สมเด็จพระ นโรดม ภูริสสระ (Norodom Phurissara) เป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายในกัมพูชา พระองค์เป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ที่หายสาบสูญไประหว่างถูกกักกันโดยเขมรแดงหลังจากขึ้นสู่อำนาจ

สมเด็จพระ นโรดม ภูริสสระ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของราชอาณาจักรกัมพูชา
ดำรงตำแหน่ง
ประมาณ พ.ศ. 2512 – พ.ศ. 2513
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 ตุลาคม พ.ศ. 2462
เสียชีวิต11 เมษายน พ.ศ. 2519 (56 ปี)
พรรคการเมืองพรรคประชาธิปไตย
พรรคสังคมราษฎร์นิยม

การศึกษาและบทบาททางการเมืองระยะแรก แก้

สมเด็จพระ นโรดม ภูริสสระ เป็นเชื้อพระวงศ์กัมพูชาในราชกุลนโรดม เป็นพระโอรสของสมเด็จกรมพระองค์มหาเสนาบดี นโรดม ภานุวงศ์ (พระราชโอรสในสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์) และนักองค์มจะ Sisowath Sangvary Oponasc (พระธิดาในพระองค์มจะ สีสุวัตถิ์ อิสรวงศ์ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์) ประสูติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2462พระบรมราชวังกรุงพนมเปญ เมื่อแรกประสูตินั้นมีพระอิสริยยศเป็น "นักองค์มจะ" (เทียบเท่าหม่อมเจ้าของราชสำนักไทย)

พระองค์สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ ต่อมา ใน พ.ศ. 2497 พระองค์เป็นเลขาธิการของพรรคประชาธิปไตย และมีบทบาทในการเมืองภายในของกัมพูชา โดยภูริสสระและกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงได้ขับเคลื่อนให้มีการดำเนินนโยบายของพรรคเป็นฝ่ายซ้ายมากขึ้น สถานทูตสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า ภูริสสระได้ให้ความเห็นว่ากองทัพสหรัฐในกัมพูชาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ และพระองค์ยังยอมรับแนวคิดคอมมิวนิสต์[1]

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคประชาธิปไตยแพ้ในการเลือกตั้งให้กับพรรคสังคมของสมเด็จพระ นโรดม สีหนุใน พ.ศ. 2498 พรรคจึงสลายตัวไปในที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันของตำรวจลับของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในที่สุด ภูริสสระเข้าร่วมกับพรรคสังคมและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในราว พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นช่วงที่สีหนุมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับจีนและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์

รัฐบาลพลัดถิ่น แก้

หลังจากที่รัฐบาลของสมเด็จพระนโรดม สีหนุถูกโค่นล้มโดยรัฐประหาร พ.ศ. 2513 นำโดยนายพลลน นล ภูริสสระเข้าร่วมกับรัฐบาลพลัดถิ่นของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ โดยเป็นการร่วมมือกับเขมรแดง และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลพลัดถิ่นนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 แต่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ยอมให้พระองค์มีอำนาจที่แท้จริง

ในต้นปี พ.ศ. 2519 หลังจากเขมรแดงได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง สมเด็จพระนโรดม สีหนุกลับมาเป็นประมุขของรัฐในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วทรงปฏิเสธภายหลัง เอียง ซารี และภูริสสระเป็นผู้มาทาบทามให้สมเด็จพระนโรดม สีหนุกลับมาเป็นประมุขอีก แต่สมเด็จพระนโรดม สีหนุปฏิเสธ[2] เขมรแดงจึงให้เขียว สัมพันกับ พล พตขึ้นเป็นประมุขรัฐและรัฐมนตรี

ภูริสสระยังมีบทบาทในรัฐบาลต่อมาอีกหลายเดือน แต่ในที่สุดก็ถูกถอดออก เช่นเดียวกับผู้นิยมสมเด็จพระนโรดม สีหนุคนอื่น ๆ ในที่สุด พระองค์ถูกส่งไปเข้าค่ายสัมมนาใกล้กรุงพนมเปญ แล้วหายตัวไปในที่สุด สันนิษฐานว่าถูกประหารชีวิต สมเด็จพระนโรดม สีหนุเคยออกมาแสดงความกังวลว่าภูริสสระอาจจะถูกฆ่าเช่นเดียวกับสมาชิกราชวงศ์คนอื่น ๆ ที่กลายเป็นเป้าหมายเพราะพระองค์ปฏิเสธตำแหน่งประมุขรัฐ คาดว่าสมเด็จพระนโรดม ภูริสสระเสียชีวิตระหว่าง พ.ศ. 2519 - 2520

อ้างอิง แก้

  1. Clymer, K. J. The United States and Cambodia, 1870-1969, Routledge, 2004, p.49
  2. Dommen, A. The Indochinese Experience of the French and the Americans, IUP, p.967