ประชัย เลี่ยวไพรัตน์

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ (28 สิงหาคม พ.ศ. 2487 — ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย อดีตเลขาธิการพรรคประชาราช เป็นผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหาร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์
หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย
ดำรงตำแหน่ง
5 ตุลาคม พ.ศ. 2550 – 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550
ก่อนหน้าธนพร ศรียากูร
ถัดไปอนงค์วรรณ เทพสุทิน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 สิงหาคม พ.ศ. 2487 (79 ปี)
อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาราช (2549 - 2550)
มัชฌิมาธิปไตย (2550 - 2551)
คู่สมรสอรพิน เลี่ยวไพรัตน์

ประวัติ แก้

เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เป็นบุตรของพร และบุญศรี เลี่ยวไพรัตน์ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะได้รับทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ ประเทศนิวซีแลนด์ และจบปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา

หลังจบการศึกษา ประชัยได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ 1 ปี จากนั้นจึงเข้ามารับช่วงธุรกิจค้าอาหารสัตว์ของครอบครัว และบริหารธุรกิจค้าข้าวจนเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 1 ใน 5 ของประเทศ และขยายเข้ามาสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลาสติก และปูนซีเมนต์[1][2]

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับนางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ โดยที่ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน

ทีพีไอ และ ทีพีไอโพลีน แก้

ประชัยก่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2521 ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน มีศักยภาพผลิตน้ำมันได้ 215,000 บาร์เรลต่อวัน ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจร เปิดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก โรงงานแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่จังหวัดระยอง ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2525 นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้า โครงการผลิตคาโปรแลกตัม และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ

ในปี พ.ศ. 2532 ประชัยก่อตั้งบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และออกหุ้นกู้ ระดมเงินจากต่างประเทศ เพื่อมาขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง จากกำลังการผลิต 78000 ตันในปี 2533 เป็น 9.0 ล้านตันในปี 2540

ในปี พ.ศ. 2535 ทีพีไอได้ขอกู้เงินลงทุนจากสถาบันการเงินกว่า 150 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมาขยายกิจการธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจร แต่หลังจากรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และสั่งระงับการดำเนินกิจการสถาบันการเงิน 58 แห่ง ส่งผลให้ทีพีไอขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทันทีกว่า 69,261 ล้านบาท มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 133,643.82 ล้านบาท หรือประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ทีพีไอเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ทีพีไอได้เสนอขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ โดย ธนาคารกรุงเทพที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ได้รวมตัวกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ในนาม คณะกรรมการเจ้าหนี้ เพื่อทำหน้าที่ในการเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 ศาลล้มละลายกลางประกาศแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ คือ บริษัท แอฟแฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ หรือ อีพี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินของคณะกรรมการเจ้าหนี้

อีพี ได้มีการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักของทีพีไอ ทั้งกิจการท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้า และที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมทีพีไอ ลดกำลังการผลิตน้ำมันจาก 125,000 บาร์เรลต่อวัน ให้เหลือเพียง 65,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ทีพีไอไม่มีรายได้เพียงพอในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ รวมทั้งยังมีการแปลงหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระของทีพีไอที่มีต่อเจ้าหนี้ให้เป็นหุ้นใหม่แก่เจ้าหนี้ และเจ้าหนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทถึง 75%

ประชัยได้ฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางว่า ผู้บริหารแผนฟื้นฟูได้ใช้เงินของบริษัทเป็นค่าตอบแทนถึง 1,779 ล้านบาท โดยที่บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้อีพี พ้นจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ศาลล้มละลายกลางประกาศแต่งตั้งกระทรวงการคลัง เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูชุดใหม่ ประกอบด้วย พลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธาน, ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา, พละ สุขเวช, ทนง พิทยะ และ อารีย์ วงศ์อารยะ

แนวทางการฟื้นฟูของกระทรวงการคลังคือ นำรัฐวิสาหกิจในเครือเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุน ประกอบด้วย ปตท. เข้ามาถือหุ้น 31.5% และธนาคารออมสิน กบข. และกองทุนวายุภักษ์ 1 ถือหุ้น 10% ในขณะที่ทางฝ่ายนายประชัยได้พยายามซื้อหุ้นคืน โดยได้ความสนับสนุนจากซิติก กรุ๊ป (China International Trust & Investment Corp.) รัฐวิสาหกิจจากประเทศจีนเข้ามาซื้อหุ้น โดยฝ่ายนายประชัยเสนอที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทันที 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ศาลฎีกามีคำตัดสินว่าประชัยไม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนกลุ่มปตท. ส่งผลให้ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ทีพีไอ ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2549 และมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ที่ประชุมมีมติให้ปลดนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท[3] ถือเป็นการสิ้นสุดของอำนาจการบริหารในทีพีไอ ที่ประชัยเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น

การเมือง แก้

ภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ประชัยได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาราช พร้อมกับได้ยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด แต่ว่าในกลางปี พ.ศ. 2550 ก็ได้กลับมารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคประชาราชอีก และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารพรรค มีอำนาจสามารถปลดหัวหน้าพรรคได้ ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งใหม่ทางการเมืองไทย

แต่ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550 นายประชัย ได้แถลงข่าวลาออกพร้อมกับสมาชิกพรรคส่วนหนึ่ง เนื่องจากอ้างว่าแนวทางทางการเมืองไม่อาจไปด้วยกันได้กับนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรค พร้อมกับได้ไปรวมกลุ่มกับกลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาคือ พรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมีนายประชัยเป็นหัวหน้าพรรค

ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550 นายประชัย ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากคดีปั่นหุ้นพร้อมกับนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร เลขาธิการพรรคประชาราช แต่นายประชัยได้ประกันตัวออกมาและสู้คดีต่อไปในศาล วันที่ 4 ธันวาคม นายประชัยได้แถลงข่าวลาออกจากหัวหน้าพรรคและยื่นใบลาออกจากพรรค แต่ทางสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนเรียกร้องให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อ วันที่ 6 ธันวาคม นายประชัยประกาศอีกครั้งว่า จะขอเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน เขตเลือกตั้งที่ 6 สังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ไม่ได้รับเลือก

ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติให้นายประชัยพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยวินิจฉัยว่า ใบลาออกของนายประชัยตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม มีผลสมบูรณ์แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "จับตา "ประชัย" พ่ายอำนาจรัฐ 27 มิ.ย.นี้? ไอ้โม่งยึด ทีพีไอ! My Boss want it...! ปริศนาจากรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-10. สืบค้นเมื่อ 2006-08-27.
  2. "อวสานมหากาพย์ทีพีไอ บทสรุปสงครามตัวแทน?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-15. สืบค้นเมื่อ 2006-08-27.
  3. ประชุมมีมติให้ปลดนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท
  4. "เปิดชื่อ 109 กก.บริหาร "พปช.-ชาติไทย-มัชฌิมาฯ" ถูกยุบ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
  6. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2015-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๒, ๙ มกราคม ๒๕๕๘

แหล่งข้อมูลอื่น แก้