ธนาคารกรุงไทย

สถาบันการเงินในประเทศไทย

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทยมีสำนักงานอยู่ที่เขตวัฒนาและเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เดิมธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ต่อมา มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เข้าถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยมากกว่าร้อยละ 50 จึงทำให้ธนาคารกรุงไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ธนาคารกรุงไทยเข้าลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การตีความจึงขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์หรือนิยามของกฎหมายแต่ละฉบับ[3] และธนาคารกรุงไทยยังเป็นหนึ่งในห้าธนาคารขนาดใหญ่[4] ในปี 2564 ธนาคารกรุงไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มกราคม ปีเดียวกัน และธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่กำไรอยู่ในลำดับรั้งท้ายที่สุด ในบรรดา 5 ธนาคารขนาดใหญ่ และมีจำนวนสาขาเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทยแม้จะปิดสาขาไปแล้วจำนวนมาก

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชน
การซื้อขาย
SET:KTB
ISINTH0150010Z03 Edit this on Wikidata
อุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน
ธนาคาร
ก่อนหน้าธนาคารมณฑล
ธนาคารเกษตร
ก่อตั้ง14 มีนาคม พ.ศ. 2509; 58 ปีก่อน (2509-03-14)
ผู้ก่อตั้งกระทรวงการคลัง (ธนาคารมณฑลและกรุงไทย)
วิลาศ โอสถานนท์ และ
ดิเรก ชัยนาม (ธนาคารเกษตร)
สำนักงานใหญ่35 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
นาย ลวรณ แสงสนิท(ประธานกรรมการ)
นาย ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย (ประธานกรรมการบริหาร)
รายได้เพิ่มขึ้น 157,678.72 ล้านบาท (2562)[1]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 3,012,216.12 ล้านบาท (2562)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 338,287.30 ล้านบาท (2562)[1]
พนักงาน
29,000 (พ.ศ. 2563) Edit this on Wikidata
อันดับความน่าเชื่อถือFitch: AA+(tha)[2]
เว็บไซต์krungthai.com

ประวัติ แก้

ธนาคารมณฑล แก้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารของรัฐในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจขึ้นเพื่อทดแทนธนาคารต่างประเทศที่ยุติการดำเนินกิจการเนื่องจากประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยทำการจัดตั้งธนาคารเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ธนาคารไทย จำกัด (อังกฤษ: Thai Bank Company Ltd.) ธนาคารไทยจึงมีหน้าที่ในการดำเนินธุรกิจทดแทนธนาคารต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเพื่อเกื้อกูลการค้าข้าวของบริษัท ข้าวไทย จำกัด และในต่อมาธนาคารไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล จำกัด (อังกฤษ: The Provincial Bank Ltd.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 เพื่อมิให้ชื่อซํ้าซ้อนกับธนาคารชาติซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยรวมถึงสอดคล้องกับบทบาทในการสนับสนุนกิจการของบริษัทพาณิชย์ในจังหวัดต่าง ๆ[5] โดยมีสำนักงานเป็นตึก 4 ชั้นหน้าสนามม้านางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์ แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) ปัจจุบัน (31 มกราคม พ.ศ. 2566) นาย ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นรองประธานกรรมการธนาคาร ประธานกรรมการบริหาร นาย ผยง ศรีวณิช เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่

ธนาคารมณฑลได้รับการก่อตั้งโดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังถือ 50,650 หุ้น และบริษัท ข้าวไทย จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือ 45,172 หุ้น ทำให้ธนาคารมณฑลมีสัดส่วนของการถือหุ้นของรัฐสูงถึงร้อยละ 95.8 และกรรมการธนาคารในระยะแรกมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น วนิช ปานะนนท์ แนบ พหลโยธิน พระยาเฉลิมอากาศ เป็นต้น และพนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานเดิมจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ด และธนาคารเมอร์แคนไทล์ที่ได้ยุติกิจการไป[5]

ภายหลังการรัฐประหารของพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ที่มีต่อรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ใน พ.ศ. 2490 กลุ่มซอยราชครูที่เป็นกลุ่มการเมืองของพล.ท.ผิน ได้พยายามเข้าครอบงำธนาคารมณฑลเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจและประสบความสำเร็จใน พ.ศ. 2495 โดยแต่งตั้ง พล.ต.ต.ละม้าย อุทยานานนท์ หนึ่งในกลุ่มซอยราชครูขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการต่อจากพระยาโกมารกุลมนตรีและพระยาบุรณศิริพงษ์เป็นผู้จัดการ ในภายหลังธนาคารได้กลับสู่กลุ่มอำนาจของจอมพล ป. อีกครั้งหลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2494 และอยู่ภายใต้กลุ่มอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2500[5]

