ถนนอิสรภาพ (อักษรโรมัน: Thanon Itsaraphap) เป็นถนนสำคัญสายหนึ่งทางฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร

ถนนอิสรภาพ
ถนนอิสรภาพบริเวณแยกลาดหญ้า
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว4.18 กิโลเมตร (2.60 ไมล์)
ทางแยกที่สำคัญ
จากถนนลาดหญ้า ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
 
ถึงถนนรถไฟ / ถนนสุทธาวาส ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ลักษณะ แก้

 
ถนนอิสรภาพ

ถนนอิสรภาพมีลักษณะเป็นถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร ไม่มีเกาะกลาง เขตถนนกว้าง 21–23.50 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 4.18 กิโลเมตร[1] เริ่มต้นจากสามเหลี่ยมลาดหญ้าซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนลาดหญ้าและถนนท่าดินแดงในพื้นที่เขตคลองสาน มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนประชาธิปกและผ่านแนวคลองวัดน้อยที่ทางแยกบ้านแขก เข้าพื้นที่เขตธนบุรี ผ่านแนวคลองสมเด็จเจ้าพระยา ข้ามสะพานเจริญพาศน์ (คลองบางกอกใหญ่) และเข้าพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ตัดกับถนนวังเดิมที่ทางแยกโพธิ์สามต้น ผ่านแนวคลองวัดอรุณ ข้ามคลองมอญและเข้าพื้นที่เขตบางกอกน้อย เมื่อผ่านกองบัญชาการกองทัพเรือจึงเริ่มโค้งขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดกับซอยอิสรภาพ 39 (วัดดงมูลเหล็ก) และซอยอิสรภาพ 44 (แสงศึกษา) ที่ทางแยกวัดดงมูลเหล็ก ตัดกับถนนพรานนกและถนนวังหลังที่ทางแยกพรานนก ไปสิ้นสุดที่ทางแยกบ้านเนินซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนรถไฟและถนนสุทธาวาส

ประวัติ แก้

ถนนอิสรภาพเป็น "ถนนสายที่ 3" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2473 ได้กำหนดแนวเส้นทางถนนสายที่ 3 ไว้ตั้งแต่ถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนอรุณอมรินทร์) ที่วัดอมรินทราราม ไปทางทิศตะวันตก เลี้ยวลงมาทางทิศใต้ ซ้อนทับแนวถนนที่มีอยู่แล้วตั้งแต่บริเวณใต้วัดลครทำจนถึงสะพานเจริญพาศน์[2] จากนั้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านถนนสายที่ 1 ที่จัตุรัส (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปกและทางแยกบ้านแขก) ไปบรรจบถนนสายที่ 4 (ปัจจุบันคือถนนลาดหญ้า)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนสายต่าง ๆ ในโครงการดังกล่าวถวาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแบ่งถนนสายที่ 3 ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่วัดอมรินทรารามถึงโค้งบ้านเนินค่ายหลวง ทรงตั้งชื่อถวายว่า "ถนนปากพิง" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงมหาชัยเมื่อปี พ.ศ. 2328 คราวที่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทรงนำกองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกที่ปากพิง ริมแม่น้ำน่าน[3] อย่างไรก็ตาม ชื่อถนนปากพิงไม่มีการนำมาใช้จริง โดยถนนช่วงดังกล่าวน่าจะเป็นถนนสายเดียวกับถนนรถไฟในปัจจุบัน[4] ส่วนช่วงที่ 2 ตั้งแต่โค้งบ้านเนินค่ายหลวงถึงถนนสายที่ 4 ทรงเสนอชื่อ "ถนนเจ้ากรุงธน" และ "ถนนธนราช" เพื่อเป็นการแสดงว่าราชวงศ์จักรีนับถือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[5] เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนช่วงนี้ว่า ถนนเจ้ากรุงธน[5]

อย่างไรก็ตาม ถนนเจ้ากรุงธนเพิ่งมาสร้างเสร็จตลอดทั้งสายในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งสภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน ประกอบกับทางราชการมีโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ กลางวงเวียนใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่อ (โครงการ) ถนนประชาธิปกตัดใหม่เป็น "ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน" เพื่อให้เกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ทำให้ชื่อถนนเจ้ากรุงธนมีความหมายพ้องกับชื่อถนนดังกล่าว ทางราชการจึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนชื่อถนนเจ้ากรุงธนเป็น ถนนอิสรภาพ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยและทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และเพื่อเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์แก่ชนรุ่นหลัง[6] โดยทำพิธีเปิดถนนสายนี้พร้อมกับถนนพรานนก (เปลี่ยนชื่อมาจากถนนวังหลัง) เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2482[6] ภายหลังได้มีการตัดถนนระยะสั้น ๆ ต่อจากโค้งบ้านเนินค่ายหลวงไปถึงบริเวณทางรถไฟสายใต้

ทางแยกสำคัญ แก้

รายชื่อทางแยกบน ถนนอิสรภาพ ทิศทาง: ลาดหญ้า–บ้านเนิน
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
  ลาดหญ้า–บ้านเนิน (ถนนอิสรภาพ)
กรุงเทพมหานคร 0+000 แยกลาดหญ้า เชื่อมต่อจาก:   ถนนลาดหญ้า
ถนนท่าดินแดง ไปถนนลาดหญ้า ถนนท่าดินแดง ไปท่าดินแดง
แยกบ้านแขก ถนนประชาธิปก ไปวงเวียนใหญ่ ถนนประชาธิปก ไปสะพานพระปกเกล้า
สะพานเจริญพาศน์ ข้ามคลองบางกอกใหญ่
แยกโพธิ์สามต้น ไม่มี ถนนวังเดิม ไปถนนอรุณอมรินทร์
สะพาน ข้ามคลองมอญ
แยกวัดดงมูลเหล็ก ซอยอิสรภาพ 39 ไปถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอยอิสรภาพ 44 ไปถนนอรุณอมรินทร์
แยกพรานนก ถนนพรานนก ไปถนนกาญจนาภิเษก ถนนวังหลัง ไปศิริราช
แยกบ้านเนิน เชื่อมต่อจาก: ถนนรถไฟ จากศิริราช, สถานีธนบุรี
ตรงไป: ถนนสุทธาวาส ไปถนนจรัญสนิทวงศ์
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

สถานที่สำคัญ แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
  2. แนวถนนช่วงดังกล่าวปรากฏอยู่ในแผนที่กรุงเทพฯ ตอนใน ฉบับปี พ.ศ. 2453 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว; กรมแผนที่ทหาร. กองบัญชาการทหารสูงสุด. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474 = Maps of Bangkok, A.D. 1888-1931. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2542.
  3. ปัจจุบันบริเวณปากพิงอยู่ในท้องที่ตำบลงิ้วงามและตำบลวังน้ำคู้ ทางตอนใต้ของอำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
  4. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่าถนนปากพิงคือ "แนวถนนอิสรภาพส่วนที่หักเลี้ยวตัดตรงไปถึงวัดอมรินทราราม กรุงเทพมหานคร"; กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 187.
  5. 5.0 5.1 กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 56.
  6. 6.0 6.1 สำนักงานปกครองและทะเบียน. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร. "โปรแกรมจัดทำข้อมูลถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร." [โปรแกรมประยุกต์]. [ม.ป.ป.]. สืบค้น 20 สิงหาคม 2559.