวอ่อนคืออาณาจักรศรีวิชัย

ต่อมา ชาวมอญอาศัยช่วงที่ฟูนานเสื่อมลงตั้งอาณาจักรของตนในคริสต์ศตวรรษที่ 6 อาณาจักรทวารวดีตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน แต่รายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่ค่อยทราบกันดีนัก[8]: 30  โดยตั้งขึ้นเพื่อการค้าขายทางบกระหว่างอ่าวเมาะตะมะและอ่าวไทยผ่านด่านเจดีย์สามองค์ แต่มีการแผ่ขยายทางทิศตะวันออกไปถึงกัมพูชา ทางเหนือไปถึงเชียงใหม่และทางเหนือของประเทศลาว พอทราบว่ามีกลุ่มเมืองหนึ่งอยู่แถบนครปฐมและสุพรรณบุรี กลุ่มหนึ่งตั้งอยู่ที่ลพบุรี และอีกกลุ่มหนึ่งแถบที่ราบสูงโคราช[8]: 32–3  ซึ่งคนไทในสมัยนั้นก็อาศัยอยู่ตามชายขอบของทวารวดี[8]: 35  ประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวมอญตั้งอาณาจักรหริภุญไชยที่ลำพูน ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์กลางทางศาสนาพุทธและวัฒนธรรม ส่วนชาวเขมรตั้งอาณาจักรใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 9[9]: 7  ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 รัฐมอญรับศาสนาพุทธผ่านผู้เผยแผ่ศาสนาจากเกาะลังกา และเผยแผ่ต่อให้จักวรรดิเขมร แม้มอญครอบงำทางวัฒนธรรมในภูมิภาค แต่มักตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและเขมรอยู่เนือง ๆ ผลทำให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 จักรวรรดิเขมรครอบงำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันทั้งหมด[9]: 7  จักรวรรดิเขมรมีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แต่การหมกมุ่นกับการก่อสร้างมากเกินไปทำให้เศรษฐกิจของรัฐเสื่อมลง[9]: 7 

อาณาจักรตามพรลิงก์เป็นรัฐมลายูที่ควบคุมการค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่ทรงอำนาจที่สุด เจริญขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตามพรลิงก์รวมเข้ากับอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นสมาพันธรัฐทางทะเลที่มีอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 13 ตามพรลิงก์รับศาสนาพุทธ แต่อาณาจักรมลายูที่อยู่ใต้ลงไปรับศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดพรมแดนศาสนาระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่กับคาบสมุทรมลายู[9]: 5 

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนไท

 
แผนที่แสดงการกระจายทางภูมิศาสตร์ของผู้พูดภาษาตระกูลขร้า-ไท จะเห็นรูปแบบทั่วไปของการย้ายถิ่นของเผ่าที่พูดภาษาไทตามแม่น้ำและช่องเขาต่าง ๆ[10]: 27 

เดวิด วัยอาจเขียนว่า บรรพชนของคนไท-ไตที่อาศัยอยู่ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ พม่า ยูนนานใต้ ไทยและลาวปัจจุบัน คือ กลุ่มไท-ไตที่อยู่แถบเดียนเบียนฟูในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8[8]: 9  โดยเชื่อว่าเป็นกลุ่มไท-ไตที่เดิมอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของจีน และถูกจีนและเวียดนามแผ่แรงกดดันทางทหารและการปกครองเข้ามาจนประชากรกลุ่มหนึ่งเคลื่อนลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้[8]: 9–10  พบว่าอาณาจักรน่านเจ้าที่อยู่ทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่อาณาจักรของคนไท-ไต แต่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์กลุ่มไท-ไตในแง่ที่ช่วยกั้นอิทธิพลของจีนจากทิศเหนือ และรับศาสนาพุทธและวัฒนธรรมอินเดียทางทิศตะวันตก[8]: 20–1  และช่วยส่งเสริมการขยายตัวของกลุ่มไท-ไต[9]: 9 

มีการกล่าวถึงชาวไทยสยามครั้งแรกในนครวัดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเรียกว่า "เสียม" หรือคนผิวน้ำตาล[9]: 3  พบว่าคนไท-ไตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–12 อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและตอนกลางของแม่น้ำโขงในลาว[8]: 40  ลพบุรีซึ่งเป็นเมืองมอญถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเขมรในคริสต์ศตวรรษที่ 11[8]: 41  ลพบุรีเป็นศูนย์กลางของเสียม (สยำ) หรือเป็นเมืองที่รับผิดชอบการบริหารจัดการชาวเสียม[8]: 42 

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–12 ชาวไท-ไตตั้งรัฐใหม่ ๆ ทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ มีคำกล้าวอ้างว่าชาวไท-ไตปล้นสะดมและจับเชลยของเจ้านายไท-ไตหลายพระองค์ ผู้ปกครองที่พ่ายต่อชาวไท-ไตต่างเกรงกลัวยอมส่งเครื่องราชบรรณาการและให้เชื้อพระวงศ์อภิเษกสมรสด้วย ย่างเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวไท-ไตต่าง ๆ ยังอยู่กันเป็นแว่นแคว้นไม่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในช่วงนี้เมืองของชาวไท-ไตมีขนาดพอ ๆ กันไม่มีเมืองใดใหญ่กว่าเมืองอื่น และตั้งอยู่รอบจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรพุกาม ไปจนถึงตอนเหนือของลาว[8]: 48–9 

เมื่อจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรของชาวไทกินอาณาบริเวณตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียปัจจุบันจนถึงทิศเหนือของลาว และลงไปถึงคาบสมุทรมลายู[8]: 38–9  ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีประชากรชาวไทอาศัยอยู่มั่นคงในอดีตดินแดนแกนกลางของอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรลพบุรี จนถึงดินแดนนครศรีธรรมราช แต่ไม่มีบันทึกรายละเอียดการเข้ามาของชาวไท[8]: 50–1 

อาณาจักรของคนไท

 
วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 คนไท-ไตเริ่มย้ายจากหุบเขามาอยู่ที่ลุ่ม ทำให้เกิดรัฐเล็ก ๆ จำนวนมากที่แย่งชิงอาณาเขตกัน และเริ่มเข้ามาแทนที่สองจักรวรรดิใหญ่ คือ พุกามและพระนคร[8]: 53  นครรัฐของไทค่อย ๆ เป็นอิสระจากจักรวรรดิเขมรที่เสื่อมอำนาจลง กล่าวกันว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ครองราชย์ 1792–1822) ทรงสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัยเมื่อปี 1781 นักประวัติศาสตร์ทราบลำดับเหตุการณ์ในช่วงแรกของอาณาจักรน้อยมาก แต่พอทราบว่าในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีเหตุให้กรุงสุโขทัยรบกับเมืองฉอด ซึ่งขุนรามทรงประกอบวีรกรรมชนช้างชนะข้าศึก[8]: 74  พ่อขุนรามคำแหง (ครองราชย์ 1822–1841) ทรงเป็นผู้นำชาวไทที่มีความโดดเด่นและทะเยอทะยาน ทรงขยายอาณาเขตโดยใช้การทหารและการทูตผสมกัน ทั้งนี้ อาณาเขตอันกว้างขวางของกรุงสุโขทัยนั้นไม่ได้เกิดจากการเดินทัพไปหักตีเอาเมืองต่าง ๆ แต่เป็นเขตอิทธิพลที่มีผู้นำเข้าสวามิภักดิ์ และเขตอิทธิพลของสุโขทัยทางใต้ก็เกิดจากนครศรีธรรมราชที่เข้าสวามิภักดิ์ด้วย[8]: 78–79  พญาลิไท (ครองราชย์ 1841–1889/90) ทรงสืบราชสมบัติต่อมา แต่หลายเมืองเอาใจออกห่างทันที การที่สุพรรณบุรีแยกตัวออกทำให้กั้นระหว่างกรุงสุโขทัยกับดินแดนสวามิภักดิ์ที่อยู่ใต้ลงไป และนำไปสู่ชุดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเจริญของกรุงศรีอยุธยา[8]: 86 

พญามังราย (ครองราชย์ 1802–1860) ทรงสืบราชสมบัติเป็นเจ้าผู้ครองหิรัญนครเงินยางเชียงลาว (เชียงแสน) ทรงพิชิตดินแดนเพื่อนบ้านแล้วขยายอำนาจลงทิศใต้ โดยตั้งเมืองเชียงรายขึ้นในปี 1805 รวมทั้งเข้ายึดครองเชียงของและฝาง ในเวลาต่อมา พระองค์เข้าเป็นพันธมิตรกับพญางำเมือง (ครองราชย์ 1801–1841) แห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย ด้วยเหตุผลด้านความทะเยอทะยานในการขยายอำนาจและร่วมกันรับมือภัยคุกคามจากมองโกลทางเหนือ ทั้งนี้ ทั้งสามพระองค์ทรงเห็นแก่อัตลักษณ์ร่วมไท-ไต[8]: 61–62  พญามังรายทรงพิชิตหริภุญไชยได้ในปี 1824 นับเป็นเจ้าผู้ครองดินแดนทางเหนือได้ทั้งหมด ระหว่างปี 1835 ถึง 1854 มองโกลกับเชียงรุ่งรบกัน จนสุดท้ายทั้งสองสงบศึกโดยเชียงรุ่งและเชียงใหม่ส่งบรรณาการให้แก่ราชสำนักจีน[8]: 65–66 

อาณาจักรอยุธยา

 
วัดพระศรีสรรเพชญ์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของคนไทขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับล้านนาและสุโขทัย ท่ามกลางแว่นแคว้นจำนวนมากในภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ไทมีความทะเยอทะยานก่อตั้งมากกว่าชุมชนเมืองเล็ก ๆ[8]: 89  ศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยาเป็นแคว้นลพบุรีในจักรวรรดิเขมรเดิม แคว้นลพบุรีรอดพ้นจากการพิชิตดินแดนของสุโขทัย โดยยังรักษาอิทธิพลเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก[8]: 92–3  ในช่วงเวลานั้นแคว้นสุพรรณบุรีควบคุมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาททางเหนือจนถึงชุมพรทางใต้[8]: 94–5 

