ตามความเชื่อในรหัสยลัทธิและคุยหลัทธิ ตาที่สาม ไม่ใช่ตาเนื้อ แต่เป็นตาภายในที่ทำให้เห็นสิ่งเหนือปกติวิสัย[1] แสดงถึงการรับรู้ระดับสูงในทางจิตวิญญาณ และเป็นสัญลักษณ์ของการรู้แจ้ง รวมถึงการหยั่งรู้พิเศษ เช่น การเห็นนิมิต ตาทิพย์ รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้า เป็นต้น[2]

ศาสนาฮินดู แก้

ในศาสนาฮินดูถือว่า อาชญาจักระ (आज्ञा चक्र) คือตาที่สาม[3] เป็นจักระแห่งจิต คือดวงตาแห่งพุทธิปัญญา[4] มนุษย์มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ในความฝันก็โดยอาศัยอาชญาจักระนี้ และพลังงานทางจิตวิญญาณจากสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาในร่างกายผ่านจักระนี้ด้วย

อาชญาจักระยังเป็นจุดบรรจบของนาฑิทั้งสามก่อนจะไหลขึ้นสู่สหัสราระซึ่งเป็นจักระสูงสุด ผู้ปฏิบัติโดยเพ่งที่จักระนี้จะสามารถพ้นจากทวิภาวะได้[5]

ลัทธิอนุตตรธรรม แก้

ลัทธิอนุตตรธรรมเรียกตำแหน่งตาที่สามว่าจุดญาณทวาร[6][7] (จีน: 玄關竅) เชื่อว่าวิญญาณจะเข้าออกร่างกายผ่านทางประตูนี้ และเป็นทางเดียวที่วิญญาณจะใช้ผ่านเพื่อกลับคืนสู่สวรรค์ซึ่งถือเป็นบ้านเกิดของวิญญาณทุกดวง ลัทธินี้ยังเชื่อว่าตำแหน่งจุดญาณทวารถูกปิดเป็นความลับสวรรค์มาแต่โบราณ แม้แต่ผีสางเทวดาก็ไม่รู้ แต่อริยชนผู้บรรลุแล้วในอดีตได้แสดงเป็นปริศนาไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าเฉพาะผู้ได้รับอาณัติแห่งสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรมเท่านั้นที่จะเปิดจุดญาณทวารได้ การเจิมเปิดจุดญาณทวารจะกระทำในพิธีถ่ายทอดเบิกธรรม (จีน: 辦道禮節 ปั้นเต้าหลี่เจี๋ย) ซึ่งดำเนินพิธีเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้คนนอกรับรู้ ผู้ที่รู้แล้วห้ามนำไปบอกต่อ เพราะเชื่อว่าจะถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ[8]

อ้างอิง แก้

  1. Richard Cavendish, บ.ก. (1994). Man, Myth and Magic – Volume 19. New York, NY: Marshall Cavendish. p. 2606. ISBN 0839360355.
  2. Leadbeater, C.W. The Chakras Wheaton, Illinois, USA:1927 Theosophical Publishing House Page 79.
  3. Saraswati, Swami Satyananda Saraswati (2001). Kundalini iuuuggTantra. Bihar, India: Yoga I Publications Trust. ISBN 978-8185787152.
  4. "Third Eye Chakra". ASIS Massage. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-17. สืบค้นเมื่อ 25 July 2013.
  5. "Ajna Chakra". Advaita Yoga Ashram. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-22. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ไตรรัตน์, นครปฐม: เอกอนันต์เผยแพร่ธรรม, ม.ป.ป., หน้า 24-35
  7. เย่วรรณา, เหตุใดต้องรับธรรม, นครปฐม : เอกอนันต์เผยแพร่ธรรม, ม.ป.ป., หน้า 29
  8. เกษร สุทธจิต จันทร์ประภาพ, ธรรมประธานพร เล่ม ๕, เชียงใหม่: บี.เอส.ดี การพิมพ์, 2547, หน้า 185-191