บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน

นักกิจกรรมอนาธิปไตยชาวอาร์เจนตินา

บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน (ค.ศ. 1870 – 1960) เป็นนักข่าวและนักกิจกรรมอนาธิปไตยและสตรีนิยมชาวอาร์เจนตินาเชื้อสายเยอรมัน เธอได้ถูกยกย่องว่าเป็นนักพูดที่มีพรสวรรค์[1][2] และถูกถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในประเทศอาร์เจนตินา ใน ค.ศ. 1902 เธอถูกเนรเทศไปอยู่ที่ประเทศอุรุกวัย ซึ่งเป็นที่ที่เธออาศัยอยู่จนกระทั่งถึงแก่กรรม

บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน
ภาพถ่ายของ บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน
ภาพถ่ายของ บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน
เกิดค.ศ. 1870
ซานลุยส์ หรือ ซานฮวน, อาร์เจนตินา
เสียชีวิตค.ศ. 1960
มอนเตวิเดโอ, อุรุกวัย
อาชีพนักข่าว นักกิจกรรม
มีชื่อเสียงจากเผยแพร่หนังสือพิมพ์อนาธิปไตย จัดตั้งการเดินขบวนเมย์เดย์เป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาใต้

ประวัติ แก้

บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน เป็นลูกสาวของผู้อพยพชาวเยอรมัน เธอเกิดเมื่อ ค.ศ. 1870 ในประเทศอาร์เจนตินา เมืองซานลุยส์หรือซานฆวนไม่แน่ชัด เธอใช้ชีวิตวัยเด็กในรัฐซานฆวน และย้ายไปอาศัยที่เมืองโรซาริโอเมื่ออายุ 14 ปี หลังจากก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เธอได้ทำงานเป็นช่างทำรองเท้าและคนงานโรงงานน้ำตาล ขณะทำงานเป็นช่างทำรองเท้าเธอได้พบกับผู้จัดตั้งสหภาพแรงงานรองเท้า ฆวน มาร์เกซ ซึ่งพวกเขาได้สมรสกันในภายหลัง[3] ด้วยความที่เธอรู้จักกับ ปีเอโตร โกรี (Pietro Gori) จึงทำให้เธอได้เข้ามาสู่แวดวงแนวคิดอนาธิปไตย[4] ภายหลังจากการทำกิจกรรมในขบวนการแรงงาน อนาธิปไตย และสตรีนิยมเป็นเวลาหลายปี ใน ค.ศ. 1902 เธอถูกเนรเทศไปยังอุรุกวัยตามกฎหมายถิ่นที่อยู่ (สเปน: Ley de Residencia) ของอาร์เจนตินาในขณะนั้น[1][5]

ความเคลื่อนไหว แก้

ใน ค.ศ. 1888 บ็อลเทินได้มาเป็นหนึ่งในผู้จัดพิมพ์ของหนังสือพิมพ์อนาธิปไตยสำนักแรก ๆ สำนักหนึ่งในอาร์เจนตินาชื่อ El Obrero Panadero de Rosario (ไทย: คนงานร้านขนมปังแห่งโรซาริโอ) ใน ค.ศ. 1889 เธอได้จัดตั้งการเดินขบวนและการนัดหยุดงานในภายหลังของช่างเย็บผ้าหญิงในโรซาริโอ ซึ่งนี่อาจเป็นการนัดหยุดงานของคนทำงานเพศหญิงเป็นครั้งแรกในอาร์เจนตินา[3][6]

ใน ค.ศ. 1890 บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน, โรมูโล โอวีดี (Romulo Ovidi) และ ฟรันซิสโก เบร์ริ (Francisco Berri) เป็นผู้จัดงานหลักของการเดินขบวนเมย์เดย์ครั้งแรก ๆ บรรณาธิการคนอื่น ๆ ของ El Obrero Panadero de Rosario ก็มีหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กันในการจัดงานเดินขบวนแต่ละครั้ง[3] ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1890 (หนึ่งวันก่อนการเดินขบวน) เธอถูกควบคุมตัวและสอบสวนโดยกองกำลังตำรวจท้องถิ่นด้วยข้อหาการแจกใบปลิวข้างนอกโรงงานหลัก ๆ ภายในพื้นที่ ระหว่างการเดินขบวนเมย์เดย์ เธอได้เดินนำคนทำงานจำนวนหลักพันคนกลุ่มหนึ่งไปยังปลาซาโลเปซ (Plaza Lopez) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในเขตชานเมืองของโรซาริโอ ตลอดการเดินขบวนเธอถือธงแดง ซึ่งมีข้อความเขียนไว้ว่า "Primero de Mayo - Fraternidad Universal; Los trabajadores de Rosario cumplimos las disposiciones del Comité Obrero Internacional de París" (ไทย: วันที่หนึ่งเมษายน - ภราดรภาพสากล; คนทำงานเมืองโรซาริโอกระทำตามข้อกำหนดของสภาแรงงานสากลแห่งปารีส)[7][8][9]หลังจากถูกเนรเทศไปยังอุรุกวัย เธอได้สานต่อการต่อสู้ของเธอในมอนเตวิเดโอ[1]