พระเจ้าอู่ทอง (ครองราชย์ 1893–1912) ทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาในปี 1893 พระองค์ทรงยกทัพไปตีนครธม เมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร จนสามารถปกครองเมืองได้ช่วงสั้น ๆ[8]: 102  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ครองราชย์ 1913–31) ทรงหันไปสนพระทัยกับหัวเมืองเหนือ และทำสงครามกับสุโขทัยตลอดรัชกาล จนบังคับให้สุโขทัยยอมรับอำนาจเหนือของอยุธยาได้[8]: 102  มีวิกฤตการสืบราชสมบัติอยู่เนือง ๆ ระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีและลพบุรีอยู่หลายชั่วคน จนราชวงศ์สุพรรณบุรีชนะในปี 1952[11]: 15  ในรัชกาลสมเด็จพระอินทราชา (ครองราชย์ 1952–67) กรุงศรีอยุธยาเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในสุโขทัย เริ่มจากลดฐานะเจ้าผู้ครองเป็นเจ้าสวามิภักดิ์ เข้าไปตัดสินปัญหาการสืบราชสมบัติ จนผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในปี 1987[8]: 104  ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (ครองราชย์ 1967–91) นครธมถูกกองทัพอยุธยาตีแตก จนปกครองนครธมในฐานะหัวเมืองประเทศราชช่วงสั้น ๆ ก่อนถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง[8]: 105–6  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ 1991–2031) ทรงรับช่วงการสงครามกับล้านนาต่อ พระองค์ยังทรงสร้างระบบควบคุมกำลังคนทำให้กรุงศรีอยุธยาได้เปรียบเหนือดินแดนเพื่อนบ้าน โดยมีระบบการควบคุมไพร่ปีละหกเดือนให้สังกัดขุนนางท้องถิ่น[8]: 107  ระบบราชการเริ่มใช้ตามรูปแบบของจักรวรรดิเขมร คือ สร้างความห่างเหินระหว่างกษัตริย์กับราษฎร และควบคุมขุนนางด้วยเอกสารลายลักษณ์อักษรแทนการสวามิภักดิ์[8]: 108–9  พระองค์ยังทรงออกกฎหมายจัดลำดับชั้นและแบ่งแยกหน้าที่ในสังคมที่ซับซ้อน ทรงตั้งจตุสดมภ์และเพิ่มตำแหน่งกลาโหมและมหาดไทย[11]: 30 

ประมาณปี 2000–2010 ราชอาณาจักรอยุธยาควบคุมคาบสมุทรมลายูและฝั่งทะเลเบงกอล คือ ทวายและตะนาวศรี ทำให้สามารถควบคุมการค้านานาชาติ ทำให้เรือสินค้าไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา[8]: 129–30  การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี 2054 ทำให้อยุธยาเริ่มการติดต่อกับชาติตะวันตก โปรตุเกสส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับทั้งจัดหาปืนและอาวุธให้[8]: 132  ในช่วงนี้เองกรุงศรีอยุธยาเริ่มพัฒนาวัฒนธรรมของตนเองโดยมีรูปแบบการแสดงออกทางภาษา วรรณคดีและพิธีกรรม และมีภูมิหลังจากมอญ เขมรและไท-ไตผสมกัน ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์นิยามความเป็น "สยาม" ต่างจากไทยวนล้านนาและลาวล้านช้าง[8]: 134  ครั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (ครองราชย์ 2074–93) แห่งตองอูพิชิตอาณาจักรมอญโบราณที่หงสาวดีและตีเมืองเชียงกรานซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ 2077–90) ทรงยกทัพไปชิงเมืองคืน[8]: 137  สมเด็จพระไชยราชาธิราชยังทรงกังวลกับล้านนาด้วยจึงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่สองครั้งแต่ไม่สามารถยึดเมืองหลวงได้[8]: 137–8  หลังสิ้นรัชกาลเกิดการชิงราชสมบัติกัน ท้าวศรีสุดาจันทร์ยกขุนวรวงศาธิราชชู้รักของพระนางให้เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ทรงราชย์ได้หกสัปดาห์ ก็ถูกบรรดาขุนนางสมคบกันลอบปลงพระชนม์และยกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ 2091–2108 และ 2110–1) ให้สืบราชสมบัติ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพเรือนแสนมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี 2092 แต่ไม่สำเร็จ[8]: 139  พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ 2094–2124) ทรงยกทัพมาตีอาณาจักรอยุธยาอีกครั้ง หลังสามารถควบคุมอาณาจักรล้านนาทั้งหมดไว้ได้[8]: 141–3  ครั้งนี้พระมหาธรรมราชาเป็นผู้สนับสนุนพม่า และสุดท้ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมตามข้อเรียกร้องของพม่าและส่งพระราเมศวร พระราชโอรส เป็นองค์ประกัน[8]: 142  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพยายามอภิเษกสมรสทางการเมืองกับล้านช้าง แต่พระมหาธรรมราชาส่งข่าวให้พม่าชิงตัวเจ้าหญิงอภิเษก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งกองทัพไปตีพิษณุโลกเพื่อตอบโต้ แต่ถูกอุบายทำให้ถอนทัพกลับไป[8]: 144  ในปี 2111–2 พระเจ้าบุเรงนองส่งกองทัพขนาดใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาอีก กรุงศรีอยุธยารับศึกได้หนึ่งปีแต่สุดท้ายเสียกรุงให้แก่พม่าในวันที่ 8 สิงหาคม 2112[8]: 145–7 

 
ภาพยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาของพม่าในปี 2135 ณ วัดสุวรรณดาราราม

พม่าให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ครองราชย์ 2112–33) ปกครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะเจ้าประเทศราช อาณาจักรอ่อนแอลงจนถูกกัมพูชาถือโอกาสบุกเข้ามากวาดต้อนผู้คนถึง 6 ครั้งในรอบสองทศวรรษ[8]: 156  พระนเรศวรทรงแสดงพระปรีชาสามารถทางทหารในการต่อสู้กับกัมพูชา และเสด็จไปร่วมปราบรัฐฉานกับกองทัพพม่า[8]: 157–8  หลังจากนั้น พระนเรศวรถูกลอบปองร้ายจากราชสำนักพม่าจึงยกทัพกลับบ้านเกิด ทรงรบป้องกันบ้านเมืองจากพม่าและกัมพูชาสามครั้งในช่วงปี 2128–30[8]: 158  ในปี 2135 พระมหาอุปราชาของพม่ายกทัพมาทางกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวร (ครองราชย์ 2133–48) ยกทัพไปรับศึกที่หนองสาหร่ายและชนช้างชนะพระมหาอุปราชา ผลของศึกทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระมั่นคง[8]: 158–9  หลังจากสมเด็จพระนเรศวรยึดหัวเมืองชายทะเลของพม่าและกัมพูชา และได้ล้านนามาอยู่ในอำนาจแล้ว พระองค์ทรงทำสงครามลึกเข้าไปในแผ่นดินพม่าอีกตลอดรัชกาล และสวรรคตขณะทรงยกทัพไปตีรัฐฉานเพื่อชิงตัดหน้าการรวบรวมอำนาจของพม่าใหม่[8]: 163 

 
โกษาปาน ณ ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

หลังจากนั้น การค้าต่างประเทศของกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ สาเหตุเพราะมีความสัมพันธ์อันดีกับโปรตุเกส ฟิลิปปินส์ (ในการปกครองของสเปน) จีน ญี่ปุ่นและรีวกีว และควบคุมเมืองตะนาวศรีและทวายฝั่งอ่าวเบงกอล[8]: 163–4  สมเด็จพระเอกาทศรถ (ครองราชย์ 2148–53) ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ ทรงส่งทูตไปฮอลันดาเป็นคณะแรกในปี 2151 และไปเมืองกัวของโปรตุเกสในอินเดียในปี 2149[8]: 171  สมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ 2199–2231) ทรงขึ้นครองราชย์ได้ด้วยความช่วยเหลือของคนต่างด้าว[8]: 175  ในรัชกาลของพระองค์ทรงอนุญาตให้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ และมีคณะเยซูอิตมาช่วยเหลือราชสำนักอยุธยาในด้านการช่าง ทรงส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี 2223[8]: 179  และคอนสแตนติน ฟอลคอนซึ่งมีพื้นเพเป็นนักแสวงโชคชาวกรีก ค่อย ๆ ไต่เต้าตำแหน่งราชการในพระคลัง จนสุดท้ายเป็นสมุหนายกซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของขุนนางฝ่ายพลเรือน[8]: 177, 180  ในปี 2231 เกิดการปฏิวัติเนื่องจากอิทธิพลของฟอลคอนในราชสำนักและความประพฤติเสื่อมเสียของคนต่างด้าวที่มีอยู่นานแล้ว สุดท้ายสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ 2231–48) เถลิงราชสมบัติแทน[8]: 185–6  ผลทำให้บาทหลวงคริสต์ถูกจำคุก และชาวคริสต์ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย แต่ชาติอื่นที่มิใช่ฝรั่งเศสยังอยู่กันปกติ และไม่นานบาทหลวงฝรั่งเศสก็มีอิสระในการเผยแผ่ศาสนาอีกครั้ง[8]: 186 

