ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Thanachart Bank Public Company Limited (TBANK)) เป็นอดีตธนาคารพาณิชย์ที่มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งหมดกว่า 600 สาขา เริ่มเปิดดำเนินการวันแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2545 ปัจจุบันได้ควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย และกลายเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
ประเภทธนาคารพาณิชย์
อุตสาหกรรมธนาคาร Edit this on Wikidata
ก่อตั้ง22 เมษายน พ.ศ. 2545
เลิกกิจการ5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 (5 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 (2021-07-05)) (ธนาคารธนชาตเดิม)
สาเหตุรวมกิจการเข้ากับธนาคารทหารไทย
ถัดไปธนาคารทหารไทยธนชาต
สำนักงานใหญ่444 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ทาวเวอร์ ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 (บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน))

ประวัติ แก้

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในกลุ่มธนชาต กลุ่มธุรกิจการเงินที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เดิมเป็นสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจในชื่อ บริษัทเงินทุน เอกชาติ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในชื่อแรก "บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอกชาติ จำกัด (มหาชน)" เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เปลี่ยนชื่อครั้งที่ 2 เป็น "บริษัทเงินทุน เอกชาติ จำกัด (มหาชน)" เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2541

ธนาคารธนชาตเปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2545 ภายใต้ใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดขอบเขตธุรกิจจากกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นได้รับใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2547

พ.ศ. 2550 ธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย (สโกเทียแบงก์) ธนาคารที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นธนาคารที่มีความมั่นคงอันดับต้น ๆ ของโลก ได้เข้ามาร่วมถือหุ้นธนาคารธนชาตอยู่ 24.99% ก่อนที่จะถือเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในปี พ.ศ. 2552 ส่วนหุ้นอีก 51% ของธนาคารธนชาต เป็นการถือโดย บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีผู้ถือหุ้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปไม่มีตระกูลใดถือหุ้นใหญ่

พ.ศ. 2553 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเติบโตของธนาคารธนชาต เนื่องจากเป็นปีที่ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และจากการขอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทยจากผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยอื่น (Tender offer) ทำให้ธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารนครหลวงไทย

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 การเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยของธนาคารธนชาตเสร็จสิ้นสมบูรณ์ นับเป็นการควบรวมและเข้าซื้อกิจการที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย และเป็นไปตามนโยบายของทางการที่ต้องการให้ธนาคารต่าง ๆ รวมกิจการกันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่ระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การรวมกิจการครั้งนั้นทำให้ธนาคารธนชาตมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน มีช่องทางในการให้บริการทั้งลูกค้าบุคคล (Retail) และลูกค้าสถาบัน (Corporate) ได้มากขึ้น ในธุรกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทำให้ธนาคารมีเสถียรภาพในการบริหารจัดการรายได้ ส่งผลให้มีความมั่นคงและพร้อมสำหรับการเติบโตเป็นอย่างยิ่ง

ภายหลังควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาตเปลี่ยนชื่อนิติบุคคลเป็น บริษัท ทีบีซีโอ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564[1] และจดทะเบียนชำระบัญชีกับกระทรวงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 อันเป็นการเลิกกิจการอย่างสมบูรณ์[2]

ความหมาย “ธนชาต” แก้

“ธนชาต” คำนี้มีความหมาย เริ่มแรกทุกบริษัทในกลุ่มธนชาต ใช้ชื่อว่า “ธนชาติ” ซึ่งตามรูปศัพท์หมายถึง การเกิดแห่งทรัพย์ ต่อมาเมื่อเปิดดำเนินการ ธนาคารธนชาต จึงใช้ชื่อว่า “ธนชาต” เนื่องจากติดข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่อนุญาตให้ใช้คำว่า “ชาติ” เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของชื่อของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการง่ายต่อการสร้างความจดจำในการสื่อสารเรื่องแบรนด์ ทุกบริษัทในกลุ่มธนชาตจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ธนชาต” (ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับ “ธนชาติ”) ตั้งแต่นั้นมา โดย “ธนชาต” ตามรูปศัพท์ หมายถึง ทรัพย์ที่เกิดแล้ว

บริษัทในกลุ่มธนชาต แก้

  1. บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจการลงทุน (Holding Company) เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนชาต
  2. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาต ได้แก่ การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย การเป็นนายหน้าประกันชีวิต รวมถึงตัวแทนสนับสนุนการจำหน่ายหน่วยลงทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม และผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคล การค้าและจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ การให้บริการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์และการเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำ
  3. บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ประกอบธุรกิจ ดังนี้
    1. ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้แก่ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน กิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์
    2. ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเอง
  4. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารธนชาต (ถือหุ้นร้อยละ 75) กับธนาคารออมสิน (ถือหุ้นร้อยละ 25) ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนรวม ธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน
  5. บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจให้บริการประกันภัย ครอบคลุมถึงการบริการรับประกันวินาศภัย ได้แก่ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การประกันภัยเบ็ดเตล็ด และธุรกิจการลงทุน
  6. บริษัท ธนชาตกรุ๊ป ลีสซิ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภท
  7. บริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจการให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อและสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน โดยมุ่งเน้นไปที่รถยนต์มือสองประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  8. บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในกลุ่มธนชาตมาบริหาร
  9. บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินมาบริหาร
  10. บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารธนชาต ทั้งสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินทรัพย์รอการขายมาบริหาร
  11. บริษัท ประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง  บริษัท ทุนธนชาต (ถือหุ้นร้อยละ 53.5 )และบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้นร้อยละ 46.5 ) ประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยเน้นการทำตลาดลูกค้าบุคคลที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป
  12. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

