ตายกี่ชาติก็ขาดเธอไม่ได้

ตายกี่ชาติก็ขาดเธอไม่ได้ เราเลยไม่ยอมตาย (อังกฤษ : Saviour Of The Soul ,1991  : ภาษาจีน : 魔宮奇俠 ) เป็นภาพยนตร์ฮ่องกง แนวแอ็กชั่น แฟนตาซี กำลังภายใน ออกฉายปลายปี ค.ศ.1991 กำกับโดย หยวน ขุย , เจฟฟรีย์ เลา และเดวิด ลาย นำแสดงโดย หลิว เต๋อหัว , เหมย ยั่นฟาง เป็นผลงานผลิตและอำนวยการสร้างเรื่องแรกภายใต้บริษัท Teamwork Motion Pictures ของหลิว เต๋อหัว ภาพยนตร์มีภาคต่อ คือ ตายกี่ชาติก็ขาดเธอไม่ได้ 2 (Saviour Of The Soul 2 ,1992)

ตายกี่ชาติก็ขาดเธอไม่ได้
โปสเตอร์ภาพยนตร์
กำกับหยวน ขุย
เดวิด ลาย
เจฟฟรีย์ เลา
บทภาพยนตร์เจฟฟรีย์ เลา
เนื้อเรื่องหว่อง ก๊า ไหว่
อำนวยการสร้างเดวิด ลาย
เจซซิก้า ชาน
นักแสดงนำหลิว เต๋อหัว
เหมย ยั่นฟาง
กำกับภาพปีเตอร์ เปา
หลี่ ตั๊กไหว่
ซีมอน หลี่
ตัดต่อพุน หัง
ไห่ คิทไหว่
ดนตรีประกอบแอนโทนี่ ลุน
ถัง สิ่วลัม
บริษัทผู้สร้าง
Teamwork Motion Pictures
ผู้จัดจำหน่ายNewport (ฮ่องกง)
นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (ไทย)
วันฉาย19 ธันวาคม ค.ศ. 1991 (1991-12-19)
ความยาว98 นาที
ประเทศฮ่องกง
ภาษาจีน
ทำเงิน20,476,495 HKD (ฉายปี 1991)

16,000,000 HKD (ฉายปี 1992)