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (ครองราชย์ 2251–75) ชาวจีนเริ่มมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้น[8]: 196–7  หลังสิ้นรัชกาล เกิดการแก่งแย่งราชสมบัติซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ 2275–2301) ได้ครองราชบัลลังก์ ทรงพยายามแก้ไขปัญหาดุลอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ กล่าวคือ เพิ่มตำแหน่งเจ้าทรงกรมเพื่อให้มีไพร่ที่บังคับน้อยลง ผลทำให้การควบคุมคนเกิดความแตกแยก[8]: 198–9  คนรุ่นหลังยกให้รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นยุคทอง เพราะทรงทำนุบำรุงศาสนาพุทธ และส่งสมณทูตไปลังกาหลายคณะ[8]: 200  และทรงทำให้กรุงศรีอยุธยามีบทบาทในระดับนานาชาติอีกครั้ง ทรงแทรกแซงกัมพูชาจนยกเจ้าที่นิยมอยุธยาเป็นพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ และรับผู้อพยพชาวมอญหงสาวดี[8]: 201  ในทศวรรษสุดท้าย เกิดการแข่งขันชิงอำนาจกันมโหฬารระหว่างตระกูลขุนนางที่ต้องการขยายอำนาจในกิจการการค้าระหว่างประเทศและกำลังคน[8]: 204–5  ในปี 2300 ราชวงศ์โก้นบองของพม่าฟื้นฟูอำนาจหลังตองอูถูกมอญพิชิตไปก่อนหน้านี้ พระเจ้าอลองพญา (ครองราชย์ 2295–2303) ทรงยกทัพมาตีอาณาจักรอยุธยาแต่ล้มเหลวเพราะสวรรคตกลางคัน[8]: 208–9  สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (ทรงราชย์ 2301–10) ทรงสนองต่อการขอความช่วยเหลือจากเชียงใหม่ด้วยการส่งกำลังเล็ก ๆ ไปช่วยเหลือแต่ไปไม่ทัน[8]: 211  ในปี 2308 พระเจ้ามังระ (ครองราชย์ 2306–19) ทรงส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นสองทาง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงใช้ยุทธศาสตร์ตั้งรับในกรุงและรอฤดูน้ำหลากเป็นหลัก แต่พม่าสามารถเตรียมการรับมือได้จึงไม่ได้ล่าถอยไป หลังการล้อมกรุงนานปีกว่า สุดท้ายกรุงศรีอยุธยาจึงเสียเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2310[8]: 210–2 

ความรุ่งเรืองและเสื่อมของอาณาจักรล้านนา และล้านนาในฐานะประเทศราช

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 อาณาจักรล้านนามีความขัดแย้งกับดินแดนเพื่อนบ้านหลายแห่ง และอยู่ในภาวะสงครามภายในบ่อยครั้ง[8]: 112–3  ล้านนาใช้ระบบส่งผู้แทนส่วนกลางไปควบคุมเขตกึ่งเอกเทศหลายร้อยเขต ซึ่งเจ้าล้านนาประสบความสำเร็จมากน้อยไม่เท่ากันในการสร้างเอกภาพในอาณาจักร[8]: 114  พญากือนา (ครองราชย์ 1910–28) ทรงตั้งศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์และตั้งวัดสวนดอก ซึ่งจะเป็นพลังชี้นำทางปัญญาและวัฒนธรรมในอาณาจักร รวมทั้งพัฒนาความสำนึกเรื่องอัตลักษณ์ของชาวไทยวน[8]: 115–6  ในรัชกาลพญาแสนเมืองมา (ครองราชย์ 1928–44) และพญาสามฝั่งแกน (ครองราชย์ 1944–53) เกิดการแก่งแย่งบัลลังก์กัน และมีการชักศึกภายนอก คือ สุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา[8]: 116–7  ในปี 1947–8 ล้านนาสามารถต้านทานกองทัพขนาดใหญ่จากยูนนานได้สำเร็จ[8]: 117  พระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ 1985–2030) ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงใช้เวลาทศวรรษแรกปราบปรามผู้ชิงบัลลังก์ทั้งหลาย[8]: 117–8  ในปี 1992 พระองค์ยังทรงครองอำนาจเหนือนครน่านหลังเอาใจออกห่างโดยร่วมมือกับแพร่และหลวงพระบาง[8]: 118  ระหว่างปี 1985 ถึง 2029 ทรงผลัดกันเป็นฝ่ายบุกและตั้งรับในสงครามกับกรุงศรีอยุธยาโดยต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะอีกฝ่ายได้[8]: 118–21  หลังรัชกาลพญาเกศเชษฐราช (ครองราชย์ 2069–81 และ 2086–8) อาณาจักรล้านนาเข้าสู่ยุคเสื่อมเพราะการสืบราชสมบัติที่ไม่ราบรื่นและขุนนางมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์[8]: 125–6  หลังจากนั้นมีการแทรกแซงทางการเมืองจากทั้งกรุงศรีอยุธยาและล้านช้าง ขุนนางบางส่วนยกให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ล้านช้างขึ้นครองราชย์ช่วงสั้น ๆ[8]: 126–7 

ราชวงศ์มังรายสิ้นสุดลงเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าในปี 2101 พม่าเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองล้านนาในฐานะประเทศราช และมีการเกณฑ์ทหารและเสบียงเพื่อทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา[8]: 187  หลังพม่าขาดเอกภาพหลังพระเจ้านันทบุเรงเสด็จสวรรคตในปี 2142 เจ้าเชียงใหม่ถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือในศึกกับล้านช้าง จึงทรงยอมอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาในช่วงสั้น ๆ[8]: 188  พระเจ้าอะเนาะเพะลูนทรงส่งทัพไปยึดหัวเมืองเหนืออีกครั้งในปี 2156 แต่ปล่อยให้ล้านนาแตกออกเป็นเมืองเล็กน้อย[8]: 188–9  หลังเจ้าพลศึกศรีสองเมือง (ครองราชย์ 2158–74) ประกาศอิสรภาพต่อพม่าไม่สำเร็จ พม่าเริ่มเปลี่ยนมาตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ขึ้นปกครองโดยตรง[8]: 189  ในปี 2204 สมเด็จพระนารายณ์ยกทัพมาตีเชียงใหม่และลำปางได้ แต่ไม่สามารถยึดครองเมืองไว้ได้[8]: 190  หลังจากนั้น พม่าส่งเจ้ามาปกครองเป็นอุปราชเหมือนก่อน บ้านเมืองยากจนและประชากรน้อยลงเพราะถูกขูดรีดภาษีและเกณฑ์คนไปมาก และตกเป็นเหยื่อของดินแดนใกล้เคียง[8]: 190–1  ระหว่างปี 2270 ถึง 2306 แม้ว่าพม่าจะยังควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ของล้านนาไว้ได้ แต่กลุ่มผู้นำในเมืองเชียงใหม่แข็งเมืองต่อพม่า[8]: 191–2, 209 

กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

การรวมแผ่นดิน

 
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุสาวรีย์มากกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์[12]

หลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย พม่าที่ติดพันในการสงครามกับจีนจึงเหลือกองทหารเล็ก ๆ ไว้รักษากรุงเก่าเท่านั้น บ้านเมืองแตกออกเป็น 5 ชุมนุม ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิมายที่นครราชสีมา ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี (ฝาง) ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช และชุมนุมเจ้าตาก เจ้าตากเริ่มสร้างฐานอำนาจที่จันทบุรีแล้วใช้เวลาไม่ถึงปีขยายอำนาจทั่วภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน[8]: 220–1  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ครองราชย์ 2310–25) หลังปราบดาภิเษกแล้ว ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีซึ่งมีทำเลเหมาะแก่การค้าทางทะเล ทรงใช้เวลาอีกสามปีรวบรวมหัวเมืองที่เคยขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งอีกครั้ง[8]: 223  พระองค์ยังทรงขยายอิทธิพลไปยังดินแดนใกล้เคียง หัวเมืองมลายูตรังกานูและปัตตานีส่งเครื่องราชบรรณาการให้กรุงธนบุรี ทรงผลักดันเจ้ากัมพูชาให้ขึ้นครองราชย์ และทรงให้ความช่วยเหลือแก่พระเจ้ากรุงเวียงจันในการสงคราม นอกจากนี้ ยังทรงขับทหารพม่าออกจากล้านนาได้ในปี 2319 ทำให้ล้านนาเป็นประเทศราชของกรุงธนบุรีนับแต่นั้น[8]: 224–5  จากนั้นโปรดให้ยกทัพไปปราบหัวเมืองตะวันออก โดยนครเวียงจันถูกตีแตกในปี 2321 และมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน[8]: 227–8  ในช่วงปลายรัชกาล มีบันทึกว่าพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนเพราะบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้และสั่งลงโทษพระสงฆ์ที่ไม่ยอมตาม อย่างไรก็ดี น่าจะเป็นเรื่องแต่งเติมเพราะพระองค์เป็นคนนอกไม่มีพื้นเพเป็นตระกูลผู้ดีเก่ากรุงศรีอยุธยามากกว่า[8]: 229–30  ปลายปี 2324 กลุ่มชนชั้นนำต่างคิดเห็นว่าควรปลดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสีย ครั้นปี 2325 เกิดกบฏพระยาสรรค์ เจ้าพระยาจักรีที่กำลังยกทัพไปปราบกบฏในกัมพูชาในปีเดียวกันจึงยกทัพกลับมารักษาความสงบในกรุง และสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[8]: 230–1 

กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ 2325–52) ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีการขนย้ายอิฐกำแพงกรุงศรีอยุธยาเดิมมาสร้างเป็นกำแพงพระนครแห่งใหม่ด้วย[8]: 233–4  พระองค์ทรงให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ มีการออกกฎคณะสงฆ์ สังคายนาพระไตรปิฏก ทรงให้ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมอย่างกรุงศรีอยุธยาซึ่งถือเป็นยุคทอง โปรดให้จัดทำประมวลกฎหมาย ชื่อ กฎหมายตราสามดวง ซึ่งใช้กันในกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมาอีกหนึ่งศตวรรษ[8]: 234–5  ในปี 2328 พระเจ้าปดุง (ครองราชย์ 2324–62) แต่งทัพออกเป็น 9 ทัพ ยกมาตีกรุงเทพมหานคร 5 ทิศทาง เรียก สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงใช้ยุทธศาสตร์กระจายกำลังไปรับศึกนอกพระนครได้เป็นผลสำเร็จ พม่ายกทัพมาอีกครั้งในปลายปี 2328 และต้นปี 2329 เรียก สงครามท่าดินแดง แต่ก็ถูกตีกลับไปเช่นกัน[8]: 240–5  กรุงเทพมหานครยังส่งทัพไปช่วยล้านนาจากพม่าได้สามครั้ง[8]: 246–7  ทรงให้พระยากาวิละ (ต่อมาเป็นพระเจ้ากาวิละ) ต้นราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เป็นเจ้าครองล้านนาในฐานะประเทศราชของกรุงเทพมหานครสืบต่อไป[8]: 251–2  พระยากาวิละรวบรวมผู้คนเพื่อมาตั้งรกรากในเชียงใหม่ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้อีกครั้ง และขยายอาณาเขตไปทางทิศเหนือจนตีได้เชียงแสนและหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน นับได้ว่าสามารถฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาโบราณได้สำเร็จ[8]: 252–3  กรุงเทพมหานครยังพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในกัมพูชาและลาว โดยใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง คือ แบ่งล้านช้างออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ เพื่อทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถแข่งขันกับกรุงเทพมหานครได้[8]: 257  แยกสงขลาออกจากเจ้านครศรีธรรมราชแล้วส่งขุนนางส่วนกลางไปปกครองโดยตรง กับทั้งลดฐานะของเจ้านครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมือง และแบ่งแยกกลันตันและตรังกานู[8]: 259 