La Voz de la Mujer แก้

บ็อลเทินอาจมีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ชื่อว่า La Voz de la Mujer (ไทย: เสียงของผู้หญิง) ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ออกมาเก้าฉบับในเมืองโรซาริโอระหว่างวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1896 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1897 และได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1901 สิ่งพิมพ์ที่คล้ายกันและมีชื่อเดียวกันนั้นได้มีรายงานว่าถูกตีพิมพ์ขึ้นในภายหลังที่เมืองมอนเตวิเดโอ ซึ่งมีการเสนอขึ้นว่าบ็อลเทินอาจเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาและทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการภายหลังที่เธอถูกเนรเทศ[1]

La Nueva Senda แก้

ในอุรุกวัย บ็อลเทินได้สานต่องานกิจกรรมของเธอ โดยได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ชื่อว่า La Nueva Senda (ไทย: เส้นทางใหม่) ระหว่าง ค.ศ. 1909 ถึง 1910[10]

สิ่งตีพิมพ์อื่น แก้

เธอได้เผยแพร่บทความหลายชิ้นในวารสารและหนังสือพิมพ์ลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ที่เป็นที่รู้จักที่สุดมีชื่อว่า La Protesta และ La Protesta Humana[3][11]

มรดก แก้

สวนสาธารณะ แก้

สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเขตปูเอร์โตมาเดโรของบัวโนสไอเรสถูกตั้งชื่อตามเธอเพื่อเป็นเกียรติแด่เธอ[12]

ภาพยนตร์ แก้

ใน ค.ศ. 2007 รัฐบาลรัฐซานลุยส์ในอาร์เจนตินาได้ลงทุนในการถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อเป็นเกียรติแด่ บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน[13] โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของบ็อลเทิน คตินิยมสิทธิสตรีแบบอนาธิปไตย และสภาพทางสังคมซึ่งนำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ La Voz de la Mujer ซึ่งมีชื่อว่า Ni dios, ni patrón, ni marido (ไทย: ไม่มีพระเจ้า ไม่มีเจ้านาย ไม่มีสามี) ซึ่งตั้งตามคติพจน์อันหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น[13] โดยมี ฆูลิเอตา ดิอัซ (Julieta Díaz) รับบทเป็น บีร์ฆิเนีย บ็อลเทิน ภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งออกฉายในวันที่ 29 เมษายน 2010 ในอาร์เจนตินามี เลารา มาญญา (Laura Mañá) เป็นผู้กำกับชาวสเปน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Molyneux, M. (1986). "No God, No Boss, No Husband: Anarchist Feminism in Nineteenth-Century Argentina". Latin American Perspectives. Vol. 13 no. 1. SAGE. p. 130. JSTOR 2633723.
  2. Moya 2002, p. 205: "Some gifted orators, including women such as Virginia Bolten, María Collazo, and Ramona Ferreyra, could 'pack the house' by themselves."
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Biography of Virginia Bolten". 29 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010.
  4. Carlson, M. (1988). Feminismo!: the woman's movement in Argentina from its beginnings to Eva Perón. Academy Chicago Publishers. p. 127. ISBN 9780897331524.
  5. Molyneux, M. (2003). Movimientos de mujeres en América Latina: estudio teórico comparado (ภาษาสเปน). แปลโดย Cruz, J. Universitat de València. p. 42. ISBN 9788437620862. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010.
  6. Moya 2002, p. 202: "The anarchist Virginia Bolten had led in 1889 what was perhaps the first strike by women in the country - that of the dressmakers in Rosario [...]"
  7. Portugal, A. M. (8 มีนาคม 2005). "Anarquistas: "Ni Dios, Ni Patrón, Ni Marido"" (ภาษาสเปน). Mujeres Hoy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010.
  8. "Museo de la Ciudad" (PDF) (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. Avigliano, M. (3 มิถุนายน 2016). "La palabra rugiente". Página 12 (ภาษาสเปน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2022. [...] con una bandera negra con letras rojas en las que se leía 'Primero de Mayo, Fraternidad Universal. Los trabajadores de Rosario cumplimos las disposiciones del Comité Obrero Internacional de París.'
  10. Ehrick, C. (2005). The shield of the weak: feminism and the State in Uruguay, 1903-1933. UNM Press. p. 61. ISBN 9780826334688. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010.
  11. Prieto, Cordero & Muñoz 2014
  12. "Argentina: Caputo, Salvatori associate". South American Business Information. 6 ธันวาคม 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010.
  13. 13.0 13.1 Simeoni, A. (3 ตุลาคม 2007). "Film Adaptation of Virginia Bolten's activities". Página 12 (ภาษาสเปน). อาร์เจนตินา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010.

บรรณานุกรม แก้