ธงชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ธงชาติ

ธงชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่ใช้อยู่ในเวลานี้ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับใหม่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งได้มีการให้สัตยาบันในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ได้ระบุให้ใช้ธงซึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับธงชาติในช่วง พ.ศ. 2503 - 2514 โดยแก้ไขสีธงจากสีน้ำเงิน (royal blue) เป็นสีฟ้า (sky blue) ซึ่งสีดังกล่าวนี้มีความหมายถึงสันติภาพ สำหรับสีแดงในธงนี้หมายถึง เลือดของผู้สละชีพเพื่อชาติ ดวงดาวหมายถึงอนาคตอันสดใสของชาติ[3]


ธงชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
การใช้ ธงชาติ
สัดส่วนธง 3:4[1]
ประกาศใช้ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)[2]
ลักษณะ ธงพื้นสีฟ้า มีรูปดาวสีเหลืองซึ่งถูกย่อขนาดลงและย้ายไปไว้ที่มุมธงบนด้านคันธง ในพื้นธงพาดทับตามแนวทแยงจากมุมขวาบนลงมายังมุมซ้ายล่างของธงด้วยแถบสีแดงขอบเหลือง.
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
ชื่ออื่น ธงประจำตำแหน่งประธานาธิบดี
ลักษณะ ธงชาติพร้อมกับมีข้อความเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "LE PRESIDENT"

ประวัติ แก้

ที่มาของธงชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมาจากธงของสมาคมแอฟริกันนานาชาติ (Association Internationale Africaine) ซึ่งเป็นสมาคมที่สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียมทรงจัดตั้งขึ้น (สมาคมนี้จัดตั้งขึ้นในฐานะองค์กรทางด้านมนุษยธรรม แต่แท้จริงเป็นเพียงองค์กรบังหน้าการกดขี่ขูดรีดดินแดนคองโกของพระเจ้าเลออปอล) ธงดังกล่าวนี้ได้ถูกชักขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2420 ธงนี้นัยว่าได้รับการออกแบบโดย เฮนรี มอร์ตัน สแตนลีย์ นักสำรวจทวีปแอฟริกาผู้มีชื่อเสียง มีลักษณะเป็นธงพื้นสีน้ำเงิน มีรูปดาวห้าแฉกสีทองอยู่กลางธง ดาวดังกล่าวหมายถึงแสงสว่างแห่งอารยธรรมซึ่งบัดนี้ได้ฉายแสงเหนือแผ่นดินส่วนที่มืดมนที่สุดของทวีปแอฟริกาแล้ว ธงนี้ต่อมาได้กลายเป็นธงชาติของเสรีรัฐคองโกภายหลังจากดินแดนคองโกได้รับการยอมรับว่าอยู่ในความยึดครองของเบลเยียมอย่างเป็นทางการในการประชุมที่เบอร์ลินใน พ.ศ. 2427

ต่อมาเมื่อเบลเจียนคองโกได้รับเอกราชในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ก็ได้จัดตั้งประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐคองโก (เลออปอลวีล) (ปัจจุบันเมืองเลออปอลวีลได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองกินชาซา) ธงชาติของสาธารณรัฐคองโกแห่งนี้ยังคงลักษณะพื้นฐานจากธงเดิมไว้ แต่ได้มีการเพิ่มรูปดาวขนาดเล็ก 6 ดวงไว้ที่ด้านต้นธง เพื่อหมายถึงจังหวัดในความปกครองทั้ง 6 จังหวัดในเวลานั้น ธงดังกล่าวนี้ได้ใช้อยู่ในระหว่าง พ.ศ. 2503 - 2506

หลังสิ้นสุดวิกฤตการณ์คองโกในปี พ.ศ. 2509 โมบูตู เซเซ เซโก (Mobutu Sese Seko) ได้สถาปนาการปกครองระบอบเผด็จการภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เขาได้กำหนดธงชาติขึ้นใหม่เป็นธงสีน้ำเงิน มีรูปดาวสีเหลืองซึ่งถูกย่อขนาดลงและย้ายไปไว้ที่มุมธงบนด้านคันธง ในพื้นธงพาดทับตามแนวทแยงจากมุมขวาบนลงมายังมุมซ้ายล่างของธงด้วยแถบสีแดงขอบเหลือง ซึ่งสีแดงหมายถึงเลือดของประชาชน สีเหลืองหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง สีน้ำเงินหมายถึงความหวัง ดวงดาวหมายถึงความเป็นเอกภาพ[4] เมื่อได้มีการเปลี่ยนนามประเทศเป็นสาธารณรัฐซาอีร์ในปี พ.ศ. 2514 จึงได้มีการเปลี่ยนธงใหม่อีก ธงดังกล่าวนี้ถูกสร้างขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความเป็นแอฟริกาขึ้นในชาติ (re-Africanization) ของโมบูตู และได้ใช้อย่างเป็นทางการมาจนถึงการขับไล่โมบูตูลงจากอำนาจในปี พ.ศ. 2540

หลังสิ้นสุดการปกครองของโมบูตูแล้ว จึงได้มีการฟื้นฟูเอาธงชาติสมัยสาธารณรัฐที่หนึ่งมาเป็นสัญลักษณ์อีกครั้ง และได้เปลี่ยนแปลงมาสู่ธงปัจจุบัน ซึ่งเลียนแบบจากธงของสาธารณรัฐที่ 2 ในปี พ.ศ. 2549

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Construction sheet
  2. "DRC: Congo gets new constitution, new flag". The New Humanitarian. 20 February 2006. สืบค้นเมื่อ 1 November 2019 – โดยทาง ReliefWeb.
  3. "Congo-Kinshasa: DRC: Congo Gets New Constitution, New Flag". UN Integrated Regional Information Networks. 20 February 2006. สืบค้นเมื่อ 1 November 2019 – โดยทาง AllAfrica Global Media.
  4. Democratic Republic of the Congo ที่ Flags of the World (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้