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ครองราชย์ 2352–67) ถือเป็นยุคทองแห่งศิลปะ และสงบสุขเกือบตลอดรัชกาล กัมพูชากลายเป็นสนามรบระหว่างกรุงเทพมหานครและเวียดนาม สุดท้ายเวียดนามครอบงำกัมพูชาอยู่หลายสิบปีหลังปี 2356 แต่กรุงเทพมหานครเข้าควบคุมพื้นที่กว้างขวางขึ้นในกัมพูชา[8]: 257–9  หลังจากอิทธิพลของอังกฤษในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากการได้มะละกา เกาะหมาก (ปีนัง) และสิงคโปร์ ในปี 2364 ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียส่งจอห์น ครอว์เฟิร์ดเข้ามาเจรจาค้าขาย แต่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับไป[8]: 271, 273 

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2367–94) รัฐบาลอังกฤษในอินเดียส่งเฮนรี เบอร์นีเข้ามาเจรจากับกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ส่งเสบียงช่วยเหลือหรือไม่ก็วางตนเป็นกลางในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง (2367–9) อังกฤษกลายมามีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครหลังยึดดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าไว้ได้[8]: 279–80  ราชสำนักยอมตกลงสนธิสัญญาเบอร์นีในปี 2369 หลังมีข่าวว่าอังกฤษชนะพม่า เนื้อหาของสนธิสัญญา อังกฤษยอมรับอำนาจของกรุงเทพมหานครเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปัตตานี แลกกับที่กรุงเทพมหานครยอมรับอิสรภาพของเปรักและสลังงอร์ และลดการเก็บภาษีจำนวนมากกับวาณิชต่างประเทศเหลือค่าธรรมเนียมปากเรืออย่างเดียว[8]: 281  ในปี 2376 สหรัฐส่งทูตเข้ามาทำสนธิสัญญาโรเบิร์ต ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาแรกระหว่างสหรัฐกับชาติเอเชีย[13]

ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ (ครองราชย์ 2348–71) แห่งเวียงจันหลังทราบข่าวกรุงเทพมหานครเตรียมรับศึกอังกฤษ ก็หมายฉวยโอกาสโจมตีกรุงเทพมหานครเพื่อกวาดต้อนผู้คนไปไว้ในราชอาณาจักร ในปี 2369 ก่อกบฏโดยยกทัพเข้ามายึดนครราชสีมา ฝ่ายกรุงเทพมหานครหยุดยั้งการบุกเอาไว้ได้ และส่งกองทัพไปตีกรุงเวียงจันได้สำเร็จ[8]: 283–4  แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่พอพระทัยที่จับเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ และมีพระราชประสงค์ให้ทำลายเวียงจันให้สิ้นซาก ในปี 2370 มีการส่งกองทัพอีกกองหนึ่งขึ้นไปตีกรุงเวียงจันที่เจ้าอนุวงศ์ตีกลับคืนไปได้อีกครั้ง ครั้งนี้มีการทำลายอาคารบ้านเรือนทั้งหมดจนสิ้นซาก และกวาดต้อนผู้คนมาอยู่ในแถบภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน คณะสำรวจฝรั่งเศสอีกสี่สิบปีถัดมาบันทึกว่าเวียงจันยังเป็นเมืองร้าง[8]: 284–5  หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี กรุงเทพมหานครยังกวาดต้อนชาวลาวเข้ามาตั้งรกรากในที่ราบสูงโคราช ผลทำให้หัวเมืองลาวอีสานเพิ่มขึ้นประมาณ 40 เมืองซึ่งเกิดจากชาวลาวที่กวาดต้อนมา[8]: 285–6  ฝ่ายมลายูทางใต้ กรุงเทพมหานครปรับนโยบายเป็นให้เจ้ามลายูปกครองกันเองหลังเกิดกบฏขึ้น 2 ครั้งในปี 2374 และ 2381 จากนั้นในภูมิภาคดังกล่าวก็มีระเบียบและความมั่นคงพอสมควร[8]: 287–9  ฝ่ายทางตะวันออก กรุงเทพมหานครรบกับเวียดนามเพื่อแย่งชิงอิทธิพลเหนือกัมพูชาอีกครั้ง เรียก อานัมสยามยุทธ (2376–90) สุดท้ายทั้งสองตกลงกันโดยให้เจ้ากัมพูชาส่งเครื่องราชบรรณาการให้ทั้งสองอาณาจักร[8]: 290–2 

หลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่งในจีน (2382–5) ชาติตะวันตกเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น และระหว่างปี 2392–3 มีคณะทูตจากอังกฤษและสหรัฐเข้ามาเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครยกเลิกข้อกีดกันทางการค้าและตั้งศาลกงสุลแต่ถูกปัดกลับไป สาเหตุจากประจวบกับช่วงที่กำลังมีความกังวลเรื่องการแก่งแย่งราชสมบัติ[8]: 301–2  อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยคุกคามของชาติตะวันตก ดังที่มีกระแสพระราชดำรัสก่อนเสด็จสวรรคตว่า "การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง"[8]: 305 

การเผชิญหน้ากับมหาอำนาจตะวันตก

การปฏิรูปและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2394–2411) ทรงได้รับการยกให้ขึ้นครองราชสมบัติพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเกลี่ยอำนาจของพระอนุชา[8]: 310–1  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความขัดเคืองของทูตอังกฤษที่กลับไปมือเปล่าในช่วงปลายรัชกาลก่อน จึงทรงติดต่อฮ่องกง[8]: 311  ต้นปี 2398 รัฐบาลสหราชอาณาจักรในกรุงลอนดอนส่งคณะทูตซึ่งมีเซอร์จอห์น เบาว์ริงเป็นหัวหน้าเข้ามาเจรจา มีการบรรลุสนธิสัญญาเบาว์ริง[b] ในเวลาสองสัปดาห์ถัดมา มีเนื้อหาจำกัดพิกัดภาษีขาเข้า ให้คนต่างด้าวพำนักและเป็นเจ้าของที่ดินรอบ ๆ พระนครได้ การให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการยกเลิกการผูกขาดการค้าของราชการ[8]: 311–3  ภายในหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น กรุงเทพมหานครยังลงนามสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับอีก 12 ประเทศ เป็นการริเริ่มความสัมพันธ์แบบพหุภาคีเพื่อหวังให้ชาติเหล่านั้นถ่วงดุลอำนาจกันเอง[8]: 314–5  ปริมาณการค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 5.6 ล้านบาทในปี 2393 เป็น 10 ล้านบาทในปี 2411 กรุงเทพมหานครเปลี่ยนโฉมโดยมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและตัดถนนใหม่[8]: 318–9  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มการปฏิรูป ตั้งแต่การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ทรงเลิกธรรมเนียมโบราณ ทรงให้ราษฎรถวายฎีกา และให้ผู้หญิงเลือกคู่เองได้ และเริ่มจ้างชาวต่างประเทศในงานพิเศษบางอย่าง ทั้งนี้ พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นไปอย่างช้า ๆ หากพระองค์จะได้รับความร่วมมือจากขุนนางผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจในระบบราชการเป็นเวลาหลายชั่วคนแล้ว[8]: 322, 324 

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตกระทันหันด้วยโรคมาลาเรีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2411–53) จึงสืบราชสมบัติทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังบรรลุนิติภาวะแล้ว ทรงริเริ่มการปฏิรูปเป็นชุด โดยมีการตั้งศาลพิเศษเพื่อชำระคดีของศาลกรมต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ ทรงรวมศูนย์อำนาจการจัดทำงบประมาณและสัมปทานค้าฝิ่นและบ่อนเบี้ย ทรงตั้งสภาที่ปฤกษาราชการแผ่นดินและปรีวีเคาน์ซิล ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มหรือคู่แข่งตระกูลบุนนาค ทรงออกกฎหมายค่อย ๆ ลดการมีทาสเพื่อทำลายระบบการควบคุมคนและเศรษฐกิจของชนชั้นขุนนาง[8]: 329–30  ในปี 2417 ความพยายามปฏิรูปทำให้เกิดความขัดแย้งกับอำนาจเก่าอย่างหนัก เกิดความขัดแย้งกับวังหน้าอย่างรุนแรงจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง[c] สุดท้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถจำกัดอำนาจของวังหน้าได้แต่ทรงยอมยุติการปฏิรูปไปก่อน[8]: 331–3  พระองค์ทรงเริ่มใช้วิธีส่งข้าหลวงต่างพระองค์ไปปกครองหัวเมืองเหนือ หัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือและหัวเมืองใต้เริ่มตั้งแต่ปี 2413 เพื่อพยายามทำให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสยาม[8]: 334–5 