รวมกว่า 36,000,000 HKD

ตายกี่ชาติก็ขาดเธอไม่ได้ (Saviour Of The Soul ,1991) หรืออีกชื่อ Lanar Romance เป็นภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายบทประพันธ์ของ กิมย้ง ในเรื่อง มังกรหยก ตอน จอมยุทธอินทรี (The Return of the Condor Heroes) ซึ่งเป็นการดัดแปลงนวนิยายแนวใหม่ เพียงอาศัยพล็อตเรื่องจากนวนิยายแต่มาสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่ โดยหยิบยืมบุคลิกตัวละคร หรือคาแรกเตอร์จากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง ซิติ้ ฮันเตอร์ (City Hunter) มาใช้แทน หลิว เต๋อหัว ใช้คาแรกเตอร์ของ ซาเอบะ เรียว , เคนนี่ บี ใช้คาแรกเตอร์ของ มาคิมุระ , เยี่ย เหวินอี้ ใช้คาแรกเตอร์ของ คาโอริ น้องสาวของมาคิมุระ ภาพยนตร์คงไว้ซึ่งเค้าโครงหลักของนวนิยาย เรื่องราวการเฝ้าคอยความรักระหว่าง เอี้ยก้วย กับ เซียว เหล่งนึ่ง ที่ต้องรอคอยพบกันนานถึง 16 ปี ตัวละครเสี่ยวชิง รับบทโดย หลิว เต๋อหัว คือ ตัวแทนเอี้ยก้วย , ตัวละครเหม่ยชิง รับบทโดย เหมย เยี่ยนฟาง คือ ตัวแทน เซียว เหล่งนึ่ง , สำนักสุสานโบราณ ดัดแปลงเป็นตำหนักเพชร เจ้าสำนักเป็นเลดี้(Lady) ตำหนักเพชร รับบทโดย หลิว เจียหลิง , ดาบเหล็กนิลของเอี้ยก้วย ดัดแปลงเป็น กระบี่พริ้วไหวใจสะท้าน ของเสี่ยวชิง , ตัวละครที่เพิ่มมาใหม่ คือ นักฆ่าจิ้งจอกเงิน รับบทโดย กัว ฟู่เฉิง , ตัวละครหลักอื่นๆ หยิบยืมจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง ซิติ้ ฮันเตอร์ (City Hunter)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1991 เป็นโปรแกรมส่งท้ายปีเก่าของเกาะฮ่องกง และฉายยาวต่อเนื่องข้ามปีใหม่ถึงต้นปี 1992 ประสบความสำเร็จทางรายได้อย่างถล่มทลายในยุคนั้น จนเป็นต้นแบบภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายที่ไม่แอบอิงบทประพันธ์ดั้งเดิม ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ต่างจากภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องอื่นๆก่อนหน้านั้น อย่างเรื่อง โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า (A Chinese Ghost Story ,1987) เดชคัมภีร์เทวดา (The Swordsman ,1990) เกิดกระแสสร้างภาพยนตร์ดัดแปลงนวนิยายที่แตกต่างจากบทประพันธ์ดั้งเดิมหลายต่อหลายเรื่องในยุคนั้น เช่น เดชคัมภีร์เทวดา ภาค 2 ในตัวละครตงฟางปุ๊ป้าย , เซี่ยวฮื้อยี้ กระบี่ไม่มีคำตอบ เป็นต้น และเกิดกระแสปรากฏการณ์สร้างภาพยนตร์ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนในวงการภาพยนตร์โลก ทั้งเป็นต้นแบบให้กับหนังดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนที่สร้างตามมา อย่างเช่น หนังดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง ซิติ้ฮันเตอร์ ใหญ่ไม่ใหญ่ข้าก็ใหญ่ (City Hunter ,1993) ของเฉินหลง , โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่ (Love on Delivery ,1994) ของโจว ซิงฉือ ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง ถึงจะเห่ยแต่ก็สู้นะเฟ้ย ภาพยนตร์ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนจีน เรื่อง กู๋ หว่าไจ๋ , ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างภาพยนตร์ในรูปแบบและสไตล์แอ็กชั่น แฟนตาซี กำลังภายใน ตามกระแสเรื่องนี้หลายต่อหลายเรื่อง อย่างเช่น สวยประหาร ภาค 1 , 2 (The Heroic Trio ,1993) อำนวยการสร้างและกำกับโดย ตู้ ฉีฟง , ทีมเชือดแห่งโลกานุวัตร (The Black panther warriors ,1993) อำนวยการสร้างและนำแสดงโดย เติ้ง กวงหยง , กระบี่พริ้วไหวใจสะท้าน ซึ่งเป็นกระบี่ของหลิว เต๋อหัว ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับค่ายสถานีโทรทัศน์ทีวีบี สร้างละครซีรีส์เรื่อง กระบี่ลมกรด (The Revelation of The Last Hero ,1992) มอบบทพระเอกให้ กัว ฟู่เฉิง นำแสดง , นักฆ่าจิ้งจอกเงิน ที่รับบทโดย กัว ฟู่เฉิง โดดเด่นอย่างมากจนผู้กำกับคนดัง หวังจิง นำมาสร้างภาพยนตร์ภาคแยก(Spin off)ตามมา ในเรื่อง จิ้งจอกเงินพันหน้า (Millionaire Cop ,1993) กัว ฟู่เฉิง รับบทพระเอกนำแสดง และโจว ซิงฉือ นำไปล้อเลียนในภาพยนตร์ของเขา ในเรื่อง ถังไปหู่ ใหญ่ไม่ต้องประกาศ (Flirting Scholar ,1993) หลายต่อหลายฉาก เช่น ฉากการเหาะเป็นซูเปอร์แมนของหลิว เต๋อหัว , ฉากเปิดผ้าคลุมหน้าเลดี้ตำหนักเพชร(หลิว เจียหลิง) เพื่อตามหาเหม่ยชิง บนโคมไฟลอยเคว้งอยู่บนอากาศ โจว ซิงฉือนำมาใช้ตอนเปิดผ้าคุลมหน้าตามหา ชิวเชียน (กงลี่) เป็นต้น

