ดาวหางบีลา (อังกฤษ: Comet Biela) หรือชื่ออย่างเป็นทางการตามระบบการตั้งชื่อดาวหางคือ 3D/Biela เป็นดาวหางแบบมีคาบโคจรซึ่งค้นพบโดย วิลเลห์ม ฟอน บีลา ในปี ค.ศ. 1826 จึงได้ชื่อว่า "บีลา" ตามผู้ค้นพบ

ดาวหางบีลา เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 หลังจากแตกเป็นสองส่วนไม่นาน

เคยมีผู้สังเกตพบดาวหางนี้มาก่อนแล้ว คือ ชาร์ลส เมอสิเออร์ ในปี ค.ศ. 1772 และ ฌอง-หลุยส์ ปอนส์ ในปี ค.ศ. 1805 แต่วิลเลห์ม ฟอน บีลา เป็นผู้ค้นพบจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1826 และสามารถคำนวณวงโคจรของมันออกมาได้ว่ามีคาบโคจรประมาณ 6.6 ปี นับเป็นดาวหางดวงที่สาม (หลังจากดาวหางฮัลเลย์และดาวหางเองเคอ) ที่มีการค้นพบคาบโคจร

เมื่อดาวหางกลับมาปรากฏอีกครั้งในปี ค.ศ. 1846 ผู้สังเกตการณ์พบว่าดาวหางแตกออกเป็นสองเสี่ยง หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1852 ชิ้นส่วนทั้งสองชิ้นพบอยู่ห่างกัน 1.5 ล้านไมล์[1] แต่หลังจากนั้นมันก็ไม่กลับมาให้เห็นอีกในรอบการปรากฏตัวปี 1859, 1865 และ 1872 แต่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1872 มีการค้นพบฝนดาวตกสว่างไสว (ประมาณ 3,000 ดวงต่อชั่วโมง) ส่องสว่างมาจากบริเวณของท้องฟ้าที่ควรจะเป็นตำแหน่งซึ่งดาวหางเคลื่อนผ่านในเดือนกันยายน 1872 เวลานั้นเป็นวันที่โลกโคจรตัดผ่านเส้นทางโคจรของดาวหางพอดี ฝนดาวตกเหล่านี้ต่อมาได้ชื่อว่า "ฝนดาวตกแอนโดรเมดีดส์" หรือ "ฝนดาวตกบีลา" ดูเหมือนว่า นั่นจะเป็นสัญญาณแจ้งว่า ดาวหางได้แตกสลายไปเสียแล้ว มีการค้นพบฝนดาวตกเหล่านี้อีกหลายครั้งตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เหลืออยู่ แต่ปัจจุบันได้จางหายไปหมดแล้ว

อ้างอิง แก้

  1. Recreations in Astronomy by Henry White Warren D.D. 1886