ในช่วงนี้ฝรั่งเศสมีความพยายามแสวงหาดินแดนใหม่เพิ่มขึ้น เริ่มจากการทำสัญญากับสยามในปี 2410 ให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสและเริ่มส่งคณะสำเร็จไปลุ่มแม่น้ำโขง[8]: 337  ในปี 2430 มีการปรับคณะรัฐบาลโดยให้ตั้งกรมขึ้นมา 12 กรมที่มีฐานะเท่ากันตามอย่างรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการยกฐานะเป็นกระทรวงในปี 2432[8]: 347  ช่วงปี 2430–6 ฝรั่งเศสพยายามขยายอิทธิพลเหนือลาว ในปี 2436 เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ มีเหตุการณ์ไล่ตัวแทนฝรั่งเศสออกจากหลวงพระบาง มีการเรียกร้องเอาดินแดนลาวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง และเมื่อกองทัพสยามในพื้นที่ต่อสู้ทหารฝรั่งเศสที่พยายามเข้าควบคุมพื้นที่นั้น รัฐบาลฝรั่งเศสสบช่องจะประกาศสงครามกับสยาม และส่งเรือรบมายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา สุดท้ายพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมตามคำขาดของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับการจ่ายค่าปรับและการยกบางส่วนของแคว้นน่านและจันทบุรีให้ฝรั่งเศส[8]: 352–5  ในปี 2439 ฝรั่งเศสและบริเตนตกลงให้สยามมีเอกราชและเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่าของบริเตนและอินโดจีนของฝรั่งเศส[15]

ในทศวรรษสุดท้ายของการครองราชย์ สยามพยายามให้พิจารณาสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม แต่ผลเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยต้องมีการลงนามสัญญาอีกหลายฉบับในปี 2446–9 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีและตราด เช่นเดียวกับการทำสัญญากับบริเตนในปี 2452 เพื่อแลกหัวเมืองประเทศราชมลายูแก่บริเตนกับการเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับบริเตน[8]: 358–9  ในปี 2436 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทยในขณะนั้น ทรงริเริ่มระบบมณฑลเทศาภิบาลที่นครราชสีมาเป็นที่แรก แล้วส่งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครองโดยตรงแทนผู้ปกครองสืบทอดในหัวเมือง มีการสร้างทางรถไฟไปภาคอีสานและภาคเหนือ การปรับปรุงกฎหมายสยามโดยยึดตามประมวลกฎหมายนโปเลียนของฝรั่งเศส[8]: 363–5  อย่างไรก็ดี ในปี 2445 เกิดกบฏขึ้นในราชอาณาจักร 3 ครั้ง เพื่อต่อต้านการโอนอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง[8]: 372–3  ในปี 2448 มีการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถแทนที่ระบบการเกณฑ์แรงงานแบบเก่ามาใช้ระบบเงินรัชชูปการและการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่แทน[8]: 365–6  ผลของการเลิกระบบไพร่ทำให้ราษฎรทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวของสยามเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 1 ล้านเกวียนในคริสต์ทศวรรษ 1850 เป็นกว่า 11 ล้านเกวียนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[8]: 375  ในปี 2441 เริ่มมีการตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านต่าง ๆ โดยใช้ตำราเรียนและหลักสูตรเดียวกันที่ส่วนกลางกำหนดแทนการศึกษาในวัดแบบเดิม นับเป็นการเริ่มหล่อหลอมให้เกิดรัฐชาติที่มีเอกภาพ[8]: 378–9  นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ด้วย โดยจำนวนชาวจีนเพิ่มขึ้นจาก 230,000 คนในปี 2368 เป็น 792,000 คนในปี 2453 ชาวจีนเหล่านี้ประสมประสานวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และมีบทบาทในเศรษฐกิจสมัยใหม่ของอาณาจักร[8]: 380–1 

รัฐชาติสมัยใหม่

 
กองทหารอาสาสยามในการสวนสนามชัยกรุงปารีส ปี 2462

การพัฒนาราชอาณาจักรสยามในรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ คือ สังคมเข้าสู่สมัยใหม่เร็วช้าไม่เท่ากัน ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคม[8]: 393  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2453–68) ทรงสร้างให้เกิดสำนึกความเป็นชาติอย่างน้อยก็ในหมู่ชนชั้นนำ ในปี 2454 ทรงตั้งกองเสือป่าซึ่งสมาชิกหลุดพ้นจากกรอบราชการและนับถือประมุข[8]: 396–7  ในปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์คณะนายทหารชั้นผู้น้อยคบคิดกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมีแนวคิดต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังไม่ทันวางแผนเสร็จก็ถูกจับได้เสียก่อน[8]: 397, 399  พระองค์ทรงตอบโต้ด้วยการแต่งตั้งเสนาบดีซึ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับการศึกษาในทวีปยุโรป ทรงตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุลและทรงใช้วิธีประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อซึ่งใช้มาจนสิ้นรัชกาล[8]: 400–2  คือ ทรงใช้พระปรีชาทางวรรณศิลป์เผยแพร่พระราชนิพนธ์ทางสื่อต่าง ๆ โดยย้ำแนวคิดสำคัญส่งเสริมวิถีชีวิตแบบตะวันตก ทรงริเริ่มธรรมเนียมอย่างตะวันตก เช่น นามสกุล กีฬาที่เล่นเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล ธรรมเนียมผัวเดียวเมียเดียว ทรงส่งเสริมการศึกษาแผนใหม่ โดยสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2459 และทรงให้การศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับ[8]: 402–3  ทั้งยังทรงเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมทางการเมืองและชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่ประสงค์ให้กำจัดอิทธิพลของชาวจีนในเศรษฐกิจสยาม[8]: 404  ทรงพยายามส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักสมาคมกันโดยไม่แบ่งวรรณะ รู้จักตัดสินโดยยึดหลักเสียงข้างมาก และกระตุ้นการอภิปรายสาธารณะในสื่อต่าง ๆ[8]: 406  ด้านกิจการทหาร ทรงจัดหาเรือรบที่ทันสมัย และในปี 2460 ราชสำนักเล็งเห็นว่าการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอาจก่อให้เกิดประโยชน์ในการเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม จึงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในวันที่ 22 กรกฎาคม 2460[8]: 407  ผลทำให้ชาติตะวันตกยอมแก้ไขสนธิสัญญาในช่วงปี 2463–9 ให้สยามได้รับอิสระในการจัดเก็บภาษีอากรและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[8]: 408–9  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครองจะทำให้สยามพินาศล่มจมจึงปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญเสียทุกครั้ง[8]: 412  ในด้านเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐที่ลดลงจากราคาผลผลิตการเกษตรที่ตกต่ำ และรายจ่ายส่วนพระองค์ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ งบประมาณจึงขาดดุลเช่นนี้ไปจนสิ้นรัชกาล ทำให้ต้องมีการกู้เงินต่างประเทศมาเป็นระยะ ๆ[8]: 413 

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2468–78) บ้านเมืองเต็มไปด้วยความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจ ความพยายามลดงบประมาณทำให้เกิดการทะเลาะกันในหมู่ข้าราชการทำให้เกิดภาพไร้ประสิทธิภาพ[8]: 416–7  หนังสือพิมพ์สะท้อนความคิดเห็นของมหาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พระองค์ทรงเร่งสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า พระองค์ยังทรงมีแนวคิดทดลองประชาธิปไตยในสยาม อย่างไรก็ดี ความพยายามให้ทดลองการปกครองตนเองระดับเทศบาลมีผลเล็กน้อยจนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[8]: 421  ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีกลุ่มนักเรียนต่างประเทศซึ่งมีแนวคิดต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่โดดเด่นได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ และแปลก ขีตตะสังคะ เริ่มพบปะกันอย่างลับ ๆ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2472 ผลสะเทือนถึงสยามทำให้ราคาข้าวตกลง รัฐเสียรายได้ และเกิดวิกฤตค่าเงินบาท[8]: 426–7  ในปี 2475 รัฐบาลดำเนินมาตรการ เช่น ปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ระงับการเลื่อนขั้น และเพิ่มการเก็บภาษี ผลทำให้เกิดชนชั้นกลางได้รับผลกระทบมากเมื่อเทียบกับคนจีน ชนชั้นสูงและเจ้า และเกิดความไม่พอใจ[8]: 428  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาความเป็นไปได้ของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีการทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญฉบับร่างโดยเนื้อหามีใจความว่า จะให้โอนอำนาจบริหารเป็นของนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง มีสภานิติบัญญัติควบคุมตรวจสอบโดยมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละกึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี เจ้านายในคณะอภิรัฐมนตรีสภาคัดค้านร่างรัฐธรรนนูญดังกล่าว จึงไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อ[8]: 429, 431 

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

 
พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรก ปราศรัยต่อฝูงชนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลุ่มบุคคลที่เรียกคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ผลทำให้ระหว่างปี 2478–2500 เป็นช่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ปกครอง และพระมหากษัตริย์ทรงไม่มีบทบาททางสังคมอีกจนพ้นช่วงดังกล่าว[8]: 440  คณะราษฎรเริ่มวางแผนปฏิรูปการเมืองแต่เป็นไปอย่างช้า ๆ[8]: 442–3  หลังจากนั้น คณะราษฎรเกิดขัดแย้งกันเอง โดยฝ่ายพลเรือนมีอำนาจน้อยกว่าฝ่ายทหาร คณะราษฎรแตกกันเป็น 5 ฝ่าย และหลังเกิดวิกฤต 3 ครั้งในปี 2476 สุดท้ายฝ่ายทหารหนุ่มชนะ[8]: 444–5  พระมหากษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมพยายามเอาชนะคณะราษฎรทุกวิถีทาง เกิดเป็นเครือข่ายต่อต้านการปฏิวัติที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง เริ่มจากกฎหมายปิดสภาฯ, เดือนตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงนำทหารในต่างจังหวัดกบฏ แต่ก่อการไม่สำเร็จ[16]: 17–27  ความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหลังจากรัฐบาลปฏิเสธการต่อรองเพื่อปรับเปลี่ยนพระราชอำนาจและรูปแบบการปกครอง พระองค์ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม 2477 (นับแบบเก่า)[8]: 448  รัฐบาลกราบบังคมทูลพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (ต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, ครองราชย์ 2478–89) ขณะยังทรงพระเยาว์และกำลังศึกษาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นพระมหากษัตริย์และแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะรัฐมนตรีในช่วงแรก ๆ สั่นคลอนแต่อยู่ร่วมกันได้เพราะบุคลิกของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และในปี 2478 รัฐบาลสามารถเจรจาจนสยามมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์[8]: 452–3 

