ท่าเรือราชวงศ์ (อังกฤษ: Ratchawong Pier; รหัส: น5, N5) เป็นท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนราชวงศ์ มีเรือข้ามฟากไปยังท่าดินแดงและท่าเรือด่วนเจ้าพระยา

ท่าเรือราชวงศ์
ท่าราชวงศ์
ประเภทท่าเรือโดยสาร
ประเภทเรือเรือด่วน, เรือข้ามฟาก
โครงสร้างท่าสะพานเหล็กปรับระดับพร้อมทางเดินเชื่อม (ด้านเหนือ)
สะพานทางเดินเชื่อม (ด้านใต้)
ที่ตั้งเขตสัมพันธวงศ์, กรุงเทพมหานคร
ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ชื่อทางการท่าวังหลัง (กรมเจ้าท่า)
เจ้าของเอกชน (ด้านเหนือ)
กรมเจ้าท่า (ด้านใต้)
ผู้ดำเนินงาน • เรือด่วนเจ้าพระยา
 • เรือโดยสารไมน์สมาร์ทเฟอร์รี่
ค่าโดยสาร • เรือด่วนเจ้าพระยา

ธงส้ม16 บาทตลอดสาย
ธงเหลือง 21 บาทตลอดสาย
ธงเขียวเหลือง 14-33 บาท
ธงแดง 30 บาทตลอดทั้งสาย (ปกติ 50 บาท)
 • เรือไมน์สมาร์ทเฟอร์รี่

 สายสีเขียว   สายสีน้ำเงิน   สายสีม่วง  20 บาทตลอดสาย
ข้อมูลเฉพาะ
รหัสท่า น5 (N5) 
โครงสร้างหลักโป๊ะเหล็กลอยน้ำ 2 โป๊ะ
ความยาว12 เมตร (ด้านเหนือ)
12 เมตร (ด้านใต้)
ความกว้าง6 เมตร (ด้านเหนือ)
6 เมตร (ด้านใต้)

ประวัติ แก้

 
ภาพถ่ายท่าราชวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2489

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สำเพ็งเป็นจุดหมายปลายทางระดับต้น ๆ สำหรับเรือสำเภาจากจีน ท่าน้ำใหญ่ในสำเพ็งของยุคนั้นมีสองท่า คือ ท่าน้ำสำเพ็ง (ข้างวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร) และท่าน้ำราชวงศ์ ซึ่งมีชื่อเก่าคือ กงสีล้ง[1] โดยคำว่า "กงสีล้ง" หมายถึงส้วมสาธารณะหรือเว็จสำหรับกุลี อันเนื่องมาจากที่ท่าน้ำราชวงศ์มีส้วมสาธารณะขนาดใหญ่ตั้งอยู่[2] พ่อค้าจะใช้นั่งเรือไปสำรวจสินค้าเพื่อนำมาขาย และใช้เรือเล็กขนของจากเรือสำเภามาขึ้นที่ท่าน้ำ[3]

ท่าน้ำราชวงศ์มีลักษณะเป็นท่าเรือเดินในแม่น้ำลำคลอง เป็นท่าเทียบเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่มาจนถึงเรือพายขนาดเล็กที่ใช้สำหรับเดินทางระหว่างฝั่งแม่น้ำหรือตามลำคลอง โดยพ่อค้าในสำเพ็งทำหน้าที่ทั้งส่งออกสินค้าไปยังจีน สินค้าส่งออกเช่น ข้าว พืชไร่ ไม้สัก ฝ้าย พริกไทย และของป่าหายากหลายชนิด ส่วนสินค้านำเข้า คือสินค้าแปรรูป เช่น เครื่องกระเบื้องเคลือบ กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าไหม เครื่องแก้ว ยาจีน และอาหารแปรรูปสำหรับชุมชนชาวจีน[4]

ถนนราชวงศ์ตัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ์ ถนนบูรพา และถนนอนุวงศ์[5] บ้างว่า ชื่อถนนราชวงศ์อาจจะมาจากคำว่า ลั่กชักอ๋วง ของคนจีนในถิ่นนี้ ซึ่งแปลว่าคนที่มาอยู่แถวนี้มีกำลังที่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งคำดังกล่าวอาจตรงกับสำเนียงไทยที่ว่า "ราชวงศ์"[6]

ท่าน้ำราชวงศ์ยังเป็นท่าเรือที่พระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางไปยังต่างประเทศอีกด้วย[7]

พ.ศ. 2453 มีบริษัทบางหลวง หรือคนสมัยนั้นเรียกว่า "เรือเมล์ขาว" วิ่งระหว่างตลาดพลูกับท่าน้ำราชวงศ์[8] ดำเนินงาน 10 ปี ก็ได้เลิกไป

เอกสาร "จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ระบุว่า ท่าน้ำราชวงศ์ มีเรือสินค้าและเรือโดยสารไปชลบุรีหรือจันทบุรี จอดอยู่บริเวณนี้[9]

ปัจจุบันท่าน้ำราชวงศ์ เป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้กับย่านการค้าอย่างสำเพ็งและเยาวราช[10] เป็นต้นสายรถประจำทางสาย 204 พื้นที่บริเวณท่าน้ำราชวงศ์มักเกิดน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่เคยมีการสร้างเขื่อนถาวรริมแม่น้ำ[11] กรุงเทพมหานครเคยมีโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา "ราชวงศ์-ท่าดินแดง" แต่มีการคัดค้านจากประชาชนจึงได้ยกเลิกไป โดยเหตุผลที่กรุงเทพมหานครยกเลิก เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและมีท่าน้ำราชวงศ์อยู่แล้ว[12]

อ้างอิง แก้

  1. นนทพร อยู่มั่งมี. "สำเพ็ง : กำเนิด ความสำคัญ และความผูกพันในร่มพระบารมีจักรีวงศ์". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. พิศาลบุตร, พิมพ์ประไพ. นายแม่ (ปกใหม่). p. 60.
  3. สุภางค์ จันทวานิช. “การค้าและการขนส่งในย่านสำเพ็ง : จากท่าเรือสำเภา สู่ท่าเรือกลไฟ, ” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2559.
  4. "ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. วีระศิลป์ชัย, ศันสนีย์. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. p. 41.
  6. "ท่าน้ำราชวงศ์".
  7. "ต่อจากท่าน้ำราชวงศ์มาถึงย่านทรงวาด".
  8. "เปิดชีวิต ประจวบ ภิรมย์ภักดี นักปรุงเบียร์คนแรกของไทย ผู้สืบทอดตำนาน "ตราสิงห์"". ศิลปวัฒนธรรม.
  9. "ย้อนมองคมนาคม "ทรงวาด" หรือ "ถนนทรงวาด" เคล็ดลับขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิกสู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้". ข่าวสด.
  10. "ตะลุยกิน ริมเจ้าพระยา ท่าน้ำราชวงศ์".
  11. "น้ำท่วมท่าน้ำราชวงศ์". วอยซ์.
  12. "สบายใจได้! "อัศวิน" ยันกทม.ยังไม่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา "ราชวงศ์-ท่าดินแดง"". ประชาชาติธุรกิจ.