ซ็อง-กูว์ล็อต (ฝรั่งเศส: sans-culottes) หมายถึงสามัญชนที่เป็นชนชั้นล่างในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของฝรั่งเศส เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการคลังในช่วงนั้นมากที่สุด โดยมากเป็นพวกช่างฝีมือและเจ้าของกิจการขนาดเล็กในตัวเมือง

ภาพ ซ็อง-กูว์ล็อต โดยหลุยส์-เลออปอล บัวยี

หลักการพื้นฐานของซ็อง-กูว์ล็อตมีสามข้อ ได้แก่ ความเสมอภาคทางสังคม ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางตรง พวกเขาเรียกร้องให้ล้มเลิกอำนาจและอภิสิทธิ์ทั้งหมดของราชวงศ์ ขุนนาง และพระสงฆ์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการกำหนดอัตราค่าแรงแบบคงที่และการตรึงราคาสินค้า พวกเขามักเดินขบวนหรือชุมนุมกดดันให้บรรดาผู้แทนในสภาซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกระฎุมพี (bourgeoisie) นำคำเรียกร้องของพวกเขาไปอภิปรายในสภา พวกเขาเป็นแรงกดดันสำคัญที่ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยอมลงพระนามในประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองในปี 1789

นอกจากข้อเรียกร้องทางการเมืองและเศรษฐกิจ พวกซ็อง-กูว์ล็อตยังทำหน้าที่เป็นผู้ระแวดระวังภัยจากฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ[1][2] ในปี 1972 ซ็อง-กูว์ล็อตกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านพวกกระฎุมพีสายประนีประนอม พวกเขาต้องการให้การปฏิวัติเดินหน้าต่อไป ในขณะที่ฝ่ายฌีรงแด็งต้องการประนีประนอมกับกลุ่มระบอบเก่า ท้ายที่สุดพวกซ็อง-กูว์ล็อตร่วมกับสมาชิกสภากลุ่มฌากอแบ็งก็สามารถผลักดันการจัดตั้งสาธารณรัฐได้สำเร็จในวันที่ 22 กันยายน 1972

ภายหลังจัดตั้งสาธารณรัฐ พวกซ็อง-กูว์ล็อตมักยกฝูงชนติดอาวุธไปล้อมที่ประชุมสภาเพื่อเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ พวกเขาร่วมมือกับสมาชิกสภาฝ่ายลามงตาญซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจชนชั้นแรงงาน ในการโน้มน้าวเสียงส่วนใหญ่ในสภาลงมติประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาคดีได้สำเร็จ พระเจ้าหลุยส์ถูกประหารเมื่อ 21 มกราคม 1793 แต่ความต้องการของซ็อง-กูว์ล็อตไม่ได้จบลงบนความตายของพระเจ้าหลุยส์ พวกเขามีข้อเรียกร้องมากมายที่ฝ่ายลามงตาญต้องรับไปผลักดันต่อไป และนั่นทำให้รอยร้าวทางความคิดระหว่างขั้วลามงตาญกับฌีรงแด็งขยายตัวเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่ความตึงเครียดในสภา[3]

ซ็อง-กูว์ล็อตชาวปารีส เข้าล้อมพระราชวังตุยเลอรีระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 1793 เพื่อกดดันให้จับกุมสมาชิกสภาฝ่ายฌีรงแด็ง

28 พฤษภาคม 1793 คอมมูนปารีสก็อนุมัติให้จัดตั้ง "กองทัพปฏิวัติ" (armée révolutionnaire) ประกอบด้วยซ็อง-กูว์ล็อตหลายหมื่นคนในปารีส เพื่อปกป้องระบบกฎหมายการปฏิวัติ[4] พวกเขามีส่วนสำคัญในการล้มล้างอำนาจของกลุ่มฌีรงแด็งซึ่งครองตำแหน่งสำคัญในสภา และทำให้ฝ่ายลามงตาญได้เรืองอำนาจ

อ้างอิง แก้

  1. Soboul, Albert (1972). The Sans-Culottes: The Popular Movement and Revolutionary Government, 1793–1794. New York: Doubleday. ISBN 0-691-00782-9. สืบค้นเมื่อ 2011-02-17.
  2. Darline Levy (1981) Women in Revolutionary Paris 1789–1795 (University of Illinois Press, August 1, 1981). Translated by Harriet Applewhite, Mary Johnson. Pg 144. Quotation
  3. Popkin, A Short History, 66.
  4. Schama 1989, p. 722.