นักองค์แบน[1] บ้างออกพระนามว่า แป้น[2][3] หรือ แม้น[4] (ราว พ.ศ. 2352—2383) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ประสูติแต่นักนางเทพ และเป็นหลานสาวของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ต้นสกุลอภัยวงศ์ ครั้นเมื่อตกอยู่ในอิทธิพลญวนจึงมีอีกพระนามหนึ่งว่า หง็อก เบี่ยน (Ngọc Biện, 玉卞)

นักองค์แบน
ประสูติพ.ศ. 2352
พระตะบอง อาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2383 (32 ปี)
ล็องโห่ จักรวรรดิด่ายนาม
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
พระบิดาสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
พระมารดานักนางเทพ

หลังพระบิดาเสวยทิวงคตในช่วงสงครามอานัมสยามยุทธ จักรพรรดิมิญ หมั่งมีพระราชโองการขุนนางจัดพระราชพิธีอภิเษกให้พระองค์เม็ญ ซึ่งเป็นพระขนิษฐาต่างพระชนนีเสวยราชย์แทนพระบิดา[5] เพราะในช่วงเวลานั้นเจ้านายเขมรที่เป็นชายเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยาม คงเหลือแต่เจ้านายเขมรผู้หญิง ฝ่ายญวนจึงกวาดเจ้านายเขมรไปเมืองญวน หวังให้เป็นประเทศราช[6] แต่เพราะนักองค์แบนมีความสนิทสนมกับสยามมากที่สุด จึงถูกฝ่ายญวนปลงพระชนม์ฐานแปรพักตร์ที่แม่น้ำโขง

พระประวัติ แก้

นักองค์แบน ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง จ.ศ. 1171 (พ.ศ. 2352) ณ บ้านของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบอง[2] เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ประสูติแต่นักนางเทพ ธิดาของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ต้นสกุลอภัยวงศ์ ขุนนางเขมรผู้จงรักภักดีต่อกรุงเทพมหานคร[7] นักนางเทพถวายตัวรับราชการฝ่ายใน มีตำแหน่งเป็นพระเทพีเมื่อเดือนอ้าย ปีขาล จ.ศ. 1168 (พ.ศ. 2349)[8] ส่วนเอกสารไทยระบุว่านักนางเทพได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครเทพี[9] มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อพระองค์แก้ว (มา)[1] ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักสยาม และทำหน้าที่เป็นผู้ส่ง "เอกสารลับ" จากสยามไปยังราชสำนักเขมร[9] นักองค์แบนมีพระอนุชาต่างพระชนนี แต่ไม่ปรากฏพระนามพระองค์หนึ่ง[10] และพระขนิษฐาอีกสามพระองค์ คือ นักองค์เม็ญ หรือมี (ประสูติแต่นักนางกระจับ)[11] นักองค์เภา (ประสูติแต่นักนางยศ)[10] และนักองค์สงวน (ประสูติแต่นักนางแป้น)[12]

ผังเครือญาติของนักองค์แบน
 
นักองค์ตน
 
นักองค์เอง
 
นักองค์จัน
 
นักองค์ด้วง
นักองค์แบน 
นักองค์เม็ญ
นักองค์เภานักองค์สงวน 
นักองค์ราชาวดี
 
นักองค์ศรีสวัสดิ
นักองค์วัตถา

หลังสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีผู้มีนโยบายนิยมญวน[9][13] เสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2377 ราชสำนักกัมพูชาขาดผู้สืบราชสันตติวงศ์ เพราะพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระราชธิดาอยู่สี่พระองค์ คือ นักองค์แบน นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวน[14] ในเวลานั้นพระอนุชาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีสองพระองค์ คือ สมเด็จศรีไชยเชฐ พระมหาอุปราช หรือนักองค์อิ่ม และสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ซึ่งประทับอยู่ในสยามอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ทันที แต่ฝ่ายญวนที่ปกครองเขมรอยู่นั้นไม่ยอมรับให้ทั้งสองสืบราชบัลลังก์

เบื้องต้นฝ่ายพระเจ้ากรุงญวนที่คิดจะเอาดินแดนเขมรมาไว้ในปกครอง จะตั้งให้เจ้านายผู้หญิง พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีทั้งสามพระองค์ ครองราชย์ร่วมกัน[1] ทว่าในเวลาต่อมาราชสำนักเว้และขุนนางเขมร หมายจะให้นักองค์แบน พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ขึ้นเสวยราชย์สืบบิดา แต่เพราะเจ้าหญิงพระองค์นี้นิยมสยาม และยังเป็นหลานสาวของขุนนางเขมรที่ฝักใฝ่สยามจึงมิได้ถูกเลือก[7] ในขณะที่นักองค์เม็ญได้รับการโน้มน้าวจากขุนนางญวนให้เสกสมรสกับพระราชโอรสของจักรพรรดิซา ล็อง (เอกสารไทยเรียก ยาลอง หรือองเชียงสือ) แต่แผนการนี้ถูกขุนนางเขมรคัดค้านอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่ามีวัฒนธรรมต่างกัน และไม่เหมาะควรที่จะให้เจ้านายผู้หญิงปกครองประเทศยาวนาน[1]

