ประมวลเรื่องปรัมปราเมโสโปเตเมีย

ประมวลเรื่องปรัมปราเมโสโปเตเมีย หมายถึงกลุ่มเรื่องปรัมปรา คัมภีร์ หรือวรรณกรรมที่มาจากภูมิภาคเมโสโปเตเมียในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมซูเมอร์ แอกแคด และอัสซีเรีย ซึ่งทั้งหมดดำรงอยู่ในช่วงประมาณ 3000–400 ปีก่อนคริสตกาล[1] งานเหล่านี้ถูกจารด้วยอักษรรูปลิ่มบนแผ่นหินหรือดินเหนียว บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อและจักรวาลวิทยาของชาวเมโสโปเตเมีย

จารึกมหากาพย์กิลกาเมชแผ่นที่ 5 จากสมัยบาบิโลเนียเก่า (2003–1595 ปีก่อนคริสตกาล)

ตำนานการถือกำเนิด แก้

ชาวเมโสโปเตเมียมีการบันทึกตำนานการถือกำเนิดไว้หลายเรื่อง ซึ่งแตกต่างไปตามอารยธรรมที่มีอำนาจในขณะนั้น บางเรื่องซ้ำซ้อนกันเนื่องจากเป็นการเล่าต่อกันมาแบบปากเปล่า ตำนานการถือกำเนิดที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดคือ ตำนานกำเนิดอีริดู (The Eridu Genesis) หรือตำนานการถือกำเนิดของซูเมอร์ อายุราว 2300 ปีก่อนคริสตกาล ตำนานนี้พอจะสรุปได้ว่ามีการสร้างเมืองมนุษย์โดยเหล่าเทพ แต่ภายหลังเทพเอนลิล เทพสูงสุดของปวงเทพซูเมอร์ดลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เพื่อจำกัดประชากรมนุษย์ที่มากเกิน Ziusudra กษัตริย์แห่งเมืองชูรัปปักผู้ได้รับคำเตือนจากพระผู้สร้างเองกีได้ขึ้นเรือใหญ่เพื่อลี้ภัยน้ำท่วม ทั้งนี้ไม่ทราบเนื้อหาต่อจากนี้เนื่องจากแผ่นจารึกอยู่ในสภาพเสียหายมากและเนื้อหาหลายส่วนขาดหายไป[2][3]

อะทราฮาซิส (Atra-Hasis) เป็นตำนานการถือกำเนิดที่มีเนื้อหาคล้ายตำนานกำเนิดอีริดู บันทึกด้วยภาษาแอกแคดในสมัยศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล บรรยายการสร้างมนุษย์คนแรกโดยเทพีมามีเพื่อลดภาระงานของเทพ แต่เมื่อมนุษย์มีประชากรมากเกิน เทพเอนลิลได้บันดาลให้เกิดเภทภัยต่าง ๆ รวมถึงน้ำท่วมใหญ่ อะทราฮาซิส กษัตริย์เมืองชูรัปปักผู้ได้รับคำเตือนจากเทพเองกีได้พาครอบครัวและฝูงสัตว์ขึ้นเรือใหญ่ก่อนจะเกิดน้ำท่วมนาน 7 วัน และจบลงที่อะทราฮาซิสได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์[4][5]

เอนูมาเอลิช (Enûma Eliš) เป็นตำนานการถือกำเนิดของบาบิโลเนีย ฉบับที่ค้นพบที่หอสมุดอาชูร์บานิพัลอยู่ในสมัยศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล แต่อาจสืบย้อนไปไกลถึงรัชสมัยพระเจ้าฮัมมูราบีราวศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล อีนูมาอีลิชกล่าวถึงการก่อกำเนิดของจักรวาลและสงครามระหว่างเทพยุคบรรพกาลกับเทพยุคหลังที่จบลงด้วยชัยชนะของมาร์ดุก ผู้สร้างโลกจากร่างติอามัตผู้พ่ายแพ้ และสร้างมนุษย์จากชิ้นส่วนของเทพที่สนับสนุนติอามัต[6]

ตำนานวีรบุรุษ แก้

นอกเหนือจากตำนานการถือกำเนิด ชาวเมโสโปเตเมียยังบันทึกเรื่องราวของวีรบุรุษ เช่น มหากาพย์กิลกาเมชที่เล่าถึงการผจญภัยของกษัตริย์กิลกาเมชผู้ทะนงตน นำไปสู่การสูญเสียเพื่อนสนิทเอนกิดู ทำให้กิลกาเมชออกตามหาคุณค่าของชีวิตก่อนจะจบลงที่กิลกาเมชยอมรับชะตากรรมตนเองแล้วกลับมาปกครองเมืองอย่างเป็นสุข[7] มีการประมาณว่ามหากาพย์กิลกาเมชอยู่ในสมัย 1800 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นหนึ่งในงานประพันธ์ช่วงต้นประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน เป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่เก่าแก่เป็นอันดับสองรองจากข้อความพิระมิด[8] และเชื่อว่ามีอิทธิพลบางส่วนต่องานรุ่นหลังอย่างหนังสือปฐมกาล[9]

ตำนานอะดาปากล่าวถึงอะดาปา มนุษย์ผู้ปราดเปรื่องที่หักปีกของลมใต้หลังทำให้เรือเขาล่ม เทพแห่งท้องฟ้าอันจึงเรียกตัวเขาไปพบ แต่ระหว่างนั้นเทพเองกีได้สั่งให้อะดาปาปฏิเสธอาหารที่เทพอันประทานให้ทั้งที่อาหารนั้นจะทำให้อะดาปากลายเป็นอมตะ ท้ายที่สุดอะดาปาเชื่อเทพเองกีแล้วกลับมาโลกมนุษย์อย่างผู้ที่ต้องตาย ตำนานอะดาปาอธิบายความตายและการตกในบาปของมนุษย์ตามความเชื่อของชาวเมโสโปเตเมีย[10] มีที่มาจากบาบิโลเนียสมัยที่ปกครองโดยชนชาวแคสไซต์สมัยศตวรรษที่ 16 ก่อนคริสตกาล[11]

อ้างอิง แก้

  1. "Mesopotamian religion". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-05-02.
  2. Mark, Joshua J. (May 7, 2020). "Eridu Genesis". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  3. "The Great Flood: Sumerian version". Livius. October 12, 2020. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  4. Mark, Joshua J (March 6, 2011). "The Atrahasis Epic: The Great Flood & the Meaning of Suffering". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  5. "The Epic of Atraḥasis". Livius. October 12, 2020. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  6. Mark, Joshua J. (May 4, 2018). "Enuma Elish - The Babylonian Epic of Creation - Full Text". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  7. Mark, Joshua J. (March 29, 2018). "Gilgamesh". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  8. "Study: 'Trickster' Babylonian god used puns in ancient flood story". The Times of Israel. December 1, 2019. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  9. "Epic of Gilgamesh". New World Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  10. "Adapa - Mesopotamian mythology". Britannica. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
  11. Mark, Joshua J. (February 23, 2011). "The Myth of Adapa". สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.