จอมพล ป. พิบูลสงครามและสงครามโลกครั้งที่สอง

 
จอมพล ป. พิบูลสงครามตรวจแถวทหารระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีน เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่รั้งตำแหน่งนานที่สุด

ในปี 2481 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาจัดการความนิยมของรัฐบาลด้วยการควบคุมสื่อและตรวจพิจารณา มีการจับนักโทษการเมืองและเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์[8]: 455, 457  ภายในปีแรก รัฐบาลออกกฎหมายต่อต้านชาวจีนหลายฉบับ และสงวนบางอาชีพให้เฉพาะชาวไทยซึ่งเป็นความคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ออกรัฐนิยม 12 ประการ รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทย และควบคุมวิถีชีวิตประจำวันต่าง ๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้ต่างประเทศมองว่าไทยเป็นประเทศสมัยใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2483 ไทยส่งกำลังรุกเข้าไปในลาวและกัมพูชา ถึงแม้จะแพ้ในยุทธนาวีเกาะช้าง แต่ทางบกสามารถยึดดินแดนได้ จนญี่ปุ่นเข้ามาเป็นตัวกลาง โดยมีการบรรลุอนุสัญญายกดินแดนลาวและกัมพูชาบางส่วนให้ไทย[8]: 462  หลังจากนั้นประเทศไทยเตรียมรับศึกญี่ปุ่น แต่ชาติมหาอำนาจอังกฤษและสหรัฐต่างไม่สามารถช่วยรักษาความมั่นคงของไทยได้[8]: 462–3 

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศไทย มีการปะทะกับญี่ปุ่นหลายจุด จอมพล ป. เห็นว่าการขัดขืนเปล่าประโยชน์ จึงสั่งหยุดยิง ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทยโดยแลกกับให้ญี่ปุ่นยอมรับเอกราชของไทย[8]: 463, 465  ต่อมารัฐบาลเห็นญี่ปุ่นได้ชัยตามสมรภูมิต่าง ๆ ก็เชื่อว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม จึงเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักร ฝ่ายเสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐในเวลานั้น ปฏิเสธยื่นคำประกาศสงครามไปยังสหรัฐ และก่อตั้งขบวนการเสรีไทย เดือนพฤษภาคม 2485 รัฐบาลนำกำลังเข้ายึดครองรัฐฉาน สถาปนาเป็นสหรัฐไทยเดิม ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังมอบดินแดนมลายูที่ยกให้บริเตนในปี 2452 แก่ไทยด้วย[8]: 466–7  อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในปี 2487 ไทยประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็น การเพิ่มภาษีและเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ทั้งยังเผชิญกับการทิ้งระเบิดทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร[8]: 467–8  เดือนกรกฎาคม 2487 จอมพล ป. พิบูลสงครามแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรจึงลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งคือ ส.ส. ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตรและเห็นว่าจอมพล ป. คือสายสัมพันธ์ในอดีตกับญี่ปุ่น และเลือกควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน[8]: 470  ช่วงปลายสงคราม รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะให้รอดพ้นจากข้อเรียกร้องของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยพยายามเสนอขบวนการเสรีไทยในประเทศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และไทยพึ่งความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐ[8]: 472–3 

หลังสงครามโลก

หลังญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคม 2488 ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้เหตุผลว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักรไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปฏิเสธข้อตกลงทั้งหมดระหว่างรัฐบาลจอมพล ป. กับญี่ปุ่น ด้านควง อภัยวงศ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะไปมีส่วนกับญี่ปุ่นระหว่างสงคราม[8]: 473–4  รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีข้อเรียกร้องยืดยาวต่อไทย แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐใช้อิทธิพลข่มไว้ สุดท้าย มีการตกลงความตกลงสมบูรณ์แบบซึ่งให้ไทยคืนดินแดนที่ได้มาระหว่างสงครามแก่เจ้าของเดิมและการขายข้าวให้สหราชอาณาจักรเพื่อแลกกับการได้รับเสียงสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเท่านั้น ในปี 2489 ศาลฎีกายุติคดีจอมพล ป. ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม และวันที่ 9 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนสวรรคตอย่างมีปริศนา[8]: 467–8  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดชสืบราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช (ครองราชย์ 2489–2559) ในช่วงปี 2489–2490 รัฐบาลฝ่ายที่สนับสนุนปรีดีเสื่อมอำนาจอย่างรวดเร็ว เพราะสังคมมองว่ารัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายคดีได้

คณะผู้นำสามเส้า พ.ศ. 2490–2500

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะทหารรัฐประหาร มีการถอนรากถอนโคนฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะผู้สนับสนุนของปรีดี[8]: 480  ส่วนหนึ่งอ้างเหตุไขคดีสวรรคตไม่ได้ด้วย รัฐบาลจอมพล ป. หวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2491 และใช้นโยบายปราบปรามชาวจีน มลายู และนักการเมืองภาคอีสาน เดือนเมษายน 2491 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของชาวบ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก[8]: 486  ในปี 2492 ปรีดีและพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยทหารเรือและอดีตสมาชิกเสรีไทยพยายามเพื่อยึดอำนาจคืน แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกเรียกว่า กบฏวังหลวง นับแต่นั้นพันธมิตรทางการเมืองของปรีดีก็หมดอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง

หลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันและกบฏสันติภาพในปี 2494 พลตรี เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ค่อย ๆ มีอำนาจมากขึ้นแทนจอมพล ป.[8]: 488, 490  บทบาทของสหรัฐในเวลานั้นมองว่าไทยเป็นรัฐที่ต้องได้รับการปกป้องเพื่อกันการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีในปี 2497 เป็นประเทศหลักในองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยได้รับเงินอุดหนุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความช่วยเหลือทางเทคนิค และการปรับปรุงกองทัพและตำรวจจากสหรัฐ[8]: 493–4  ช่วงปี 2498–2500 จอมพล ป. เริ่มผ่อนปรนการควบคุมการเมืองอย่างเข้มงวดและให้จดทะเบียนพรรคการเมืองได้ ในช่วงนั้นจอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่าซึ่งเป็นพันธมิตรกันเห็นว่าพวกตนกำลังแพ้ให้กับกลุ่มจอมพลสฤษดิ์และกลุ่ม "ศักดินา" จึงพยายามดึงตัวปรีดีกลับประเทศ แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐขัดขวาง นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังเกิดขัดแย้งกับพระเจ้าอยู่หัวในหลายโอกาส จอมพลสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเนื่องจากลาออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2500 จนในวันที่ 13 กันยายน จอมพลสฤษดิ์นำกองทัพรัฐประหาร[8]: 496–9 

ระบอบสฤษดิ์และยุคถนอม-ประภาส

หลังรัฐประหารปี 2500 พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลถูกค้านในสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักจนไม่สามารถทำงานอย่างราบรื่น จอมพลฤษฎดิ์มีความเห็นว่าพฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชนที่ขาดการควบคุม และข้อพิพาทแรงงานและการประท้วงล้วนบ่อนทำลายประเทศ[8]: 508–9  ในปี 2501 เขายกเลิกรัฐธรรมนูญและออกคำสั่งสภาปฏิวัติ และสั่งจับผู้วิจารณ์รัฐบาลหลายร้อยคน เขาตอกย้ำภาพความสะอาดและความเป็นระเบียบ โดยจัดการปัญหาอาชญากรรมอย่างเฉียบขาด สังคมไทยหลายภาคส่วนยอมรับผู้นำเบ็ดเสร็จแบบดังกล่าว[8]: 510  เขายังเปลี่ยนจากความจงรักภักดีต่อรัฐและรัฐธรรมนูญมาเป็นความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งย่อมทำให้รัฐบาลในพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมตามไปด้วย[8]: 511  เขาฟื้นฟูบทบาททางสังคมของสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังพยายามสร้างความชอบธรรมตามวิถีประชาธิปไตยด้วยการดำเนินนโยบายพัฒนาชนบท ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนและต่างชาติเพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ[8]: 513–4  หลังขบวนการปะเทดลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ มีอำนาจเพิ่มขึ้นในลาว รัฐบาลยอมรับข้อตกลงของสหรัฐในการคุ้มครองไทย และให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ[8]: 516–7 

หลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 มีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศเข้าสู่ยุคถนอม-ประภาส ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องในสงครามเวียดนามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วัยอาจระบุว่าไม่ใช่ว่าประเทศไทยสละความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระในนโยบายต่างประเทศ แต่ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับสหรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนคือสร้างมิตรกับฝ่ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในลาวและกัมพูชา และต่อต้านอิทธิพลของเวียดนามในสองประเทศนี้[8]: 523–4  เมื่อรัฐบาลไทยและสหรัฐเข้าไปตอบโต้ปฏิบัติการของเวียดนามในลาวและกัมพูชา เวียดนามเหนือและจีนตอบโต้ด้วยการส่งเสริมการต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย[8]: 524  ระหว่างปี 2507–11 มีการส่งทหารอเมริกันเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนมีเจ้าหน้าที่เกือบ 45,000 คน มีเครื่องบินรบเกือบ 600 ลำ[8]: 524  จนถึงปี 2510 ไทยส่งกองทัพครบทั้งสามเหล่าทัพเข้าร่วมปฏิบัติการในเวียดนามใต้ โดยในปี 2512 มีทหารไทยในเวียดนาม 11,000 นายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14 ของกำลังพลทั้งหมด[8]: 525  ผลกระทบของการเข้ามาของทหารอเมริกันนี้ยังเปลี่ยนความสัมพันธ์ของชาวนาในชนบท และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำธุรกิจเชื้อสายไทย-จีน คนหนุ่มสาวในชนบทเข้าเมืองเพื่อหางานทำ เร่งโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงสื่อมวลชน[8]: 526–7  นอกจากนี้ ชาวนาในชนบทยังเกิดสำนึกเรื่องความไม่เสมอภาคทำให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาล ปลายปี 2507 เริ่มเกิดการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์เริ่มจากภาคอีสาน แล้วลามไปภาคเหนือและใต้