พัฒนาการสำคัญของกลุ่มธนชาต แก้

  • พ.ศ. 2523 ก่อตั้ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ธนชาติ จำกัด
  • พ.ศ. 2532 บงล.ธนชาติ เข้าถือหุ้น บงล.เอกชาติ
  • พ.ศ. 2540 แยกกิจการหลักทรัพย์และกิจการเงินทุนออกจากกัน โดยบริษัทเงินทุน (บง.) ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้านเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาติ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านหลักทรัพย์ก่อตั้ง บริษัท ธนชาติประกันชีวิต จำกัด และ บริษัท ธนชาติประกันภัย จำกัด
  • พ.ศ. 2541 บง.ธนชาติ เข้าถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมออมสิน จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ธนชาติ จำกัด
  • พ.ศ. 2543 ก่อตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) แม๊กซ์ จำกัด และ บบส.เอ็น เอฟ เอส โดยกลุ่มซูริค ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนชาติและได้เข้าถือหุ้นใน บจก.ธนชาติประกันชีวิต และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ธนชาติซูริคประกันชีวิต จำกัด
  • พ.ศ. 2545 กลุ่มธนชาติได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จากกระทรวงการคลัง บง.เอกชาติ เปลี่ยนการประกอบธุรกิจจากเงินทุนเป็นธนาคารพาณิชย์โดยใช้ชื่อว่า ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
  • พ.ศ. 2548 -
    • บง.ธนชาติ ซื้อหุ้น บจก.ธนชาติซูริคประกันชีวิต คืนจากกลุ่มซูริค และเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น บจก.ธนชาตประกันชีวิต
    • กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจสถาบันการเงินของกลุ่มธนชาตให้เป็นสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
  • พ.ศ. 2549 บง.ธนชาติ คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของกระทรวงการคลัง
  • พ.ศ. 2550 ปรับโครงสร้างการถือหุ้นบริษัทในกลุ่มธนชาตใหม่ โดย บมจ.ทุนธนชาต ถือหุ้นเฉพาะธนาคารธนชาตกับกลุ่ม บบส. และธนาคารธนชาตถือหุ้นในบริษัทย่อย ที่ประกอบธุรกิจการเงินและธุรกิจสนับสนุน ธนาคารแห่งโนวาสโกเทียเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารธนชาต โดยเข้าถือหุ้นจำนวน 24.99% หลังจากนั้นได้ถือเพิ่มเป็น 49% ในปี พ.ศ. 2552
  • พ.ศ. 2553 ธนาคารธนชาตเข้าซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย ร้อยละ 47.58 จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น (Tender offer) ทำให้ธนาคารธนชาตถือหุ้นในธนาคารนครหลวงไทยรวมทั้งสิ้นร้อยละ 99.95
  • พ.ศ. 2554 ธนาคารนครหลวงไทยโอนขายกิจการทั้งหมดให้แก่ธนาคารธนชาตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ทำให้ธนาคารธนชาตเติบโตเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มีสินทรัพย์ ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าทั้งสาขาและตู้เอทีเอ็ม รวมถึงฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น
  • พ.ศ. 2556 ธนาคารธนชาต และพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ร่วมมือทางธุรกิจในการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันชีวิต ผ่านสาขาของธนาคารธนชาต มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี และธนาคารธนชาตได้ดำเนินการโอนหุ้นที่ถืออยู่ใน ธนชาตประกันชีวิต ทั้งหมดจำนวนร้อยละ 100 ให้แก่พรูเด็นเชียล
  • พ.ศ. 2557 บริษัท ทุนธนชาต และ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ประกันชีวิตนครหลวงไทย จากธนาคารธนชาต ทำให้ปัจจุบัน ประกันชีวิตนครหลวงไทย มีทุนธนชาตถือหุ้นร้อยละ 53.5 และเอ็มบีเค ถือร้อยละ 46.5
  • พ.ศ. 2562 ธนาคารธนชาตและธนาคารแห่งโนวาสโกเทียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจโอนขายกิจการแก่ธนาคารทหารไทย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งสองธนาคาร
  • พ.ศ. 2563 ธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดให้บริการทุกสาขาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน
  • พ.ศ. 2564 -
    • วันที่ 23 เมษายน ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการเปลี่ยนชื่อธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต
    • วันที่ 7 พฤษภาคม เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต
    • วันที่ 5 กรกฎาคม เสร็จสิ้นการโอนขายกิจการอย่างสมบูรณ์


รายนามประธานกรรมการ แก้

  1. นายวิจิตร สุพินิจ (พ.ศ. 2545-2548)
  2. พลเอก ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ (พ.ศ. 2548-2549)
  3. พลเอก อภิชาติ เพ็ญกิตติ (พ.ศ. 2549-2551)
  4. นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ (พ.ศ. 2551-2553)
  5. นายบันเทิง ตันติวิท (พ.ศ. 2553-2554)
  6. นายสาธิต รังคสิริ (พ.ศ. 2554-2557)
  7. นายวิทยา เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2557-2558)
  8. นางนิสดารก์ เวชยานนท์ (พ.ศ. 2558-2560)
  9. พลเอก สกล ชื่นตระกูล (พ.ศ. 2560-2561)
  10. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ (พ.ศ. 2561-2563)
  11. นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (พ.ศ. 2563-2564)

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "เอกสารเผยแพร่ - ทีบีซีโอ จำกัด (มหาชน) : TBANK". สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์.
  2. อีไฟแนนซ์ไทย, สำนักข่าว. "TTB โชว์กำไรปี 66 ที่ 1.84 หมื่นลบ. โต 30% รับรายได้ดอกเบี้ยพุ่งตามพอร์ตสินเชื่อรายย่อย". efinancethai.com.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า ธนาคารธนชาต ถัดไป
ธนาคารนครหลวงไทย   ธนาคารธนชาต
(22 เมษายน พ.ศ. 2545 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564)
  ธนาคารทหารไทยธนชาต