การถูกใช้แสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลายครั้งทำให้ฐานะของธนาคารมณฑลอยู่ในสภาวะง่อนแง่น มีผลการดำเนินงานต่ำ หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีวินัยทางการเงินทำให้ธนาคารมณฑลเริ่มประสบภาวะขาดทุนจนได้รับอัดฉีดเงินการกระทรวงการคลังจาก 10 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท โดยถือหุ้นร้อยละ 82.3 เพื่อมิให้ธนาคารล้มละลาย แต่ก็แก้ไขสถานการณ์ไม่ได้นักทำให้รัฐบาลในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร ตัดสินใจรวมธนาคารมณฑลเข้ากับธนาคารเกษตร[5]

ธนาคารเกษตร แก้

ธนาคารเกษตร (อังกฤษ: Agricultural Bank Ltd.) ได้รับการก่อตั้งโดยกลุ่มข้าราชการและพ่อค้าซึ่งนำโดยวิลาส โอสถานนท์ และดิเรก ชัยนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และมีทุนจดทะเบียนในชั้นแรก 10 ล้านบาท แบ่งเป็น 10,000 หุ้น โดยมีการกระจายหุ้นอย่างกว้างกว้างให้กับบุคคลต่าง ๆ โดยมีสุริยน ไรวาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และวิลาสดำรงตำแหน่งผู้จัดการคนแรก ต่อมาได้มีข้าราชการหลายคนเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการแทน เช่น พระช่วงเกษตรศิลปการ พระยาบูรณสิริพงศ์[5]

ธนาคารเกษตรได้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของกลุ่มซอยราชครูเช่นเดียวกับธนาคารมณฑลโดยมีจอมพลผิน ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารสืบต่อจากพระยาศรีวิสารวาจาทำให้ฐานะของธนาคารอยู่ในสภาวะตกต่ำจากการแสวงหาผลประโยชน์ ภายหลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2500 ธนาคารเกษตรเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินจนทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเพื่อประคองธนาคารและส่งผลให้ธนาคารแปรสภาพจากวิสาหกิจเอกชนเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังพยายามที่จะอัดฉีดเงินเพื่อพยุงฐานะของธนาคารจนถึง พ.ศ. 2508 รัฐบาลถือหุ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.15 และต่อมาได้รวมกิจการเข้ากับธนาคารมณฑลโดยมี หม่อมเจ้าทองประทาศรี ทองใหญ่ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และจำรัส จตุรภัทร เป็นกรรมการผู้จัดการคนสุดท้ายของธนาคารเกษตร[5]

รวมกิจการ แก้

ด้วยนโยบายของเสริม วินิจฉัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลควรมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ขณะที่ในเวลาดังกล่าว รัฐบาลไทยเข้าถือหุ้นใหญ่ ในธนาคารพาณิชย์ถึงสองแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารมณฑล จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2485 และ ธนาคารเกษตร จำกัด ที่ก่อตั้งโดยสุริยน ไรวา ตั้งแต่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2493 กระทรวงการคลังจึงประกาศ ให้ควบรวมกิจการของธนาคารทั้งสองดังกล่าว โดยก่อตั้งขึ้นในชื่อใหม่ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 และใช้อาคารสำนักงานใหญ่แห่งเดิมของธนาคารเกษตรเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงไทยในยุคแรก ต่อมาอาคารดังกล่าวมีพื้นที่คับแคบ ไม่สามารถรองรับกิจการ ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมาก ธนาคารจึงทำการย้ายสำนักงานใหญ่ ไปยังอาคารเลขที่ 35 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน สำหรับอาคารที่เยาวราชในทุกวันนี้ นอกจากคงใช้เป็นสาขาเยาวราชแล้ว ยังปรับปรุงส่วนหนึ่งของอาคารให้เป็นหอศิลป์กรุงไทยด้วย

จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และแปรสภาพ แก้

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ก่อนจะเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 สิงหาคม ปีเดียวกัน และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2537 ตามลำดับ ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน[6]

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี พ.ศ. 2560[7] ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560

สถานภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ แก้

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ในฐานะผู้ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50) ได้มีหนังสือแจ้งธนาคาร ในเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารว่า ธนาคารไม่มีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561[8]และกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ธนาคารอื่นที่รับโอนกิจการและโอนบริการ แก้