ในช่วงเดียวกัน จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเศรษฐกิจของประเทศเริ่มเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม จำนวนคนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาดีมีเพิ่มขึ้นนำไปสู่การขยายชนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ชนชั้นกลางเหล่านี้มีอัตลักษณ์ของตนเองโดยมีลักษณะอนุรักษนิยมทางการเมือง พร้อมกับยึดถือค่านิยมที่เน้นเสรีภาพอย่างตะวันตก[8]: 537  การที่รัฐบาลเข้าไปมีอำนาจในหมู่บ้านชนบททำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะชาวบ้านถูกทหารและตำรวจข่มเหง หรือถูกข้าราชการฉ้อโกง มีการต่อต้านรัฐบาลควบคู่ไปกับการดำเนินงานของสหภาพชาวนาและกรรมกร[8]: 539–40 

ในปี 2511 ท่ามกลางแรงกดดันจากนักศึกษาในประเทศและสหรัฐ จอมพลถนอมจึงประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งคู่กับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง จอมพลถนอมชนะการเลือกตั้งในปี 2512 และได้ตั้งรัฐบาลอีกสมัย แต่ความขัดแย้งในสภา และกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดจากการผ่อนปรนการจำกัดการแสดงออก ทำให้รัฐบาลตื่นภัยว่าอาจเป็นความล่มสลายของความสามัคคีในชาติ เช่นเดียวกับฐานะของจอมพลถนอมและประภาสในกองทัพที่มีอนาคตไม่แน่นอน เดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมยุบสภาและยกเลิกพรรคการเมือง นำประเทศกลับสู่ยุคกองทัพครอบงำอีกครั้ง[8]: 540–1  จอมพลถนอมใช้วิธีสร้างผู้นำให้เข้มแข็งที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน แต่ในช่วงนั้นชนชั้นกลางและชาวนาต้องการส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองมากขึ้น เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 ที่มีการจับกุมนักศึกษาที่แจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาล ทำให้มีการเดินขบวนใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมนับแสนคนในกรุงเทพมหานคร รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 77 คน สุดท้ายจอมพลถนอมและประภาสถูกบีบให้ลาออกจากลี้ภัยออกนอกประเทศ

ประชาธิปไตยลุ่ม ๆ ดอน ๆ

 
ป้ายจัดแสดงในนิทรรศการ 44 ปี 6 ตุลา

ผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้เกิด "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" หรือ "การทดลองประชาธิปไตย" การแสดงความเห็นต่างที่ถูกเก็บกดมาหลายสิบปีกลับมามีปากเสียง เกิดรัฐบาลพลเรือน และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ทั้งสมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เกิดองค์การการเมืองและการดำเนินกิจกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดการประท้วงของกรรมกรและชาวนาไปทั่ว การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะมีอิสระ งานเขียนของปัญญาชนฝ่ายซ้ายได้รับความนิยม สมัยนายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชสามารถเจรจาให้สหรัฐถอนฐานทัพออกจากประเทศและเจรจาสร้างความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน[8]: 544, 546–7  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในภูมิภาคขณะนั้นประเทศลาวมีการเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และคอมมิวนิสต์ชนะสงครามเวียดนาม หลังการเลือกตั้งในปี 2519 ได้รัฐบาลผสมอีกสมัยที่มีความเปราะบาง เกิดขัดแย้งในสภาทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้น้อย และนักศึกษาฝ่ายซ้ายเริ่มทำให้ผู้สนับสนุนรู้สึกแปลกแยก สถาบันพระมหากษัตริย์ ชนชั้นนำในเมืองและชนชั้นกลางจำนวนมากเริ่มหันมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ เช่น นวพล ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง เพราะมองว่านักศึกษาถูกลัทธิคอมมิวนิสต์ชักนำ[8]: 547–8  ในช่วงนี้กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ในปี 2519 จอมพลถนอมที่บวชเป็นสามเณรเดินทางกลับประเทศ โดยมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปเยี่ยมที่วัด[8]: 548  เกิดการประท้วงขึ้นรายวันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่างเข้าเดือนตุลาคม 2519 ฝ่ายขวามีปฏิกิริยาต่อการประท้วงโดยการปลุกระดมใส่ร้ายนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายมีการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการต่างประเทศมองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนส่งเสริมเหตุการณ์จากการสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาและการเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอม[17]: 31  กองทัพเข้ามาครอบงำการเมืองอีกครั้ง และการแสดงออกถูกปิดกั้น[8]: 549 

 
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ขวา) กับประธานาธิบดีสหรัฐ โรนัลด์ เรแกน พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีในระบอบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"

หลังรัฐประหารในปี 2519 มีรัฐบาลขวาจัดที่ใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มงวด นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายหนีเข้าป่าและออกนอกประเทศจำนวนมาก รัฐบาลเริ่มเสียการสนับสนุนจากกองทัพ จนมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในปี 2520[8]: 552–3  รัฐบาลใหม่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลดความรุนแรงของฝ่ายขวาและพยายามนำผู้หลบหนีออกจากป่า ในช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์เวียดนามบุกกัมพูชา ทำให้ชายแดนตะวันออกของประเทศมีผู้ลี้ภัยเข้ามานับแสนคน และกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มพยายามโจมตีข้ามชายแดนเข้ามา เมื่อประกอบกับรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เขาถูกบังคับให้ลาออกก่อนมีรัฐประหารโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523[8]: 553–4  ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม มีการใช้นโยบายยันกองทัพเวียดนามที่ชายแดนโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ รัฐบาลยังสามารถนำผู้ก่อการเริบกลับเข้าสู่สังคมและจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ในปี 2526[8]: 557  ในทศวรรษนั้นเริ่มเห็นได้ชัดว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาททางการเมือง หลังจากทรงสนับสนุนนักศึกษาในปี 2516 ทรงเปลี่ยนมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาในปี 2519 และรัฐบาลธานินทร์ จนสู่รัฐบาลพลเอกเปรม[8]: 558  ปรากฏชัดในครั้งกบฏยังเติร์กในปี 2524 ที่ทรงประกาศสนับสนุนรัฐบาลพลเอกเปรมทำให้กบฏล้มเหลว[8]: 558–9 

 
ผู้ประท้วงกับทหารในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ถึง 1990 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารอีกครั้ง กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก ประเทศเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ[8]: 561  พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ชนะการเลือกตั้งในปี 2531 เขาดูแลกองทัพที่เป็นพวกของตน ทำให้กองทัพอีกฝ่ายยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นำโดยพลเอก สุจินดา คราประยูร ทีแรกเขาให้สัญญาว่าจะไม่รับอำนาจทางการเมืองแต่สุดท้ายเขาตระบัดสัตย์และเข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่[8]: 572–3  เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในกรุงเทพมหานครในเดือนพฤษภาคม 2535 ลงเอยด้วยการสั่งปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง เข้าเฝ้าฯ จากนั้นพลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่ง กลางปี 2540 เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่เศรษฐกิจแตก อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงอย่างรวดเร็ว วิกฤตนี้ทำให้รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชาและพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ล้ม ชวน หลีกภัยกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง รัฐบาลสามารถเจรจาข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ แม้การกู้เงินดังกล่าวจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย แต่มีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นกองทุนช่วยเหลือคนรวย มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างใหญ่โต[8]: 575–6 

ยุคทักษิณและวิกฤตการณ์การเมือง

 
ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2549–2557 เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านทักษิณ ชินวัตร

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังปี 2544 ถูกครอบงำด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 พรรคไทยรักไทยซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 3 ปี ชนะการเลือกตั้งทั่วไป นโยบายเศรษฐกิจของเขาที่เรียก ทักษิโณมิกส์ เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศและการเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ นโยบายของเขายังรวมการเพิ่มสวัสดิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในชนบท อย่างไรก็ดี การเอื้อพวกพ้องของทักษิณในการเลื่อนยศทหารใกล้ชิดในกองทัพทำให้พลเอกเปรมและพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่พอใจ[18]: 268  การเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณครั้งแรกเริ่มจากนโยบายภาคใต้ เริ่มจากการเปลี่ยนองค์การของกองทัพมาให้ตำรวจคุมในปี 2545 และปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารจังหวัดนราธิวาสแห่งหนึ่งในปี 2547 ชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครเริ่มไม่พอใจนโยบายประชานิยม การวิจารณ์ในสื่อเพิ่มขึ้น[18]: 268  สนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งเป็นเจ้าของสื่อคนหนึ่งวิจารณ์ทักษิณทางโทรทัศน์จนรายการของเขาถูกสั่งระงับ จึงหันมาเดินขบวนตามท้องถนนและปลุกเร้าอารมณ์ด้วยการอ้างว่าทักษิณเป็นภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์[18]: 269  การประท้วงในปี 2548 ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ในปี 2549 หลังมีเหตุการณ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กโฮลดิงส์ของรัฐบาลสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษี ทำให้เริ่มมีการชุมนุมโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กองทัพบางส่วนเล็งเห็นโอกาสในการโค่นทักษิณจึงร่วมมือกับ พธม.[18]: 269  การชุมนุมเน้นกล่าวหาทักษิณว่ามีแผนเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[18]: 269  ทักษิณประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คว่ำบาตรการเลือกตั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกทักษิณไปเข้าเฝ้าและหลังจากนั้นทักษิณประกาศจะถอยออกจากการเมืองแถวหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำรัสให้ฝ่ายตุลาการมีบทบาทเพิ่มขึ้นใน "การขับเคลื่อนประชาธิปไตย"[18]: 269 

รัฐประหารในปี 2549 มีผู้นำเป็นกลุ่มนิยมเจ้าอย่างเข้มข้น และอ้างว่ารัฐบาลทักษิณสร้างความแตกแยกและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ดี ฝ่ายทหารได้ฉวยประโยชน์จากโอกาสนี้ด้วย โดยมีนายทหารได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและตำแหน่งสำคัญ ๆ งบประมาณของกองทัพเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ภายในสองปี[18]: 270  เป้าหมายหลักของรัฐบาลทหารคือการกำจัดทักษิณ ลดบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้แก่ข้าราชการและกองทัพ[18]: 270  กองทัพยังตั้งใจใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทวงบทบาทควบคุมดูแลการเมืองของประเทศ โดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลดอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[18]: 271  นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 กองทัพและพวกนิยมเจ้ายกให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางความมั่นคงของชาติ และมีการใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง[19]: 374–5  บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้[19]: 378 

