นากาโอกะ ชินตาโร

ซามูไรฃ

นากาโอกะ ชินตาโร (ญี่ปุ่น: 中岡 慎太郎โรมาจิNakaoka Shintarō, 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1838 - 10 ธันวาคม ค.ศ. 1867) เป็นซามูไรชาวแคว้นโทซะในยุคบากูมัตสึของญี่ปุ่น เขาเป็นผู้ใกล้ชิดของซากาโมโตะ เรียวมะ ซึ่งได้ร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มล้างรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ[1]

นากาโอกะ ชินตาโร
中岡 慎太郎
เกิด6 พฤษภาคม ค.ศ. 1838(1838-05-06)
คิตากาวะ แคว้นโทซะ ญี่ปุ่น
เสียชีวิตธันวาคม 12, 1867(1867-12-12) (29 ปี)
เกียวโต ญี่ปุ่น
สาเหตุเสียชีวิตถูกลอบสังหาร
สัญชาติญี่ปุ่น
อาชีพซามูไร
นากาโอกะ ชินตาโร
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ中岡 慎太郎
ฮิรางานะなかおか しんたろう
คาตากานะナカオカ シンタロウ
การถอดเสียง
โรมาจิNakaoka Shintarō

ภูมิหลัง แก้

นากาโอกะ ชินตาโร เกิดที่หมู่บ้านคิตากาวะ แคว้นโทซะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดโคจิ) โดยเป็นบุตรชายของผู้ใหญ่บ้านคิตากาวะเมื่อ ค.ศ. 1838 ในปี ค.ศ. 1861 เขาได้เข้าศึกษาวิชาการต่าง ๆ และวิชาดาบในสำนักศึกษาที่ทาเกจิ ฮัมเปตะ จัดตั้งขึ้น และได้เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม "โทซะกินโนโต" (กลุ่มผู้ภักดีแห่งโทซะ) ซึ่งเป็นองค์การทางการเมืองติดอาวุธที่ทาเกจิจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมแนวคิด "ซนโนโจอิ" (เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน) [1]

บทบาททางการเมือง แก้

หลังการรัฐประหารในเกียวโตเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1863 อันนำมาซึ่งความกดดันต่อเหล่าผู้ยึดถือแนวคิด "ซนโนโจอิ" นากาโอกะพร้อมด้วยกลุ่มขุนนาง (คูเงะ) ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งรวมถึงซันโจ ซาเนโตมิ ได้ลี้ภัยไปยังแคว้นโชชู ในปี ค.ศ. 1864 เขาได้เข้าร่วมการลอบสังหารชิมาซุ ฮิซามิตสึ ผู้มีอำนาจคนสำคัญของแคว้นซัตสึมะ แต่ล้มเหลว และได้ร่วมสู้กับกองกำลังแคว้นโชชูในเหตุการณ์กบฏฮามากูริและยุทธการที่ชิโมโนเซกิ ต่อมาในปีเดียวกันนั้น นากาโอกะได้เข้าร่วมกลุ่มไคเอ็นไตซึ่งก่อตั้งโดยซากาโมโตะ เรียวมะ และได้ร่วมมือกับเรียวมะในการประสานงานแคว้นซัตสึมะกับแคว้นโชชูในการก่อตั้งพันธมิตรซัตโจ และขอรับการสนับสนุนแผนการดังกล่าวจากซันโจ ซาเนโตมิ

ในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1867 นากาโอกะและเรียวมะได้เดินทางกลับไปยังแคว้นโทซะเพื่อเจรจาให้ทางแคว้นโทซะยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรลับกับแคว้นซัตสึมะ จากนั้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน นากาโอกะก็ได้เริ่มขยายการเจรจาให้เกิดการจัดตั้งพันธมิตรระหว่างแคว้นโชชูกับแคว้นฮิโรชิมะ แต่เรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นเรื่องที่น่าสงสัยไป เพราะในเวลานั้นโชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ได้ตัดสินใจถวายอำนาจการปกครองคืนแก่จักรพรรดิแล้ว ด้วยความตระหนักว่าสงครามกลางเมืองมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ นากาโอกะจึงกลับมายังแคว้นโทซะในเดือนกรกฎาคม และจัดตั้งหน่วยรบติดอาวุธ "ริกูเอ็นไต" ขึ้น[1] โดยใช้รูปแบบเดียวกับกองทหารอาสา "คิเฮไต" ของแคว้นโชชู

มรณกรรม แก้

 
นากาโอกะ ชินตาโร ถ่ายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866

ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1867 นากาโอกะได้เดินทางไปยังที่ร้านโอมิยะในเมืองเกียวโตเพื่อพบกับซากาโมโตะ เรียวมะ ขณะที่ทั้งสองกำลังสนทนากันในห้องพักชั้น 2 ของร้าน ได้มีคนร้ายไม่ทราบฝ่ายเข้าจู่โจมและทำการลอบสังหาร (เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อ "คดีร้านโอมิยะ") [1] เรียวมะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที ส่วนนากาโอกะบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในอีก 2 วันให้หลัง โดยที่เขาไม่ได้สติพอที่จะบอกชื่อคนที่เข้ามาทำร้ายพวกตนได้เลย สุสานของเขาตั้งอยู่ที่ศาลเจ้าเรียวเซ็งโงโกกุ ในเมืองเกียวโต

อนึ่ง จักรพรรดิเมจิได้พระราชทานบำเหน็จความชอบย้อนหลังแก่นากาโอกะ โดยการแต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าขุนนางชั้นที่ 4 ในปี ค.ศ. 1891

หมายเหตุ แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 National Diet Library (NDL), Portraits of Modern Japanese Historical Figures, Nakaoka, Shintaro

อ้างอิง แก้

  • Jansen, Marius B. (1961). Sakamoto Ryoma and the Meiji Restoration. Princeton: Princeton University Press. OCLC 413111
  • Miyaji, Saijiro. (1993). Nakaoka Shintaro: Ishin no shusenka. Tokyo: Chuo-Koronsha, ISBN 4-12-101146-5 (Japanese)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้