น็อกติลูเซนต์ หรือ เมฆทีปราตรี[1] (อังกฤษ: noctilucent) หรือ เมฆโพลาร์มีโซสเฟียร์ (polar mesospheric clouds)[2] เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของโลกชั้นบน เป็นเมฆลักษณะเป็นริ้วคล้ายคลื่น ไม่มีรูปร่างแน่นอน[3] โดยทั่วไปมีสีขาวถึงน้ำเงินอ่อน[4] แต่บางครั้งมีสีแดงหรือเขียว[5] เมฆชนิดนี้มักพบในพื้นที่ละติจูดระหว่าง 50° และ 70° เหนือและใต้เส้นศูนย์สูตร สามารถพบเห็นได้ในช่วงฤดูร้อนและดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าของผู้สังเกตการณ์ แต่ยังคงมีแสงอาทิตย์สะท้อนบนก้อนเมฆอยู่ น็อกติลูเซนต์เป็นคำในภาษาละติน แปลว่า ส่องสว่างตอนกลางคืน[6] มีอักษรย่อคือ NLC หรือ PMC[7]

เมฆน็อกติลูเซนต์เหนือพรุ Kuresoo ประเทศเอสโตเนีย

น็อกติลูเซนต์เป็นเมฆที่อยู่สูงที่สุดในชั้นบรรยากาศของโลก ก่อตัวในชั้นมีโซสเฟียร์ที่ระดับความสูง 76,000–85,000 เมตร (250,000–280,000 ฟุต) เมฆชนิดนี้เกิดจากผลึกน้ำแข็งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 100 นาโนเมตร[8] เมฆชนิดนี้ต่างจากเมฆในชั้นโทรโพสเฟียร์ตรงที่ก่อตัวจากไอน้ำโดยตรงร่วมกับอนุภาคของฝุ่น[9][10] ที่มาของฝุ่นและไอน้ำยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าฝุ่นมาจากสะเก็ดดาวขนาดเล็กหรือมาจากชั้นโทรโพสเฟียร์ ในขณะที่ไอน้ำอาจมาจากช่องว่างของโทรโพพอสหรือเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างมีเทนกับอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลในชั้นสตราโทสเฟียร์ เนื่องจากชั้นมีโซสเฟียร์มีความชื้นน้อยมาก[11] สาเหตุที่น็อกติลูเซนต์มักพบในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชั้นมีโซสเฟียร์จะมีอากาศเย็นที่สุด ทำให้ไอน้ำเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า −120 °ซ[7] ในซีกโลกเหนือมักเกิดช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ในซีกโลกใต้[4] และพบเห็นได้ช่วงสนธยาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและตก โดยจะมองเห็นได้ดีที่สุดเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าประมาณ 6° ถึง 16°[12]

น็อกติลูเซนต์เป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจน มีการบันทึกถึงการพบเห็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1885 สองปีต่อมา ออตโต เจสเซอทำการศึกษาเมฆชนิดนี้และตั้งชื่อว่า noctilucent clouds[13] และเชื่อว่าเกิดจากฝุ่นภูเขาไฟกรากะตัวที่ปะทุเมื่อสี่ปีก่อน[14] อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ถูกหักล้างในปี ค.ศ. 1926[15] ช่วงทศวรรษ 1960 มีการค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างอากาศเย็นจัดกับการก่อตัวของเมฆเมื่อมีการใช้จรวจในการศึกษาชั้นมีโซเฟียร์[16] การศึกษาปัจจุบันพบว่าการปล่อยแก๊สมีเทนที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดเมฆน็อกติลูเซนต์มากขึ้น[17]

อ้างอิง แก้

  1. ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ. "รื่นรมย์...ชมเมฆ การจัดจำแนกเมฆบนฟากฟ้า" (PDF). วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ฉบับที่ 61 (ตุลาคม–ธันวาคม 2553). p. 60. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-29. สืบค้นเมื่อ October 26, 2020.
  2. "Noctilucent clouds (polar mesospheric clouds) - International Cloud Atlas". World Meteorological Organization. สืบค้นเมื่อ September 17, 2019.
  3. Gadsden (1995), pp.8–10.
  4. 4.0 4.1 Cowley, Les. "Noctilucent Clouds, NLCs". Atmospheric Optics. สืบค้นเมื่อ 2008-10-18.
  5. Gadsden (1995), p.13.
  6. Petersen, Carolyn Collins (July 3, 2019). "Understanding the Glow of Noctilucent Clouds". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ September 17, 2019.
  7. 7.0 7.1 "Noctilucent clouds - Polar Mesospheric Clouds". Atmospheric Optics. สืบค้นเมื่อ September 17, 2019.
  8. Phillips, Tony (August 25, 2008). "Strange Clouds at the Edge of Space". NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 1, 2010.
  9. Murray, B.J.; Jensen, E.J. (2000). "Homogeneous nucleation of amorphous solid water particles in the upper mesosphere". Journal of Atmospheric and Solar-Terrestrial Physics. 72 (1): 51–61. Bibcode:2010JASTP..72...51M. doi:10.1016/j.jastp.2009.10.007.
  10. Chang, Kenneth (2007-07-24). "First Mission to Explore Those Wisps in the Night Sky". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
  11. "Noctilucent clouds". Met Office. สืบค้นเมื่อ September 18, 2019.
  12. Gadsden (1995), p.11.
  13. Schröder, Wilfried. "On the Diurnal Variation of Noctilucent Clouds". German Commission on History of Geophysics and Cosmical Physics. สืบค้นเมื่อ 2008-10-06.
  14. Schröder (2001), p.2457
  15. Bergman, Jennifer (2004-08-17). "History of Observation of Noctilucent Clouds". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-28. สืบค้นเมื่อ 2008-10-06.
  16. Schröder (2001), p.2464
  17. "Climate Change Is Responsible for These Rare High-Latitude Clouds". Smithsonian. 2018.