ความพยายามทั้งหลายนี้ไม่อาจกำจัดเสียงสนับสนุนทักษิณในชนบทได้ หลังมีการรื้อฟื้นการปกครองแบบรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2550 พรรคไทยรักไทยที่ถูกสั่งยุบพรรคในปี 2549 ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกในชื่อพรรคพลังประชาชนโดยมีสมัคร สุนทรเวชเป็นหัวหน้า พรรคพลังประชาชนครองอำนาจอยู่พักหนึ่งก็เกิดการประท้วงของ พธม. ด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งถือกำเนิดในเดือนกรกฎาคม 2550 ชุมนุมต่อต้าน พธม. ฝ่าย พธม. อ้างว่าตนกำลังพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และ นปช. อ้างว่าตนกำลังพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย[18]: 274  หลังการชุมนุมดำเนินมาจนสิ้นปี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน หลังจากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับสองในสภา เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นพลเอกเปรมและพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อำนวยความสะดวกหรือสั่งการโดยตรงให้มีการซื้อตัวกลุ่มเพื่อนเนวิน[20]: 87  นปช. ชุมนุมในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยเข้าขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2552 และในปีต่อมา มีการชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 และปิดฉากลงด้วยเหตุการณ์เผาย่านธุรกิจในเขตราชประสงค์ และเผาอาคารราชการ 4 แห่งในต่างจังหวัด

ภาพกรุงเทพมหานครบางส่วนเกิดอัคคีภัยระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองเดือนพฤษภาคม 2553

เมื่ออภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ปรากฏว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวผู้ไม่มีประสบการณ์การเมืองของทักษิณ นำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าเธอจะใช้วิธีประนีประนอมกับพระราชวังและให้กองทัพจัดการตนเอง วิธีนี้ดูเหมือนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ถูกท้าทายอย่างจริงจังในช่วงแรก ปลายปี 2556 อดีต พธม. ร่วมกับกลุ่มต่อต้านทักษิณและนิยมเจ้าอื่น ๆ เข้าพวกกันตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย[19]: 374  กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองเมื่อพรรครัฐบาลพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ทักษิณ แต่แม้ว่ารัฐบาลจะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป กปปส. ยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่องพร้อมกับใช้วาทศิลป์ค้านการเมืองแบบเลือกตั้ง[19]: 374  เห็นได้จากการขัดขวางและทำร้ายร่างกายผู้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งปี 2557[19]: 375  ฝ่ายตุลาการถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง แต่รัฐบาลรักษาการยังดำรงอยู่ จนมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557[19]: 375 

 
การปราบปรามการประท้วงในเดือนสิงหาคม 2564

คณะผู้ยึดอำนาจปกครองควบคุมรัฐบาล ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวาง มีการแต่งตั้งสภาหุ่นเชิดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะกวาดล้างความนิยมของทักษิณได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 พยายามก่อรูปร่างของสังคมด้วยค่านิยมตามที่พวกตนกำหนด[19]: 376  นอกจากเพื่อต่อต้านทักษิณแล้ว กองทัพยังรู้สึกว่าตนต้องควบคุมการเปลี่ยนรัชกาลที่กำลังมาถึง และมีแผนจัดโครงสร้างทางการเมืองเพื่อสงวนอำนาจของอภิชน[21]: 281  ผู้นำรัฐประหารยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของกองทัพขณะที่ลดอำนาจของประชาสังคมและการปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการวางแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี และให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้ดำเนินการ[21]: 282  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตในปี 2559 และเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ตั้งแต่ปี 2559) ระเบียบการเมืองเดิมที่ยึดโยงพระมหากษัตริย์ที่มีบารมีหมดไป และกองทัพก้าวเข้ามาเป็นผู้ชี้นำการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ในช่วงหลังเปลี่ยนรัชกาลใหม่[21]: 286  นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารที่เรียก ประชารัฐ ทำให้เกิดทุนนิยมแบบลำดับชั้นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเชื้อสายจีนเข้าไปเลี้ยงดูและชี้นำธุรกิจในท้องถิ่น[21]: 300  มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 หลังจากครองอำนาจเกือบห้าปี คสช. ยอมให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ผลทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2563 เริ่มเกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตามมาด้วยการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

เชิงอรรถ

  1. ได้แก่
  2. คำว่า "สยาม" ปรากฏเป็นชื่อเรียกประเทศชัดเจนครั้งแรกในสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม"[14] ชื่อนี้ใช้มาจนมีการเปลี่ยนชื่อเป็นไทยในปี 2482
  3. กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นตำแหน่งรัชทายาทผู้มีสิทธิสืบราชบัลลังก์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ครั้งยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงตั้งให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเป็นวังหน้า (ดำรงพระยศ 2411–28) นับว่าผิดธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วยพระองค์เอง

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. (2542). (พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร). หน้า 3.
  2. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 3.
  3. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2551). ประวัติศาสตร์แห่งชาติ"ซ่อม"ฉบับเก่า "สร้าง"ฉบับใหม่. (2542). (พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: กองทุนเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ). หน้า 37-67.
  4. "ไล่ 'สุจิตต์ วงษ์เทศ' ไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยอีกรอบ". นิตยสาร WAY. 25 July 2018. สืบค้นเมื่อ 30 January 2023.
  5. "วิวาทะดราม่า แยกวิชาประวัติศาสตร์ สอนหรือยัดเยียดเด็กรักชาติ?". มติชนสุดสัปดาห์. 2 December 2022. สืบค้นเมื่อ 30 January 2023.
  6. "แยกวิชาประวัติศาสตร์ ให้เด็กรักชาติ ความผิดปกติ แฝงประเด็นซ่อนเร้น หรือไม่?". ไทยรัฐ. 29 November 2022. สืบค้นเมื่อ 30 January 2023.
  7. วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์. (2545). บรรพบุรุษไทย: สมัยก่อนสุโขทัยและสมัยสุโขทัย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 974-13-1780-8. หน้า 2.
  8. 8.000 8.001 8.002 8.003 8.004 8.005 8.006 8.007 8.008 8.009 8.010 8.011 8.012 8.013 8.014 8.015 8.016 8.017 8.018 8.019 8.020 8.021 8.022 8.023 8.024 8.025 8.026 8.027 8.028 8.029 8.030 8.031 8.032 8.033 8.034 8.035 8.036 8.037 8.038 8.039 8.040 8.041 8.042 8.043 8.044 8.045 8.046 8.047 8.048 8.049 8.050 8.051 8.052 8.053 8.054 8.055 8.056 8.057 8.058 8.059 8.060 8.061 8.062 8.063 8.064 8.065 8.066 8.067 8.068 8.069 8.070 8.071 8.072 8.073 8.074 8.075 8.076 8.077 8.078 8.079 8.080 8.081 8.082 8.083 8.084 8.085 8.086 8.087 8.088 8.089 8.090 8.091 8.092 8.093 8.094 8.095 8.096 8.097 8.098 8.099 8.100 8.101 8.102 8.103 8.104 8.105 8.106 8.107 8.108 8.109 8.110 8.111 8.112 8.113 8.114 8.115 8.116 8.117 8.118 8.119 8.120 8.121 8.122 8.123 8.124 8.125 8.126 8.127 8.128 8.129 8.130 8.131 8.132 8.133 8.134 8.135 8.136 8.137 8.138 8.139 8.140 8.141 8.142 8.143 8.144 8.145 8.146 8.147 8.148 8.149 8.150 8.151 8.152 8.153 8.154 8.155 8.156 8.157 8.158 8.159 8.160 8.161 8.162 8.163 8.164 8.165 8.166 8.167 8.168 8.169 8.170 8.171 8.172 8.173 8.174 8.175 8.176 8.177 8.178 8.179 8.180 Wyatt, David K. (2556). Thailand: A Short History [ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป] (ภาษาอังกฤษ). แปลโดย ละอองศรี, กาญจนี. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. ISBN 978-616-7202-38-9.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 Barbara Leitch LePoer (1989). Thailand: A Country Study. Federal Research Devision, Library of Congress. ISBN 978-0739715666.
  10. Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2017). A History of Ayutthaya. Cambridge University Press. ISBN 9781107190764.
  11. 11.0 11.1 เกษตรศิริ, ชาญวิทย์ (2548). อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9740157273. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: checksum (help)
  12. นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. มติชน. ISBN 9789740201779. หน้า 55
  13. ห้องนิทรรศการ 1 เครื่องราชบรรณาการแก่สหรัฐในแง่ประวัติศาสตร์ ก. สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ.1833 เก็บถาวร 2015-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ 17-12-2553.
  14. ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 183.
  15. เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2542). การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. หน้า 3.
  16. ใจจริง, ณัฐพล (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188.
  17. อึ๊งภากรณ์, ใจ; ยิ้มประเสริฐ, สุธาชัย; และคณะ (2544). อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (PDF). คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. ISBN 9748858626. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-07-27.
  18. 18.00 18.01 18.02 18.03 18.04 18.05 18.06 18.07 18.08 18.09 Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2014). A History of Thailand (3rd ed.). Cambridge University Press. ISBN 9781107420212.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 19.6 Veerayooth Kanchoochat & Kevin Hewison. (2016). Introduction: Understanding Thailand’s Politics, Journal of Contemporary Asia, 46:3, 371-387, DOI: 10.1080/00472336.2016.1173305
  20. Federico Ferrara (2010). Thailand Unhinged: Unraveling the Myth of a Thai-Style Democracy. Singapore: Equinox Publishing.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 Kongkirati, P., & Kanchoochat, V. (2018). The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand. TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia, 6(2), 279-305. doi:10.1017/trn.2018.4

บทอ่านเพิ่มเติม