ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย

มาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย (ประสูติ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 — สิ้นพระชนม์ 20 เมษายน ค.ศ. 1690) เป็นพระวรชายาในเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส รัชทายาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

มาเรีย อันนา วิกตอเรีย
โดฟินแห่งฝรั่งเศส
ประสูติ28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660
สิ้นพระชนม์20 เมษายน ค.ศ. 1690 (29 ปี)
พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส
พระสวามีเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
พระบุตรเจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ
พระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งสเปน
เจ้าชายชาลส์ ดยุกแห่งเบอร์รี
ราชวงศ์วิทเทลส์บัค
(ประสูติ)
บูร์บง
(เสกสมรส)
พระบิดาเจ้าชายแฟร์ดินันด์ มาเรีย อิเลกเตอร์แห่งบาวาเรีย

พระประวัติ แก้

ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย ประสูติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 เป็นพระธิดาของเจ้าชายแฟร์ดินันด์ มาเรีย อิเลกเตอร์แห่งบาวาเรีย กับเจ้าหญิงเฮนเรียต อเดเลดแห่งซาวอย พระบรรพบุรุษฝ่ายพระชนนีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงคริสติน มารีแห่งฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็นศักดิ์พระประยูรญาติชั้นที่สองของพระสวามี แม้พระองค์จะมีเชื้อสายเยอรมันเป็นหลัก แต่สามารถรับสั่งภาษาฝรั่งเศส อิตาลี และละตินได้

พระองค์ได้เสกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส องค์รัชทายาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1680 หลังจากการเสกสมรสทำให้พระองค์มีพระอิสริยยศคือ ราชธิดาแห่งฝรั่งเศส (Fille de France) ซึ่งเทียบเท่ากับ รอยัลไฮเนส และจะขานพระนามว่า มาดามลาโดฟีน (Madame la Dauphine) ทั้งสองมีพระโอรสด้วยกัน 3 พระองค์ คือ

  1. เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ (16 สิงหาคม ค.ศ. 1682 — 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1712) ต่อมาคือ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย อเดเลดแห่งซาวอย พระญาติชั้นที่สอง มีพระโอรสสามพระองค์
  2. เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งอ็องฌู (19 ธันวาคม ค.ศ. 1683 — 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1746) ต่อมาคือ กษัตริย์แห่งสเปน เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย ลุยซา กาเบรียลลาแห่งซาวอย มีพระโอรสสี่พระองค์ ต่อมาได้เสกสมรสกับเอลิซาเบธ ฟาร์เนเซ มีพระโอรสสี่พระองค์ และพระธิดาสามพระองค์
  3. เจ้าชายชาลส์ ดยุกแห่งเบอร์รี (31 กรกฎาคม ค.ศ. 1686 — 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1714) เสกสมรสกับเจ้าหญิงมารี หลุยส์ เอลิซาเบธแห่งออร์เลออง มีพระโอรสหนึ่งพระองค์ และพระธิดาสองพระองค์ แต่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ทั้งหมด

ในช่วงปี ค.ศ. 1687 พระองค์ได้ส่งทูตพิเศษนำของกำนัลมาถวายกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่กรมหลวงโยธาเทพกลับปฏิเสธ โดยทรงอ้างเหตุผลว่าพระองค์ทรงมีฐานะ "ยากจน" เกินกว่าจะประทานของมีค่าที่จะเทียบกันได้เป็นการตอบแทน[1]

ต่อมาเมื่อพระสวามีของพระองค์ลอบมีอนุภริยา พระองค์จึงแยกไปประทับยังพระตำหนักส่วนพระองค์ และสนิทสนมกับพระสหายชาวเยอรมัน คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ชาล็อตแห่งแพลาไทน์ พระชายาของเจ้าชายฟีลิปที่ 1 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง พระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งทั้งคู่ได้รับสั่งภาษาเยอรมัน อันเป็นภาษาที่พระสวามีไม่เข้าพระทัย

ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1690 หลังจากมีพระอาการประชวรหนักและเรื้อรังมานาน สิริพระชนมายุได้ 29 พรรษา

อ้างอิง แก้

  1. สปอร์แดช มอร์แกน (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554, หน้า 157
  • Simone Bertière, Les Femmes du Roi-Soleil, Éditions de Fallois, 1998, ISBN 2-253-14712-5