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ขับร้องโดยหลิว เต๋อหัว ในบทเพลง 不可不信缘 และบทเพลง 来生缘 (ไหล เซิงหยวน) เพลงนี้เป็นเพลงภาษาจีนกลางหรือแมนดาริน โดยเขาเอาทำนองเพลง 起走過的日子 (ยัด เห่ย เหยา กว๋อ ดิก ยัด จี่) เพลงภาษาจีนกวางตุ้ง เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Casino Raider 2 (1991) หรือ ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ตอน แตะได้ถ้าไม่กลัวโลกแตก มาใส่เนื้อร้องใหม่ และนำมาร้องประกอบฉากตอนที่ เสี่ยวชิง (หลิว เต๋อหัว) พาเหม่ยชิง (เหมย เยี่ยนฟาง) ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาพิษ "เทพธิดากาลี" ทะลวงร่างได้รับบาดเจ็บสาหัส ในระหว่างขับรถไปส่งโรงพยาบาล เสี่ยวชิงได้นึกถึงคำพูดของเจ้ากุ้ย (เคนนี่ บี) ว่า "ตอนที่ฉันทำงานนั่งโต๊ะ ก็อยากจะมีชีวิตโลดโผน แล้วมาเป็นมือล่าสังหาร แต่มาตอนนี้ คิดอยากกลับไปทำงานนั่งโต๊ะอย่างเดิม แก(เสี่ยวชิง - หลิว เต๋อหัว)ไม่มีวันเข้าใจหรอก" : ในประเทศไทย พอหนังกลับมาทำรีมาสเตอร์ใหม่ในรูปแบบวีซีดี(VCD) ได้ตัดฉากนี้ออก แต่ผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลก และผู้ชมชาวไทยที่ได้ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ หนังกลางแปลง และม้วนวีดีโอ(VDO) จดจำฉากและบทเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี และยังได้อิงกระแส"สองบทเพลงแต่ทำนองเดียวกัน" โดยนำมาแปลงเป็นภาษาไทยในบทเพลง "เจ็บช้ำ" และบทเพลง "ระกำใจ" ขับร้องโดยนักร้องสาวชื่อดัง พัชรา แวงวรรณ ทั้งสองบทเพลง

ด้านรางวัลทางภาพยนตร์ ได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกง (Hong Kong Film Awards) ครั้งที่ 11 ประจำปี 1991 มากถึง 5 สาขา ประกอบด้วย นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม กัว ฟู่เฉิง , ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ปีเตอร์ เปา (Peter Pau), ลำดับภาพ(ตัดต่อ)ยอดเยี่ยม พุน หัง - ไห่ คิทไหว่ , กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม เอ๋อ จงหมั่น , ออกแบบฉากต่อสู้ยอดเยี่ยม หยวน ทัค และคว้ารางวัลตุ๊กตาทองมาได้ 2 สาขา ได้แก่ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ปีเตอร์ เปา (Peter Pau) และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม เอ๋อ จงหมั่น (Yee Chung-Man)

ด้านคุณค่าของภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างคุณค่าให้วงการภาพยนตร์ฮ่องกง เอเชียและฮอลลีวูด อย่างมากมาย ได้สร้างปรากฏการณ์หลายต่อหลายอย่างไว้ในภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว ได้แก่ ปรากฏการณ์ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายที่ไม่แอบอิงบทประพันธ์ดั้งเดิม , ปรากฏการณ์ภาพยนตร์ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนขึ้นสู่จอภาพยนตร์ โดยใช้เทคนิคงานด้านภาพ จัดวางองค์ประกอบและดัดแปลงภาพในช่องสี่เหลี่ยมในหน้าหนังสือการ์ตูน ถ่ายทอดออกสู่ช่องสี่เหลี่ยมบนจอภาพยนตร์ และยังได้คงอัตลักษณ์ช่องสี่เหลี่ยมหนังสือการ์ตูนไว้บนโปสเตอร์ภาพยนตร์ฉบับนานาชาติอีกด้วย , ปรากฏการณ์ภาพยนตร์แนวแอ็กชั่นสากล - แฟนตาซี - กำลังภายใน เรื่องแรกของวงการหนังจีนฮ่องกง , ปรากฏการณ์ด้านการถ่ายภาพของวงการภาพยนตร์ ส่งให้ ปีเตอร์ เปา (Peter Pau)โดดเด่นและก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลก

ในประเทศไทย นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ออกฉายหลังฮ่องกงเพียงหนึ่งสัปดาห์ เป็นโปรแกรมทองต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2535 (ค.ศ.1992) ตั้งชื่อไทยได้อย่างโดดเด่นว่า ตายกี่ชาติก็ขาดเธอไม่ได้ (เราเลยไม่ยอมตาย)

นักแสดงนำ แก้

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้