ตราสารหนี้

ตราสารทางการเงิน

ตราสารหนี้ (อังกฤษ: bond) คือตราสารทางการเงินประเภทหนึ่ง ผู้ออกตราสารมีสถานะเป็นลูกหนี้ ผู้ถือตราสารมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ มีข้อผูกพันทางกฎหมายว่าผู้ออกจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเป็นงวดและจ่ายคืนเงินต้นตามที่กำหนดไว้ในตราสาร โดยทั่วไปตราสารหนี้ในตลาดทุนมักจะหมายถึงตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

ตราสารหนี้แห่งไรช์เยอรมัน (Anleihe des Deutschen Reichs) มูลค่า 1,000 มาร์ค
ไม่จ่ายดอกเบี้ยจนถึง 31 ตุลาคม 1925
ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 1925 จ่ายดอกเบี้ย 4%
ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 1930 จ่ายดอกเบี้ย 5%
ตราขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน 1 สิงหาคม 1922

ดอกเบี้ยตราสารหนี้อาจกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว และอาจกำหนดให้จ่ายดอกเบี้ยทบต้นได้[1] ตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐได้แก่ พันธบัตร และตั๋วเงินคลัง ตราสารนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนได้แก่ หุ้นกู้, ตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นต้น[1]

องค์ประกอบของตราสารหนี้ แก้

  • มูลค่าที่ตราไว้ (Par Value): มูลค่าเงินต้นที่ระบุไว้ในตราสารหนี้แต่ละหน่วยที่ผู้กู้ จะต้องชำระคืนให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้น เมื่อครบกำหนดชำระ มูลค่าดังกล่าวอาจลดลงเมื่อมีการทยอยจ่ายคืนเงินต้น
  • อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate): อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกมีภาระจะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้นๆ ตามงวดการจ่ายดอกเบี้ยที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น
  • งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency): จำนวนครั้งของการจ่ายดอกเบี้ยต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของผู้ออกตราสารหนี้ แต่โดยส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้มีการจ่ายดอกเบี้ยทุกครึ่งปี
  • วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity Date):วันหมดอายุของตราสารหนี้ ที่ผู้ออกจะต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้แก่ผู้ถือ
  • ชื่อผู้ออก (Issuer Name)
  • ข้อสัญญาและประเภทของตราสารหนี้ (Covenants): เงื่อนไข สิทธิแฝง และข้อมูลที่ระบุ ซึ่งผู้ถือจะต้องปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น เช่น การดำรงสัดส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกินอัตราที่กำหนด การให้สิทธิในการไถ่ถอนตราสารนั้นๆ ก่อนกำหนดตามที่ระบุไว้ เป็นต้น

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  • สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (2549) ความรู้เบื้องต้นและการวิเคราะห์ตราสารหนี้ที่ไม่มีสิทธิแฝง.
  1. 1.0 1.1 ประเภทของตราสารหนี้ เก็บถาวร 2020-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ธนาคารแห่งประเทศไทย