  • รับโอนกิจการ ธนาคารสยาม จำกัด (ที่เปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2527 มาจากชื่อเดิมคือ ธนาคารเอเชียทรัสต์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2508) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2530 โดยแยกส่วนงานกำกับดูแลลูกหนี้เดิม โอนไปให้แก่บริษัท ทิพยสิน จำกัด
  • รับโอนกิจการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ถนนสุรศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นที่ทำการของบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ บสก.) ซึ่งยุติการดำเนินกิจการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2541 โดยรับโอนเฉพาะทรัพย์สิน หนี้สิน งบประมาณที่มีคุณภาพ และเงินฝากของลูกค้าธนาคารดังกล่าว
  • รับโอนกิจการ ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) (ที่เปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 มาจากชื่อเดิมคือ บริษัท แบงก์ตันเปงชุน จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 และเปลี่ยนชื่อครั้งแรกเป็น ธนาคารไทยพัฒนา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2503 ตามลำดับ) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ในซอยสวนมะลิ (ปัจจุบันเป็นธนาคารกรุงไทย สาขาสวนมะลิ) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
  • โอนบริการทางการเงิน ตามกฎหมายชะรีอะฮ์ในศาสนาอิสลาม หรือที่นิยมเรียกว่า ธนาคารกรุงไทยชะรีอะฮ์ ให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร แก้

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ แก้

ธุรกิจด้านตลาดทุนและที่ปรึกษาทางการเงิน แก้

  • บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด (KTX)
  • บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM)
  • บริษัท เคทีบี แอดไวซ์เซอร์รี่ จำกัด (KTBA)

ธุรกิจประกัน แก้

  • บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (KTAL)
  • บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) (KPI)

ธุรกิจสนับสนุน แก้

รายนามประธานกรรมการ แก้

  1. หลวงอรรถปรีชาชนูปการ (ฉอรรถ แสนโกศิก) (พ.ศ. 2509-2513)
  2. นายสมภพ โหตระกิตย์ (พ.ศ. 2513-2518)
  3. นายอำนวย วีรวรรณ (พ.ศ. 2518-2520)
  4. นายชาญชัย ลี้ถาวร (พ.ศ. 2520-2525)
  5. นายพนัส สิมะเสถียร (พ.ศ. 2525-2535)
  6. นายบัณฑิต บุณยะปานะ (พ.ศ. 2535-2536)
  7. นายอรัญ ธรรมโน (พ.ศ. 2536-2538)
  8. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล (พ.ศ. 2538-2540)
  9. นายศุภชัย พิศิษฐวานิช (พ.ศ. 2540-2543)
  10. นายสมใจนึก เองตระกูล (พ.ศ. 2543-2545)
  11. พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (พ.ศ. 2545-2548)
  12. นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล (พ.ศ. 2548-2552)
  13. นายวินัย วิทวัสการเวช (พ.ศ. 2552-2553)
  14. นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม (พ.ศ. 2553-2556)
  15. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ (พ.ศ. 2556-2558)
  16. นายสมชัย สัจจพงษ์ (พ.ศ. 2558-2561)
  17. นายประสงค์ พูนธเนศ (พ.ศ. 2561-2563)
  18. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ (พ.ศ. 2563-2566)
  19. นายลวรณ แสงสนิท (พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แก้

ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[9]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 7,696,248,833 55.07%
2 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 834,921,543 5.97%
3 STATE STREET EUROPE LIMITED 362,902,099 2.60%
4 สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด 326,090,300 2.33%
5 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 305,775,658 2.19%
6 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 305,775,657 2.19%
7 SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 203,102,782 1.45%
8 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด 197,862,800 1.42%
9 ธนาคารออมสิน 113,264,822 0.81%
10 THE BANK OF NEW YORK MELLON 99,837,181 0.71%

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 งบการเงิน/ผลประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  2. อันดับเครดิต ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. [ https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39359 ธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่]
  4. 5 แบงก์ไทยที่แข็งแกร่งที่สุด
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 วิกฤติการณ์การเงินและเศรษฐกิจการเงินไทย ภาคที่ 6 สถาบันการเงินของรัฐ
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  7. ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี พ.ศ. 2560
  8. ‘กรุงไทย’ ประกาศพ้นการเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ หลังกฤษฎีกาตีความชัดเจน
  9. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เก็บถาวร 2021-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย