ตะโดธรรมราชาที่ 2

พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 (พม่า: သတိုးဓမ္မရာဇာ, ออกเสียง: [ðədó dəma̰ jàzà]; อักษรโรมัน: Thado Dhamma Yaza II of Prome, ราว พ.ศ. 2033 – พ.ศ. 2131) มีพระนามเดิมว่า นันทยอทา เริ่มรับราชการทหารในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งราชวงศ์ตองอู กระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าแปร ในฐานะกษัตริย์เมืองออกของพระเจ้าบุเรงนองผู้เป็นพระเชษฐา[1]และพระเจ้านันทบุเรงพระนัดดาระหว่าง พ.ศ. 2091 ถึง 2131 ภายหลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองได้สำเร็จโทษพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 พระเจ้าแปรพระองค์ก่อนเรียบร้อยแล้ว

พระเจ้าตะโดธรรมราชา
သတိုးဓမ္မရာဇာ
นันทยอทา
พระเจ้าแปร (ประเทศราช)
ครองราชย์30 สิงหาคม พ.ศ. 2094 - พฤศจิกายน/ธันวาคม พ.ศ. 2131
ก่อนหน้าพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1
รัชกาลถัดไปพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 3
ประสูติราว พ.ศ. 2033
ตองอู
สวรรคตพฤศจิกายน/ธันวาคม พ.ศ. 2131 เดือนนะดอ 950 ME
แปร
คู่อภิเษกพระนางสาลินมิบะยา
พระราชบุตรพระนางเซงพยูเชงเมดอ
พระนางมินตะยาเมดอ
นันทยอทา (เชงเศง) เจ้าเมืองซะไกง์
เมงชเวเมี๊ยต เจ้าเมืองแตงดา
เมงเยอุศนะ เจ้าเมืองซะลี่น
เจ้าหญิงแห่งเมืองสากู
เจ้าเมืองมล่วน
ชินเนเมียว
ชินเนตุน
ปเยงสาสีหะ เจ้าเมืองเมาะลำเลิง
ราชวงศ์ราชวงศ์ตองอู
พระราชบิดาเมงเยสีหตู
พระราชมารดาพระนางเมียวเมียะ
ศาสนาพุทธศานานิกายเถรวาท

ต้นพระชนม์ แก้

พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 มีพระนามเดิมว่า นันทยอทา (နန္ဒယော်ဓာ) เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของเมงเยสีหตู กับพระนางเมียวเมียะ มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินี ร่วมพระมารดา 3 พระองค์ คือ พระนางขิ่นโปนโซ พระเจ้าบุเรงนอง และเมงเยสีตู และยังมีพระอนุชาต่างพระมารดา อีก 2 พระองค์ คือ พระเจ้ามังฆ้องและพระเจ้าตะโดเมงสอ พระองค์เจริญพระชันษาอยู่ในบริเวณพระราชวังตองอูและได้รับการศึกษาการทหารที่นั่น

เข้ารับราชการทหาร แก้

รัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (พ.ศ. 2077-2093) แก้

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2073 พระองค์ต้องการแผ่ขยายพระราชอำนาจแห่งอาณาจักรตองอู ให้แผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ นันทยอทา ได้เข้าร่วมในสงครามตองอู–หงสาวดี (พ.ศ. 2077–2084) ปี พ.ศ. 2083 นันทยอทา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองธัมยินดง (သမြင်းတုံ) เป็นเมืองที่อยู่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ปี พ.ศ. 2084 พระองค์เข้าร่วมนำทัพในสงครามตองอู-แปร (พ.ศ. 2084-2085) ทรงเป็นผู้นำกองทัพเรือในสงครามตองอู-ยะไข่ (พ.ศ. 2089-2090) และนำทัพช้างในสงครามอยุธยา (พ.ศ. 2091-2092) และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2093 เขาได้ร่วมกับพระเชษฐาบุเรงนองและสิริชัยกะยอดิน ปราบกบฏสมิงทอ

รัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. 2093-2124) แก้

หลังจากที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2093 พระเจ้าบุเรงนองก็สถาปนาตนเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป พระองค์ร่วมกับพระเชษฐา กอบกู้อาณาจักรที่แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า พ.ศ. 2093-2094 ขณะนั้นพระเจ้ามังฆ้อง เจ้าเมืองตองอู พระอนุชาต่างพระมารดาของพระเจ้าบุเรงนอง แข็งเมืองไม่ยอมรับพระราชอำนาจของพระเชษฐา พระองค์จึงต้องยกทัพไปปราบ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2094 พระเจ้ามังฆ้องทรงยอมแพ้ พระเจ้าบุเรงนองพระราชทานอภัยโทษให้ นันทยอทา ที่มีความดีความชอบในศึกครั้งนี้ พระเจ้าบุเรงนองจึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ ตะโดธรรมราชา ให้แก่นันทยอทา และจึงยกทัพไปปราบพระเจ้าตะโดตู เจ้าเมืองแปร พระสัสสุระของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ที่คิดแข็งเมืองอีกพระองค์ เมื่อสำเร็จโทษพระเจ้าตะโดตูแล้ว พระเจ้าบุเรงนองจึงสถาปนา นันทยอทา เป็นพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2

พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 เป็น 1 ใน 4 ยอดขุนพลคู่พระทัยของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งได้แก่ พระเจ้าเมงเยสีตู พระเจ้าตะโดธรรมราชา พระเจ้ามังฆ้อง พระเจ้าตะโดเมงสอ ทรงร่วมสมรภูมิตลอดการรณรงค์สงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2095-2108 เพื่อรวบรวมอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2099 เมงเยสีตู สิ้นพระชนม์ลง ตำแหน่งขุนพลคู่พระทัยก็ตกไปเป็นของพระมหาอุปราชมังชัยสิงห์ (นันทบุเรง) พระองค์ทรงนำทัพไปร่วมในทุกสมรภูมิ ยกเว้นสงครามเมืองมณีปุระ พ.ศ. 2103 และสงครามล้านช้าง พ.ศ. 2108 พระเจ้าบุเรงนองได้สร้างอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากพักราชการงานศึก ในปีพ.ศ. 2111 ล้านช้างและอยุธยาก็กระด้างกระเดื่อง พระองค์จึงต้องยกทัพไปปราบ และในปีพ.ศ. 2113 พระเจ้าตะโดธรรมราชา กับขุนพลคู่พระทัยอีก 3 พระองค์ ก็ยกขึ้นไปปราบรัฐฉาน

นอกจากนี้ พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 ทรงเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์เป็นอย่างยิ่ง ทรงแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนอง ผู้เป็นพระเชษฐา โดยทรงก่อสร้างประตูแปร ประจำเมืองหงสาวดี (ประตูเมืองหงสาวดี มีทั้งหมด 20 ประตู แต่ละประตู ตั้งตามชื่อเมืองประเทศราชของหงสาวดี) พระองค์ได้รับพระเกียติยศจากพระเชษฐาในฐานะที่ทรงจงรักภักดี พร้อมด้วยพระเจ้ามังฆ้องและพรเจ้าตะโดเมงสอ ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2123

รัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง (พ.ศ. 2124-2131) แก้

วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2124 พระเจ้าบุเรงนอง สวรรคต พระเจ้านันทบุเรง เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าหงสาวดี แต่ถึงกระนั้น เมืองประเทศราชที่เคยขึ้นต่อพระเจ้าบุเรงนอง ต่างคิดกระด้างกระด่าง ในเดือนสิงหาคม/กันยายน พ.ศ. 2125 ขณะนั้นเมืองจัณฑาและเมืองธองทุต ที่อยู่ในรัฐจีนไทใหญ่ แข็งเมืองไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระเจ้าตะโดธรรมราชา กับพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ นำทัพ 8,000 ไปปราบกบฏ (พระเจ้านันทบุเรงไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าตะโดเมงสอ เพราะทรงไม่ไว้วางพระทัย เพราะเมืองอังวะแอบสนับสนุนให้พวกไทใหญ่ก่อกบฏ) ทัพทั้งสองต้องล้อมเมืองจัณฑาอยู่นานเกือบ 5 เดือน เพราะพวกไทใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากจีนต้าหมิงและอังวะ แต่เมื่อพวกไทใหญ่ขาดเสบียง จึงต้องยอมแพ้ กองทัพทั้งหมดยกกลับมาถึงหงสาวดีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2126

ในต้นปี พ.ศ. 2126 พระนางนัตชินเมดอ ได้ส่งผอบใส่ผ้าคลุมไหล่เปื้อนพระโลหิตพร้อมด้วยสาส์น มาแจ้งพระเจ้าตะโดเมงสอ ผู้เป็นพระราชบิดา ในสาส์นมีใจความว่า พระนางถูกพระมหาอุปราชามังกะยอชวา ผู้เป็นพระราชสวามี ตบตีทำร้ายพระนาง เมื่อพระนางทรงแสดงอาการหึงหวงที่พระมหาอุปราชา ไปหลงใหลในพระนางราชธาตุกัลยา พระชายาใหม่ และทรงผลักพระนางชนกับเสา พระเจ้าตะโดเมงสอ ทรงพิโรธเป็นอย่างมาก และนี่ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของพระเจ้าตะโดเมงสอ กับพระเจ้านันทบุเรงเสื่อมถอยลง และนี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พระเจ้าตะโดเมงสอจะหาความชอบธรรมในการกบฏ ในเดือนมิถุนายน/กรกฎาคม พ.ศ. 2126 พระเจ้าตะโดเมงสอ ลักลอบส่งทูตไปยังเมืองแปร เมืองตองอู และเมืองเชียงใหม่ เกลี้ยกล่อมให้พระเจ้าตะโดธรรมราชา พระเจ้ามังฆ้อง และพระเจ้านรธาเมงสอ ให้ร่วมกับพระองค์ แข็งเมืองต่อพระเจ้านันทบุเรง แต่เจ้าผู้ครองนครทั้ง 3 พากันเข้าข้างพระเจ้านันทบุเรง พระเจ้านันทบุเรงทรงทราบความทั้งสิ้นทั้งปวง จึงแต่งทัพยกไปตีเมืองอังวะ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2127 พร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครทั้ง 3 ศึกอังวะ เป็นศึกสุดท้ายของพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 หลังจากนั้นพระองค์ ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการนำทัพออกศึกสงครามรบกับอยุธยาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2127

พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 สวรรคตในเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม พ.ศ. 2131 พระเจ้านันทบุเรง ทรงแต่งตั้งเมงจีหน่อง เป็นพระเจ้าแปร คือ พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 3

พระบรมวงศานุวงศ์ แก้

พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 มีพระอัครมเหสี คือ พระนางสาลินมิบะยา พระธิดาของพระเจ้าบาเยงทเว เจ้าเมืองแปร ทรงอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2088 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงมีพระธิดาด้วยกัน 2 พระองค์ คือ พระนางเซงพยูเชงเมดอ พระมเหสีของพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ และพระนางมินตะยาเมดอ พระมเหสีของพระเจ้านันทบุเรง

นอกจากนี้ยังมีพระโอรสและพระธิดาที่เกิดแต่นางสนมอีก 7 พระองค์ ได้แก่

  • นันทยอทา(เชงเศง) ทรงอภิเษกกับพระนางเมี๊ยตเมียวโปนไว พระธิดาของพระเจ้าบุเรงนอง หลังจากนั้น พระองค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองซะไกง์ พระนามว่า เมงเยเสงฆตู และถูกพระเจ้ามี่นยาซาจี้ เจ้าเมืองยะไข่ จับไปเป็นเชลยที่ยะไข่ ในปี พ.ศ. 2143
  • เมงชเวเมี๊ยต เจ้าเมืองแตงดา
  • เมงเยอุศนะ เจ้าเมืองซะลี่น
  • เจ้าหญิงแห่งเมืองสากู
  • เจ้าเมืองมล่วน ผู้เป็นควาญช้างให้พระมหาอุปราชามังกะยอชวา ในสงครามยุทธหัตถี และเคยนำทัพไปรบกันเมืองทวายและตะนาวศรี แต่ก็พ่ายศึกกลับมา หลังจากนั้น พระองค์ถูกพระเจ้ามี่นยาซาจี้ เจ้าเมืองยะไข่ จับไปเป็นเชลยที่ยะไข่ ในปี พ.ศ. 2143
  • ชินเนเมียว เสนาบดีของพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 3 ถูกสังหารโดยยานแนง ในปี พ.ศ. 2140
  • ชินเนตุน เสนาบดีของพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 3 ถูกสังหารโดยยานแนง ในปี พ.ศ. 2140
  • ปเยงสาสีหะ เจ้าเมืองเมาะลำเลิง

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 140
บรรณานุกรม
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. หน้า 139-140. ISBN 978-974-7088-10-6
ก่อนหน้า ตะโดธรรมราชาที่ 2 ถัดไป
พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1   พระเจ้าแปร
(20 สิงหาคม 2094 - พฤศจิกายน/ธันวาคม พ.ศ. 2131)
  พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 3