พฤษภาคม พ.ศ. 2378 ราชสำนักเว้สถาปนานักองค์เม็ญ หรือหง็อก เวิน (Ngọc Vân, 玉雲) เป็น "เจ้าหญิงเมืองขึ้น" (Quận chúa, 郡主) และมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าเจ้าหญิงพระราชธิดากรุงญวน (Công chúa, 公主) ส่วนพระภคินีพระองค์อื่น คือ นักองค์แบน หรือหง็อก เบี่ยน (Ngọc Biện, 玉卞) นักองค์เภา หรือหง็อก ทู (Ngọc Thu, 玉秋) และนักองค์สงวน หรือหง็อก เงวียน (Ngọc Nguyên, 玉源) มีบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านหญิงหัวเมืองน้อย" (Huyen quan, 縣君) ฝ่ายญวนทำการอารักขาพระองค์เม็ญอย่างใกล้ชิด มีทหารรักษาพระองค์สองกองร้อย รวม 100 นาย ส่วนพระภคินีอีกสามพระองค์ มีทหารอารักขาพระองค์ละ 30 นาย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เจ้านายเขมรคิดหลบหนีไปพึ่งสยาม

กระทั่ง พ.ศ. 2383 นักองค์แบนถูกทางการญวนจับได้ว่าทรงวางแผนหลบหนีไปสยาม จากการลับลอบติดต่อกับนักเทพ พระชนนี และพระองค์แก้ว ผู้เป็นลุง ที่พลัดไปเมืองพระตะบองซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของสยาม จักรพรรดิมิญ หมั่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้จับเจ้านายเขมรไปคุมขังที่พนมเปญเพื่อพิจารณาคดี ต่อมามีพระราชโองการปลดพระองค์เม็ญในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2384 ก่อนเนรเทศเจ้าหญิงเขมรพร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปไซ่ง่อน[15][14][16] บรรดาขุนนางและข้าราชการเขมรมองว่าการที่ญวนทำเช่นนี้ เสมือนการล้างบางเจ้าเขมรให้สูญวงศ์ อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันโกรธแค้นและเจ็บปวดกับนโยบายของญวน[4] ขุนนางญวนส่งเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่พระองค์ไว้ที่เมืองล็องโห่ (Long Hồ, 龍湖) เอกสารเขมรเรียกเมืองลงโฮ ส่วนเอกสารไทยเรียกเมืองล่องโห้ เซือง วัน ฟ็อง (Dương Văn Phong) เอกสารเขมรเรียก กุงดก เจ้าเมืองล็องโห่ นำส่งเจ้าหญิงเขมรสามพระองค์คือ นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวนให้เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng, 張明講) หรือเอกสารไทยเรียก องเตียนกุน แม่ทัพญวนที่ปกครองเขมร ส่งต่อไปยังเมืองไซ่ง่อน แต่กุมนักองค์แบนไว้ เพราะพระชนนีของพระองค์หนีไปพึ่งสยามในกรุงเทพฯ ฝ่ายญวนมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการทรยศ เซือง วัน ฟ็องจึงนำนักองค์แบนผู้แปรพักตร์ไปสำเร็จโทษที่เมืองล็องโห่ เมื่อพระชันษา 32 ปี[17] เอกสารเขมรระบุว่านักองค์แบนสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำที่แม่น้ำโขง ส่วนเอกสารของคิน สก (Khin Sok) ระบุว่านักองค์แบนถูกทรมานจนสิ้นพระชนม์ ทหารญวนจึงนำพระศพไปทิ้งน้ำ[18]

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 166
  2. 2.0 2.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 184
  3. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 214-215
  4. 4.0 4.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 239
  5. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 233
  6. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 251
  7. 7.0 7.1 ศิลปะเขมร, หน้า 21
  8. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 180
  9. 9.0 9.1 9.2 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 113-114
  10. 10.0 10.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 221
  11. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 212
  12. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 222
  13. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 184
  14. 14.0 14.1 เขมร "ถกสยาม", หน้า 99
  15. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 192
  16. "Siam, Cambodia, and Laos 1800-1950 by Sanderson Beck". www.san.Beck.org. สืบค้นเมื่อ 6 August 2017.
  17. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 240
  18. Trudy Jacobsen, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, p. 113
บรรณานุกรม
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560. 360 หน้า. ISBN 978-616-514-575-6
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 500 หน้า. ISBN 978-616-514-661-6
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 232 หน้า. ISBN 978-974-02-1324-6
  • ศานติ ภักดีคำ. เขมร "ถกสยาม". กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 208 หน้า. ISBN 978-974-02-0418-3